1.

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เกิดข่าวใหญ่ในแวดวงพระสงฆ์ เมื่อกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งมี สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ประชุมผ่านแอพพลิเคชัน ‘ซูม’ ให้ความเห็นชอบ ปลด 3 เจ้าคณะจังหวัด ได้แก่ พระเทพสารเมธี (บัวศรี ชุตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดประชานิยม เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์, พระธรรมรัตนาภรณ์ (สมศักดิ์ โชตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และพระราชปริยัติสุนทร (อมรภิรักษ์ ปสนฺโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นฝ่ายมหานิกายสอง และธรรมยุติกนิกายอีกหนึ่ง พร้อมกับตั้งเจ้าคณะจังหวัดใหม่ทดแทน โดยที่ไม่ได้บอกสาเหตุในการปลด รวมถึงไม่มีเอกสาร – คำชี้แจงใด ที่ระบุถึง‘ความผิด’ ของ 3 เจ้าคณะจังหวัดชั้นผู้ใหญ่

2.

กล่าวสำหรับพระภิกษุทั้ง 3 รูปนั้น พระเทพสารเมธี เป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์มานานกว่า 40 ปี เติบโตในสาย ‘พระป่า’ ธรรมยุติกนิกาย พระธรรมรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีมานาน 16 ปี ส่วนพระราชปริยัติสุนทร เป็นเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรามานาน 4 ปี ทำให้ทั้งหมดล้วนมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก และเกิดแรงกระเพื่อมทันทีที่มีคำสั่งปลดแบบไม่มีที่มาที่ไป โดยเฉพาะที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดปทุมธานี มีการ ‘ล่ารายชื่อ’ ประชาชนกว่า 1 แสนรายชื่อ เพื่อยื่นประท้วงต่อมหาเถรสมาคมทันที และหากไม่สัมฤทธิ์ผลก็จะถวายฎีกาไปยังสำนักพระราชวัง ทั้งยังมีเอกสารโจมตีพระรูปใหม่ที่จะมารับตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกันทั่วไปหมด

โดยบทบาทของ ‘เจ้าคณะจังหวัด’ ในการปกครองสงฆ์นั้น ได้แก่ การปกครองคณะสงฆ์ในจังหวัดนั้นๆ ให้เป็นไปตามพระวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ซึ่งก็หมายรวมถึงการดูแล ‘วัด’ ในจังหวัด ไปจนถึงการแต่งตั้งโยกย้าย ‘เจ้าอาวาส’ วัดในจังหวัด ไปจนถึงเจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบลด้วย

3.

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เป็นอย่างไร? ต้องย้อนกลับไปดู พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) 2561 เขียนระบุชัดไว้ว่า

“เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาตลอดจนการดูแล การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่หลักพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใต และปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ดีงาม โดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม”

เป็น ‘ต้นทาง’ ของอำนาจที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีการบริหารตามลำดับชั้น เริ่มตั้งแต่เจ้าอาวาส ขึ้นไปเป็นเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะใหญ่หนภาค โดยมีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรสูงสุดในการปกครอง มีกรรมการมหาเถรสมาคม ได้แก่ สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป และพระราชาคณะอื่นอีกไม่เกิน 12 รูปเป็นกรรมการ และมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานโดยตำแหน่ง ไปสู่การเป็น ‘พระราชอำนาจ’ ในการแต่งตั้ง สถาปนาสมณศักดิ์พระภิกษุทุกระดับ

ด้วยเหตุนี้ การประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม วาระดังกล่าว ซึ่งเป็น ‘วาระจร’ เสนอโดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สมเด็จฯ ชิน) เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธฯ สมเด็จฯ ชินจึงได้แจังกับกรรมการมหาเถรสมาคมว่า มติดังกล่าวเป็น ‘พระราชดำริ’ ซึ่งถือเป็นพระราชอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว

4.

กระนั้นเอง หากเรื่องเป็นไปโดย ‘พระราชดำริ’ ก็คงไม่มีการโต้เถียง ทว่า จนถึงวันนี้ ผ่านไป 4 วัน ศิษยานุศิษย์ยังคงเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจาก ‘การเมือง’ ในคณะสงฆ์ ไม่ใช่พระราชวินิจฉัยโดยตรง เพราะระดับ ‘เจ้าคณะจังหวัด’ นั้น ต้องผ่านหลายทาง นับตั้งแต่ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย คือ สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร และสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (สมเด็จฯ ธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรฯ ต้องเสนอไปยังสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม จุดนี้ บรรดาลูกศิษย์จึงมองว่าอาจมีการ ‘ยัดไส้’ รายชื่อก่อนจะไปถึงขั้นตอนดังกล่าว และนำมาสู่การเคลื่อนไหวยื่นหนังสือให้กับมหาเถรสมาคมในวันนี้ (4 ตุลาคม 2564)

5.

ว่ากันถึงที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พื้นที่ที่น่าจะเคลื่อนไหวแรงสุด เพราะนอกจาก ‘หลวงพ่อบัวศรี’ จะเป็นเจ้าคณะมายาวนาน 4 ทศวรรษ ยังเป็น ‘พระป่า’ สายหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย และสืบทอดมาตั้งแต่สมัยหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระเกจิอาจารย์ทางวิปัสสนาชื่อดัง พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์พระกรรมฐานวัดป่า รวมถึงหลวงพ่อบัวศรียังเป็นศูนย์รวมจิตใจของสงฆ์สาย ‘ธรรมยุติ’ ทั่วกาฬสินธุ์ สกลนคร ไปจนถึงหนองคายอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การแต่งตั้ง พระครูสุทธิญาณโสภณ หรือพระอาจารย์เล็ก เจ้าคณะอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ก็สร้างเสียงฮือฮาในวงการสงฆ์ เพราะปกติไม่เคยมีการย้ายข้ามจังหวัด เหมือนกับการย้าย ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ เพราะในส่วนของจังหวัดกาฬสินธุ์ก็มีพระระดับอาวุโส ระดับรองเจ้าคณะจังหวัด รอต่อคิวอยู่อีกหลายรูป ด้วยเหตุนี้ เสียงคัดค้านจึงดังมากกว่าจังหวัดอื่นๆ

6.

ข้ามมาที่จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนี้เดิมเป็นที่รู้กันว่าเป็นที่ตั้งของวัดพระธรรมกาย ซึ่งถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดการอย่างเด็ดขาดไปเมื่อหลายปีก่อน แม้จะไม่สามารถหาตัว พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้ แต่พระธรรมรัตนาภรณ์ก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมาตั้งแต่วันนั้น ขณะเดียวกัน พระธรรมรัตนาภรณ์ก็ไม่เคยมีข่าวอื้อฉาว รวมถึงสนองนโยบายสมเด็จพระสังฆราชในโครงการ ‘วัด ประชา รัฐ สร้างสุข’ เป็นอย่างดี

เช่นเดียวกับ พระราชปริยัติสุนทร แม้จะเป็นเจ้าคณะจังหวัด และเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด ‘เกรดเอ’ อย่างวัดโสธรวรารามวรวิหาร ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดในสมัยของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้เมื่อ 5 ปีก่อน ทว่า การเมืองในวัดโสรธวรารามยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ พระธรรมมังคลาจารย์ (ประยงค์ ปิยวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม มรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา การเมืองภายในวัดก็ยังไม่นิ่ง มีการตั้งพระเทพรัตนมุนีเป็นรักษาการเจ้าอาวาส แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน ทำให้ดูเหมือนว่าการปลดเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ เข้มข้นกว่าที่อื่น

7.

นอกจากพระชั้นผู้ใหญ่แล้ว เรื่องนี้ยังถูกผูกโยงไปยังมือที่สามที่แวดล้อมด้วย นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เป็นเรื่องของ ‘ฆราวาส’ บางคน ที่จุ้นจ้านกิจการของสงฆ์ เอื้อพวกพ้องตัวเอง โดยได้ประสานสำนักพระราชวังในการเตรียมถวายฎีกาแล้ว และหลังจากสภาเปิดจะอภิปรายให้หมดว่าใครเป็นตัวการทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น

แน่นอนว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบครั้งสำคัญต่อการปกครองคณะสงฆ์ ที่แต่เดิมค่อนข้าง ‘ราบเรียบ’ มาโดยตลอด แม้จะมีข่าวเรื่อง ‘เงินทอนวัด’ หรือมีข่าวเรื่องการซื้อขายตำแหน่งอยู่บ้าง แต่ทุกครั้งก็จะมีรายละเอียด มีหลักฐาน มีข่าวการสืบสวนสอบสวนเป็นขั้นตอน แต่ครั้งนี้ต่างจากครั้งอื่นๆ เพราะเป็นในลักษณะ ‘ฟ้าผ่า’ ไม่มีสาเหตุระบุล่วงหน้าและไม่มีคำอธิบายตามหลัง

เป็นความขัดแย้งแรกนับตั้งแต่การแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ 2561 แต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน จะมีเรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้นต่อไป เพราะในแวดวง ‘คณะสงฆ์’ นั้น ต่างก็ไม่มีใครยอมใคร ไม่แพ้แวดวงอื่นๆ

Tags: , , ,