เสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็นในประเทศเวียดนามอยู่ในภาวะ ‘น่าเป็นห่วง’ เมื่อมีรายงานว่าประชาชนชาวเวียดนามจำนวนมากที่ไม่ได้สนับสนุนความรุนแรง ไม่ได้ค้ายาเสพติด และไม่ได้ก่อคดีอาชญากรรม กลับถูกจองจำเพียงเพราะมีอัตลักษณ์และความเชื่อแตกต่างกับรัฐบาล

องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล (Amnesty International) เปิดเผยข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับประเทศเวียดนามว่า ในเวลาไม่นานมีนักโทษทางการเมืองถูกจำคุกสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยเหตุผลละเมิดกฎหมายมาตรา 117 ของประมวลกฎหมายอาญาปี 2015 ในข้อหา จัดทำ เก็บ เผยแพร่หรือโฆษณาสื่อและสินค้าใด ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ต่อต้านรัฐแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกจับกุมเพราะโพสต์ข้อความหรือแชร์บทความวิชาการต่าง ๆ บนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ

จำนวนนักโทษทางการเมืองเวียดนามพุ่งสูงที่สุด นับตั้งแต่แอมเนสตี้เริ่มเก็บสถิติและทำรายงานเมื่อปี 1996 ตอนนี้มีผู้ต้องหาถูกจับกุมอย่างน้อย 170 คน และมีประชาชนราว 70 คน ต้องโทษจำคุกเนื่องจากทำกิจกรรมที่เชื่อมโยงทางการเมือง หรือแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลเวียดนามบนสื่อออนไลน์ โดยจำนวนประชาชนที่ถูกจับสร้างความกังวลให้กับแอมเนสตี้เป็นอย่างมาก

ย้อนกลับไปยังเดือนเมษายน 2020 พรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นพรรครัฐบาลเวียดนาม ทำเรื่องร้องเรียนไปยังเฟซบุ๊ก เพื่อให้บริษัทเพิ่มความเข้มงวดในการเซนเซอร์โพสต์ผู้ใช้บริการท้องถิ่นที่มีข้อความยุยงปลุกปั่น หรือมีเนื้อหาเชิงต่อต้านรัฐ ซึ่งทางเฟซบุ๊กได้ช่วยเซนเซอร์เนื้อหาจำนวนมากที่โพสต์ในเดือนดังกล่าว จนถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกตำหนิว่าตามใจรัฐบาลเวียดนามมากเกินไป

ต่อมาในเดือนสิงหาคม เฟซบุ๊กได้รับคำขอจากรัฐบาลให้คัดกรองเนื้อหาอีกครั้ง และขอให้เพิ่มข้อจำกัดในการโพสต์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนทำให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของบริษัทต้องออกมาชี้แจ้งว่า เฟซบุ๊กได้ทำตามข้อเรียกร้องไปแล้วในเดือนเมษายน ซึ่งถือว่าข้อตกลงระหว่างกันได้สิ้นสุดลง แต่รัฐบาลกลับบอกให้เราจำกัดเนื้อหามากขึ้นไปอีก และทางเฟซบุ๊กต้องปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้ เนื่องจากคำขอของพวกเขา (รัฐบาลเวียดนาม) มาพร้อมกับคำขู่

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามเคยขู่เฟซบุ๊กโดยยื่นข้อเรียกร้องว่า หากไม่ยอมให้รัฐเข้ามาเซนเซอร์เนื้อหาต่าง ๆ บนเฟซบุ๊ก ภายภาคหน้าเฟซบุ๊กอาจไม่ใช่สิ่งที่ชาวเวียดนามสามารถเข้าถึงได้อีกต่อไป ส่วนกระทรวงต่างประเทศเวียดนามกล่าวว่า เฟซบุ๊กควรปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ที่บริษัทเข้ามาดำเนินงาน และจะต้องยุติการเผยแพร่ข้อมูลที่ละเมิดวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมถึงข้อความที่ละเมิดผลประโยชน์ของรัฐ

เมื่อคำขอครั้งนี้ถูกปฏิเสธ รัฐบาลเวียดนามพยายามเปิดตัวโซเชียลมีเดียใหม่ขึ้นเพื่อให้ประชาชนใช้บริการแทนเฟซบุ๊ก ทว่าไม่สามารถครองความนิยมได้เท่าเฟซบุ๊กที่มีชาวเวียดนามใช้งานกว่า 60 ล้านคน เนื่องจากประชาชนชาวเวียดนามที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างรู้ดีว่าการย้ายแพลตฟอร์ม อาจทำให้พวกเขามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นน้อยลงกว่าตอนเล่นเฟซบุ๊กเสียอีก นอกจากนี้ แอมเนสตี้ยังระบุว่ากูเกิลก็เคยได้รับคำร้องเรื่องการเซนเซอร์จากรัฐบาลเวียดนามเช่นกัน

นอกจากการขอความร่วมมือบริษัทต่างชาติอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล รัฐบาลเวียดนามยังมีกองทัพไซเบอร์เฝ้าระวังบนโลกออนไลน์เรียกว่า ‘Force 47’ ที่มีหน้าที่สอดส่องตรวจทานเนื้อหาต่าง ๆ โดยใช้กำลังพลกว่า 10,000 คน การมีกองกำลังดังกล่าวสร้างเสียงวิจารณ์เชิงล้อเลียนว่า รัฐบาลเวียดนามกำลังดำเนินนโยบายหลายอย่างไม่ต่างจากเกาหลีเหนือ

การลิดรอนเสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็นของเวียดนาม การบังคับใช้มาตรา 117 การมีกองทัพไซเบอร์ รวมถึงการปิดกั้นสื่อต่างประเทศในหลายกรณี ทำให้เวียดนามถูกองค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporters sans frontiers: RSF) จัดให้อยู่ในอันดับ 175 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ที่มีเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนในระดับต่ำมาก โดยเวียดนามมีเสรีภาพสื่อมากกว่าอีก 5 ประเทศ คือ จิบูตี จีน เอริเทรีย เติร์กเมนิสถาน และเกาหลีเหนือ (ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 140)

แอมเนสตี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เวียดนามควรจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตามบนสื่อโซเชียลมากกว่านี้ แต่กลายเป็นว่าพื้นที่ที่ควรจะเต็มไปด้วยเสรีภาพด้านสิทธิมนุษยชน กลับถูกรัฐบาลเวียดนามละเมิดสิทธิพึงมีเหล่านั้น และไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพราะอุดมการณ์ต่างจากรัฐ  และทางด้านรัฐบาลเวียดนามยังไม่ได้ออกมาโต้แย้งรายงานของแอมเนสตี้แต่อย่างใด

 

ที่มา

https://www.aljazeera.com/news/2020/12/1/facebook-youtube-accused-on-complicity-in-vietnam-rights-abuses

https://www.voanews.com/east-asia/vietnam-unveils-10000-strong-cyberunit-combat-wrong-views

https://rsf.org/en/ranking

Tags: , , , , , , , , , ,