ถ้ามีห้องว่างๆ ไม่ได้ใช้งาน หากมีเวลาจัดการสักนิดแล้วปล่อยให้คนมาเช่าอยู่ได้ชั่วคราว ก็ถือเป็นทางเลือกในการทำธุรกิจที่จะเพิ่มรายได้ให้เจ้าบ้านแบบไม่มีอะไรผูกมัดนัก ส่วนนักท่องเที่ยวก็มีโอกาสได้ห้องพักในแบบที่หลากหลายขึ้น

แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวว่า ศาลพิพากษาว่าเจ้าของห้องในคอนโดบางแห่งที่นำห้องออกมาปล่อยให้เช่าชั่วคราว ถือว่าทำผิด พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่กำลังปล่อยห้องให้นักท่องเที่ยวเช่า ต้องถอยกลับมาตั้งหลักใหม่

หากมองในมุมนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ทางเลือกของการค้นหาที่พักผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Airbnb (แอร์บีเอ็น) แพลตฟอร์มให้เช่าที่พักที่เราสามารถเป็นทั้งเจ้าของบ้านผู้ปล่อยเช่าและเป็นผู้เช่าได้ ก็เป็นทางเลือกที่อาจทำให้ได้อาศัยกับคนในท้องถิ่นและเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นได้มากขึ้น

แต่ก็มีคำถามว่า แล้วสถานการณ์ของแอปพลิเคชันนี้ในเมืองไทยล่ะเป็นอย่างไร?

กฎหมายโรงแรม เรื่องที่ต้องเข้าใจ

ในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวที่ใช้ Airbnb เช่าที่พักในประเทศไทยถึง 1,200,000 คน ตัวเลขที่ค่อนข้างมากน่าจะทำให้การท่องเที่ยวของเราคึกคัก แต่แอปพลิชันนี้ก็คล้ายกับหลายแอปพลิเคชันที่เข้ามาเปิดตัวในเมืองไทยก่อนหน้าอย่าง UBER และ GRAB ที่ยังไม่มีกฎหมายมาดูแลเฉพาะ ทำให้การดำเนินการกิจการยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้หลายคนน้ำตาตก

การจะทำห้องเช่าแบบชั่วคราว อาจมีกฎหมายพัวพันอยู่หลายฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย เช่น กำหนดมาตรฐานเรื่องทางหนีไฟ วัสดุที่ใช้เพื่อป้องกันปัญหาไฟไหม้ เรื่องการทำประกันภัย ฯลฯ แต่ในอีกด้านหนึ่ง หลักเกณฑ์บางอย่างก็กลายเป็นกำแพงที่ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กอย่างเจ้าของห้องคอนโดทั่วไป และผู้ประกอบการรายย่อยอย่างเจ้าของเกสต์เฮาส์ต่างๆ ประกอบกิจการได้สะดวก

เมื่อไม่นานมานี้ เกิดกรณีของคอนโดในอำเภอหัวหินที่ให้บริการ Airbnb ถูกศาลหัวหินตัดสินว่าผิด พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 4 ว่าด้วยคำนิยามของคำว่าโรงแรม และมาตรา 15 ว่าด้วยการไม่มีใบอนุญาตดำเนินกิจการโรงแรม และไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องหลักเกณฑ์เงื่อนไขเกี่ยวกับสถานที่ตั้ง ขนาด ลักษณะ สิ่งอำนวยความสะดวก และมาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมของแต่ละประเภท รวมถึงมาตรา 59 ว่าด้วยบทลงโทษอาญาของมาตรา 15

Airbnb หันหน้าผลักดันโฮมสเตย์ในเมืองรอง

แม้ว่าทางออกของ Airbnb จะไม่เห็นทางที่ชัดนักในรูปแบบที่พักแบบคอนโด หรือรูปแบบอาคารอื่น แต่ Airbnb ก็มีความพยายามที่จะทำงานกับภาครัฐมากขึ้น เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา จึงมีการจับมือกันครั้งแรกของ Airbnb กับส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดยในการจับมือครั้งนี้เน้นในเรื่องของการชักชวนให้คนที่มีบ้านพักส่วนตัวแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์เข้ามาเป็นเจ้าบ้าน รวมถึงกิจการอย่างโฮมสเตย์ให้เข้ามาร่วมในแอปพลิเคชันดังกล่าว

ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจะเน้นไปในเรื่องของการท่องเที่ยวในเมืองรอง ต้องการให้ประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นสามารถหารายได้เพิ่ม และ 11 จังหวัดแรกที่ Airbnb จะจัดอบรมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อไปเผยแพร่ข้อมูลต่อไปนั้น ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา บุรีรัมย์ อยุธยา เพชรบุรี สงขลา สตูล อุบลราชธานี และสุโขทัย

ปล่อยเช่าเอง ผิดกฎหมายหรือไม่

สิ่งที่หลายคนกังวลคือเรื่องกฎหมาย สำหรับโฮมสเตย์นั้น กฎหมายมีนิยามและกำหนดระเบียบในการจัดการที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่สำหรับบ้านพักส่วนบุคคลที่จะนำมาทำเป็นสถานที่ให้พักใน Airbnb จะไม่ผิดกฎหมายต่อเมื่อเป็นการปล่อยเช่าห้องพักรวมกันไม่เกินสี่ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกินยี่สิบคน ตามที่กำหนดเอาไว้ในกฎกระทรวง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ดี เจ้าบ้านมีหน้าที่ต้องจดแจ้งว่า เป็นที่ให้บริการนักท่องเที่ยวในลักษณะการให้บริการห้องพักที่ไม่ใช่โรงแรม

สำหรับขั้นตอนของการดำเนินงานจดแจ้ง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) บอกเล่าว่า เจ้าของบ้านจะต้องแจ้งไปยังนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า มั่นคง ปลอดภัย สะดวกสบาย เจ้าบ้านมีคุณสมบัติที่จะเป็นเจ้าบ้านและได้มาตรฐานสำหรับคนที่จะมาพัก ก็จะได้รับแจ้งแล้วส่งต่อไปยังนายอำเภอเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนว่าเจ้าของบ้านไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หลังจากนั้นก็สามารถลงทะเบียนกับทาง Airbnb เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อย่างหมดกังวล

คงไม่ผิด ถ้าจะกล่าวว่าธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กเป็นเรื่องยากสำหรับนักลงทุนมือใหม่ในตอนนี้ แต่ในอนาคตอาจจะมีสักวันหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการรายย่อยเล็กจิ๋วได้ลองเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยไม่แพ้รายใหญ่

 

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , ,