“คนพูดกันว่ามิสยูนิเวิร์สจะต้องเป็นผู้พูดที่ดี แต่ฉันอยากเป็นมิสยูนิเวิร์สคนแรกที่เป็นผู้ฟังที่ดี”

คำกล่าวของ ‘อแมนด้า ออบดัม’ ตัวแทนสาวไทยในการประกวดมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2020 ซึ่ง ณ ขณะนี้เธอได้ออกเดินทางไปเก็บตัวที่ Seminole Hard Rock Hotel & Casino รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา และผ่านการประกวดรอบ preliminary เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เสื้อผ้า หน้า ผม และทักษะการเดินแบบของอแมนด้า ได้สร้างเสียงฮือฮาและความหวังต่อคนไทยไม่น้อย แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะทำให้อแมนด้าคว้ามงกุฎที่สามให้แก่ประเทศไทยได้

ทุกคนที่ติดตามการประกวดนางงามจะรู้ดีว่าการประกวดมิสยูนิเวิร์สในยุคที่ WME-IMG เข้ามาดูแลการประกวดนั้น (ก่อนหน้านี้คือ โดนัลด์ ทรัมป์) ความสวยของเสื้อผ้าหรือรูปลักษณ์มีความสำคัญน้อยลงไปมาก แต่มุ่งเน้นนิยามความสวยแบบใหม่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงความสามารถและคุณสมบัติที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงทั่วโลก และนั่นทำให้รอบตอบคำถามทวีคูณความเข้มงวดมากขึ้นในทุกๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามในเรื่องทัศนคติทางการเมือง

การประกวดมิสยูนิเวิร์สในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สาวไทยผ่านเข้ารอบไปตอบคำถามได้ถึง 3 คนคือ ‘น้ำตาล’ – ชลิตา ส่วนเสน่ห์, มารีญา พูลเลิศลาภ และ ‘ฟ้าใส’ – ปวีณสุดา ดรูอิ้น แต่เหตุผลที่ทั้งสามสาวไปไม่ถึงมงกุฎเพราะคุณสมบัติในเรื่องการตอบคำถามอาจจะยังไม่แหลมคมมากพอเมื่อเทียบกับนางงามชาติอื่น

อแมนด้าเองมักจะถูกวิจารณ์บ่อยๆ ว่าเป็นนางงามที่พูดน้อยเกินไป อีกทั้งเธอยังดูเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมา หลายคนจึงเป็นห่วงว่าเธอจะสามารถตอบคำถามเรื่องการเมืองได้อย่างเต็มปากเต็มคำในฐานะของคนที่เชื่อในสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคหรือไม่ หรือนี่อาจเป็นอีกครั้งที่แฟนๆ นางงามจะต้องอกหัก

จนกระทั่งอแมนด้าเริ่มแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านทวิตเตอร์ของเธออยู่เรื่อยๆ ในช่วงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความรุนแรงต่อภาคประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งแต่ละข้อความในแต่ละเรื่องก็ถือว่าเผ็ดร้อนมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความในวันแห่งความรัก (14 กุมภาพันธ์) ที่ว่า “How can we talk about love when there’s still violence on the street?” (เราจะพูดถึงความรักกันได้อย่างไรในวันที่ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นบนท้องถนน) พร้อมแนบรูปเหตุการณ์ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 13 กุมภาพันธ์

และนั่นเป็นสาเหตุให้กรมสุขภาพจิตขอยุติบทบาทของเธอในการเป็น ‘ทูตสุขภาพจิต’ เพราะกลัวว่าการเลือกข้างทางการเมืองอาจมีปัญหาต่อภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิต

วิกฤตนี้เองทำให้เราได้เห็นถึงพัฒนาการของอแมนด้า ทั้งการพูดและการแสดงความคิดเห็น เธอออกมาให้สัมภาษณ์อย่างภาคภูมิใจว่าเธอไม่เชื่อว่าสิ่งที่เธอแสดงออกเป็นเรื่องผิดหรืออาจส่งผลต่อการให้ความช่วยเหลือในการบำบัดทางจิต และจะไม่ท้อถอยต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

อีกทั้งอแมนด้ายังใช้กระแสนี้ประชาสัมพันธ์โครงการ Have you listened? ของเธอ ซึ่งแรกเริ่มมีจุดประสงค์เพียงการรับฟังเพื่อบำบัดอาการทางจิต แต่ปัจจุบันคำถามที่ว่า Have you listened? ได้ขยายขอบเขตมายังปริมณฑลทางการเมือง

คงต้องยอมรับว่าโลกปัจจุบันให้ความสำคัญกับการพูดอย่างมากโดยไม่อาจปฏิเสธได้ หลายคนให้เกียรติผู้ที่ได้เป็นแขกรับเชิญบนเวที TED Talks หลายคนแย่งกันยกมือพูดใน Clubhouse หรือแม้แต่หลายคนเชื่อว่าการมีพอดแคสต์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองให้สาธารณชนรับรู้เป็นเรื่องเก๋ไก๋ รวมถึงจำนวนของไลฟ์โค้ชที่นับวันจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

ซ้ำร้าย ในกรณีของประเทศไทยยิ่งชัดเจนมากขึ้นไปอีก เพราะในสังคมของเรามีบุคคลสำคัญที่สักแต่จะพูดในเรื่องที่เขาไม่รู้ แต่คิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าใครๆ แถมเรายังปล่อยให้เขาพูดอยู่แบบนั้นทั้งๆ ที่เขาไม่มีความชอบธรรมถึงที่มาของอำนาจหรือไม่ควรแม้แต่จะมีใครสักคนต้องทนรับกับมลพิษทางเสียงลักษณะนั้น ซึ่งนั่นยิ่งตอกย้ำว่าคนเราให้ความสำคัญกับการพูดจนอาจจะละเลยการฟัง ทั้งๆ ที่การฟังอาจมีความสำคัญมากกว่าการพูดก็ได้หากถกกันในเชิงปรัชญา

ใน *L’herméneutique du sujet ของ Michel Foucault (มิเชล ฟูโกต์) นักปรัชญาชื่อดังช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 20 ของฝรั่งเศส พูดถึงเรื่องการพูดและการฟังในเชิงปรัชญาไว้อย่างน่าสนใจ เขายกตัวอย่างกรณีศึกษา Lettre VII ของเพลโต (Plato) นักปรัชญาชื่อดังยุคอารยธรรมกรีกโบราณ ผู้นำเสนอว่าสังคมอุดมคติเกิดขึ้นได้จากการพูดของผู้พูดที่มีความรู้ (sumboulê) แต่ฟูโกต์กลับชี้ว่า การฟังต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่าในระดับของการสื่อสารเพื่อปฏิบัติการ เพราะการรับฟังคือการจัดระบบระเบียบทางจิตซึ่งก่อให้เกิดความเชื่อและการเชื่อฟังทำตาม การฟังจึงมีบทบาทเชิงรุกมากกว่าบทบาทเชิงรับอย่างที่ใครๆ อาจเข้าใจกัน

ซึ่งหากคิดด้วยฐานคิดเดียวกัน เราจะเข้าใจว่าปฏิบัติการทางสังคมล้วนแล้วแต่ก่อตัวขึ้นมาจากรับฟังทั้งสิ้น เราฟังเราจึงเชื่อ เราเชื่อเราจึงทำ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ฟังว่าจะตีความสิ่งนั้นอย่างไร เพราะไม่ใช่ทุกการรับฟังที่จะนำมาสู่ปฏิบัติการทางสังคมที่ควรจะเป็นที่ยอมรับและชอบธรรม (ดังที่เห็นชัดๆ ในยุค กปปส. ครองเมือง)

ประเด็นนี้เราอาจจะถามกลับไปที่อแมนด้าได้ว่านิยามของ ‘การฟัง’ แบบชัดๆ คืออะไร? เธอจะกล้าพูดถึงปัญหาเรื่องการไม่รับฟังในสังคมไทยที่เธอเพิ่งจะประสบพบเจอกับตัวเองหรือไม่? หรือคำถามเรื่องการเมืองบนเวทีมิสยูนิเวิร์สปีนี้จะดุเด็ดเผ็ดร้อนแค่ไหน เราจะได้รู้กันในวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2564 ประมาณ 07.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

ท้ายที่สุด เบื้องหลังของฉากหน้าแห่งความหวังต่อมงกุฎที่สามช่างน่าเศร้า เมืองทิพย์ของเรามาถึงจุดที่มีคนคาดหวังต่อการเมืองเรื่องนางงามเหนือการเมืองในรัฐสภา เราศรัทธาต่อสายสะพายนางงามจักรวาลมากกว่าสายสะพายของรัฐมนตรี…

 

*ผู้เขียนบทความพยายามเชื่อมโยงประเด็นให้ง่ายที่สุดจนอาจจะลดทอนความสำคัญขององค์ประกอบของตัวบทใน L’herméneutique du sujet ไปบ้าง แต่หากจะชี้แจงในรายละเอียดก็กลัวว่าจะหลงประเด็น ซึ่งหากมีโอกาสอีกครั้ง ผู้เขียนจะขอมาขยายความให้ชัดแจ้งในบทความถัดๆ ไป

Tags: , ,