“ทำไมฉันต้องออกไปลงคะแนนเสียง ในเมื่อกัมพูชามีเพียงพรรคเดียว”
“ฉันรู้อยู่แล้วว่า ฮุน เซนต้องชนะ”
“ผมไม่สนใจการเลือกตั้งครั้งนี้เท่าไร เพราะผมรู้สึกว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้”
“การแข่งขันชกมวยต้องมีผู้เข้าแข่งขัน 2 คน แต่ตอนนี้มีแค่นักกีฬาคนเดียว แล้วจะมีประโยชน์อะไรกับการออกไปเลือกตั้ง?”
เหล่านี้คือเสียงของประชาชนนิรนามชาวกัมพูชา ที่สะท้อนถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลายคนเปิดเผยต่ออัลจาซีรา (Al Jazeera) ว่า พวกเขาไม่สนใจการเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยสาเหตุความเบื่อหน่ายทางการเมือง เพราะพรรคคู่แข่งคือ พรรคแสงเทียน (Candlelight Party หรือ SPR ในภาษากัมพูชา) ต้องปิดฉากเส้นทางทางการเมืองด้วยคำตัดสิน ‘ยุบพรรค’ ของศาล
ตรงข้ามกับความรู้สึกของประชาชน ฮุน เซน (Hun Sen) ผู้นำเกือบ 4 ทศวรรษของกัมพูชา มีท่าทียิ้มแย้มแจ่มใสเป็นอย่างดี หลังพรรคประชาชนกัมพูชาประกาศชัยชนะแบบ ‘แลนด์สไลด์’ ในการลงคะแนนเสียงเมื่อวานนี้ (23 กรกฎาคม 2023)
“เราชนะการเลือกตั้งแบบถล่มถลาย แต่ยังไม่ชัดเจนว่า จำนวนที่นั่งในรัฐสภาอยู่ที่เท่าไร” โศก อีสาน (Sok Eysan) โฆษกพรรคประชาชนกัมพูชา กล่าว หลังสิ้นสุดการเลือกตั้งไม่กี่ชั่วโมง โดยจำนวนผู้มาเลือกตั้งครั้งนี้ รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ประชาชนออกมาใช้สิทธิประมาณ 9.7 ล้านคน จาก 16 ล้านคน ขณะที่ฮุน เซน อ้างว่า มีผู้ลงคะแนนเสียงมากถึง 84% ของทั้งประเทศ
แต่หลายฝ่ายลงความคิดเห็นว่า การเลือกตั้งกัมพูชาในครั้งนี้ ‘เสรี’ และ ‘เป็นธรรม’ น้อยที่สุดในหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทั้งนักกิจกรรม ประชาชน หรือแม้แต่นานาชาติ ต่างเปิดเผยความในใจเป็นเสียงเดียวกันว่า
“อีกแล้ว ผมต้องพูดต่อหน้าคนทั้งโลกว่า นี่คือความไร้ยางอาย ความน่าอดสู ความอยุติธรรม และเป็นการทำลายพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย” กาเร็ต อีแวนส์ (Gareth Evans) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์กับเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) หลัง ฮุน เซนพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดคู่แข่งอย่างพรรคแสงเทียน และจบลงด้วยการยุบพรรค
ดังคำกล่าวของอีแวนส์ การเลือกตั้งของกัมพูชาปี 2023 เผยให้เห็นร่องรอยความไม่โปร่งใสมากมาย นับตั้งแต่การยุบพรรคการเมืองคู่แข่ง การใช้วิธีการฉ้อฉลผ่านการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง รวมไปถึงคำขู่ของผู้นำกัมพูชาก่อนการลงคะแนนเสียงเพียงไม่กี่วัน
The Momentum ชวนทุกคนสำรวจความผิดปกติของการเลือกตั้งของกัมพูชา 2023 และคาดการณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้น เมื่อฮุน เซน เตรียมปูเส้นทางทางการเมืองสำหรับ ฮุน มาเน็ต (Hun Manet) ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในกองทัพ ณ ขณะนี้
ฉากแรกของความผิดปกติ: การยุบพรรคการเมืองคู่แข่ง
ใครจะเชื่อว่าการยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นด้วยสาเหตุแปลกประหลาด เมื่อพรรคแสงเทียนต้องปิดฉากลง จน ‘เรือแตก’ สมาชิกพรรคกระจัดกระจาย หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาลงความเห็นว่า พวกเขาส่งเอกสารที่จำเป็นไม่ครบ เพราะพรรคแสงเทียนส่ง ‘สำเนาเอกสาร’ แทนที่จะส่ง ‘เอกสารฉบับจริง’
“ตามบทกฎหมาย เราพิจารณาจากความเป็นจริง (…) การตัดสินใจของ กกต. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ” พรม วิเชธ อัคระ (Prom Vicheth Akara) หนึ่งในคณะตุลาการเปิดเผยกับรอยเตอร์ (Reuters) ว่า ความคิดเห็นของ กกต.กัมพูชาถูกต้องและเหมาะสม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น เพราะพรรคสงเคราะห์ชาติ (Cambodia National Rescue Party: CNRP) พรรคเก่าของพรรคแสงเทียน ก็ถูกยุบพรรคในการเลือกตั้งปี 2018 ด้วยสาเหตุวางแผนโค่นล้มรัฐบาลและสมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้สมาชิกพรรคฝ่ายค้านและผู้สนับสนุนชาวกัมพูชาจำนวนมากต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ
ปลุกปั่นด้วยวาทกรรมสร้างความกลัว
การปลุกปั่นด้วยวาทกรรมของฮุน เซน เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมาตลอดในการเมืองกัมพูชา ด้วยประสบการณ์การครองอำนาจทางการเมืองเกือบ 4 ทศวรรษ ทำให้เขารู้จุดอ่อนและความกลัวของประชาชนเป็นอย่างดี นั่นคือบาดแผลทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่เขมรแดง (Khmer Rouge) ครองอำนาจ รวมถึงความวุ่นวายของบ้านเมืองจากปัญหาดังกล่าวที่สืบเนื่อง เมื่อชาติมหาอำนาจและประเทศเพื่อนบ้านแทรกแซงการเมืองภายในของกัมพูชาเป็นระยะเวลา 2 ทศวรรษ
วาทกรรมที่เกิดขึ้นของฮุน เซน จึงหนีไม่พ้นการทำสงครามระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน การแทรกแซงอธิปไตยจากต่างชาติ และความกลัวต่อลัทธิคอมมิวนิสม์ ซึ่งสะท้อนผ่านวาทกรรมของเขาในอดีต (ส่วนหนึ่งของบทความ ‘สงครามและชาตินิยม’ กลยุทธ์การเลือกตั้งกัมพูชา และวาทกรรมของ ฮุน เซน)
“ผมพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่าสงครามจะเกิดขึ้น หากพรรคของเราไม่ชนะการเลือกตั้งด้วย 2 เหตุผล คือนโยบายการยึดทรัพย์สินจากคนรวยไปสู่คนจนของพรรคฝ่ายค้าน และการทวงคืนดินแดนที่สูญเสียไป… รวมถึงนโยบายอื่นๆ ในการปลุกระดมประชาชนให้เกลียดชังต่อรัฐบาล” สุนทรพจน์ของฮุน เซน ในพิธีจบการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอเชีย-ยูโร ในปี 2022
“สงครามเกิดแน่ ถ้าพรรคฝ่ายค้านชนะขึ้นมา… พวกมันบอกว่าจะทำลายตระกูลฮุนเป็นอันดับแรก ผู้สนับสนุนฮุน เซน ต้องไม่นิ่งเฉย (…) เราไม่จำเป็นต้องใช้ปืนเพื่อก่อสงครามเลยสักนิด เพราะสงครามเกิดได้ด้วยคำพูด ถ้าพรรคประชาชนกัมพูชาหมดความอดทน และไปที่หน้าบ้านของพวกคุณเพื่อเผาทั้งเป็น” คำพูดของ ฮุน เซน ในปี 2017
หรือแม้แต่สถานการณ์ปัจจุบัน คือการสร้างทฤษฎีสมคบคิดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยในกัมพูชากับพรรคก้าวไกล เมื่อฮุน เซน ทวีตข้อความ หลัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ต้องพบเจอความผิดหวังในการลงคะแนนเสียงจากรัฐสภา
“ผมขอประกาศในวันนี้ว่า ความล้มเหลวของพิธาที่ไม่สามารถได้รับคะแนนเสียงเพื่อดำรงนายกรัฐมนตรี คือความล้มเหลวของฝ่ายค้านกัมพูชา
“ความหวังของฝ่ายต่อต้านกัมพูชาหายไปราวกับเกลือละลายน้ำ อย่าเล่นการเมืองด้วยการเกาะคนอื่น” เขาทวีต ก่อนจะได้รับเสียงก่นด่าจากชาวเน็ตไทย จนต้องลบข้อความทิ้งและขอโทษในภายหลัง
แก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ประกาศคำขู่ และตรวจสอบผู้ใช้สิทธิ
กระบวนการเลือกตั้งของประชาชนยังทำให้ประชาชนสับสน หลังมีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาว่าด้วยบทลงโทษของประชาชน หาก ‘แนะนำ’ หรือ ‘กระทำการขัดขวาง’ ไม่ให้ผู้อื่นลงคะแนนเสียง หลังผู้คนส่วนหนึ่งตั้งใจจะทำลายบัตรเลือกตั้ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านฮุน เซน ตามคำแนะนำของสม รังสี (Sam Rainsy) อดีตผู้นำฝ่ายค้าน
ความบิดเบี้ยวในการเลือกตั้งไม่ได้ยุติเพียงเท่านั้น ฮุน เซนยังทิ้งคำขู่ของเขาต่อหน้าสาธารณชนในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตามรายงานของเดอะการ์เดียน (The Guardian)
“บัตรลงคะแนนใดๆ ที่ถูกทำลาย โดยมีนัยเพื่อสนับสนุนพรรคแสงเทียน หรือใครก็ตามที่ทำลายบัตรเลือกตั้ง สามารถสารภาพกับเจ้าหน้าที่ได้ (…) เพราะกระบวนการเหล่านี้จะต้องพบกับการดำเนินการทางกฎหมาย” ผู้นำพรรคประชาชนกัมพูชากล่าว
ซึ่งตรงกับรายงานจากอัลจาซีราที่ระบุว่า มีประชาชน 2 คน ถูกจับกุมด้วยกฎหมายเลือกตั้งล่าสุด โดยโฆษกของ กกต.กัมพูชาอ้างว่า หนึ่งในผู้ก่อความผิดวาดรูป ‘X’ ลงในบัตรเลือกตั้งและโพสต์ภาพบนโซเซียลมีเดีย ขณะที่อีกรายนำบัตรลงคะแนนใส่กระเป๋าและทิ้งเมื่อเดินออกจากคูหา
นอกจากนั้น สังคมกัมพูชายังมีกระบวนการกดดันผู้คนบางส่วนที่ยืนยันไม่ลงคะแนนเสียง เพื่อต่อต้านการเลือกตั้งสกปรกและฮุน เซน เมื่อนายจ้างในบริษัทบางแห่งจะตรวจสอบพนักงานว่า พวกเขาเดินทางไปลงคะแนนเสียงจริงหรือไม่
“หลังวันเลือกตั้ง ลูกจ้างต้องให้ดูนิ้วมือของตัวเองที่เต็มไปด้วยหมึก” ณี แมส (Nee Maes) นักวิจารณ์การเมืองอธิบาย เมื่อผู้ไปใช้สิทธิต้องแสดงหมึกซึ่งเป็นหลักฐานการลงคะแนนเสียงให้นายจ้างดู
ความหวังของคนรุ่นใหม่ถึงการเปลี่ยนแปลงในกัมพูชา ท่ามกลางการขึ้นมาของฮุน มาเน็ต ทายาททางการเมืองของฮุน เซน
“ไม่ใช่ว่าเยาวชนกัมพูชาไม่สนใจการเมือง พวกเขาสนใจเรื่องนี้ แต่หมดความหวัง
“เยาวชนกัมพูชาฉลาด พวกเขารู้ว่าจะต้องวางตัวอย่างไรกับสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าพรรคที่จุดประกายประชาธิปไตยเกิดขึ้นเมื่อไร พวกเขาจะกลับมา” พน โสเภีย (Phon Sophea) หัวหน้าพรรคแสงเทียน ที่ประจำการในจังหวัดกันดาล (Gandal) แสดงความคิดเห็นถึงกระแสประชาธิปไตยกัมพูชาที่ยังเคลื่อนไหว ทว่าคำขู่และการปราบปรามของฮุน เซน ทำให้หลายคนยังนิ่งเงียบเพื่อรอคอยเวลาเหมาะสม
ขณะที่ผู้คนบางส่วนเริ่มแสดงท่าที ‘คาดหวัง’ ถึงความเปลี่ยนแปลงในกัมพูชา เมื่อฮุน มาเน็ต ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของฮุน เซน ปรากฏตัวในเวทีการเมืองขึ้นมา ทั้งในฐานะผู้บัญชาการทหารบกแห่งกองทัพ และสมาชิกคณะกรรมาธิการถาวรของพรรคประชาชนกัมพูชา ขณะที่ผู้นำ 4 ทศวรรษก็ประกาศว่า เขามีแผนจะวางมือทางการเมืองและส่งต่อตำแหน่งนี้ให้คนรุ่นใหม่
นั่นจึงทำให้หลายคนมองว่า ฮุน มาเน็ตคือทายาททางการเมืองคนต่อไป ที่มีความแตกต่างจากฮุน เซน โดยสิ้นเชิง บางคนถึงกับยกย่องให้เขาเป็นสัญลักษณ์ของคนหนุ่มสาว เพราะฮุน มาเน็ต สนใจประเด็นการสร้างภาพลักษณ์บนเวทีโลก และการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ
อีกทั้งเขายังแสดงท่าทีสนใจประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ฮุน มาเน็ตเคยแสดงความคิดเห็นในปี 2003 ว่า เขารู้สึกประทับใจในวัฒนธรรมอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นความอิสระที่ทำอะไรได้ตามต้องการ ความอดทนต่อความหลากหลาย หรือการมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ความหวาดกลัวยังคงเกิดขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว ฮุน มาเน็ตอาจไม่ต่างจากผู้เป็นพ่อ แม้ว่าเคยสัมผัสกับบรรยากาศในโลกประชาธิปไตย จากการเรียนในต่างประเทศ แต่เขาถูกฟูมฟักในระบอบเผด็จการ อยู่กับวิธีคิดแบบฮุน เซน รวมถึงครอบครัวเขาได้รับผลประโยชน์จากความผิดปกติทางการเมืองนี้มากที่สุด
“สำหรับฮุน เซน อำนาจคือความปลอดความผิด เขารู้ว่าตนเองจะหมดอำนาจ หากเขาปราศจากการได้รับเว้นจากโทษ นี่คือสาเหตุว่าทำไม ฮุน มาเน็ตต้องมาแทนที่เขา” สม รังสี แสดงความคิดเห็นผ่านรอยเตอร์ ซึ่งตรงกับคำพูดของฮุน เซน หลังเขาเคยแสดงความคิดเห็นว่า หากฮุน มาเน็ต ไม่สามารถทำตามความปรารถนาของเขาได้ เขาจะกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง
เพราะลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น นี่อาจเป็นคำตอบว่า การขึ้นมาของฮุน มาเน็ต อาจไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยในกัมพูชา ในทางตรงกันข้าม ผู้คนอาจไม่รู้สึกถึงความ ‘กดขี่’ เพราะความแยบยลในการสร้างภาพลักษณ์ของ ฮุน มาเน็ต ในฐานะผู้มีการศึกษาจากชาติตะวันตกและเป็นนักปฏิรูป ซึ่งแตกต่างจากผู้เป็นพ่อ
ทว่าทั้งหมดนี้เป็นการคาดการณ์เบื้องต้น การต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับผู้มีอำนาจในกัมพูชายังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน และเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนอันเป็นลักษณะเฉพาะของการเมืองในภูมิภาคอาเซียน
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/articles/crgkz5zxn6ko
https://www.bbc.com/thai/international-41159629
https://www.rfa.org/english/news/cambodia/gareth-evans-interview-07222023121238.html
https://www.aljazeera.com/news/2023/7/22/why-would-i-votecambodians-quietly-question-elections-value
https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2611451/hun-sen-uses-pita-defeat-to-warn-critics