การตลาดออนไลน์ยุคนี้ ผู้มีอิทธิพลทางความคิดหรือ ‘Influencer’ ผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมหาศาล เพราะมีช่องทางมากมายในการแสดงตัวตน และสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ที่มักเลือกติดตามใครสักคนที่มีแนวคิดหรือความชอบที่คล้ายคลึงกัน

การตลาดยุคก่อน ต้องอาศัยผู้มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักร้อง นักแสดง มารับบทพรีเซ็นเตอร์ แต่ยุคนี้ เหล่า Influencers น้อยใหญ่ อาจเป็นเพียงใครสักคนคนธรรมดาๆ นี่ละที่สามารถสร้างความรู้สึกของการเข้าถึงได้ จับต้องได้ และเป็นธรรมชาติมากกว่า เป็นเหตุผลให้แบรนด์สินค้าจำนวนไม่น้อย หันมาสนใจและเลือกใช้ influencer ในการนำเสนอสินค้ามากขึ้น 

โจทย์ใหม่ทางการตลาดทวีความยากเย็นขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องของการเสาะหาว่าใครที่เหมาะสมกับสินค้ามากน้อยแค่ไหน และอะไรจะเป็นตัวรับประกันว่าการร่วมมือกับ Influencer ที่เลือกสรรมานั้น จะได้ผลตอบรับกลับมาอย่างน่าพึงพอใจ

แบม’ – นันท์วรินทร์ เตรียมชาญชัย Chief Strategy Officer บริษัท The LEADERS SE Co.,Ltd. ผู้ให้บริการ The LEADERS แพลตฟอร์มด้าน Influencer Marketing ระดับโลกซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา พร้อมให้คำตอบและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากมุมมองของคนทำงานด้านนี้โดยตรง

แพลตฟอร์มของ The LEADERS เริ่มต้นขึ้นมาอย่างไร 

บริษัท The Leaders SE co.,ltd เป็นการทำงานร่วมกันของเรากับทีมงานที่อิสราเอล พวกเขาเป็นคนทำงานโฆษณาที่ประสบปัญหาเรื่องการใช้ influencer marketing มาก่อน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบเจอมาเป็นสิบปี พวกเขาจึงทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยฟังก์ชันของ The LEADERS จะรองรับตั้งแต่การตามหาและรวบรวม influencer ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ทำให้เราไม่ต้องไล่คุยทีละคน เราสามารถส่งข้อความไปหาพวกเขาได้ครั้งละเป็นร้อยๆ คน เพื่อให้พวกเขาส่งข้อมูลกลับมาให้เราคัดเลือกว่าใครเหมาะสมกับงานที่ลูกค้าอยากได้ 

Influencer ในวันนี้คือคนแบบไหน

แต่ก่อนคนอาจมองว่า influencer  คือ ดาราหรือคนดัง  แต่ตอนนี้เรามองว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ ก็เป็น influencer ได้ ส่วนดารานั้นคนจะมองว่าเขาคือพรีเซ็นเตอร์ และจะไม่ค่อยเชื่อแล้วว่าเขาใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์นี้กันจริงๆ แต่กับคนธรรมดาๆ คนจะให้ความเชื่อถือมากขึ้น เพราะ influencer จะเป็นเหมือนเพื่อนที่สนใจอะไรคล้ายๆ กัน เป็นธรรมชาติกว่า จับต้องได้จริงมากกว่า 

The LEADERS แตกต่างจากโมเดลลิ่งหรือเอเจนซี่โฆษณาอย่างไร 

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เวลาที่ใครอยากทำเคมเปญขึ้นมา ถ้าเป็นโมเดลลิ่งเขาจะดูเงื่อนไขของทางลูกค้า และคัดคนในสังกัดของเขามาเสนอ แต่อย่าง The LEADERS เราไม่ได้เลือกคนจากที่เรามีอยู่ แต่เราจะหาคนจากทั่วโลก และมีคนหน้าใหม่มาเสนอได้เรื่อยๆ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องมีคนมากองอยู่ในตะกร้า และบางทีหลายคนก็ไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่า เขาเป็น influencer ทั้งที่เขาเป็นคนที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเรื่องนั้นหรืออินกับเรื่องนั้นจริงๆ 

อยากรู้ว่ามีขั้นตอนในการทำงานอย่างไรบ้างหลังจากได้รับโจทย์จากลูกค้า 

เรามีหน้าที่เลือกคนที่ใช่ให้ลูกค้า ในแพลตฟอร์มของเราจะมีฟิลเตอร์ให้เลือกใช้ ซึ่งเราจะเอาข้อมูลตัวเลขให้กับทางผู้ว่าจ้างดู และเล่าให้เขาฟังว่าคนที่เลือกมา 5 ลำดับแรกน่าสนใจอย่างไร โดยยืนยันผ่านสถิติได้ว่าคนคนนี้มีคนติดตามที่เป็นกลุ่มเป้าหมายกับโปรดักต์ของแบรนด์จริงหรือเปล่า โดยสามารถเจาะดูได้อีกว่าสินค้าชิ้นนี้อยากได้กลุ่มเป้าหมายเป็นคนจังหวัดอะไร เช่น อยากทำการตลาดที่จังหวัดเชียงใหม่ เราก็จะโฟกัสไปที่ influencer ที่คนเชียงใหม่ติดตามเยอะ ถ้าอยากให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุระหว่าง 19-24 ปี เราก็สามารถเลือกแบบเฉพาะเจาะจงได้ จากนั้นก็ส่งข้อความไปนำเสนอข้อมูลการทำงานและค่าใช้จ่ายกับ influencer ถ้าเขาตกลง เราก็นำมาเข้าระบบ ถ้าลูกค้าตกลง เราก็ดูแลให้จนจบถึงตอนส่งงานเลย 

ต้องช่วยงานด้านโปรดักชันกับทาง influencer ด้วยไหม 

ข้อดีของการใช้ influencer คือเขาสามารถจบงานได้เอง โดยเฉพาะงานโปรดักชันที่เขามีทีมของตัวเองอยู่แล้ว เราแค่ช่วยดูแลเรื่องความถูกต้องและรายละเอียดตามโจทย์ที่ได้รับมาจากลูกค้าเท่านั้น ซึ่งจากที่ติดตามมาตั้งแต่เปิดบริษัท แบมพบว่า influencer ที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ คือ คนที่มีคอนเทนต์จริงๆ และเป็นเนื้อหาที่ดีจริงๆ 

 

ตอนนี้สินค้าประเภทไหนบ้างที่ต้องการ influencer  

แบมมองว่าเป็นโปรดักต์ด้านความงาม เพราะเราเองก็เป็นผู้หญิง ส่วนตัวจึงเป็นคนที่ติดตามคอนเทนต์เหล่านี้อยู่แล้ว ทั้งคลิปแต่งหน้า บิวตี้โปรดักต์ต่างๆ ซึ่งแบมจะดูคนที่ทำคอนเทนต์สายนี้จริงจัง ดูจนซึมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว และก็จบที่การถูกป้ายยา (หัวเราะ) แบบโอเค F ค่ะ (หัวเราะลั่น

คนที่อยากเป็น influencer ต้องทำอย่างไรถึงจะเข้าตาคนดู 

อย่างแรกเลยคุณต้องมีความรักในเรื่องนั้นจริงๆ แม้คุณอาจจะคิดว่าตัวเองไม่มีอะไรโดดเด่นหรือพิเศษ แต่ยกตัวอย่างว่า หากคุณเป็นคนที่ชอบและสนใจเรื่องของสกินแคร์มากๆ คุณจะพบว่าตัวเองสามารถรีวิวเรื่องนี้ได้ดี เพราะคุณทำด้วยความชอบ เมื่อคนกดเข้ามาดูเขาก็จะรู้สึกได้เองว่าคุณรู้และสนใจเรื่องนี้จริงๆ 

แต่เคยได้ยินคำจากคนในวงการโฆษณาว่า ตอนนี้ influencer เริ่มไม่น่าเชื่อถือแล้ว จากจำนวนที่เกิดขึ้นมากมาย แต่คุณภาพกลับแย่ลงเรื่อยๆ เพราะพวกเขามักเน้นการทำคอนเทนต์เพื่อขายของกันแบบหนักๆ เลยเสียมากกว่า

เรื่องคุณภาพน้อยลงแบมเห็นด้วย ส่วนใหญ่ทุกโพสต์จะเป็นการรีวิวหมดเลย ประมาณว่าถ้าเขาได้เงินจากส่วนไหนก็ลงจะแต่คอนเทนต์แบบนั้น คนดูเลยรู้สึกว่าสรุปคุณชอบอะไรแน่ แบรนด์ไหนกันแน่ที่ดี  แต่คนที่ทำเนื้อหามีคุณภาพ เขาจะทำรีวิวที่มีคอนเทนต์ดีๆ ในด้านนั้นจริงๆ และเลือกทำรีวิวเพราะสินค้านั้นดีจริงๆ ไม่ใช่ทำเพราะแค่รับสปอนเซอร์มา

คุณแบมกำลังจะบอกว่า influencer ไม่ควรทำคอนเทนต์แนวรีวิวมากเกินไป—อย่างนั้นหรือเปล่า

ทำได้นะคะ แต่ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ว่ารีวิวเสื้อผ้า  สบู่ ผงซักฟอก เยอะแยะไปหมด สุดท้ายก็ไม่เป็นทิศทางเดียวกัน ลูกค้าก็ไม่น่าจะแฮปปี้เท่าไร  ถ้าคุณไม่ใช่คนสายทำคอนเทนต์ แต่เป็นคนหน้าตาดี คนอาจจะกดไลก์ให้คุณเยอะ ยอดคนติดตามคุณดีเพราะคุณหน้าตาดี แต่คุณไม่สามารถสร้างคุณค่าให้กับโปรดักต์ได้ พอคุณต้องรีวิวในสิ่งที่ตัวเองไม่อิน คนดูก็ไม่สนใจ สุดท้ายก็ไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงส่วนของการขายได้ 

Lifestyle—ดูจะกลายเป็นคำที่กลับมารัดคอไหม เพราะจะว่าไป ทุกอย่างก็เป็นไลฟ์สไตล์ได้หมด 

Influencer ที่เป็นสายไลฟ์สไตล์ที่ดีก็มีเยอะ โอเค คุณจะบอกว่าผงซักฟอกก็เป็นไลฟ์สไตล์ ใช่ มันเป็นได้ คุณทำรีวิวได้ แต่ไม่ใช่ว่างานต่อไปของคุณเป็นเรื่องอื่นที่ปะปนจนมั่วไปหมด และคุณต้องมีโพสต์ที่เป็นสิ่งที่ตัวเองรักจริงๆ ด้วย ไม่ใช่ทำแต่รีวิวของจิปาถะไปเรื่อยๆ

หรือ influencer ควรบอกคนดูไปชัดๆ เลยไหมว่า คอนเทนต์นี้ฉันจะมาขายของนะ

เราว่าอยู่ที่เนื้อหา บางทีก็สามารถเนียนไปด้วยกันได้ เช่น คลิปแต่งหน้า ก็สามารถมีของที่เป็นสปอนเซอร์มารวมได้ เพราะการแต่งหน้าไม่ได้ใช้แค่เครื่องสำอางตัวเดียวหรือยี่ห้อเดียว ต้องใช้เครื่องสำอางแบรนด์อื่นด้วย แต่บางคนก็บอกไปเลยว่าวันนี้มีสปอนเซอร์เข้านะ ก็เป็นวิธีการขายของแต่ละคน ถ้าคนดูชอบก็วินวิน แต่นั่นก็เป็นเรื่องท้ายๆ เพราะในการทำงาน เราต้องเลือกคนที่มีฐานผู้ชมที่เข้ากับสินค้าก่อน ต้องมาศึกษาตัวเลข ต้องดูว่าเขาเป็นคนที่ชอบเรื่องที่เราเสนอให้ทำหรือเปล่า และคนที่ติดตามอยู่ ใช่คนที่สนใจเรื่องนี้ไหม เพราะต่อให้ทำเนื้อหาออกมาดี แต่คนที่ติดตามเขาไม่สนใจ ยังไงก็ไม่ใช่ การทำงานของ The LRADERS จึงกลายเป็นการช่วยกัน tune ทั้งฝั่งเรา ลูกค้า และ influencer ไปด้วยกัน

เรื่องของการเผยแพร่ผลงาน The LEADERS ช่วยดูแลในช่องทางไหนบ้าง 

แพลตฟอร์มเรามี 3 ช่องทางหลักที่สามารถติตตามดูสถิติหลังบ้านได้ นั่นคือ TikTok,YouTube และ instagram โดยเราจะเลือกช่องทางให้เหมาะกับสินค้านั้นๆ มากที่สุด เช่น ถ้าอยากได้กลุ่มเป้าหมายที่อายุน้อยๆ TikTok ตอบโจทย์ตรงนี้ ส่วน YouTube จะเหมาะกับงานที่ต้องใช้เวลาในการชมหรืองานที่ต้องการนำเสนอข้อมูลมากๆ เราต้องเลือกช่องทางที่เหมาะสมให้กับคอนเทนต์นั้นๆ ถ้าถามถึงคอนเทนต์ที่ตอนนี้มาแรงในต่างประเทศ คือเรื่องของการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) หรืองานเพื่อสังคม กำลังได้รับความนิยมมาก 

คุณแบมสามารถวิเคราะห์ได้ไหมถึงขนาดที่ว่า งานชิ้นไหนควรลงตอนกี่โมงถึงจะได้ผลที่สุด

กำลังถามถึงสงครามอัลกอริธึมใช่ไหมคะ (หัวเราะ) ตอนนี้เราสามารถเช็กได้ว่าคอนเทนต์ประมาณนี้ ใครที่เป็นคนทำแล้วยอดร้อนแรงที่สุด หรือดูว่าคนที่ติดตาม influencer คนนี้ ชอบสิ่งที่เขานำเสนอกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น สนใจเรื่อง Food กี่เปอร์เซ็นต์ สนใจเรื่อง Beauty กี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนเวลาในการลงคอนเทนต์ ช่วงพีคของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน เราต้องเข้าไปดูสถิติว่าลงตอนกี่โมงถึงจะได้ยอดสูงที่สุด โดยแพลตฟอร์มของเราสามารถติดตามได้ว่าคนคนนี้มี Top  engagement  อยู่ที่เวลากี่โมง

คิดว่า facebook ยังเป็นช่องทางในการทำโฆษณาที่น่าสนใจอยู่ไหม เพราะอัลกอริธึมของแพลตฟอร์มนี้จัดว่าโหดมาก

ประเทศไทยคนให้ความสำคัญกับเฟซบุ๊กมากๆ ลูกค้าทุกคนจะถามถึงเฟซบุ๊กตลอด พอเอาเรื่องนี้ไปคุยกับทีมงานที่อิสราเอล เขาก็ทำหน้างงๆ นะ (หัวเราะ) เพราะต่างประเทศมองว่าเฟซบุ๊กเป็นสื่อที่ล้าหลังไปแล้ว เขามองไปที่ TikTok,  Instagram กับ YouTube มากกว่า และอัลกอริธึมของเฟซบุ๊กนั้นเปลี่ยนบ่อย ยุ่งยากพอควรความจริงตอนนี้แพลตฟอร์มที่มาแรงในการทำโฆษณากลับเป็น Twitter เสียด้วยซ้ำ 

ถ้าอย่างนั้นคนทำคอนเทนต์หรือเพจธุรกิจ ก็ไม่ควรจะยึดเอา facebook เป็นหลักอีกต่อไปแล้วใช่ไหม

ใช่ค่ะ ยอดมันน้อยลงเพราะว่าอัลกอริธึมเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก ส่วนตัวแบมก็ไม่เล่นเฟซบุ๊ก เพราะรู้สึกว่าเวลาลงอะไรไป engagement มันไม่ได้  ผิดกับใน instagram แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เพราะถ้าคนอายุเยอะๆ เขาก็ยังใช้เฟซบุ๊กเป็นหลัก เรื่องนี้ต้องดูที่ช่วงอายุประกอบด้วย แต่ถ้าจะทำการตลาดกับคนรุ่นใหม่ คิดว่าเฟซบุ๊กอาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าเมื่อก่อนแล้ว

ตอนนี้ The LEADERS จับโปรเจ็กต์อะไรอยู่บ้าง

ที่อยากทำเป็นเรื่องแรกเลยคือ อยากทำคอนเทนต์ อยากให้ข้อมูลกับคนดูว่าตอนนี้เทรนด์ในประเทศไทยและต่างประเทศกำลังสนใจเรื่องอะไร เพราะเรามีสถิติและข้อมูลต่างๆ ที่ช่วยในการทำคอนเทนต์ได้ 

ยกตัวอย่างเช่นใน The Momentum แบรนด์ก็สามารถเอาข้อมูลของเราไปใช้ในเชิงวิเคราะห์ที่ลึกได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่กำลังเป็นกระแส ถ้าเอาเรื่องเบาๆ ก่อน ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกของ BlackPink ใครมาแรงที่สุด คนไหนมีกราฟในด้านต่างๆ ดีที่สุด หรือถ้าเลือกหยิบประเด็นของใครสักคนขึ้นมาคุย ก็จะติดตามดูได้ว่าผู้คนกำลังสนใจคนคนนั้นในเรื่องไหน เราสามารถติดตามได้ว่าคนที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ ยอดผู้ติดตามของเขาเพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นจำนวนเท่าไร และฟังก์ชัน Follow creativity ของเราก็สามารถบอกได้ว่าคนที่เรากำลังดูข้อมูลอยู่นั้น บรรดา followers ติดตามเขาจริงๆ แบบมีคุณภาพนั้นอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ และมีแอคเคาท์ปลอม หรือแอคเคาท์ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นจำนวนเท่าไร เราจะรู้ได้เลยว่าคนนี้ของจริงหรือควรเลี่ยง นี่คือยกตัวอย่างให้เห็นว่ามันซัพพอร์ตการทำงานเชิงคอนเทนต์ได้อย่างไรบ้างนะคะ

หรือเราสามารถนำเสนอได้ว่า แบรนด์ไหนสามารถทำ YouTube ได้นะ ทำเป็นวิดีโอจริงจังไปเลย หรือพอดแคสต์เองก็เป็นช่องทางที่น่าสนใจ แม้ยอดในพอดแคสต์จะไม่เร้าใจเท่าช่องทางอื่น แต่คนฟังพอดแคสต์เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีคุณภาพ เพราะเขาฟังอย่างจริงจังมาก อย่าง TikTok ก็ใช้เป็นสื่อสำหรับเรียกความสนใจ หรือเอาไว้ใช้เพื่อให้คนเห็นเยอะๆ

อีกอย่างที่ทางทีม The LEADERS กำลังทำอยู่คือ รายการ Trend Watcher ที่จะเผยแพร่ใน The Momentum เร็วๆ นี้ เป็นการนำเกร็ดความรู้ และเรื่องราวความเคลื่อนไหวในโลกการตลาดออนไลน์ ที่เชื่อมโยงกับการใช้ influencer มาแชร์กับผู้ชม ซึ่งแบมคิดว่าน่าจะมีอะไรใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ

ทุกวันนี้คุณแบมทำงานหนักไหม เช่นว่าตี 3 ยังต้องมานั่งตอบ LINE หรือส่งอีเมล์โต้ตอบกับทีมงานที่ต่างประเทศ

ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ในอนาคตไม่แน่ใจเหมือนกัน (หัวเราะ) ถ้าเป็นฝั่งทีมงานที่ต่างประเทศเขาจะรู้ช่วงเวลาทำงานของเรา ดังนั้นการคุยกันส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเย็นในบ้านเรา เพราะอีกฝั่งจะเป็นตอนเที่ยงๆ พอดี และถ้าเป็นทางลูกค้าเราก็ต้องรอจังหวะที่เขาจะตื่นนอนก่อนเท่านั้นเอง

มองสถานการณ์ตอนนี้ของภาคธุรกิจอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะธุรกิจที่เพิ่งเปิดใหม่ เพราะตั้งแต่ต้นปี ทั่วโลกเจอแต่เรื่องแย่ๆ เต็มไปหมด 

ถ้าเป็นทาง The LEADERS SE Co.,Ltd. เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะคุณพ่อเองก็บอกว่าให้โตช้าๆ อย่าไปเน้นจำนวน ให้เราทำงานใกล้ชิดกับลูกค้าไว้ก่อน ทำให้น้อยแต่เน้นคุณภาพ เพราะการทำโฆษณามีปัจจัยที่เราต้องคอยช่วยเหลือลูกค้าตลอดเวลาจนกว่าจะปิดงาน และโปรเจ็กต์แต่ละชิ้นเราต้องระดมกำลังช่วยกันคิดช่วยกันทำ เพราะเราทำงานกันเป็นทีม ตอนนี้แบมก็คิดอยู่ว่าอยากจะเพิ่มทีมงานให้มากกว่านี้ (หัวเราะ

อยากรู้ว่าคุณพ่อของคุณแบม (สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย) สอนอะไรบ้างเกี่ยวกับการทำธุรกิจ 

คุณพ่อสอนหลายเรื่องมาก พ่อชอบพูดเรื่องการทำงานกับแบม ก่อนหน้านี้เราเรียนมาทางด้านไฟแนนซ์ และเป็นคนค่อนข้างเงียบๆ ไม่ค่อยกล้าคุยกับใครเท่าไร ตอนนี้ปรับตัวมากขึ้นแล้ว (หัวเราะ) คุณพ่อมักจะขอเข้ามาประชุมด้วย และท่านจะสอนวิธีการคิด สอนการมองที่ภาพรวมก่อน เพราะธรรมชาติของผู้หญิงจะสนใจเรื่องรายละเอียดมากกว่า แต่พอลงเรื่องดีเทลท่านก็รู้นะ พ่อก็ช่วยแนะนำหลายๆ เรื่องให้ตลอด เราก็ดูวิธีการทำงานของพ่อด้วย ซึ่งตอนนี้เรื่องใหญ่ที่สุดคือ จะพาบริษัทให้รอดพ้นสถานการณ์นี้ได้อย่างไร ซึ่งแบมก็เอากลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เราก็พยายามประคับประคองทีมให้พวกเขามีกำลังใจที่ดี

เพราะตอนช่วงโควิด-19 หนักๆ พวกเราก็เจื่อนๆ กันไปหน่อย แต่ด้วยความที่ The LEADERS เป็นทีมเล็กๆ พวกเราจึงใกล้ชิดกันมาก ตอนนี้แบมเชื่อว่าทุกคนเครียดกันหมด สัมผัสได้ว่าทุกคนกังวล แต่เราก็ให้กำลังใจกัน และให้กำลังใจตัวเองด้วย เพราะถ้าเราแสดงออกมาว่าไม่ไหว คนอื่นๆ ก็จะพลอยเสียขวัญตามไปด้วย 

การมีพ่อที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจมาก่อน เพิ่มแรงกดดันในการทำงานของคุณบ้างไหม

แน่นอนค่ะ แบมว่าคนส่วนใหญ่จะมองว่าการที่มีพ่อแม่เก่งหรือมีธุรกิจที่บ้านเราจะโชคดีกว่าคนอื่น ซึ่งมันก็จริงที่เราไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ แต่ในขณะเดียวกันมันก็กดดันค่ะ เพราะคนจะคาดหวังจากเรามากกกว่าว่า ถ้าพ่อแม่เก่ง ลูกก็ต้องเก่งด้วยสิ และการที่มีพ่อแม่เป็นแบบอย่างก็ทำให้เราต้องพยามมากขึ้นมากๆ ที่จะเก่งให้ได้เท่าเขา ตอนนี้ยังไม่ถึงครึ่งเลยค่ะ (หัวเราะ) เพราะจริงๆ นอกจากหน้าตาที่เหมือนแล้ว อย่างอื่นแบมก็ไม่เหมือนเลยทั้งบุคลิก นิสัย และความที่พ่อมีธุรกิจหลายอย่าง มีประสบการณ์มามาก เขาก็จะมีความมั่นใจมากกว่าเราแน่

ระหว่างการเลือกเข้ามาทำงานแรกที่เป็นธุรกิจหรือบริษัทในเครือของครอบครัวเลย กับการไปลองหาประสบการณ์เรียนรู้การทำงานจากองค์กรอื่นๆ ก่อน คุณแบมมองว่ามันมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

ตอนแรกแบมก็คุยเรื่องนี้กับพ่อค่ะว่าจะทำงานที่อื่นก่อนดีมั้ย แต่พ่อแนะนำว่าวันหนึ่งเราก็ต้องกลับมาทำธุรกิจของที่บ้านเราอยู่ดี ถ้าอย่างนั้นก็เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ไปเลยดีกว่า ข้อดีคือ เราได้มีเวลาทำความเข้าใจงานในบริษัทของเรามากขึ้นค่ะ แต่จริงๆ ข้อเสียก็มี โดยหลักเลยก็คือถ้าเรามีโอกาสได้ไปเรียนรู้งานในบริษัทอื่นๆ ตำแหน่งอื่นๆ ก่อน เราก็น่าจะมีประสบการณ์ที่สามารถนำมาพัฒนาการทำงานในบริษัทของเราได้ แบมก็แอบเสียดายนิดหน่อยค่ะ แต่มองในอีกทางหนึ่งก็แอบโชคดีอยู่เหมือนกัน ตรงที่บริษัท Leaders SE ที่แบมแยกมาทำ เราเริ่มต้นและเรียนรู้งานตั้งแต่ day1 เลย ตั้งแต่ยังไม่มีทีมสักคน แบมก็เลยมีโอกาสได้เรียนรู้งานในทุกตำแหน่งไปโดยปริยาย

เป็นผู้บริหารตั้งแต่อายุยังไม่มากนัก มีความลำบากใจหรืออุปสรรคในการทำงานบ้างไหม

แบมถือว่าทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ค่ะ และที่สำคัญ พวกเราทำงานกันเป็นทีม แบมมองว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน คนที่อายุน้อยที่สุดก็แสดงความเห็นได้ เช่น น้องลูกกา สตาฟฟ์คนหนึ่งของเรา เขาอายุ 23 ปี แต่เขาเป็นแฟนคลับนักร้องเกาหลี เขาจะอินเรื่องนี้หนักมาก ถ้าเรามีโจทย์ที่ต้องทำงานสไตล์นี้ เด็กเจนนี้เขาจะทำได้ดีกว่าเรามากๆ ดังนั้นการรับฟังไอเดียของแต่ละคนจึงสำคัญมากในการพัฒนาแต่ละโปรเจ็กต์ 

วางแผนธุรกิจ The LEADERS ในอนาคตไว้อย่างไร

การที่เราใช้ชื่อบริษัทว่า The LEADERS SE Co.,Ltd. ที่มี SE ต่อท้าย ก็คือตัวย่อของคำว่า Southeast Asia เพราะเราตั้งใจจะขยายพาร์ทเนอร์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ตอนนี้เราร่วมมือกับทีมงานทางประเทศเมียนมาร์ และกำลังคุยกับทางอินโดนีเซีย เพราะเราเป็น global platform ที่มีอยู่แล้ว 6 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นถ้าใครอยากขยายตลาดไปประเทศอื่น นอกเหนือจากประเทศไทย แพลตฟอร์มของเราก็รองรับ เช่น ถ้าอยากไปที่เมียนมาร์ พาร์ทเนอร์ของเราก็สามารถแนะนำได้ว่าที่นั่นเหมาะกับที่จะทำการตลาดด้วยแพลตฟอร์มไหน อะไรกำลังเป็นที่นิยมหรือใครกำลังมาแรง และการติดต่อ influencer ที่นั่นก็จะง่ายกว่าด้วย

Fact Box

  • แบมนันท์วรินทร์ เตรียมชาญชัย ลูกสาวคนเดียวของ สุรพงษ์ เตรียมชาญชัยศรวณีย์ ศิริจรรยากุล มีพี่ชายหนึ่งคน (ธนนนท์ เตรียมชาญชัย)
  • จบการศึกษาสาขาวิชาการเงิน วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ธุรกิจนี้เป็นงานแรกที่เธอเข้ามารับผิดชอบอย่างเต็มตัว ในตำแหน่ง Chief Strategy Officer ของ The LEADERS SE Co.,Ltd. ด้วยวัยเพียง 26 ปี ที่นับเป็นความท้าทายไม่น้อยเลย แต่ก็อย่างที่เธอบอกไว้ละว่า “If you never try you'll never know.”
  • ยามว่าง นันท์วรินทร์ชอบแฮงก์เอาท์กับเพื่อนและครอบครัว เพลินกับการดูหนัง ฟังเพลง และติดตาม Social Media—ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานไปแล้วโดยปริยาย