“องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน
ตัดมูลกิเลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว
ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร”
ข้างต้นคือร้อยกรองท่อนแรกของบทสวดในทำนองสรภัญญะที่ชาวไทยพุทธรู้จักกันดี ถ้าจะว่าในทางวิชาการดนตรี บทสวดนี้มีท่วงทำนองที่เด่นชัด ลักษณะของท่วงทำนองเรียกได้ว่าเป็นเพลงทำนองเดียว คือเมื่อจบแล้วก็ร้องซ้ำทำนองเดิมไปเรื่อยๆ สำเนียงของเพลงเป็นแบบพื้นบ้าน (ศัพท์ทางดนตรีเรียกว่าเป็น ‘Mode’ แบบ ‘Pentatonic Scale’ คือใช้โน้ตโด-เร-มี-ซอล-ลาในการเรียงร้อยสลับกันออกมาเป็นทำนอง) ซึ่งอาจจะฟังคล้ายๆ ทำนองเพลงจีนหรือเพลงญี่ปุ่นบ้างในบางที
แม้ว่าทำนองสรภัญญะจัดอยู่ในสำเนียงแบบ Pentatonic Scale แต่ท่วงทำนองคำสวด (หรือบทเพลง) บทนี้กลับใช้โน้ตดนตรีเพียงแค่ 4 ตัว คือ โด-เร-มี และซอล (โดยไม่มีตัว-ลา-)
องค์ ใด พระ สัม พุทธ
ซอล โด ซอล โด-เร มี
สุ วิ สุท ธ สัน ดาน
โด มี เร มี เร โด
ตัด มูล กิ เลศ มาร
ซอล โด ซอล โด-เร มี
บ มิ หม่น มิ หมอง มัว
โด มี เร มี เร โด
หนึ่ง ใน พระ ทัย ท่าน
ซอล โด ซอล โด-เร มี
ก็ เบิก บาน คือ ดอก บัว
เร โด เร มี เร โด
รา คี บ พัน พัว
โด โด ซอล โด-เร มี
สุ ว คน ธ กำ จร
โด มี เร มี เร โด
สำหรับบทร้อยกรอง ‘องค์ใดพระสัมพุทธ’ มีบันทึกว่าประพันธ์โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ในสมัยรัชการที่ 5 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลพระคาถาพาหุงบทแรกเป็นคำไทยให้เข้ากับทำนองสวดสรภัญญะ ดังที่เรารู้จักกันคือ “ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุท- ธะวิสุทธะศาสดา…”
ต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ศิลปินเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ได้พระราชนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์เรื่อง ‘หลวิชัยคาวี’ ซึ่งได้พระราชนิพนธ์บทร้องในทำนองสรภัญญะทำนองเดียวกันนี้ด้วยเช่นกัน คือ
“พระเอยพระทรงชัย เคราะห์อะไรกระทำเข็ญ
เข็ญใจก็ยังเย็น เพราะพระโปรดพระปราณี…”
เช่นนี้ เราพอจะทราบที่มาของคำร้องบทสวดและการบรรจุร้อยกรองอื่นในทำนองสรภัญญะอันหลากหลาย แต่ส่วนที่เป็นท่วงทำนอง (Melody) นั้นคาดเดาได้ยากพอควรว่ามีต้นกำเนิดจากใครหรือยุคสมัยใด
องค์ประกอบสำคัญทางคีตศิลป์อีกประเด็นที่จะชี้ให้เห็นเอกลักษณ์สำคัญของทำนองสรภัญญะ คือการมีเครื่องหมายกำหนดจังหวะ หรือ Time Signature ในแบบ 3/4
ห่างออกมาจากสยามประเทศ ข้ามน้ำข้ามทะเลข้ามทวีปไปยังดินแดนแห่งเกาะบริเตนใหญ่ กัปตันเรือค้าทาสที่ชื่อจอห์น นิวตัน รอดตายจากเหตุเรืออับปางนอกชายฝั่งสกอตแลนด์ ขณะที่ลูกเรือคนอื่นๆ และข้าทาสในระวางบรรทุกหาได้มีโอกาสเช่นเขาไม่
หรือนี่คือบาปกรรมและความเหี้ยมโหดที่เขากระทำไว้กับเพื่อนมนุษย์แต่ครั้งอดีตตามมาหลอกหลอนสำนึก ดังนั้น จอห์น นิวตัน จึงเลือกไปรับใช้คริสต์ศาสนา โดยการบวชเป็นบาทหลวงในโบสถ์ที่เมืองเล็กๆ ชื่อออลนีย์
จอห์น นิวตัน เกิดเมื่อปี 1725 (อยุธยาตอนปลาย) ในตระกูลนักเดินเรือ พอย่างเข้าวัยรุ่น นิวตันก็ออกท่องโลกไปกับเรือค้าทาสของบิดา และได้เป็นกัปตันเรือในที่สุด
หลังจากบวชเป็นบาทหลวง นิวตันรจนากวีนิพนธ์ไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือ
Amazing grace, how sweet the sound.That saved a wretch like me.
I once was lost, but now I’m found.Was blind, but now I see.
‘Twas grace that taught my heart to fear. And grace my fears relieved.
How precious did that grace appear.The hour I first believed.
(ยกตัวอย่างให้ลองร้องกันสัก 2 บท)
บทกวี ‘Amazing Grace’ ที่นิวตันประพันธ์ (ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1779) มีทั้งสิ้น 6 บท กาลเวลาผ่านล่วงไปอีกหลายสิบปี นักแต่งเพลงชาวอเมริกันนาม วิลเลียม วอล์กเกอร์ ได้นำทำนองของเพลง ‘New Britain’ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นท่วงทำนองเพลงร้องของบรรดาทาสผิวดำทางตอนใต้ของอเมริกา มาใส่ในบทกวี ‘Amazing Grace’ ที่จอห์น นิวตัน แต่ง (และแต่งคำร้องเพิ่มอีก 1 บท เป็น 7 บท) ผลงาน ‘Amazing Grace’ เวอร์ชั่นใหม่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1847 และโด่งดังทางฝั่งอเมริกามาจนถึงเกาะอังกฤษ
สำหรับจอห์น นิวตัน ‘Amazing Grace’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่บทเพลงไพเราะอันเป็นที่นิยมของผู้คน ประวัติศาสตร์ยังได้บันทึกถึงเหตุการณ์ที่จอห์น นิวตัน มีโอกาสสนทนาธรรมกับราชบัณฑิตหนุ่ม-วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ ถึงบาปกรรมที่ชาวยุโรปกระทำต่อชาวแอฟริกันและชาวเอเชีย ตราบาปเมื่อครั้งเป็นกัปตันเรือค้าทาสของนิวตัน ส่งผ่านเป็นแนวคิดให้นักการเมืองหนุ่มดาวรุ่ง วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซผู้ซึ่งต่อมาได้ปลุกระดมนักการเมืองเลือดใหม่ในรัฐสภาอังกฤษสำหรับการออกกฎหมายยกเลิกการค้าทาส เหตุการณ์ที่ว่าถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Amazing Grace (2006) ฝีมือการกำกับของไมเคิล แอปเต็ด โดยมีอัลเบิร์ต ฟินนีย์ รับบทจอห์น นิวตัน และโยอัน กรัฟฟัดด์ รับบทวิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ นอกจากนี้ เหตุการณ์การผจญภัยในแอฟริกาของจอห์น นิวตัน สมัยหนุ่มก็ถูกสร้างเป็นละครบรอดเวย์ชื่อ Amazing Grace เมื่อปี 2015
ถ้าใครอยากฟังว่าเพลง ‘Amazing Grace’ มีความไพเราะขนาดไหน สามารถค้นหาได้จากในยูทูป อาทิ เวอร์ชั่นของจูดี คอลลินส์, นานา มูสคูรี, เอลวิส เพรสลีย์, เรย์ ชาลส์
สำหรับเวอร์ชั่นบรรเลงด้วยปี่สก็อต ก็ต้องของวงดนตรีทหาร The Royal Scots Dragoon Guards
ขอกลับมาที่เรื่อง Time Signature ในแบบ 3/4 ที่เกริ่นไว้ เนื่องจากท่วงทำนองของสรภัญญะและ ‘Amazing Grace’ มีเครื่องหมายกำหนดจังหวะแบบ 3/4 ด้วยกันทั้งคู่ และหากสำรวจเพิ่มเติม จะพบว่ามีเพลงอื่นที่เรารู้จักกันดี และก็มีเครื่องหมายกำหนดจังหวะแบบ 3/4 เช่น ‘Silent Night’ เพลงเทศกาลคริสมาสต์ที่เราคุ้นเคย
หากลองร้องเพลงเหล่านี้แล้วเคาะจังหวะไปด้วย หรือลองชวนเพื่อนสักคนมาคอยนับหนึ่ง-สอง-สาม-หนึ่ง-สอง-สาม-ไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่าเข้ากันได้ดี แต่ถ้าเปลี่ยนไปนับหนึ่ง-สอง-สาม-สี่-หนึ่ง-สอง-สาม-สี่-สักพัก ก็จะเห็นได้ว่ามันจะมีส่วนที่เกินๆ ออกมา นั่นแสดงว่าสัดส่วนของทำนองนั้นเป็นแบบ 3/4 นั่นเอง
แต่สำหรับลักษณะของดนตรีไทยเดิม Time Signature แบบ 3/4 น่าจะถือว่าเป็นสิ่งพิเศษ เพราะดนตรีไทยเดิมแทบทุกเพลงมักจะลงกับ Time Signature แบบ 4/4 นอกจากนี้ ท่วงทำนองของ ‘Amazing Grace’ ยังจัดว่าอยู่ใน Mode หรือสำเนียงแบบ Pentatonic Scale เช่นเดียวกับทำนองสรภัญญะ นั่นคือ
A maz zing grace how sweet the sound
ซอล โด มี-เร-โด มี มี-เร โด ลา ซอล
That save a wretch like me
ซอล โด มี-เร-โด มี เร-มี ซอล
I once was lost but now am found
มี-ซอล ซอล มี-เร-โด มี มี-เร โด ลา ซอล
Was blind but now I see
ซอล โด มี-เร-โด มี เร โด
การมี Time Signature แบบ 3/4 และสำเนียงแบบ Pentatonic Scale นี้เองที่ทำให้ทำนองเพลง ‘Amazing Grace’ และทำนองสวดสรภัญญะมีความสนิทสนมกลมเกลียวราวกับเป็นพี่เป็นน้องกัน ทั้งที่ต้นกำเนิดอยู่ห่างกันคนละขอบโลก คำอธิบายที่เหมาะสมนั้นน่าจะเป็นเพราะทั้งบทเพลงและทำนองสวดมีความเก่าแก่ค่อนข้างมาก การใช้โน้ตเพื่อสร้างทำนองจึงมีแต่โน้ตตัวสำคัญๆ บนบันไดเสียง การมีเสียงโน้ตขึ้งสูงบ้างลงต่ำบ้างก่อให้เกิดท่วงทำนองที่มีความไพเราะ และที่สำคัญคือจังหวะที่ค่อนข้างช้านั้นชวนให้ผ่อนคลายและสามารถสร้างสมาธิได้ และการเกิดสภาวะที่นิ่งเงียบนี้เองช่วยให้เราหันกลับมาใคร่ครวญและพิจารณาถึงคุณค่าแห่งความดีงาม
เช่นนี้ ทั้ง ‘Amazing Grace’ และสรภัญญะจึงควรค่าแก่การเป็นท่วงทำนองแห่งศรัทธาของจิตใจเราและคนทั้งโลกร่วมกัน
ถ้าลองนำบทสวดสรภัญญะมาใส่ทำนอง ‘Amazing Grace’ จะเป็นอย่างไร ลองดูนะครับ (ขาดเกินนิดๆ หน่อยๆ คงไม่เป็นไร)
อย่างน้อยความงามตามแบบโลกตะวันตกและโลกตะวันออกก็ได้โคจรมาบรรจบกัน
องค์ ใด พระ สัม พุทธ
ซอล โด มี โด-เร มี
สุ วิ สุท ธ สัน ดาน
มี เร โด มี โด-ลา ซอล
ตัด มูล กิ เลศ มาร
ซอล โด มี เร-โด มี
บ มิ หม่น มิ หมอง มัว
เร มี เร มี เร-มี ซอล
หนึ่ง ใน พระ ทัย ท่าน
มี-ซอล ซอล มี เร-โด มี
ก็ เบิก บาน คือ ดอก บัว
มี เร โด เร โด ลา-ซอล
รา คี บ พัน พัว
ซอล-โด โด ซอล โด-เร มี
สุ ว คน ธ กำ จร
โด มี เร มี เร โด
ภาพประกอบ: Jaruwat Normrubporn
Tags: Amazing Grace, สรภัญญะ, Pentatonic Scale, Time Signature, จอห์น นิวตัน, วิลเลียม วอล์กเกอร์, New Britain