ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ชี้ว่าร้อยละ 45.5 ของบัญชีที่ทวีตเกี่ยวกับไวรัสโคโรนามีลักษณะของบอต เช่น การทวีตถี่มากกว่าที่มนุษย์ปกติทวีต หรือแสดงตัวอยู่ในประเทศหนึ่ง ก่อนที่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาย้ายไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง
ทั้งนี้ ประเภทของทวีตที่มีข้อมูลผิดพลาดและมักถูกส่งต่อไปกว้างขวางที่สุดคือ ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาและมาตรการป้องกันต่างๆ อย่าง เบียร์โคโรนาสามารถรักษาไวรัสโคโรนา หรือการดื่มน้ำยาฟอกขาวช่วยกำจัดไวรัสโคโรนา
แคทเธอรีน แคลีย์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน และหนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า ”พวกเราพบว่า บอตจำนวนมากมักจะตอบสนองอย่างคงเส้นคงวาต่อข้อมูลที่มีที่มาจากรัสเซียหรือจีน” เธอกล่าวต่ออีกว่า บอตตอบสนองต่อการแพร่ระบาดครั้งนี้มากขึ้นถึงร้อยละ 20 เทียบกับภัยพิบัติหรือปรากฏการณ์ระดับโลกอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น
ทีมนักวิจัยได้พัฒนาเครื่องมือ นักล่าบอต (bot hunter) ขึ้นมา โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ในการตรวจสอบข้อมูลว่าผู้ใช้บริการคนไหนเข้าข่ายเป็นบอต โปรแกรมดังกล่าวจะตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ยอดคนติดตามยูสเซอร์ เนื้อหาและความถี่ของการทวีต ภาษาที่ใช้ ลักษณะของการรีทวีต รวมถึงการอ้างแหล่งข้อมูล
แคลีย์กล่าวว่า การไล่ตามบอคก็เหมือนเล่นเกมจับหนู พวกมันพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับได้ ดังนั้น ระบบที่จะใช้ตรวจจับพวกมันก็ต้องพัฒนาขึ้นตลอดเวลาเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้กล่าวหารัสเซียว่า มีนโยบายส่งเสริมข้อมูลที่ผิดพลาด เพื่อทำลายความน่าเชื่อของประเทศตะวันตก และเพิ่มความหวาดกลัวของสาธารณชน ซึ่งทางการรัสเซียก็ได้ออกมาปฏิเสธในเวลาต่อมา
เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ก็ได้ออกมาประกาศว่าจะยกระดับการมาตรการคัดกรองเนื้อหาโควิด-19 โดยจะนำข้อมูลที่มีนัยยะต่อต้านคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ส่งเสริมข้อมูลการรักษา ป้องกัน และวินิจฉัยที่ไม่เป็นจริง รวมถึงบิดเบือนมาตรการของรัฐบาลออก ซึ่งในขณะนี้ได้มีการนำออกไปแล้วมากกว่า 2,200 ทวีต
อ้างอิง:
https://www.theverge.com/2020/4/22/21231956/twitter-remove-covid-19-tweets-call-to-action-harm-5g
ภาพ: JOSH EDELSON / AFP
Tags: ทวิตเตอร์, ไวรัสโคโรนา, โควิด-19