เมื่อผลการศึกษาจาก Brown University พบว่า 1 ใน 4 ของทวีต (tweet) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) บนทวิตเตอร์ (Twitter) ถูกเขียนโดยบอต และเกือบทั้งหมดของทวีตเหล่านั้นล้วนปฏิเสธการมีอยู่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ทีมวิจัยจาก Brown University ใช้เครื่องมือที่ชื่อ Botometer ในการตรวจสอบหมวดต่างๆ ของทวิตเตอร์ ก่อนจะค้นพบว่าจากกว่า 6.5 ล้านทวีตที่ถูกเผยแพร่บนทวิตเตอร์ในช่วงที่ ‘โดนัล ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาประกาศว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีทวีตกว่า 25% ที่ไม่ได้มาจากคน แต่มาจาก ‘บอต’ คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถปลอมแปลงเป็นมนุษย์ เพื่อโพสต์หรือส่งข้อความบนโลกออนไลน์

โดยส่วนใหญ่ทวีตจากบอตเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศล้วนปฏิเสธการมีอยู่ของสภาวะโลกร้อน รวมถึงวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยส่งเสริมแนวคิดปฏิเสธการมีอยู่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครอยู่เบื้องหลังการทำงานของบอตเหล่านี้

ขณะเดียวกัน ผลการศึกษายังพบว่าทวีตที่เกียวกับ ‘วิทยาศาสตร์ปลอมๆ’ นั้นมาจากบอตมากกว่า 38% ของทั้งหมด เช่นเดียวกับที่ทวีตเกี่ยวกับบริษัทน้ำมันเอ็กซอน (Exxon Mobil) ก็ถูกโพสต์โดยบอตมากกว่า 28% แต่กลับกันแล้วทวีตเกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมมีที่มาจากบอตแค่ 5% เท่านั้น

เอมิลิโอ เฟอร์รารา (Emilio Ferrara) ศาสตราจารย์ด้านการวิจัยของ University of Southern California ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของบอต อธิบายว่า ซอฟต์แวร์ประเภทบอตมักถูกใช้เพื่อขยายการรับรู้เนื้อหาออกไปเหมือนกับโทรโข่ง ทำให้ผู้คนรู้สึกว่ามีการสนับสนุนแนวความคิดหรือการเคลื่อนไหวเหล่านั้นจริงๆ

โดยศาสตราจารย์เล่าต่อว่าในวันที่ทรัมป์แถลงเรื่องความตกลงปารีสนั้นจำนวนทวีตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากหลักร้อยเป็นหลักหมื่น ก่อนจะลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาปกติ พร้อมย้ำว่าการใช้บอตเพื่อเปลี่ยนมุมมองและความเชื่อของผู้คนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง 

ที่มา

https://www.bbc.com/news/technology-51595285

https://www.theguardian.com/technology/2020/feb/21/climate-tweets-twitter-bots-analysis

ภาพ: BORIS HORVAT / AFP

Tags: