*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา อนิเมชั่นซีรีส์ Aggretsuko ภาคต่อได้เข้าฉายทางเน็ตฟลิกซ์เป็นที่เรียบร้อย ตัวเอกของเรื่องมีคาแรคเตอร์น่ารักด้วยฝีมือการดีไซน์จากซานริโอ้ เธอคือ ‘เร็ตสึโกะ’ สาวแพนด้าแดงผู้ทำงานแผนกบัญชีในบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง เธออายุ 25 ปี โสด ราศีพิจิก กรุ๊ปเลือดเอ เป็นคนขยัน มุ่งมั่น มีความรับผิดชอบ แล้วก็มีบุคลิกน่ารักสไตล์สาวญี่ปุ่น ทว่าก็มีด้านที่อารมณ์ร้อนเช่นกัน
ซีรีส์จะเน้นเสียดสีเรื่องราวภายในที่ทำงานของสังคมญี่ปุ่นผ่านชีวิตประจำวันของเร็ตสึโกะ ปัญหาน่าเบื่อหน่ายในที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นเจ้านายจอมเผด็จการ พวกชอบประจบประแจง พวกชอบโยนงาน หรือปัญหาคลาสสิกอย่างพวกขี้เม้าท์ แถมยังรวมไปถึงค่านิยมและทัศนคติของสังคมที่ประกอบสร้างมาด้วยความเป็นอนุรักษ์นิยม
เร็ตสึโกะเป็นสาวแพนด้าแดงที่มีความรับผิดชอบสูง เพื่อนของเธอเองก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน เช่น ตอนที่เพื่อนของเธอบอกว่าเร็ตสึโกะเป็นคนประเภทอ่านข้อตกลงจนครบก่อนจะกดตกลง หรือเป็นคนแบบที่เริ่มวางแผนเงินสำหรับเกษียณแล้วตั้งแต่ตอนนี้ ไม่เพียงเท่านั้นเร็ตสึโกะยังรักษามารยาทอยู่เสมอ แม้จะไม่ชอบใจสถานการณ์หรือคนที่ปฏิสัมพันธ์ด้วยก็ตาม จนเพื่อนของเธออดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรทำให้เธออดทนอดกลั้นได้เก่งเพียงนี้
ทว่าเร็ตสึโกะก็มีความลับบางอย่าง นั่นคือเธอชอบร้องคาราโอเกะแนวเฮฟวี่เมทัล พื้นที่ภายในห้องสี่เหลี่ยมของร้านคาราโอเกะคือพื้นที่ปลอดภัยเพียงแห่งเดียวที่เธอจะสามารถปลดปล่อยความไม่พอใจต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างเต็มที่
ซีรีส์นำเสนอเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่เราเองอาจเคยพบเจอในชีวิตประจำ และยังเป็นคนแบบที่เราอาจเบือนหน้าหนีมาแล้ว เช่น ตัวละครแบบ ‘ทน’ หมูตัวใหญ่ผู้เป็นหัวหน้าแผนกบัญชี ซึ่งเราจะได้เห็นฉากเขาเหวี่ยงไม้กอล์ฟในออฟฟิศมากกว่าทำงานเสียอีก เขายังหยาบคายต่อเร็ตสึโกะ รวมถึงเหยียดเพศหญิงอีกด้วย อย่างตอนที่ทนบอกกับเร็ตสึโกะว่าโง่น่ะดีแล้ว ดีกว่าผู้หญิงฉลาด
น่าสนใจว่าในสมัยใหม่ หมูมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งไม่ดี เช่น ในวรรณกรรมเรื่อง Animal Farm หมูถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่ไม่ชอบธรรม เผด็จการ คนชนชั้นสูงที่เห็นแก่ตัว หรืออย่างในอนิเมชั่นญี่ปุ่นระดับตำนานจากสตูดิโอจิบลิ Spirited Away ก็ใช้หมูเป็นสัญลักษณ์ของความละโมบ นอกจากนั้นโดยทั่วไปหากพูดถึงหมู คำแรกที่นึกถึงก็คงเป็นคำว่าสกปรก ซึ่งในกรณีของ Aggretsuko ก็เป็นอีกเรื่องที่หยิบสัตว์ชนิดนี้มาใช้กับคาแรกเตอร์แง่ลบอย่างตรงไปตรงมา
อีกตัวละครคือ ‘สึโนดะ’ กวางน้อยดวงตาสุกใสตลอดเวลา เธอมีพรสวรรค์ด้านการประจบสอพลอ ตีสนิทคนเก่ง ทำให้เร็ตสึโกะและเพื่อนสนิทของเธอไม่ค่อยชอบสึโนดะนัก หรือคนแบบ ‘คาบาเอะ’ คุณฮิปโปตัวสีชมพู คุณแม่คนเก่งของลูกชายและสามีที่น่ารัก เธอช่างพูดจนเร็ตสึโกะรำคาญ และมักจะสนอกสนใจเรื่องของคนอื่นอยู่เสมอ หรือเรียกง่ายๆ ว่าสายเม้าท์ตัวยง
คล้ายจะหยิบเอาสัตว์แต่ละตัวมาเสนอภาพสเตอริโอไทป์ผู้คน แต่กระนั้นซีรีส์เรื่องนี้ก็ได้นำเสนอแง่มุมดีๆ เกี่ยวกับตัวละครเหล่านี้เพื่อความกลมและมีมิติของตัวละคร เช่น หลายครั้งทนก็ได้ให้ข้อคิดแก่เร็ตสึโกะ สึโนดะสอนการเข้าหาหัวหน้าให้เร็ตสึโกะอย่างจริงใจ คุณคาบาเอะใส่ใจคนรอบข้างและเป็นแม่ที่ดีของครอบครัว เพราะในชีวิตจริงคนเราก็คงเป็นอย่างนี้เอง
นอกจากเสียดสีคนประเภทต่างๆ ในสังคมทำงานออฟฟิศ การ์ตูนเรื่องนี้ยังสะท้อนภาพ ‘อนุรักษ์นิยม’ แบบญี่ปุ่นๆ อย่าง การใส่รองเท้าหุ้มส้นและชุดยูนิฟอร์มรูปแบบเดียวกันในที่ทำงาน ระบบอาวุโสในที่ทำงาน สังคมชายเป็นใหญ่ หรือค่านิยมที่ว่าผู้หญิงควรแต่งงานออกเรือน จากที่แม่ของเร็ตสึโกะนัดดูตัวให้เร็ตสึโกะอยู่ตลอด เร็ตสึโกะเองยังเคยคิดจะใช้การแต่งงานเพื่อแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน เป็นการสะท้อนว่าผู้หญิงในยุคปัจจุบันก็ตามก็ยังมีชุดความคิดที่เคยชินกับการที่ผู้หญิงจำเป็นต้องแต่งงานเพื่อสมบูรณ์พร้อมในฐานะเมียและแม่ที่ดี ซึ่งที่สุดแล้วเร็ตสึโกะก็ได้เลิกล้มความคิดนี้ลงไป
ตลอดซีซั่นหนึ่งจนต้นซีซั่นสอง ซีรีส์ดำเนินมาในรูปแบบนี้จนกล่าวได้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้ต้องการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงให้สังคมมีค่านิยมแบบเสรีมากขึ้น โดยเริ่มจากการตั้งคำถาม ทว่าจุดประสงค์ตั้งต้นของการ์ตูนเรื่องนี้กลับถูกสั่นคลอนในตอนจบของซีซั่นสอง
ในภาคสองของ Aggretsuko ซีรีส์เพิ่มตัวละครสำคัญหน้าใหม่เข้ามา และนำไปสู่การปะทะกันระหว่างสองแนวคิด สองค่านิยม หรือสองวัฒธรรม
ตัวละครหน้าใหม่นี้คือ ‘ทาดาโนะ’ เจ้าลาตัวสูงผอมมีขนสีชมพูอมเทา และผมสีฟ้า หน้าตาดูชวนง่วงอยู่ตลอดเวลา บุคลิกดูเหมือนวัยรุ่น และดูสบายๆ ง่ายๆ จากการที่เรียกเร็ตสึโกะด้วยชื่อเล่นอย่างเร็ตจัง และแม้จะถูกเร็ตสึโกะวิจารณ์บ้าง เขาก็ไม่มีท่าทางโกรธเคืองแม้แต่น้อย
ทาดาโนะเป็นตัวละครที่เข้ามาสั่นคลอนแนวคิดของเร็ตสึโกะที่เป็นตัวแทนของค่านิยมแบบญี่ปุ่น แม้ก่อนหน้านี้จะมีการตั้งคำถาม แต่สุดท้ายเร็ตสึโกะหรือตัวละครในเรื่องก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือแนวคิดแบบชัดเจน แต่ทาดาโนะเกือบจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เร็ตสึโกะเจอทาดาโนะครั้งแรกตอนไปเรียนเพื่อสอบเอาใบขับขี่ตามที่แม่บอก แรกเริ่มเร็ตสึโกะคิดว่าทาดาโนะเป็นเพียงคนว่างงานจอมขี้เกียจ ที่ใช้ชีวิตแบบเอ้อระเหยลอยชายไปวันๆ แต่เพราะเร็ตสึโกะสามารถทำตัวตามสบายได้เมื่ออยู่กับทาดาโนะทำให้เร็ตสึโกะรู้สึกชอบพอในตัวเขา ทว่ายังพยายามห้ามใจอยู่ แม้จะมีความคิดชั่วครู่ว่าตนอาจทำงานหาเลี้ยงทาดาโนะก็ได้ ซึ่งเป็นความคิดชั่วครู่ที่หลุดจากกรอบสังคมชายเป็นใหญ่ที่บีบอัดเร็ตสึโกะอยู่ภายใน
ภายหลังความสัมพันธ์ของทาดาโนะกับเร็ตสึโกะพัฒนาไปเป็นคนรักในที่สุด แล้วเร็ตสึโกะก็ต้องประหลาดใจเมื่อได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของทาดาโนะ ภายใต้นิสัยชิลๆ และท่าทางไม่จริงจัง เหมือนเล่นไปวันๆ ทาดาโนะคือ ประธานบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่งที่พัฒนาระบบ A.I. อัจฉริยะที่ทำได้มากมายหลายอย่าง เช่น การคำนวณหาบริษัทที่น่าลงทุนด้วย การดึงข้อมูลมหาศาลจากโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม หรือแม้กระทั่งขับรถแทนสิ่งมีชีวิต
ขณะที่คนทั่วไปมีภาพจำที่ค่อนไปทางแง่ลบต่อลา โดยจดจำว่าลาเป็นสัตว์ที่โง่เขลา หัวทึบ แต่ภาพจำนี้อาจไม่ใช่สำหรับทาดาโนะ เพราะทาดาโนะเป็นคนฉลาด กระตือรือร้นในเรื่องของ A.I. แต่เขามีความเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองสูงมาก และจะตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ตามแนวคิดที่เขายึดถือหรือตามที่ระบบ A.I. อัจฉริยะของเขาคำนวณออกมาเท่านั้น เนื่องจากเขาเชื่อมั่นว่าข้อมูลที่เอไอของเขาประมวลผลออกมาคือข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง มันจึงนำมาสู่ความไม่เข้ากันกับเร็ตสึโกะเมื่ออยู่ด้วยกันนานๆ เข้า
คู่ตรงข้าม การปะทะกันระหว่างค่านิยมสองแบบ
แนวคิดในการดำเนินชีวิตของเร็ตสึโกะกับทาดาโนะต่างกันโดยสิ้นเชิง เหมือนเป็นคู่ตรงข้ามของกันและกัน หากพิจารณาบนฐานของวัฒนธรรมและค่านิยมของแต่ละชาติ อาจเปรียบได้ว่าทั้งสองคือ ค่านิยมแบบญี่ปุ่นกับค่านิยมแบบฝั่งตะวันตก หรือความคิดแบบอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม โดยใช้เร็ตสึโกะเป็นตัวแทนของญี่ปุ่น และทาดาโนะเป็นตัวแทนของฝั่งตะวันตก หรือเร็ตสึโกะเป็นตัวแทนของลัทธิอนุรักษ์นิยม ส่วนทาดาโนะเป็นตัวแทนของลัทธิเสรีนิยม
จุดที่สะท้อนภาพความเป็นอนุรักษ์นิยมแบบญี่ปุ่นจัดจ้านของเร็ตสึโกะมีหลายอย่าง เช่น การให้ความสำคัญกับมารยาท การทำงานหนัก เข้างานไวแต่เลิกงานช้า หรือแม้งานจะหนักและน่าเบื่อหน่าย แต่สุดท้ายก็ไม่เปลี่ยนงาน จะเห็นได้ว่าเร็ตสึโกะมักจะเบือนหน้าหนีโฆษณาหางานใหม่บนรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่เสมอ แถมมีความคิดอยากย้ายงานหรือลาออกจากงานเป็นระยะ แต่หลังจากใคร่ครวญดูแล้วเร็ตสึโกะก็มักจะยึดมั่นในการทำงานบริษัทเดิมต่อไป ชาวญี่ปุ่นเองก็ไม่นิยมย้ายที่ทำงาน เพราะต้องการเติบโตและเพิ่มฐานเงินเดือนจากภายในองค์กร
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทาดาโนะ มีนิสัยการทำงานที่ยืดหยุ่นมาก จะเห็นได้ว่าเขาจะทำงานบนรถส่วนตัวของตัวเอง เที่ยวเล่นบ้าง ทำงานบ้าง มีการเข้าประชุม พูดคุยตามนัดหมาย หรือออกรอบตีกอล์ฟ แต่ไม่ได้มีเวลาเข้ากะออกกะที่แน่นอน ซึ่งเป็นภาพการทำงานแบบฝั่งตะวันตกเสียมากกว่า โดยค่อนข้างยืดหยุ่นเรื่องเวลาเข้างานออกงาน อย่างเทรนด์สมัยนี้ที่นิยมทำงานจากที่บ้าน
จุดที่ยืนยันตัวตนทาดาโนะได้ที่สุดก็คงจะเป็นเป้าหมายของเขา ทาดาโนะใฝ่ฝันที่จะปลดแอกมนุษยชาติจากการทำงานแบบใช้แรงงาน นั่นคือสาเหตุที่เขาพัฒนาเอไออัจฉริยะขึ้นมา สาเหตุที่ทาดาโนะไปเรียนขับรถก็มาจากตรงนี้ด้วย ทาดาโนะใช้เอไอในการขับรถ แต่เขาจำเป็นต้องจ้างคนมานั่งที่นั่งคนขับ เพราะคนทั่วไปคงไม่ชิน อีกทั้งเขายังไม่มีใบขับขี่ด้วย จึงต้องจ้างคนขับรถที่มีใบขับขี่มานั่งแทน เขาไม่อยากจ้างคนขับรถอีกแล้ว หลังจากทาดาโนะเล่าเรื่องนี้ เร็ตสึโกะจึงถามว่าถ้าอย่างนั้นคนขับรถก็ตกงานน่ะสิ แต่ทาดาโนะบอกว่าเขาจะให้เงินค่าจ้างคนขับรถของเขาเพื่อให้ไปทำสิ่งที่อยากทำ เร็ตสึโกะแย้งว่าทาดาโนะไม่สามารถให้เงินทุกคนได้เสียหน่อย ทาดาโนะเองก็เห็นด้วย แต่เขายังไม่เปลี่ยนใจ เขายืนยันกับเร็ตสึโกะว่าความฝันของเขาคือการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมเสียใหม่
ฉากนี้สร้างความประหลาดใจให้กับเราอย่างมาก เพราะนอกจากความเป็นเสรีนิยมที่เห็นได้จากทาดาโนะ เรายังได้เห็นว่าเขาเป็นคนหัวก้าวหน้ามาก เรียกได้ว่าความคิดที่จะปลดแอกทุกคนจากการทำงานใช้แรงงานเป็นอะไรที่อุดมคติอย่างมากทีเดียว
ในตอนแรกเร็ตสึโกะได้รับอิทธิพลจากความเป็นอิสระจากกรอบใดๆ ของทาดาโนะ อย่างการที่ทาดาโนะอยากให้เร็ตสึโกะออกจากงาน และมาอยู่กับเขา มาใช้ชีวิตทำสิ่งที่ชอบ เร็ตสึโกะก็เอนเอียงไปตามคำของทาดาโนะในทีแรก
ความสัมพันธ์ที่ก้าวหน้าระหว่างทาดาโนะและเร็ตสึโกะเปรียบเหมือนกับการแลกเปลี่ยนค่านิยมและแนวคิดระหว่างกัน โดยค่านิยมแบบทาดาโนะค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาในความคิดของเร็ตสึโกะ เหมือนอิทธิพลของค่านิยมตะวันตกที่ถ่ายโอนมายังวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น หรือการที่แนวคิดเสรีนิยมค่อยๆ เข้ามาปะปนในสังคมของหลายประเทศซึ่งเดิมมีความอนุรักษ์นิยมสูงมากอย่างประเทศในแถบเอเชีย
ในช่วงท้ายของซีรีส์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทาดาโนะกับเร็ตสึโกะคบกันอย่างเปิดเผย ทาดาโนะอยากให้เร็ตสึโกะลาออกจากงาน มาอยู่กับตน ทำสิ่งที่ชอบ ทำตามความฝัน จากนั้นก็มีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนระหว่างทั้งคู่ครั้งแรก เมื่อมีข่าวลือโคมลอยออกมาว่าทาดาโนะกับเร็ตสึโกะจะแต่งงานกัน หลังจากทั้งสองคนเห็นคอมเม้นต์นั้น ทาดาโนะก็ได้แชร์เกี่ยวกับความคิดเรื่องงานแต่งงานของเขา ทาดาโนะไม่อยากแต่งงาน เขาคิดว่าการแต่งงานเป็นสิ่งไม่จำเป็น เป็นแค่พิธีไว้โชว์คนอื่น แต่ไม่ได้การันตีว่าทั้งสองคนรักกัน หรือจะรักกันตลอดไป แต่เร็ตสึโกะอยากแต่งงาน จะด้วยเพราะสาเหตุอะไรก็ตาม แต่ขนบธรรมเนียมดั้งเดิมอย่างการจัดพิธีแต่งงานคือสิ่งที่เร็ตสึโกะต้องการ เป็นอีกจุดที่ทำให้เห็นความเป็นอนุรักษ์นิยมของตัวเร็ตสึโกะเอง การแต่งงานเป็นขนบแบบเก่า ซึ่งปัจจุบันการอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงาน หรืออยู่ร่วมกันก่อนแต่งเป็นสิ่งที่ปกติสำหรับหลายๆ สังคมไปแล้ว ทว่าแม้จะรู้สึกขัดแย้งกับสิ่งที่ทาดาโนะบอก แต่เร็ตสึโกะก็ยังคงเตรียมลาออก
ความย้อนแย้งของ Aggretsuko ที่ส่งผลให้จุดประสงค์ตั้งต้นของการ์ตูนเรื่องนี้สั่นคลอน
เมื่อทนเห็นจดหมายลาออกจึงถามถึงสาเหตุที่เร็ตสึโกะจะลาออก แต่เร็ตสึโกะตอบไม่ได้ ทนจึงบอกกับเร็ตสึโกะว่า เธอก็แค่ทำตามที่ทาดาโนะบอกไม่ใช่เหรอ ทนกล่าวว่าชีวิตพวกเรามันน่าเบื่อหน่ายจึงต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยว แต่คนอย่างทาดาโนะไม่จำเป็นต้องมี และ ‘เรา’ ก็ไม่เหมือนกับ ‘เขา’ เร็ตสึโกะก็คือเร็ตสึโกะไม่ใช่ทาดาโนะ คล้ายเป็นการบอกให้เป็นตัวของตัวเอง แต่หากคิดบนฐานที่ทาดาโนะและเร็ตสึโกะคือตัวแทนระหว่างค่านิยมสองแบบ นั่นก็หมายถึงการ์ตูนเรื่องนี้ต้องการจะบอกว่าญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่ใช่อเมริกาหรือประเทศฝั่งตะวันตก แล้วก็ปฏิเสธแนวคิดแบบหัวก้าวหน้าและเสรีนิยมของทาดาโนะ ซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้เคยกระตุ้นให้เราตั้งคำถามกับค่านิยมที่เก่าคร่ำครึและควรจะเปลี่ยนแปลง ถึงจะไม่ได้มอบการเปลี่ยนแปลงนั้นกับผู้ชม ทว่าบทสรุปของซีซั่นนี้กลับสนับสนุนให้คนภูมิใจกับค่านิยมที่เป็นอยู่ของตัวเอง ‘เป็นญี่ปุ่นก็ดีอยู่แล้ว’ ซึ่งออกจะย้อนแย้งกับจุดประสงค์ตั้งต้นของซีรีส์เรื่องนี้ ท้ายที่สุดเร็ตสึโกะก็ตัดสินใจขอเลิกกับทาดาโนะ และต่างก็แยกย้ายไปใช้ชีวิตตาม ‘สไตล์’ ของตัวเอง
แม้ว่าแนวคิดของทาดาโนะออกจะไปสุดทาง แต่อาจจะน่าสนใจขึ้นไหม หากในบทสรุปของเรื่องสามารถทำให้ประนีประนอมกว่านี้ได้ แทนที่จะปฏิเสธแนวคิดของทาดาโนะโดยสิ้นเชิงเช่นนี้ อาจใช้การพูดคุยเพื่อหาตรงกลางระหว่างกัน หรือการรับฟังเหตุผลของแต่ละฝ่าย แต่กระนั้นการ์ตูนเรื่องนี้กลับใช้วิธีเลิกราอย่างเด็ดขาด นี่เป็นครั้งแรกที่ซีรีส์ปฏิเสธแนวคิดเสรีนิยมอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาซีรีส์มักจะโยนคำถามให้คนดูขบคิด แต่ตัวละครไม่ได้ลงมือทำอะไรอย่างชัดเจน หรือเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือไปเลย แต่ก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธเช่นกัน ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นชาตินิยมของญี่ปุ่น และที่สุดแล้ว ในบางครั้งความภาคภูมิใจในชาติของตัวเองนั้น อาจกลายเป็นอุปสรรคที่ปิดกั้นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า?
ท้ายที่สุด บทสรุปของซีซั่นนี้ทำให้รากฐานที่แข็งแรงของ Aggretsuko อย่างการตั้งคำถามกับความเป็นญี่ปุ่นอ่อนกำลังลง แต่อย่างไรก็ตามซีรีส์นี้ก็ได้ทำหน้าที่เป็น ‘กระจกสะท้อน’ สำหรับผู้สนใจที่อยากมองเข้าไปในสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง:
http://www.mikesdonkeys.co.uk/facts.html
Tags: TheMoJu