แวดวงธุรกิจมองหานักบริหารเก่งๆ มาทำงานในจีน อินเดีย และหลายประเทศในเอเชียได้ยากขึ้น ถึงแม้เสนอค่าตอบแทนพิเศษ บรรดามืออาชีพชาวต่างชาติยังขอคิดดูก่อน เพราะหวั่นใจกับหมอกควัน

ขณะที่เมืองไทยกำลังเผชิญกับหมอกควัน ละอองฝุ่น ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่ารัฐบาลยังไม่ได้ทุ่มเทแก้ปัญหาอย่างที่ควรเป็น หลายประเทศในเอเชียต่างเจอปัญหาอย่างเดียวกัน มลพิษทางอากาศเริ่มส่งผลกระทบไม่เพียงต่อสุขภาพ แต่ยังบั่นทอนเศรษฐกิจด้วย

ในจีนและอินเดีย สองยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจของเอเชีย สภาพอากาศที่คุกคามสุขภาพกลายเป็นปัจจัยทำให้นักบริหารที่เก่งๆ รู้สึกลังเลใจที่จะย้ายครอบครัวไปอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีหมอกควันปกคลุมแทบตลอดทั้งปี อย่างเช่น ปักกิ่ง นิวเดลี

ฟังแล้วชวนให้วิตกว่า ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข อีกไม่นาน กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ จะกลายเป็น ‘เมืองไม่น่าอยู่’ ในสายตาชาวต่างชาติ หรือเปล่า ถ้าเวลานั้นมาถึง มลพิษจะกัดกร่อนพลังทางเศรษฐกิจของไทยเพียงใด

ฝรั่งไม่อยากมาทำงาน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (31 มี.ค.) ว่า เวลานี้ บรรดาบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจในเอเชียกำลังพบปัญหาว่า นักบริหารฝีมือดีที่บริษัทอยากคว้ามาทำงาน หรือรั้งตัวไว้ให้อยู่ด้วยกันนานๆ ขอเซย์โน

นักบริหารมือทองหลายคนส่ายหน้าแม้ได้รับข้อเสนอจูงใจมากมาย เช่น วันหยุดพิเศษในช่วงเกิดหมอกควัน เงินชดเชยค่าสูดดมฝุ่นละออง เงินเดือนเพิ่ม 10-20 เปอร์เซ็นต์ บ้านพักนอกเขตมลพิษ ที่พักและที่ทำงานติดเครื่องฟอกอากาศ เหตุผลหลักก็คือ ไม่อยากพาครอบครัวมาเสี่ยงกับสารพัดโรคภัยไข้เจ็บ

ตัวอย่างบริษัทที่เสนอสิ่งจูงใจ เช่น พานาโซนิคในจีน ซึ่งเสนอให้ ‘ค่ามลพิษ’ และโคคา-โคล่าในจีนเสนอเงินเพิ่มประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์จากฐานเงินเดือน

เมื่อคนเก่งไม่ยอมมา บริษัทเหล่านี้จึงจำยอมที่จะจ้างพวกมือรองๆ หลายตำแหน่งงานต้องยอมจ้างคนสัญชาตินั้นเอง โดยต้องจัดคอร์สฝึกอบรมเพิ่มเติมให้

รายงานของเอเอฟพียกตัวอย่างผู้บริหารชาวตะวันตกคนหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของโลก   เจ้าตัวบอกกับนักข่าวว่า สมัยยังทำงานในจีน ลูกชายวัย 5 ขวบเป็นโรคหอบ ต้องนอนโรงพยาบาลเดือนละสัปดาห์

ในที่สุด เขาจึงตัดสินใจย้ายครอบครัวออกจากเมืองจีน โดยมาอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งอากาศดีกว่าถึงแม้จะมีปัญหาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า ถ้าคุณภาพอากาศแย่ลง เขาอาจบอกลาเอเชียไปเลย

คนเอเชียไม่ตระหนักพิษภัยต่อสุขภาพ

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติศึกษาพบว่า ในย่านเอเชีย-แปซิฟิก ประชาชน 92 เปอร์เซ็นต์ได้รับมลพิษทางอากาศในระดับที่เป็นภัยต่อสุขภาพ ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกบอกว่า ในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะมลพิษทางอากาศปีละ 1.5 ล้านคน

มลพิษทางอากาศทำให้เกิดโรคเส้นเลือดสมอง มะเร็งปอด และโรคหัวใจ ภัยของมลพิษในเอเชียเวลานี้ เทียบได้กับการสูบบุหรี่

คนทั่วไปมักโทษว่า ควันไอเสียรถยนต์เป็นตัวการ แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ฝุ่นควันมีต้นตอจากหลายแหล่ง เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน การก่อสร้าง การเผาป่า เผาหญ้า เผาถ่าน เผาขยะ

ถึงแม้ประชาชนบ่นกันมากกับปัญหาฝุ่น ว่าทำให้เคืองตา ระคายคอ แต่นักวิจัยพบว่า ผู้คนในเอเชียยังไม่ตระหนักว่า มลพิษพวกนี้ก่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว

อันจัล เมธา นักวิจัยในสิงค์โปร์ของ Vital Strategies องค์กรที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ได้ข้อสรุปดังกล่าวจากการวิเคราะห์เนื้อหาของข่าวและข้อความโพสต์ทางโซเชียลมีเดียราว 5 แสนชิ้นใน 11 ประเทศในช่วงปี 2015-2018

งานวิจัยแนะนำว่า ภาครัฐควรรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักว่า มลพิษทางอากาศจะทำให้ผู้คนเจ็บป่วยเรื้อรัง เพื่อให้ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือในการแก้ปัญหา


REUTERS/Kim Hong-Ji

เกาหลีใต้ออกกฎหมายสู้ฝุ่นพิษ

หลายประเทศในเอเชียไม่ได้นิ่งนอนใจ อินเดียกับจีนซึ่งมีปัญหามานานได้ลงมือแก้ไขแล้ว ล่าสุด เกาหลีใต้ออกกฎหมายชุดหนึ่ง มีด้วยกัน 3 ฉบับ ดูแล้วน่าศึกษาเป็นแบบอย่าง

กฎหมายฉบับหนึ่งกำหนดให้มลพิษทางอากาศเป็น ‘ภัยพิบัติทางสังคม’ ชนิดหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจะต้องจัดตั้งกองทุนไว้รับมือในทำนองเดียวกับการประกาศเขตภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในปีนี้ รัฐบาลโซลกันเงินไว้แล้ว 3 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 84,000 ล้านบาท

อีกฉบับบังคับให้ห้องเรียนทุกห้องติดเครื่องฟอกอากาศ ฉบับที่สาม ยกเลิกการจำกัดจำนวนการขายรถยนต์ที่ใช้แก๊สแอลพีจี เนื่องจากเชื้อเพลิงชนิดนี้ปล่อยไอเสียน้อยกว่าน้ำมันเบนซินและดีเซล

มาตรการตามกฎหมายของเกาหลีใต้จะช่วยลดผลกระทบจากหมอกควัน ละอองฝุ่น มลพิษทางอากาศ ได้แค่ไหน ยังต้องรอการประเมินผล แต่อย่างน้อยก็เป็นการขยับของภาครัฐอย่างเป็นระบบ

รัฐบาลของประเทศไหนยังไม่ได้ทำอะไรแม้เพียงแค่นำเสนอแนวทางและแผนงาน มัวแต่เรียกประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชาชนสัมผัสจับต้องไม่ได้ถึงผลสัมฤทธิ์ทางการปฏิบัติ โปรดลงมือเสียเดี๋ยวนี้เถิด

ก่อนที่ความไร้น้ำยาของภาครัฐจะกลายเป็นราคาที่ภาคประชาชนต้องจ่าย.

อ้างอิง:

Reuters, 13 March 2019

Reuters, 28 March 2019

AFP, 31 March 2019

 

Tags: , , , , ,