17 เมษายน 2557 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว บิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวเขา ด้วยข้อหาลักของป่า โดยมีของกลางเป็นน้ำผึ่้งป่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่แล้ว อย่างไรก็ตาม บิลลี่ไม่ได้กลับบ้านไปหา ‘มึนอ’ ภรรยาของเขา แต่กลับหายตัวไปจนวันนี้

วันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรื่องหกปีหลังการหายตัวไปของบิลลี่ ตั้งแต่ปี 2557 เรียกร้องให้ทางการไทยคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวของบิลลี่ และควรมีผู้ถูกลงโทษจากการเสียชีวิตของเขา 

แอมเนสตี้ฯ ชี้ว่า ครอบครัวของบิลลี่ต้องเผชิญกับวงจรการละเมิดครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ถูกบังคับไล่รื้อและทำลายทรัพย์สินในปี 2553 และ 2554 การขู่ฆ่าเนื่องจากเรียกร้องการเยียวยาต่อความเสียหายเหล่านั้น กระทั่งการหายตัวไปของบิลลี่ในปี 2557 ซึ่งทางการไทยไม่สามารถมอบความยุติธรรมหรือเยียวยาช่วยเหลือครอบครัวของเขาได้

ดังนั้น ทางการต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคที่กั้นขวางการเข้าถึงความยุติธรรมของครอบครัวบิลลี่ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเยียวยาต่อครอบครัวและชุมชนชาวกะเหรี่ยงของบิลลี่ และต้องกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายระดับประเทศ

ทั้งนี้ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและพื้นที่อยู่อาศัยชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยเขาหายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ภายหลังที่เจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัวเขา โดยอ้างว่าเขามีของกลางเป็นน้ำผึ้งป่าอยู่ในตัว 

คดีของบิลลี่แทบจะไม่มีความคืบหน้า กระทั่งเดือนกันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้พบหลักฐานชิ้นสำคัญ เป็นถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้น และชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ 2 ชิ้น ซึ่งตรวจแล้วว่ามีดีเอ็นเอตรงกับแม่ของบิลลี่ โดยหลักฐานทั้งหมด ถูกพบใกล้กับจุดที่มีการแจ้งว่าบิลลี่หายตัวไป เป็นการยืนยันครั้งแรกว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว

แต่เมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอฟ้อง แต่ฟ้องในข้อละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 นอกจากนี้ อัยการให้ความเห็นว่า วิธีการที่ DSI ใช้ในการสืบสวนคดี ไม่เพียงพอที่จะยืนยันตัวบุคคลของบิลลี่ ไม่เชื่อมโยงให้เห็นว่าผู้ต้องหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการหายไปของเขา อีกทั้งยังมีพยานที่พบเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวบิลลี่แล้ว

จากหลักฐานที่ DSI พบ ทำให้สังคมหวนนึกถึงเหตุการณ์ ‘ถังแดง’ ที่ภาครัฐเคยใช้เพื่อปราบปรามกลุ่มเห็นต่างทางการเมืองช่วงทศวรรษ 2510 บวกกับกรณีอุ้มหายที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จึงมีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยผ่านกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการพิจารณาจากสภา

ขณะที่เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ภาคประชาชนได้ร่วมกันยื่น ร่าง พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ฉบับประชาชน ต่อประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

นับแต่บิลลี่หายตัวไป ศาลมีคำพิพากษาในปี 2561 กรณีเจ้าหน้าที่อุทยานวางเพลิงเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้าน รวมทั้งบ้านปู่คออี้ของบิลลี่ ซึ่งเป็นคดีที่บิลลี่มีส่วนในการรวบรวมพยานหลักฐาน ทำให้ในปีต่อมา คณะกรรมการแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกมีมติให้เลื่อนการพิจารณาการให้สถานะแหล่งมรดกโลกกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานออกไป โดยอ้างข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ขณะที่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ก็เพิ่มอำนาจให้เจ้าพนักงานอุทยานฯ อนุโลมให้ผู้ใดอยู่ในป่าได้ตามเงื่อนไขที่อุทยานกำหนด รวมถึงยังมีอำนาจในการตรวจค้นและทำลายโดยไม่ต้องขอหมายศาล ซึ่งอาจนำไปสู่การบังคับไล่รื้อและการทำลายทรัพย์สินชาวบ้าน ซึ่งเป็นประเด็นที่บิลลี่เคยต่อต้านก่อนหายตัวไป

 

อ้างอิง:

https://www.amnesty.or.th/latest/news/785/

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/863791

https://workpointnews.com/2020/01/30/law-2/ 

Tags: , ,