ข่าวใหญ่ในหน้าสื่อต่างประเทศสัปดาห์นี้ คงหนีไม่พ้น ‘ความขัดแย้งทางการทูตระหว่างอินเดียกับแคนาดา’ ที่มาถึงจุดสูงสุดในหน้าประวัติศาสตร์ทั้งสองประเทศ หลัง จัสติน ทรูโด (Justin Trudean) นายกรัฐมนตรีแคนาดา ประกาศว่า รัฐบาลกำลังสอบสวนความเป็นไปได้ในระดับ ‘น่าเชื่อถือ’ ที่สายลับอินเดียเป็นผู้สังหาร ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ (Hardeep Singh Nijjar) พลเมืองสัญชาติแคนาดา ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวเอกราชชาวซิกข์
แม้อินเดียจะปฏิเสธทันควัน โดย สุบราห์มานยาม ไจแชนการ์ (Subrahmanyam Jaishankar) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ตอบโต้คำพูดของทรูโดว่า เป็นเพียงเรื่องไร้สาระและมีแรงจูงใจทางการเมืองบางอย่าง
ทว่าความรุนแรงในความขัดแย้งครั้งนี้เกินคาดหมาย เพราะอินเดียขับไล่นักการทูตชั้นสูงของแคนาดาในวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้แคนาดาตอบโต้ด้วยวิธีการเดียวกัน
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังตัดสินใจระงับวีซ่าแคนาดา โดยกระทรวงการต่างประเทศแถลงการณ์ว่า เจ้าหน้าที่ฝั่งแคนาดาข่มขู่เจ้าหน้าที่กงสุลของอินเดีย ขณะที่แคนาดาก็ประกาศว่า นักการทูตที่ประจำการในอินเดียได้รับข้อความข่มขู่ในช่องทางโชเซียลฯ เป็นจำนวนมาก และขอร้องให้ทางการอินเดียช่วยดูแลนักการทูตตามเงื่อนไขของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา (Vienna Convention on the Law of Treaties)
The Momentum ชวนอ่านปมการสังหารลึกลับของ ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ เพื่อหาคำตอบว่า เรื่องราวความขัดแย้งทั้งหมดมีที่มาอย่างไร ทำไมทางการแคนาดาถึงมั่นใจต่อข้อสันนิษฐานเบื้องต้น และความขัดแย้งครั้งนี้เผยให้เห็นปัญหาอะไรในการทูตแคนาดาบ้าง
ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ เป็นใคร และเสียชีวิตอย่างไร?
แต่เดิม ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ เกิดในรัฐปัญจาบ (Punjab) ประเทศอินเดีย ก่อนจะย้ายไปประเทศแคนาดาถาวรในปี 2007 และแต่งงานมีลูกชาย 2 คน
เขาอาศัยอยู่ในรัฐบริติชโคลัมเบีย (British Columbia) ประกอบอาชีพเป็นช่างซ่อมประปา และยังเป็น ‘ผู้นำ’ การเคลื่อนไหวของกลุ่มขาลิสถาน (Khalistan) กลุ่มชาวซิกข์ที่เรียกร้องความเป็นเอกราชในรัฐปัญจาบ ซึ่งนับว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของรัฐบาลอินเดีย
รัฐบาลอินเดียจดจ้องฮาร์ดีปในฐานะ ‘ผู้ก่อการร้าย’ ในบรรดานักเคลื่อนไหวหลายคน มีรายงานว่า เขาเป็นส่วนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของกองกำลังพยัคฆ์ขาลิสสถาน (Khalistan Tiger Force: KTF) หรือกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่ถูกแบนในอินเดีย
ในทางตรงกันข้าม ผู้สนับสนุนและคนใกล้ตัวฮาร์ดีป บอกเล่านิสัยใจคอของผู้นำรายนี้ผ่านบีบีซี (BBC) ว่า เขาเป็นนักเคลื่อนไหวที่ยึดแนวทางสันติวิธีในการเรียกร้องเอกราชของชาวซิกข์ และเป็นคนที่ใส่ใจกับชุมชนอย่างลึกซึ้ง
“เขาเปี่ยมไปด้วยพลัง ผมจำได้ว่า เขาเคยตื๊อให้ผมจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลสำหรับเด็กๆ ในชุมชน และช่วยทำทางเดินให้กว้างขวาง เพื่อให้ทุกคนเดินออกกำลังกายได้” ดั๊ก แม็กคัลลัม (Doug McCallum) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเซอร์รีย์ (Surrey) ในบริติชโคลัมเบีย ให้สัมภาษณ์
อย่างไรก็ตาม ฮาร์ดีปเสียชีวิตในรถกระบะเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลักฐานเผยว่า ชายนิรนามสวมแมสก์ 2 คน ยิงเขากลางลานจอดรถหน้าคุรุนานักซิกข์คุรุทวารา (Guru Nanak Sikh Gurdwara) วัดซิกข์แห่งหนึ่งในแวนคูเวอร์ (Vancouver) เมื่อเวลา 20.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น
ถ้อยแถลงของทรูโดและหลักฐาน (ที่ยังไม่เปิดเผย) ของแคนาดา
“อินเดียต้องร่วมมือกับแคนาดาในการสถาปนาขั้นตอนการสืบสวนข้อเท็จจริง และเปิดเผยความจริง
“เราเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียร่วมมือกับเราอย่างจริงจังต่อข้อกล่าวหาทั้งหมด และอำนวยความยุติธรรมให้เป็นไปตามวิถีทาง”
ส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องจากทรูโด เมื่อนายกรัฐมนตรีรายนี้พยายามร้องขอให้อินเดียร่วมมือ เพื่อสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของผู้นำขาลิสถาน ขณะที่ก็เน้นย้ำหลักนิติธรรม (Rule of Law) และกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศกับพลเมืองว่า ชาวแคนาดาทุกคนต้องได้รับการปกครองจากรัฐบาล รวมถึงยืนยันว่า กระบวนการยุติธรรมของแคนาดาจะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตได้จริง
แม้รัฐบาลแคนาดายืนยันว่า ยังไม่เปิดเผยหลักฐานการเสียชีวิตของผู้นำขาลิสถาน ที่ชี้ชัดถึงการเชื่อมโยงกับอินเดีย แต่เดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานว่า ทางการเก็บรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีการลอบสังหารฮาร์ดีปมาตลอดหลายเดือน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารของเขาระหว่างเจ้าหน้าที่ในอินเดีย นักการทูตชาวอินเดียที่ประจำการในแคนาดา หรือบริษัทวิทยุกระจายเสียงในแคนาดา
นอกจากนี้ ซีบีซี (CBC) สถานีโทรทัศน์ของแคนาดา อ้างถึงท่าทีหน่วยงานความมั่นคงบางส่วน เมื่อหลายฝ่ายรายงานไปในทางเดียวกันว่า อินเดียไม่ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาในระหว่างการประชุมแบบปิดกับแคนาดา
นั่นหมายความว่า การสังหารนักเคลื่อนไหวชาวซิกข์ยังไม่มีข้อสรุป อีกทั้งท่าทีของทรูโดยังอ่อนลงอย่างชัดเจนในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA)
นายกรัฐมนตรีแคนาดาระบุว่า เขาไม่ได้ต้องการสร้างปัญหาความขัดแย้งกับอินเดีย และยอมรับอิทธิพลของนิวเดลีที่มากขึ้นในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพันธมิตรชาติตะวันตกที่สนับสนุนแคนาดา หลังอังกฤษ และสหรัฐอเมริกามีท่าทีออกโรงสนับสนุนทรูโดอย่างใกล้ชิด
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อินเดียกำลังมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เราต้องทำงานร่วมด้วย ซึ่งไม่ใช่การร่วมมือระดับภูมิภาค แต่รวมถึงทั่วโลกต่างหาก” ทรูโดกล่าวในการประชุม และหลีกเลี่ยงตอบคำถามที่นำไปสู่การขยายตัวของความขัดแย้ง
มุมมองของอินเดีย: แคนาดาคือ ‘แหล่งที่ลี้ภัย’ สำหรับกลุ่มก่อการร้าย
ขณะเดียวกัน สุบราห์มานยาม ไจแชนการ์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ออกแถลงการณ์ปฏิเสธการลอบสังหารผู้นำขาลิสถาน และโจมตีแคนาดาถึงการเป็นแหล่ง ‘ลี้ภัย’ ให้ผู้อพยพ
“ข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐาน พยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากกลุ่มก่อการร้ายและหัวรุนแรงขาลิสถาน พวกเขาได้รับที่หลบภัยจากแคนาดา และยังคงบ่อนทำลายบูรณภาพทางดินแดนและอธิปไตยของอินเดีย” ไจแชนการ์กล่าวและระบุว่า แคนาดานิ่งเฉยกับกลุ่มก่อการร้ายนี้มาเนิ่นนาน ซึ่งสร้างความกังวลให้กับอินเดีย
อันที่จริง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ลี้ภัยในแคนาดากับอินเดียเกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีต หลังกลุ่มซิกข์ในรัฐปัญจาบพยายามเรียกร้องให้นักเคลื่อนไหวพลัดถิ่นในต่างแดน ได้แก่ อังกฤษ ออสเตรเลีย และแคนาดา ร่วมกันตอบโต้การกระทำของรัฐบาลอินเดีย
แม้การเรียกร้องจะถูกกฎหมายสำหรับกลุ่มประเทศเหล่านี้ แต่ไม่ใช่สำหรับอินเดียที่วุ่นวายใจเรื่อยมา โดยความรู้สึกดังกล่าวส่อแววชัดขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอด G20 (Group 20) ที่ผ่านมา เมื่อทรูโดแสดงความคิดเห็นว่า เขาจะปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก และต่อต้านการกระทำที่สร้างความเกลียดชัง
ขณะที่อินเดียระบุในแถลงการณ์ว่า ทางการมีความกังวลต่อกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงในแคนาดา ที่พยายามแบ่งแยกดินแดน และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนักการทูต
ความขัดแย้งครั้งนี้จะจบที่ศาลยุติระหว่างประเทศหรือไม่?
มาร์โก มิลาโนวิช (Marco Milanovic) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเรดดิง (University of Reading) สหราชอาณาจักร ระบุว่า ความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่มีแนวโน้มไปสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ)
เขาให้เหตุผลว่า ความขัดแย้งอินเดีย-แคนาดาครั้งนี้ เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยในโลกระหว่างประเทศ แต่ตามหลักการแล้ว ศาลสามารถ ‘รับฟังคดี’ ที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทของรัฐ รวมถึงการสังหารบุคคลทั่วไปได้
ทว่าหากพูดถึงการยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการต่อศาล ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย มิลาโนวิชให้เหตุผลว่า แคนาดาและอินเดียต่างยอมรับเงื่อนไขว่าด้วย ICJ ไม่มีเขตอำนาจในการตัดสินหรือพิจารณาคดี ‘ความขัดแย้งของประเทศกลุ่มเครือจักรภพ (Commonwealth)’ ด้วยกันเอง
การลอบสังหารครั้งนี้บอกอะไรถึงการทูตของแคนาดา?
ชาร์ลส์ ฟิลิปส์ เดวิด (Charles-Philippe David) ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์ศึกษาและการทูต มหาวิทยาลัยควิเบก (University of Quebec) ระบุกับเอเอฟพี (AFP) ว่า ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นเหตุจาก ‘การแทรกแซง’ กิจการระหว่างประเทศ (ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ซึ่งแคนาดาได้รับสัญญาเตือนมาอย่างยาวนาน
เดวิดเสริมว่า แคนาดามีธรรมชาติของการทูตที่ค่อนข้างนิ่งเฉย ขาดความกระตือรือร้นและความเป็นผู้นำบนเวทีโลก รวมถึงยังมีทรัพยากรอย่างจำกัด ผสมผสานกับบริบทโลกในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้แคนาดาต้องเลือกข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไมเคิล จูโน คัตสึยะ (Michel Juneau-Katsuya) อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอาวุโสของแคนาดา นิยามการทูตของดินแดนเมเปิลว่า เหมือน ‘นักเรียนสุภาพเรียบร้อย’ คนหนึ่งที่ไม่ทำตัวก้าวร้าว ทั้งไม่พูดเสียงดัง ไม่ตบโต๊ะ ไม่กระแทกประตู เหมือนการทูตประเทศอื่นๆ
ขณะที่ จอห์น แพ็กเกอร์ (John Packer) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แสดงความเห็นว่า นี่คือความล้มเหลวของรัฐบาลแคนาดาเรื่อยมา ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนที่ครองอำนาจ ผลลัพธ์ก็จะเกิดขึ้นเช่นเดิมเสมอ และแคนาดาต้องการนโยบายป้องกันประเทศที่เหมาะสมมากกว่านี้ เพราะระบอบเผด็จการทั่วโลกต่างจับจ้องมาที่ดินแดนแห่งนี้
“แคนาดาเคยรู้สึกปลอดภัยมาตลอด เพราะดินแดนถูกห้อมล้อมด้วยสามมหาสมุทร มีเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรทางตอนใต้ แต่ภาวะเช่นนี้ก็นานมาแล้ว มหาสมุทรเหล่านี้ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป
“แคนาดายังคงมีความ ‘ไร้เดียงสา’ บางครั้งก็ไม่ฉลาดเฉลียวในการปกป้องอธิปไตยของประเทศ” แพ็กเกอร์ระบุ และหยิบยกปัญหาความขัดแย้งทางโทรคมนาคมกับจีน โดยอธิบายว่า นี่คือความโง่เขลาในการจัดการของรัฐบาล เพราะปัญหาดังกล่าวคือความมั่นคงของชาติในรูปแบบใหม่
อ้างอิง
https://apnews.com/article/canada-india-sikh-diplomat-trudeau-modi-3c5572d9027769ea6adbd047ec6f462a
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-66860510
https://www.bbc.com/news/world-asia-india-66851144
Tags: จัสติน ทรูโด, ซิกข์, อินเดีย, รัฐปัญจาบ, การทูต, การทูตแคนาดา, Analysis, อเมริกาเหนือ, The Momentum ANALYSIS, เครือจักรภพอังกฤษ, แบ่งแยกดินแดน, ความขัดแย้งทางการทูต, ความขัดแย้งชาติพันธุ์, อินเดีย-แคนาดา, แคนาดา, แคนาดา-อินเดีย, Justin Trudeau, สังหารนักการทูตซิงห์, Canada, การลอบสังหาร, INDIA, ขาลิสถาน