ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าพระสงฆ์สามเณรส่วนใหญ่ในประเทศเข้ามาบวชเพื่อเรียนหนังสือ  เพื่อที่จะอาศัยช่องทางการศึกษาในการยกระดับชีวิตขึ้นไปจากความยากไร้ของตัวเองและครอบครัว ทั้งในสถานะของพระภิกษุ เช่น พระเณรเปรียญ พระครู พระราชาคณะชั้นต่างๆ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ (สังเกตนะครับว่า คำว่าพระราชาคณะ ความหมายก็ชัดอยู่แล้วว่าหมู่คณะของพระราชา’  ‘คณะบุคคลที่แวดล้อมใกล้ชิดพระราชาหรือในกำกับของพระราชานั่นเอง) หรือแม้แต่ไม่ได้ยศถาสมณะศักดิ์อะไรเลย วัฒนธรรมพุทธในสังคมไทยก็อำนวยให้ผู้ชายที่เข้ามาบวชมีสถานะที่เหนือกว่าชาวบ้านและการันตีว่าจะอยู่ดีกินดีด้วยการเอื้อเฟื้อจากศรัทธาของญาติโยม

ข้อเท็จจริงนี้ดูได้จากพระภิกษุสามเณรที่เป็นมหานิกาย ซึ่งเป็นนิกายที่มีมาแต่เดิมและมีจำนวนมากประมาณ 3.5 ใน 4 ของจำนวนประชากรพระภิกษุสามเณรในไทย ซึ่งพระภิกษุสามเณรที่บวชเรียนในฝ่ายมหานิกายนี้ร่ำเรียนทั้งวิชาธรรม 3 ชั้น (นักธรรมตรีโทเอก) วิชาภาษาบาลี (ปธ.1-2 ถึง ปธ.9) สองอย่างนี้เรียนฟรี จะเสียก็แต่ค่าหนังสือหรือตำราเรียนเท่านั้น หากวัดหรือสำนักเรียนนั้นไม่มีแจก และยังมีการเรียนวิชาสามัญแบบโรงเรียนมัธยมฯ และมหาวิทยาลัยทั่วไปตั้งแต่ .1 ถึงปริญญาเอก ซึ่งการเรียนในระดับนี้ต้องเสียค่าเทอม

ในฝ่ายนิกายธรรมยุติก็มีการจัดการเรียนการสอนแบบเดียวกัน แต่เท่าที่มีข้อมูล จากประสบการณ์ที่ผมเคยบวชเรียน และการสอบถามเพื่อนที่เป็นพระเณรฝ่ายธรรมยุติ พระภิกษุสามเณรนิกายธรรมยุติจะมีเงินเดือนและเรียนฟรีอย่างน้อยก็จนจบระดับชั้นมัธยมฯ นั่นอาจเพราะจำนวนนักเรียน/นักศึกษาน้อยกว่าตามที่เป็นนิกายส่วนน้อย การเฉลี่ยงบประมาณการศึกษาที่ได้รับมาจึงทั่วถึง

เรื่องการศึกษาของฝ่ายพระธรรมยุตินี้ คนไม่รู้เยอะมากหรือมักเข้าใจผิดว่า พระป่าหรือพระภิกษุสามเณรที่มุ่งการปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน (สายวิปัสสนา) คือพระนิกายธรรมยุติ  ซึ่งความเป็นจริงแล้วพระป่าหรือพระสายวิปัสสนามีทั้งมหานิกายและธรรมยุติในจำนวนพอๆ กัน และเอาเข้าจริงๆ วัดนิกายธรรมยุติที่อยู่ในเมืองและมีการเรียนการสอนแบบนักธรรม บาลี สามัญนั้น ก็อาจมีมากกว่าวัดที่ไปทางวิปัสสนา

นี้ยังไม่ต้องพูดถึงว่า พระนิกายธรรมยุตินี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาสมัยใหม่ในสังคมสงฆ์ คือตั้งแต่มีการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ให้รวมเข้าสู่ส่วนกลางและให้อยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์ สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้นำหลักสูตรการศึกษาสมัยใหม่เพื่อสร้างชาติในคอนเซ็ปท์สมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือราชาชาตินิยมให้กระจายไปสู่มหาชนที่ตอนนั้นต้องอาศัยการศึกษาผ่านวัด  แม้แต่ตัวบทของพุทธศาสนาเองก็ทำให้/หรือเลือกตัวบทที่เป็นวิทยาศาสตร์จับต้องได้ มากกว่าที่จะเน้นไปทางจิตวิปัสสนา

…..

ถามว่าทำไมพระสงฆ์ต้องเรียนฝ่ายสามัญ  คำตอบอยู่ที่ย่อหน้าแรก นั่นคือการขยายขอบเขตของโอกาสที่จะยกระดับชีวิต ถ้าสึกออกมาก็จะสามารถสมัครงานหรือสอบแข่งขันเข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องใช้วุฒิการศึกษาที่ตรงสายงาน (คือแค่วุฒินักธรรม หรือบาลี ไม่พอหรือไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน)

พูดให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คือ ในโครงสร้างที่ไร้รัฐสวัสดิการที่เป็นธรรมนั้น อำนาจรัฐได้เปิดช่องเล็กๆ ให้กับลูกหลาน (เฉพาะผู้ชาย) ของประชาชนคนยากไร้ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้อาศัยสังคมสงฆ์เพื่อยกระดับชีวิต  และช่องทางนี้ได้ขยายไปในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเกิด ...สงฆ์ ปี 2484 ที่กระจายอำนาจไปถึงระดับหมู่บ้านคือเจ้าอาวาส (เจ้าอธิการ) ที่ทำให้ลูกหลานชาวบ้านผู้ยากไร้ได้เข้าถึงการศึกษามากที่สุด ทั้งยังกระจายการศึกษาไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ต้องแห่เข้ามากระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพมหานคร 

ช่วงนี้เองที่ธรรมเนียมการบวชเรียนเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนที่ยากจนมาจนถึงปัจจุบัน และบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการขยายอำนาจและการศึกษาไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ก็คือพระพิมลธรรม’ (อาจ อาสโภ) ซึ่งเป็นผลผลิตจาก ...การบริการและปกครองคณะสงฆ์ที่เป็นประชาธิปไตย และยังได้ขยายการศึกษาทางด้านวิปัสสนาควบคู่กันไปด้วย  

จะเห็นได้ว่ายุคนั้นมีสำนักวิปัสสนาเต็มไปหมดในสำนักวัดข้างฝ่ายมหานิกายซึ่งเป็นฝ่ายข้างมาก (ต่อมายุบหายไปไม่น้อย เพราะไม่ได้รับการส่งเสริมจากทางรัฐ) และยังไปเชื่อมไมตรีกับพุทธในพม่า และมีสัมพันธไมตรีกับศาสนาอื่นในต่างประเทศทั้งคริสต์และอิสลาม 

แต่ทุกอย่างเหล่านี้โดยเฉพาะการไปเจริญไมตรีกับทางพม่าและต่างศาสนาของคณะสงฆ์ฝ่ายก้าวหน้าในยุคนั้น ที่นำโดยพระพิมลธรรม พระภิกษุจากจังหวัดขอนแก่น ก็ถูกตั้งแง่รังเกียจจากพระฝ่ายอำนาจเก่าคือธรรมยุตินิกายที่เคยกุมอำนาจบริการและปกครองว่า ไม่ควรไปคบพม่าเพราะเป็นศัตรู  ไม่ควรไปเผยแผ่ศาสนาพุทธในประเทศตะวันตกเพราะของเราสุดยอดอยู่แล้ว ต้องให้เขามาเรียนเอง และถือเป็นการแปดเปื้อนที่จะเอาพุทธศาสนาไปคบหากับศาสนาอื่น (ถ้าศึกษาประวัติพระพิมลธรรม จะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี)

และการที่พระพิมลธรรมซึ่งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรี (เทียบเท่ากับรัฐมนตรีมหาดไทย)ในขณะนั้น ไม่นำพาต่อข้อเรียกร้องของรัฐบาลเรื่องห้ามบวชให้คนที่ถือลัทธิคอมมิวนิสม์ ด้วยท่านถือหลักการว่าคนทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงพุทธศาสนาเท่าเทียมกัน จึงกลายเป็นช่องที่เมื่อคณะราษฎร 2475 สูญสิ้นอำนาจอย่างสิ้นเชิง และจอมเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมามีอำนาจ ทางรัฐก็ได้ร่วมกับพระฝ่ายอำนาจเก่าให้ร้ายและจับกุมคุมขังพระพิมลธรรม และคณะสงฆ์ฝ่ายก้าวหน้าหลายท่านก็ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ จากนั้นรัฐก็หวนกลับไปใช้ ...สงฆ์ .. 121 ที่เป็นของสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เรียกใหม่เป็น ...สงฆ์ 2505  ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน

……

มีบันทึกหนึ่งที่น่าสนใจมากของพระภิกษุซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งที่มีชีวิตทั้งในช่วงก่อนและหลัง ... 2484 ซึ่งถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์การเมืองของคณะสงฆ์ไทยได้เป็นอย่างดี – – 

๑๐๑๗ มกราคม ๒๕๑๘

ได้ข่าวจากยุวสงฆ์ผู้หนึ่งว่า จะมีการชุมนุมกันเรียกร้องความเป็นธรรมแก่สังคม คือขอแก้ ...สงฆ์เสียใหม่  ตามแนวทางแห่ง ... สงฆ์ ๒๔๘๔ และนิมนต์ให้เข้าร่วมด้วยก็เต็มใจและแจ้งให้ทราบว่าจะร่วมมือเต็มที่  เพราะมีใจรัก ...สงฆ์ ๒๔๘๔ อยู่อย่างจับใจ เมื่อได้ข่าวว่าจะเลิก (ใช้พ...สงฆ์ ๒๔๘๔ผู้เขียน) ก็เขียนนิราศคัดค้านลงหนังสือพิมพ์มาแล้ว

ที่เปลี่ยนเป็น ...สงฆ์ ๒๕๐๕ มาได้นี้ มันเป็นได้ด้วยอำนาจส่วนหนึ่ง คือผู้มีอำนาจต้องการจะเผด็จการในทางปกครอง ได้ตำหนิติเตียนวิธีการถ่วงอำนาจใน ...สงฆ์ ๒๔๘๔ ว่าไม่ดี ปกครองยาก คือผู้มีอำนาจทางทหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไว้เป็นของตัว ในยุคนั้นประชาชนคนไทยทั่วไปไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศเลย ต้องขอพลอยอยู่กับจอมเผด็จการที่เขายึดอำนาจไว้  ...๒๕๐๕ จึงออกมาได้อย่างสบาย และถูกต้องตามยุคสมัยเหมือนกัน เพราะทางบ้านเมืองเขาปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ทางคณะสงฆ์ก็ใช้ระบอบเผด็จการร่วมด้วย…” (เหตุการณ์ที่ลานอโศก, โดย สีหนาทภิกขุ)

นี่แสดงให้เห็นว่านอกจากคณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา หรือยุวสงฆ์ จะเคยชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงธรรมนูญสงฆ์เป็นประชาธิปไตยตามแนวทางของสภาพบ้านเมือง (2475) ในปีพ.. 2477 จนทำให้ให้มีธรรมนูญสงฆ์หรือ ...สงฆ์ 2484 ที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็เคยมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่าทั้งในวงการสงฆ์เองและทางราชอาณาจักรที่เป็นเผด็จการ จนสามารถกลับไปใช้ ...สงฆ์ .. 121 ที่เป็นลักษณะรวมศูนย์อำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในชื่อ ...สงฆ์ 2505 

นอกจากนี้ ในต้นปี 2518 ยังมีการเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ของพระสงฆ์สามเณรฝ่ายก้าวหน้า เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและการบริหารการคณะสงฆ์ให้เป็นประชาธิปไตย เท่าที่สืบค้นและสัมภาษณ์อดีตพระสงฆ์สามเณรที่เคยไปชุมนุมที่ลานอโศก วัดมหาธาตุฯ  ท่าพระจันทร์  ในครั้งนั้น ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ใหญ่โตมาก พระสงฆ์จากต่างจังหวัดหลั่งไหลเข้ามาร่วมชุมนุม ที่ถูกสกัดกั้นจากทางเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจจนเข้ามาในกรุงเทพฯ ไม่ได้ก็มีมาก ทั้งถูกขู่เข็ญจากพระผู้ใหญ่ที่มีคำสั่งไปตามวัดต่างๆ ก็ไม่น้อย

แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาในปีต่อมาก็ทำให้ข้อเรียกร้องทุกอย่างต้องจบลง– –

…..

ดังนั้น เวลาเราพูดว่าการเมืองไม่ใช่กิจของสงฆ์ เรามักจะหลงลืม (หรืออาจไม่รู้ข้อมูลความจริง) ว่ากิจการของสถาบันสงฆ์ไทยนั้นส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์ตามความหมายที่ว่า กิจของสงฆ์คือการปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน 

แต่ถ้าเรายอมรับว่ากิจหรือกิจการขององค์กรสงฆ์ไทยนั้นเกี่ยวเนื่องกับภาษีอากรของประชาชน เราก็ต้องยอมรับว่ากิจที่ไม่ได้เกี่ยวกับการบรรลุมรรคผลนิพพานของพระสงฆ์นั้นเป็นกิจของสงฆ์ด้วย

เพราะมีพระสงฆ์สามเณรจำนวนมากต่อมากและแม้แต่ญาติโยมเข้าใจว่า ค่านิตยภัตหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ในกิจการคณะสงฆ์นั้นเป็นการจ่ายตรงจากพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับที่ข้าราชการบางส่วนเข้าใจว่าเงินเดือนและสวัสดิการของตัวนั้นเป็นเงินจากพระมหากษัตริย์โดยตรง 

ดังนั้น การที่พระสงฆ์สามเณรออกมาร่วมเรียกร้องเคลื่อนไหวให้เกิดมีธรรมนูญสงฆ์ที่เป็นประชาธิปไตยก็ดี การที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยกับคณะราษฎร 2563 เช่นปัจจุบันนี้ก็ดี  — ซึ่งตามข้อเรียกร้องนั้นจะนำไปสู่การที่นำคณะสงฆ์ไทยออกจากเงื้อมเงาแห่งอำนาจรัฐ ให้เป็นองค์กรอิสระที่จะไม่ถูกใช้เพื่อรับใช้อำนาจการเมืองหนึ่งใด และให้สถาบันสงฆ์เป็นของประชาชนจริงๆ นั้น นับเป็นเรื่องที่ถูกต้อง  

และเป้าหมายของการเรียกร้องครั้งนี้ก็เพื่อทำให้การเมืองดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดรัฐสวัสดิการที่ดี ทั้งการบริการการศึกษาที่ดีจากรัฐอย่างเท่าเทียม  ที่จะทำให้พระหนุ่มเณรน้อยเหล่านี้มีโอกาสเท่าเทียมกับลูกหลานคนมีเงิน ไม่ต้องมาอาศัยผ้าเหลืองเพื่อดิ้นรนหาการศึกษาหรือหนทางที่ดีกว่าในชีวิต ทั้งยังจะเป็นการคัดกรองคนที่จะเข้ามาบวช ด้วยจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริงตามสมัยพุทธกาล  

หรือถ้าสงฆ์ใดยินดีจะเล่าเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็จะได้รับการศึกษาที่ดีทัดเทียมกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีคุณภาพ จากการกระจายงบประมาณอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมจากการเมืองที่ดี

อยากตั้งข้อสังเกตไว้ประการหนึ่งว่า คนที่เคยบวชเรียนแล้วจบออกมามีงานทำที่ดีนั้น มักไม่นิยมส่งลูกไปบวชเรียนเหมือนตัวเอง เหตุเพราะมันลำบาก นอกจากจะได้รับโภชนาการที่ไม่ครบมื้อแล้ว ระบบการเรียน (โดยเฉพาะระดับมัธยมฯ) ก็ไม่ได้มาตรฐาน หรือถ้ามองอีกมิติหนึ่ง คนที่ออกมาจากระบบการเรียนของพระ มักดูจะเป็นคนเห็นแก่ตัว มีระบบคิดที่คับแคบ  คือกูรอดออกมาได้ดีแล้วก็จบ ไม่คิดถึงลูกคนยากคนจนที่จะตามมาอีกมาก ก็ปล่อยให้เขาต่อสู้ต่อไปอย่างที่กูเคยสู้ทำนองนี้ ซึ่งเมื่อมองเปรียบเทียบกับพระสงฆ์สามเณรที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะมองเห็นปัญหาและการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างอย่างไม่นิ่งดูดาย และไม่วางตนเป็นแต่เพียงผู้รอรับผลพลอยได้ที่จะมีตามมา หากการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้รับชัยชนะ

ถามตรงนี้เลยว่า ใครมีคุณธรรมกว่ากัน และแบบไหนที่ดูเป็นกิจของสงฆ์มากกว่ากัน?

Tags: