ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการคนเล่นสนีกเกอร์ในเมืองไทยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และหากย้อนไปไกลกว่านั้น สนีกเกอร์เฮด หรือคนเล่นสนีกเกอร์-สะสมสนีกเกอร์ยังเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ที่ขวนขวายหาข้อมูลกันเองตั้งแต่สมัยอินเทอร์เน็ตยังเชื่องช้า มาถึงตอนนี้ใครๆ ก็สนใจใส่สนีกเกอร์และหลายคนก็ลงลึกไปกับมัน ผู้คนยอมจ่ายเงินหลักพันเพื่อสนีกเกอร์และทำความเข้าใจกับมันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนไทยในวงกว้างหันมาสนใจสนีกเกอร์กันมากขนาดนี้ จนทำให้สนีกเกอร์กลายเป็นไอเทมในแฟชั่นกระแสหลัก แล้วความเปลี่ยนแปลงนี้จะมุ่งไปในทิศทางไหน?

หนึ่งในบรรดาผู้ที่ได้สำรวจและบันทึกปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์นี้ไว้ก็คือทีมของ ‘เอม’ ธนาวัต นุตสถิตย์ เจ้าของเพจ Sneaker on Sight ‘จัส’ ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ นักทำหนัง และ ‘โจ้’ ชลัท ศิริวาณิชย์ คนตัดต่อ ผู้อยู่เบื้องหลังสารคดี Airvolution: Thailand’s Air Max Scene ว่าด้วยวงการสะสม Air Max รองเท้ารุ่นในตำนานของไนกี้ในประเทศไทย ที่ไม่ได้พูดถึงแค่รองเท้าในตำนานเพียงหนึ่งรุ่น แต่พูดถึงวงการสนีกเกอร์ของคนทั้งประเทศ รวมถึงทิศทางต่อๆ ไปของวงการนี้อีกด้วย

โปรเจกต์นี้เริ่มต้นขึ้นมาอย่างไร

เอม: ตอนแรกเราตั้งเพจ Sneaker on Sight มาเพราะเราอยากพูดถึงเรื่องรองเท้าที่เราชอบ พอทำมาเรื่อยๆ อยู่ๆ ปีหนึ่งมันก็ติด สนีกเกอร์มันบูมขึ้นมา และสำหรับโปรเจกต์นี้ก็เริ่มจากว่า เราทำงานกับไนกี้มา 2 ปีกว่าแล้วเขาก็บอกว่าในเดือนมีนาคมของทุกปี มันจะมีวันหนึ่ง ที่เป็นวันเกิดของรองเท้าที่ถือเป็นมรดกสุดยอดของไนกี้เลย นั่นก็คือ Air Max เขาก็บอกว่า “ยู ไออยากได้หนังเรื่องนึง” แล้วเขาก็เอาตัวอย่างมาให้ดูชื่อ Master of Air เป็นของฝรั่ง เขาทำเรื่องนักสะสมในยุโรปหลายๆ ประเทศเลย คนนี้มีคู่นั้นคู่นี้ เขาบอกว่า “ไออยากได้แบบนี้” แล้วเราก็บอกเขาว่า “ยู แต่ไอไม่อยากทำแบบนี้” 

เราจะทำเหมือนเขาไปทำไม เพราะอย่างที่ยุโรป การที่คนคนหนึ่งจะสะสมรองเท้าเป็น 30-40 ปี มันเป็นวัฒนธรรมของเขา แต่ของเรามันเพิ่งเกิดเอง เราก็เลยอยากทำสารคดีเรื่องนี้ ว่าจริงๆ แล้ว ซีนของ Air Max ในบ้านเรามันเป็นยังไง

เอม – ธนาวัต นุตสถิตย์

Air Max พิเศษอย่างไรสำหรับไนกี้

เอม: Air Max 1 คือพระเอกของไนกี้เลย (Air Max 1 เป็นรองเท้ารุ่นแรกของไนกี้ที่มี Air Unit หรือถุงพลาสติกอัดอากาศใส่ไว้ในส้นรองเท้าเพื่อรับแรงกระแทก : ผู้เขียน) จุดเริ่มต้นของมันก็คือคนออกแบบเขาเดินไปเจอ Centre Pompidou (พิพิธภัณฑ์การออกแบบในปารีส) ที่เอาท่อข้างในตึกออกมาไว้ข้างนอก เขาเลยเกิดไอเดียว่า เฮ้ย ลองเปิดแอร์ (ในส้น) ให้เห็นเลยสิ ซึ่งฝ่ายการตลาดก็บอกว่าอย่าทำเลย เดี๋ยวขายไม่ออก แต่ดีไซเนอร์บอกยังไงก็จะทำ แล้วมันก็บูมจริงๆ ทำทุกคนซื้อคอนเซปต์นี้ ทุกคนตามมัน

ในปี 1985 (ที่ Air Max 1 ออกมา) ตอนนั้นรีบอคทำรองเท้าแอโรบิก หน้าตาเหมือนยีซี่ในปัจจุบัน ที่ถือว่าเป็นกระแสหลักเลยในสมัยนั้น ส่วนอะดิดาสก็ไปทำเกี่ยวกับเรื่องการซัพพอร์ตเท้า การบิดของเท้า แต่ไนกี้ อยู่ๆ ก็มาพูดว่ากูจะทำเรื่องการรองรับแรงกระแทก แล้วก็เปิดมันให้เห็นไปเลย เรารู้สึกว่าอันนี้คือจีเนียสของจริง ในขณะที่คนอื่นทำอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้แหละ เราไม่สนใจ เราจะทำอันนี้ให้ดีที่สุด เรารู้สึกว่าพลังของการสร้างด้วยแพสชั่นมันสร้างผลกระทบได้ โมเมนต์ที่เราเจอ Air Max เนี่ย เหมือนคนที่ไม่คิดมาก่อนว่าเราจะเห็นไดโนเสาร์ที่ดูมีชีวิตในหนัง แล้วได้มาดู Jurassic Park หรือคนที่ไม่เคยจินตนาการโลกอวกาศออกจนกระทั่งได้ดู Star Wars เรารู้สึกว่าโมเมนต์ ณ ตรงนั้นมันสุดยอดเลย

พอได้รับความไว้วางใจมาจากแบรนด์ใหญ่อย่างไนกี้ คุณเริ่มต้นอย่างไร

เอม: เรารับโปรเจกต์มาแบบที่รู้ว่าต้องทำหนัง แต่เคยทำมั้ย ไม่เคย ตัดวิดีโอเป็นมั้ย ตัดเป็น แต่แบบ งูๆ ปลาๆ แต่เรารู้ว่าเรามีคนที่ทำได้ และเราก็รู้สึกว่า ตอนนั้นมีคนเดียวเท่านั้นที่ต้องทำ คือจัส

จัส – ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

จัส: คือตอนที่รู้ว่าจะมีโปรเจกต์อย่างนี้ มันปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วที่จะทำ เพราะเราก็อินมากๆ โดยส่วนตัวเราโตมากับการดูหนัง โตมากับรองเท้า ฝรั่งมันมีคนทำคอนเทนต์อย่างนี้เยอะมาก ของเรารู้สึกว่า ส่วนตัวเราคิดอยู่แล้วว่าบ้านเรามันขาดคอนเทนต์ที่พูดถึงซับคัลเจอร์ แล้วซับคัลเจอร์อย่างนี้มันก็เริ่มสุกงอมในจังหวะของมัน รู้สึกว่ามันสามารถถูกพูดถึงได้แล้ว

สำหรับคนตัดต่อ ทำไมถึงต้องเป็นคุณโจ้

จัส:  เราก็นึกถึงคนที่จะคุยกันรู้เรื่อง เวลาเราจะทำงานร่วมกับใคร บางทีเราไม่ได้ต้องการว่าเขาต้องทำอะไร เขาเก่งขนาดไหน แค่รู้สึกว่า เขาคุยกับเรารู้เรื่องรึเปล่าว่าเราอยากได้อะไร ก็รู้สึกว่าพี่โจ้น่าจะคุยกับเรารู้เรื่อง

โจ้ – ชลัท ศิริวาณิชย์

ได้ยินว่าคุณโจ้ไม่เคยสนใจวงการรองเท้ามาก่อนเลยแม้แต่นิดเดียว? 

โจ้: เอาจริงๆ เราเป็นคนที่ แม้กระทั่งพวกฟิกเกอร์ ของเล่นสะสม ตุ๊กตา หุ่น เราก็ไม่ค่อยเก็ตว่าสะสมทำไม เราจะไม่ค่อยเข้าใจ จะมีความสงสัยว่ารองเท้าซื้อไปทำไมเยอะแยะ ก็เลยเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกถ้าได้ทำอะไรแบบนี้ก็น่าจะดี หนึ่งก็คือจะได้เข้าไปเข้าใจความคิดคนอื่นให้มากขึ้น ทำไมคนถึงอยากสะสมกัน กับสองก็คืออยากมาลองอยู่ในซีน อยากมาลองรู้จักสนีกเกอร์มากขึ้นแหละ มันยังอาจจะไม่ได้ใหม่มาก แต่มันก็กำลังมานะ ถือเป็นสตอรี่เล็กๆ ในเมืองไทย 

เรารู้สึกว่าน่าจะมันดี การเข้าไปสิงอยู่ในซับคัลเจอร์สักอันหนึ่ง แล้วก็พยายามเล่าเรื่องของมัน ซึ่งก็ทำให้เริ่มรักขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งอยู่ยิ่งรักอะไรแบบนี้ มีตอนที่ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งพูดถึงความรู้สึกตอนใส่ Air Max ครั้งแรก พอเราเจอในฟุตเทจ รู้สึกว่าตรงนี้ต้องมาร์คไว้เลย เขาบอกว่าครั้งแรกที่เขาใส่รองเท้าแล้วรู้สึกเหมือนเหยียบเข้าไปในหมอนนุ่มๆ ฟังแล้วก็ โห มันขนาดนั้นเลยเหรอ หลังจากนั้นก็เป็นบ้าเลย อยากไปลองมาก อาจจะเพราะแค่ท่อนสั้นๆ ของเขาก็ได้นะ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าอยากลอง คือตัดต่อสารคดีจนอยากได้รองเท้า (หัวเราะ)

จัส: ซึ่งด้วยความที่พี่โจ้ไม่ได้ติดตามสนีกเกอร์มาก่อน เราต้องทำ index ให้พี่โจ้ว่าแต่ละรุ่นหน้าตาเป็นยังไง 

โจ้: ตอนตัดเราก็จะรู้สึกว่ามันจะได้มั้ยนะ เราจะทำให้มันฉูดฉาด เหมือนที่คนเล่นเขารู้สึกฉูดฉาดกับมันจริงๆ ได้มั้ย เพราะมันไม่ใช่อะไรอยู่กับเรามานานขนาดนั้น ซึ่งจัสก็ช่วยเราเยอะมาก

จัสจะทำสคริปต์มาให้เป็นในเชิงว่า เล่าซีนที่มันเกิดขึ้นตั้งแต่อดีต ไล่มาตั้งแต่ช่วงที่มันยังไม่ได้ดังเลยจนถึงปัจจุบัน เราเล่าผ่านปากคำของนักสะสม 4-5 คนที่เขาสะสมมาหลายปีแล้ว มาเล่าเรื่องซีนให้ฟัง ทีนี้หน้าที่ของเราก็คือต้องพยายามมัดรวมให้เป็นเรื่องเดียว ก็เลยเหมือนกับว่าเราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการแกะฟุตเทจพวกนี้ด้วย ก็คือพูดง่ายๆ ว่าทำไปทำมา เราได้อยู่กับมันประมาณหนึ่งเลย จนเราเริ่มรู้สตอรี่ของสนีกเกอร์ ตามมันทันแล้ว มันก็เริ่มมีความอินตามมาด้วย

การตัดต่อของคนที่ไม่ได้อินกับเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก ให้ผลอย่างไรบ้าง

เอม: คัทแรกที่จัสส่งมาให้ เราเหวอมาก เราไม่คิดว่าเราจะได้งานแบบนี้ เพราะเราคาดหวังอย่างหนึ่ง แล้วสิ่งที่เราได้เป็นอีกแบบเลย เหมือนคนตัดเขาช่วยเราคิดอีกที ว่ามันต้องเป็นสไตล์นี้ คือภาพที่เราคิดไว้ในหัวคือสารคดีของทางอเมริกาที่ educated มาก ข้อมูลแน่น มาแบบขลังๆ เนี้ยบๆ เลย แต่พอคัทแรกที่ส่งมา เราดูไปสามนาทีแรก เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องดูต่อแล้ว เรารู้สึกว่ามันคือมู้ดนี้แล้ว มันเหนือความคาดหมายมาก

จัส: คือผมว่าถ้าเป็นคนที่อินอยู่แล้ว อาจจะไม่รู้สึกว่าต้องเล่นอะไรมากก็ได้ เพราะสำหรับเขายังไงมันก็สนุกอยู่แล้ว แต่พอคนที่ไม่ได้อินมาก่อนก็จะช่วยเสริมให้คลิปมันสนุกขึ้นได้

โจ้: วิดีโอนี้มันอาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์มากสำหรับคนที่อินอยู่แล้ว แต่ว่ามันน่าจะเจ๋งสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มสนใจสนีกเกอร์หรือกำลังจะเริ่มสะสม

วงการสนีกเกอร์ไทยมีความพิเศษกว่าที่อื่นอย่างไร ถึงต้องเล่าเรื่องนี้ออกมา

เอม: ส่วนตัวเราคิดว่ามันพิเศษมากที่สุดในโลกเลย อันนี้คือลิสต์ที่เรามีมานานมากแล้วตั้งแต่เริ่มเพจใหม่ๆ มันเป็นสาเหตุที่เราทำเพจมาเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้มีสารคดีตัวหนึ่งที่มันกระตุ้นเรามากๆ คือเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว อะดิดาสเขาทำสารคดีเกี่ยวกับนักสะสมนี่แหละ แต่นักสะสมของอะดิดาสเนี่ยต้องเรียกว่าหยิบมือในโลก เพราะอะดิดาสเป็นแบรนด์ยุโรป เขาไม่ตะโกนเล่าเรื่องอะไรเลย เขาทำเสร็จแล้วก็เก็บใส่ลิ้นชัก แล้วตัวเองก็ตายไป

ทีนี้นักสะสมที่ว่าหยิบมือเนี่ย เขาบอกว่ามีประมาณ 5-6 คน มันมีรูปอยู่ใบหนึ่งที่เป็นร้านรองเท้าที่ดูคล้ายๆ ร้านรองเท้านักเรียนที่อาร์เจนตินา ซึ่งพอเราไปเสิร์ชก็ไม่เจอข้อมูลเลย แค่รู้ว่านี่คือร้านที่เขาพูดถึง มีรูปร้านแค่ใบเดียว ในร้านจะมีลุงคนหนึ่งเป็นเจ้าของ และร้านก็เก่ามาก พวกกล่องอะดิดาสที่เรียงเต็มผนัง แต่ก่อนเป็นสีน้ำเงิน มันกลายเป็นสีเหลืองๆ ไปแล้วหมดแล้ว

พอเข้าไปในห้องสต๊อก ทุกอย่างเป็นรองเท้าเก่าหมดที่ยังไม่ได้ขายทั้งนั้นเลย และสต๊อกมันก็น่าจะ 20 ปีขึ้นไป แล้วนักสะสมชื่อดังคนหนึ่งชื่อ Robert Brooks เขาดึงรองเท้าออกมาคู่หนึ่ง มันเก่าจนพื้นมันแตกร่วงกราวลงมาหมดแล้ว เขาบอกว่าคู่นี้เขาหามาทั้งชีวิตแล้วไม่เคยเจอจากที่ไหนเลย แต่อันที่เจอนี้คือใหม่มากแล้ว พอดูแล้วเรารู้สึกได้ถึงจิตวิญญาณของนักสะสม สักพักหนึ่งลุงเจ้าของร้านก็บอกว่าพอแล้ว ยูกลับไปได้แล้ว อันนี้มันไม่ใช่ของยูคนเดียวนะ มันเป็นของลูกค้าไอ คือเขาก็มีความทะนงในตัวเขา นี่เป็นสารคดีที่เราดูแล้วขนลุก 

ซึ่งถ้าฝรั่งว้าวกับร้านแบบนี้ แปลว่ายูยังไม่เคยเห็นกรุงเทพฯ ยังไม่เคยเห็นจตุจักร ไม่เคยเห็นโรงเกลือ ไม่เคยเห็นข้าราชการแทบจะเกษียณแล้ว มีบ้านอยู่ต่างจังหวัด บ้านไม้ แต่เปิดเข้าไปข้างในมีรองเท้าบาสเป็นร้อยคู่ เรียงเป็นชั้นๆ แล้วบ้านเราก็มีความหลากหลายสูงมาก บางทีเรารู้สึกว่าสนีกเกอร์เฮดเองส่วนใหญ่ในยุคนี้ มักจะไม่เห็นด้วยกับเทรนด์ที่คนไทย (ทั่วไป) เห็นด้วย อย่างเช่นสนีกเกอร์เฮดจะมีความเหยียดอะดิดาส NMD อยู่นิดหน่อย แต่เรากลับรู้สึกว่า รองเท้าอย่าง NMD (รองเท้าที่เปิดตัวเมื่อปี 2015 และฮิตถล่มทลาย : ผู้เขียน) หรือ Jordan 1 Mid เนี่ยไม่มีประเทศไหนเขาเข้าใจเลย แต่คนไทยคลั่งมาก รู้สึกว่านี่ต่างหากคือคัลเจอร์ของเรา เราควรจะ embrace สิ่งนี้สิ

พวกคุณคิดเห็นอย่างไรกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของคนเล่นสนีกเกอร์ในไทย

จัส: อย่างพี่ชอบมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ สมัย ม.ต้น เพราะว่าชอบฟังฮิปฮอป คือฮิปฮอปกับรองเท้าอเมริกันมันไม่ได้เป็นเมนสตรีมมาก่อน เมื่อก่อนใส่รองเท้าแบบนี้คือโดนเพื่อนล้อ เมื่อก่อนคือต้องใส่คอนเวิร์สถึงจะเท่ใช่ปะ ใส่รองเท้าอะไรบวมๆ เยอะๆ จะโดนล้อ แล้วอยู่มาวันหนึ่งทุกคนก็เก็ตหมดว่าสิ่งนี้คืออะไร เป็นความประหลาดใจที่ตั้งตัวไม่ทัน จากที่เมื่อก่อนอาจจะไม่ต้องแย่งใคร มันก็เหนื่อยขึ้น แต่แง่ดีคือมันทำให้ตลาดโตขึ้นแหละ

เอม: สองปีที่แล้วเรารู้สึกว่าเรายังนำหน้าทุกคนอยู่ เพราะเราชอบรองเท้าตั้งแต่ ม.ต้น แต่เขาเพิ่งมาชอบกัน 2-3 ปี ถ้านับของเราเป็น 10 ปีนะ แต่ภายใน 2 ปีนี้เอง ทุกคนกำลังจะตามเราทันแล้ว

เรามองว่าตอนนี้จะมีคนเล่นสนีกเกอร์เป็นกลุ่มใหญ่ๆ สองกลุ่ม ก็คือชอบในฐานะ lifestyle กับชอบที่ performance ของมัน อย่างคนที่เขาวิ่งกัน พอเหยียบลงไปแล้ว performance ของรองเท้าคือคนใส่จะรู้สึกคืนกลับมาทันทีว่าที่อยู่ใต้เท้าเนี่ยมันคุ้มเงินรึเปล่า แล้วถ้าเขารู้สึกว่าที่ได้รับกลับมา มันทำให้เขาพอใจ คราวนี้ไม่มีลิมิตแล้ว เท่าไหร่ก็จ่าย เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เข้าใจกันได้ในตอนนี้ 

ทุกวันนี้เวลาแบรนด์เชิญเราไปงานเปิดตัวที่เมืองนอก ไปเจอกับดีไซเนอร์ก็จะมีสื่อจากหลายๆ ประเทศมายืนรุมสัมภาษณ์ เขาก็จะถามคำถามทั่วไป เราก็ต้องถามว่า ผ้านี้มันสเปคอะไร ต่างจากสเปคสามกับสี่อย่างไร เป็นสามครึ่งรึเปล่า แล้วทุกคนก็จะเลิกคิ้วว่า มึงใครเนี่ย มึงถามอะไรเขาขนาดนี้ ซึ่งเรารู้สึกว่า เราต้องถามคำถามแบบนี้แล้วนะในยุคนี้ เราไม่มีปูพื้นฐานแล้ว เพราะนี่คือคำถามที่คนในเพจถามเรา มันไปเร็วและเข้มข้นมาก 

สมัยนี้มีหลายคนถึงขั้นซื้อรองเท้ามาเก็งกำไรเป็นอาชีพ แล้วสุดท้ายรองเท้าที่ควรจะเป็นของคนหมู่มากกลับถูกปั่นราคาสูง แล้วก็ตกไปอยู่ในมือของคนหน้าเดิมๆ ไม่กี่คนทุกที คุณคิดเห็นกับเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง

จัส: เราคิดว่ามันเป็นกลไกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไงมันก็ต้องเกิดขึ้นตามโลกทุนนิยม มันคงไม่ใช่แค่การ resale รองเท้าหรอก ทุกอย่างในโลกมันก็มีการ resale บัตรคอนเสิร์ตก็มีที่เราเรียกว่าตั๋วผี มันก็คงเป็นสิ่งเดียวกัน ในมุมหนึ่งที่มันน่าหงุดหงิดที่เราต้องซื้อของราคาแพงขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งมันทำให้เราสามารถเข้าถึงของที่เราไม่มีวันเข้าถึงเลยก็ได้นะ อย่างเช่น รองเท้าบางรุ่นมันไม่เข้ามาในไทย มีจำนวนน้อยมาก ถ้าเรามีเงินพอเราก็จะซื้อ เพราะถ้าไม่มีกลไกลนี้ เราจะหาซื้อจากไหน 

เอม: แล้วเวลามันขายได้แพงๆ สื่อจะชอบลงว่ารองเท้ารุ่นนี้คู่ละล้าน คือถ้ารองเท้ามันคู่ละ 3,000 บาทจะไม่มีพาดหัวข่าวไง เราก็ไม่ได้ชอบวิธีการของสื่อแบบนั้นหรอก แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นการทุบโต๊ะที่กระเพื่อมทั้งหมดเลย แล้วคนที่ไม่เคยสนใจ เขาก็จะ ฮะ อะไรนะ แล้วเราก็จะเล่าว่า นี่ไง เรื่องราวมันเป็นอย่างนี้ แต่ในแง่ของคนซื้อเอง เราก็จะมีน้ำโหเวลาที่คู่นั้นไม่เป็นของเรา ทำไมมันไปเป็นของคนอื่น 

จัส: แต่คนที่ไม่เก็ตหรือไม่อิน เขาก็คงไม่อินนะกับการจ่ายราคาสูงๆ เพื่อรองเท้าคู่เดียว อย่างเทคโนโลยีแอร์เต็มใบเนี่ย คนทั่วไปก็จะไม่เก็ตว่ามันใช้เวลาในการพัฒนา แล้วมันเป็นสิ่งน่าตื่นเต้นนะ ที่เขาทำแอร์เต็มใบได้ ก็เคยคุยกับเอมว่า รองเท้าบาสมันเป็นรองเท้าที่เทคโนโลยีสูงมากๆ น่าจะสูงที่สุดเลย คือคนที่ไม่ได้สนใจก็จะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารองเท้ามันมีเทคโนโลยีอยู่ในนั้น แล้วถ้าเกิดเราไล่เรียงมาตั้งแต่ยุค 80s จนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นเทคโนโลยีเยอะมากที่อยู่ในรองเท้า ตั้งแต่วัสดุ ไปจนถึงการรองรับแรงกระแทก ทุกๆ ครั้งที่รองเท้าออกมา เทคโนโลยีมันพัฒนาไปข้างหน้าเรื่อยๆ 

สำหรับโจ้ การได้ลงไปคลุกคลีกับการสารคดีชิ้นนี้ ทำให้คุณเข้าใจคนที่ทุ่มเงินเยอะๆ เพื่อซื้อสนีกเกอร์อย่างไรบ้าง

โจ้: คือมันก็อธิบายยาก มันไม่ใช่คำตอบประเภทรู้แจ้งว่าทำไมเขาต้องซื้อกันเยอะๆ แต่เหมือนเราได้เข้าไปนั่งในความคิดเขาสักทีว่าเขาเห็นอะไรในสิ่งเหล่านี้ และเราก็เริ่มมีสายตาแบบนั้นอย่างที่บอกไป ตอนหลังเราไปเดินที่ต่างๆ เราเห็นคนใส่สนีกเกอร์เราก็จะเริ่มสังเกตแล้วว่ามันเป็น movement อะไร มันกำลังสะท้อนอะไร บนความหมายแบบไหนอยู่ สิ่งที่เราเคยมองข้ามเมื่อก่อนมันกลายเป็นว่ามันมีเรื่องสังคมด้วย มันมีที่มาที่ไปของมันอยู่ ก็รู้สึกว่ามันเป็นแรงขับเคลื่อนหนึ่งที่ใกล้ตัวเรา 

ถ้าเกิดว่าก่อนตัดเรามาฟังเรื่องนี้ เทคโนโลยีอะไรวะ คืออะไร ไลฟ์สไตล์ เพอร์ฟอร์มานซ์ อะไร ทำไม แยกทำไม แต่พอไปตัด ไปคลุกกับข้อมูลมากขึ้น ก็เข้าใจความเชื่อมโยงของมัน

เอม: เราเคยพูดกับจัสว่า ทุกวันนี้ถ้ารองเท้าเราหายไปหมดเลย เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย เพราะเราชอบเรื่องราวความเป็นมาของมันมากกว่า 

ทีนี้ถ้ามีคนอยากลองเล่นรองเท้าสนีกเกอร์ดูบ้าง มือใหม่จะเริ่มเล่นรองเท้ากับเขาอย่างไรดี

จัส: อย่างที่บอกว่าพอมันเป็นเทรนด์ใหญ่ของช่วงนี้ รุ่นที่คนรู้สึกว่าใส่แล้วมันเท่จังเลยก็อาจจะมีอยู่ไม่กี่รุ่น รู้สึกว่าลองเริ่มจากรุ่นที่ชอบ แต่ใครๆ ก็คงพูดว่าให้เริ่มจากรุ่นที่ชอบ อย่างเราชอบเล่นบาส ก็ชอบดูรองเท้าบาส ก็จะชอบดู Jordan คือเราชอบอะไรแบบนี้ แล้วเราก็จะมีความสุขกับการได้ใส่มัน แล้วก็ไม่เคยรู้สึกว่า คู่นี้แม่งไม่เท่แล้ว เพราะเราชอบมันเราจะใส่ได้นานเท่าไหร่ก็ได้ แล้วเราจะรักมันมากๆ ดูแลมันดีมาก ขึ้นอยู่กับที่เราชอบเลย อาจจะเริ่มรุ่นที่แพงก็ได้ แต่เราต้องชอบมันมากๆ จนเราไม่อยากจะไม่ใส่มัน

เอม: เราพยายามนึกถึงตอนเราเริ่มซื้อไอโฟน อันนี้อาจจะเป็นนิสัยเรา แต่เวลาเราจะซื้ออะไรหนักๆ เราจะชอบ explore เยอะๆ ก่อน ให้รู้ว่าทั้งตัวของสิ่งนั้นกับสิ่งที่อยู่รอบๆ มันมีอะไรบ้าง ยิ่งตอนนี้สนีกเกอร์มันแมสมากๆ เพราะฉะนั้นข้อมูลมันอยู่ทุกที่ มันเป็นคอมมิวนิตี้ที่มีบทสนทนาอยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่าเวลา explore ข้อมูลมันสนุกกว่าการซื้ออีก ทุกวันนี้มันก็ยังเป็นแบบนั้นสำหรับเรา สนุกกว่าการได้มีมาครอบครองนั่นก็คือการไปรู้เรื่องราวของมัน

โจ้: สุดท้ายมันเป็นรองเท้า ยังไงต้องใส่เป็นฟังก์ชั่นในชีวิต สุดท้ายมันก็ต้องมีความรู้สึกมาก่อนว่าเราจะได้ใช้รองเท้านี้จริงๆ และมันดียังไง นอกเหนือจากดีไซน์ที่ต้องดูว่าเข้ากับเรามากแค่ไหน บางทีเราอาจจะไม่รู้ว่าวันหนึ่งๆ เราเดินเยอะแค่ไหน ถ้าเกิดมีคู่นี้มันอาจจะเป็นการล่องไปในเมืองที่สบายขึ้นรึเปล่า ซึ่งนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการเล่นได้เหมือนกันนะ คิดว่านะ

หลังจากสารคดีชิ้นนี้แล้ว พวกคุณมีแผนจะทำสารคดีบันทึกประวัติศาสตร์ซับคัลเจอร์ในไทยแบบนี้อีกไหม

เอม: เราว่ามันคือ archive ถึงจุดหนึ่งมันต้องมีคนจดว่าเกิดอะไรขึ้น อีก 5 ปี ยิ่งเวลาผ่านไป มันจะยิ่งมีค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ก็อยากทำหนังอีกนะ เรื่องสนีกเกอร์นี่แหละ อย่างที่เราบอกมันมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเล่าให้ชาวโลกได้รู้จักซีนสนีกเกอร์ของเมืองไทยจริงๆ ว่ามันยูนีคมากเลย

จัส: ก็อยากทำอีก เพราะรู้สึกว่า จริงๆ แล้วอันนี้มันเป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้น มันมีสตอรี่อีกเยอะมาก ที่สามารถเล่าได้ ตอนนี้มันบูมอยู่แต่โดยรวมแล้วคนก็ยังไม่ได้ appreciate ว่าสิ่งเหล่านี้มันมีคุณค่า แต่เราเองรู้สึกว่ามันมีคุณค่า เราก็อยากจะเล่าออกมา ไม่ใช่แค่สนีกเกอร์แต่เรามีซับคัลเจอร์แบบนี้อีกเยอะเหมือนกัน

โจ้: อย่างที่บอกว่าเราเองพอได้ลองเข้ามาคลุกคลีแล้วมันก็มีอะไรให้สังเกตในเมือง ในโลก ในคนมากขึ้น ก็ชอบนะ ถ้ามีโอกาส ก็อาจจะได้ทำร่วมกันอีกก็ได้

เอม: ที่คุยกับจัสอยู่ตอนนี้ หรือทุกครั้งที่เราคิดคอนเทนต์ ก็จะเริ่มได้แรงบันดาลใจจากพี่โจ้ตรงที่ว่า ถ้าเราทำคอนเทนต์ที่เรารู้อยู่แล้ว มันก็เหมือนกับแค่ปั่นจักรยานไปเรื่อยๆ ทุกครั้งก็เลยอยากทำสิ่งที่ไม่รู้ เพื่อให้มันรู้อะไรบางอย่างขึ้นมา ที่คุยกันไว้ก็คือ อยากทำหนังสารคดีสเก็ตบอร์ด 

โจ้: ที่โคราชก็มีซีนสเก็ตจริงจังมากเหมือนกัน เขาอยู่ตรงนั้นของเขาโดยที่เราแทบไม่รับรู้เลย รู้สึกว่ามันเป็นโลกคู่ขนานมากๆ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีงานเกี่ยวกับสเก็ตที่โคราช มันก็จะมีคัลเจอร์อื่นๆ มาร่วมด้วย สเกต รองเท้า เสื้อผ้า เวลาเขาจัดงานอะไรกันทีนะคนจะเยอะมาก โอเคเป็นงานรวมตัวเด็กสเก็ตเนี่ยแหละ แล้วก็จะมีศิลปินฮิปฮอปมา พอไปดูไลฟ์ของเขานี่นึกว่าอยู่กรุงเทพฯ คือซีนมันก็ใหญ่และคึกคักมาก

เอม: เราไปงานสเก็ต 2-3 ครั้งแล้วด้วยความไม่รู้ เราก็รู้สึกทุกครั้งว่ามันมีพลังยิ่งกว่า Air Max Day ช่วงมีนาคมอีกนะ นั่นยิ่งทำให้เราอยากลองบันทึกมันไว้เป็นอีกหนึ่ง archive สำหรับซับคัลเจอร์ในเมืองไทย

Tags: , , ,