“มันคงจะเท่ดีถ้าบอกกับคนอื่นว่า เครือข่ายระบบการเงินระดับโลกนั้นมาจากไทย และมันคงจะเท่กว่าเดิมถ้าเราบอกว่า เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ GDP ไทยมากกว่าเกาหลี”

ประโยคดังกล่าวช่างเป็นคำพูดที่แสนจะทะเยอทะยานเสียเหลือเกิน กับการที่จะบอกว่าประเทศไทยซึ่งกำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจเทคโนโลยี จะสามารถเป็นจุดศูนย์กลางของเครือข่ายการเงินระดับโลก ที่มีปริมาณเม็ดเงิน GDP มากกว่าประเทศเกาหลี ที่เป็นเจ้าพ่อแห่งโลกเทคโนโลยีในแถบเอเชีย

แต่จากการพูดคุยกับ ‘บีม’ – ตฤบดี อรุณานนท์ชัย ผู้ก่อตั้ง Velo Labs นั้นเหมือนกับการจุดประกายความหวัง ที่จะทำให้ประเทศไทยได้ฉายแสงบนเวทีโลกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเขาไม่ได้มองเพียงแค่การสร้างแอพพลิเคชันเกี่ยวกับการเงินหรือการออกเหรียญสกุลเงินดิจิทัลที่นับว่าเป็นเรื่องใหม่มากๆ สำหรับโลกนี้ แต่เขากลับมองไกลไปถึงการสร้างเครือข่ายระบบการเงินแบบใหม่ ที่จะช่วยให้คนทั่วโลกสามารถทำธุรกรรมกันได้โดยไร้พรมแดน

และดูเหมือนว่าคำพูดของเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่คำโอ้อวด เพราะเขาได้ทำการเข้าซื้อ 1 ใน 10 เครือข่ายบล็อกเชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมกับมีทรัพยากรทางด้านบุคคลอย่าง ไมค์ เคนเนดี้ ผู้ออกแบบระบบการเงิน Zell ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา

ทำให้ตลอดการพูดคุยเกือบหนึ่งชั่วโมงกับเขานั้น เราสามารถเชื่อได้จริงๆ ว่า Velo Labs จะกลายเป็นเครือข่ายการเงินจากไทยที่ถูกใช้งานแพร่หลายได้ทั่วโลก และ The Momentum อยากจะแบ่งปันวิสัยทัศน์ของเขาให้ได้ลองตั้งคำถามกันดูว่า

“ประเทศไทยในเวทีโลกนั้น ยังเป็นฝันที่เกินเอื้อมอยู่หรือเปล่า?”

velo lab

Velo Labs คืออะไร และที่มาของมันเกิดมาได้อย่างไร

เป้าหมายของเราคือการสร้าง ‘อินเทอร์เน็ตของโลกการเงิน’ แรงบันดาลใจแรกสุดของเรามาจากการตั้งข้อสังเกตเวลาที่เราคุยแชตกับเพื่อน เราสามารถคุยแชตกับคนได้ทั้งโลก มันเร็ว มันเรียลไทม์ และค่าใช้จ่ายก็ต่ำจนแทบจะไม่มี แต่ทำไมเวลาที่ต้องโอนเงินจาก TrueMoney Wallet ไปยัง Rabbit LINE Pay ยังทำแทบไม่ได้ หรือการโอนเงินไปต่างประเทศถึงยังใช้เวลาและไม่เรียลไทม์ ค่าใช้จ่ายก็ยังสูง จุดตั้งต้นของเราจึงมาจากปัญหาที่ว่า ‘ทำยังไงเราถึงจะให้การโอนเงินของเราเร็วเหมือนกับการส่งแชตไลน์หาเพื่อน’

ผมเห็นได้ว่าประเทศไทยของเรามีแรงงานต่างด้าว 10 ล้านคน เสียค่าโอนเงินต่างประเทศคนละ 5,000 บาท ก็ตกอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน 6 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งมันเยอะมาก นี่ยังไม่รวมคนที่ทำธุรกิจอยู่ในจีนอีกประมาณ 5 แสนคน ค่าใช้จ่ายการโอนก็อยู่ที่หมื่นล้าน แสนล้านเหมือนกัน

สาเหตุที่เม็ดเงินต้องเสียไปมากขนาดนั้นเพราะเราต้องเสียค่าโอนให้กับสถาบันการเงินเป็นทอดๆ และเชื่อไหม ในอาเซียนเราซื้อขายกับจีนปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เสียค่าธุรกรรม 5% ก็ 5 หมื่นล้านบาท ไม่ได้ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น และก็แพง ถ้าระบบการเงินที่ดีมันจะถูก และส่งเงินได้อย่างรวดเร็วกว่านี้

แต่การที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการเงินเดิมไป แค่สร้างแอพพลิเคชันยังไม่พอ มันจำเป็นต้องรื้อโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบัน สถาบันการเงินเหมือนกับสถานีรถไฟ ต้องแวะหลายสถานีกว่าจะไปถึงจุดหมาย เราต้องการให้ Velo Labs เป็นเครื่องมือทางการเงิน และเป็นเครือข่ายที่การส่งเงินเหมือนกับการนั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวจากไทยไปอิตาลีได้โดยตรง ไม่ต้องแวะจอดหลายสถานีเหมือนรถไฟ

ด้วยความที่มีคนกลางเต็มไปหมด เพราะเวลาที่คุณจะทำธุรกรรมกับใครคุณต้องมั่นใจว่าเขาจะไม่โกง ถ้าเป็นเพื่อนหรือคนรู้จัก แน่นอนคุณไว้ใจได้ แต่สำหรับร้านค้าออนไลน์ คุณไม่รู้เลยว่าถ้าโอนเงินไปเขาจะได้รับเงินหรือของจะมาส่งให้คุณจริงๆ ไหม ทำให้การมีคนกลางมีความจำเป็น ในการที่จะให้การทำธุรกรรมดำเนินไปด้วยความน่าเชื่อถือ

รูปแบบการเงินที่เราออกแบบจึงเรียกว่าระบบการเงินแบบ ‘Trustless’ หลักการง่ายๆ คือการทำธุรกรรมต้องมีการค้ำประกันระหว่างกัน สมมติว่าคุณอยากจะซื้อของออนไลน์ การกดสั่งซื้อจะทำการล็อกเงินในบัญชีของคุณจำนวนหนึ่งไว้ เพื่อให้ฝั่งคนขายมั่นใจว่าคุณมีเงินจ่ายเขาจริง พอของส่งมาถึง เงินของคุณก็จะถูกโอนไปหาอีกฝ่ายทันที จึงไม่จำเป็นจะต้องมีตัวกลางเข้ามาคอยหักหัวคิวหรือเป็นธุระให้ เพราะปัจจุบัน การขายออนไลน์ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ ถ้าผมเป็นคนขายของ ผมส่งของให้คุณแบบ Cash on delivery เกิดคุณเบี้ยวไม่จ่ายเงินสดขึ้นมาจะทำอย่างไรล่ะ นี่คือหัวใจสำคัญของรูปแบบการเงินของเรา

สมัยก่อนการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินจะต้องมีทองคำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ว่าในโลกดิจิทัล การจะโอนทองคำ 1 ชิ้นไปหากันมันทำไม่ได้ เพราะมันจะทำให้การทำธุรกรรมล่าช้า จึงจำเป็นที่จะต้องมีสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถโอนไปให้ใครก็ได้โดยง่ายเกิดขึ้นมา

เราเลยออกเหรียญ ‘Velo’ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ที่หากใครจะทำสัญญาการเงินระหว่างกันหรือว่าโอนเงินระหว่างกัน ทั้งสองฝั่งต้องมี Velo เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน ใครก็ตามที่ผิดสัญญา ตัวสินทรัพย์ค้ำประกันจะต้องถูกโอนไปให้อีกฝ่าย การทำธุรกรรมจึงสามารถที่จะทำในขนาดใดก็ได้ เพราะสามารถเพิ่มเหรียญ Velo ไปตามมูลค่าของสัญญา อีกทั้งยังสามารถค้ำประกันกับใครก็ได้ในโลกนี้ และมีความเร็วในระดับเรียลไทม์

เราจึงเป็นแค่ ‘จิ๊กซอว์’ เพราะโลกเรามีอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว เราแค่อยากให้อินเทอร์เน็ตสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ เลยเกิดเป็นสินทรัพย์อย่าง Velo ขึ้นมา เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘เครดิตอเนกประสงค์’ (Universal Credit) เพื่อให้ทุกคนสามารถทำธุรกรรมได้กับทุกคนทั่วโลก เพียงแค่มี Velo ในมูลค่าที่สัญญาระบุไว้ให้นั่นหมายความเขามีเครดิตที่เพียงพอ ตราบใดที่เขาคำ้ประกันด้วย Velo เขาก็ปลอดภัย

คู่แข่งของ Velo ในการแก้ปัญหาธุรกรรมไร้ตัวกลางเป็นใคร

เรามองคู่แข่งของเราไว้ 3 ประเภท ประเภทแรก ‘โครงสร้างเก่า’ ปัจจุบัน การที่ผมรูดบัตร Visa ธนาคาร A ของประเทศไทย แต่รูดในประเทศจีน ร้านที่ผมรูดบัตรไม่ได้เงินจากธนาคาร A แต่จะได้เงินจากธนาคารในประเทศจีนที่รับค้ำประกันในกับธนาคาร A ไป แล้วเขาค่อยไปเก็บเงินจากธนาคาร A ในภายหลัง

การที่ทำแบบนี้ได้เหล่าสถาบันการเงินต้องมีตัวกลางอย่าง JPMorgan หรือ CitiBank ที่บอกว่า ธนาคาร A กับ B คุณต้องโอนเงินบาทและเงินหยวนเป็นเงินดอลลาร์ฯ มาฝากไว้ที่ผม ใครเบี้ยวผมจะหักเงินของคนที่เบี้ยวมาจ่ายอีกฝั่งนะ ซึ่งวิธีการนี้มันมีข้อเสียคือตอนเคลียร์เครดิตต้องเคลียร์กันเป็นอาทิตย์ อีกทั้งคุณมีบาท ต้องแปลงมาเป็นดอลลาร์ฯ แล้วก็ต้องแปลงมาเป็นบาทอีกที มันเสียอัตราแลกเงินซ้ำซ้อนมากๆ

ประเภทที่สอง คือการใช้เหรียญคริปโตเคอร์เรนซี อย่างการที่ Ripple มาบอกว่า คุณไม่ต้องแปลงเงินเป็นดอลลาร์ฯ หรอก คุณมาใช้เหรียญ XRP ของผมเป็น Bridge Currency ดีกว่า แต่มันก็ไม่ตอบโจทย์อยู่ดี เพราะต้องแปลงบาทเป็นดอลลาร์ดิจิทัล แล้วค่อยแลกเป็น XRP ถึงจะมีตัวแทนของดอลลาร์ฯ แต่ก็ต้องเสียอัตราแลกเปลี่ยน 2 รอบอยู่ดี

ประเภทที่ 3 คือ เหรียญคริปโตอย่างบิตคอยน์ แต่ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาแกว่งมากๆ ราคาแกว่งยิ่งกว่าดอลลาร์ฯ เสียอีก 2 วันขึ้น 3 วันลง จะใช้ทำธุรกรรมได้อย่างไร

ดังนั้น ทางออกของเราคือคุณแลกเงินบาทมาเป็นเหรียญ Velo ค้ำประกันได้เลย ค้ำเสร็จเราจะออกเป็นดิจิทัลบาทให้ พอทำธุรกรรมกันเสร็จ ถ้าคุณเอาเงินสกุลไหนมาค้ำ เราก็คืนเงินให้กับคุณเป็นจำนวนเงินและสกุลเงินที่ค้ำไว้คุณก็ไม่ต้องเสียอัตราแลกเปลี่ยน คุณจะเอาดิจิทัลบาทไปแลกกับดิจิทัลหยวนได้โดยตรง โดยไม่เป็นปัญหาอะไร

แล้วในโมเดลแบบเดียวกัน มีใครทำอีกหรือเปล่า

คิดว่าเราน่าจะเป็นเจ้าแรกของโลก

ถ้าวันใดมีสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็น Stable Coin ที่ราคาไม่แกว่งแล้ว Velo จะทำอย่างไร

แบบนั้นก็ยิ่งดี ตามหลักการของ Stable Coin คือเหรียญที่ออกมาให้คนใช้แลกเปลี่ยนกัน หากทุกคนต่างออก Stable Coin คือตัวเองออกมาแล้วเราจะใช้ Stable Coin ตัวไหนล่ะ ในทางปฏิบัติไม่ใช่ทุกร้านค้าที่จะรับเหรียญ Stable Coin ตัวนั้น ยกตัวอย่าง 7-Eleven บอกว่าจะรับเงินจาก TrueMoney Wallet เท่านั้น คุณต้องแลกเงินบาทไปเก็บไว้ใน TrueMoney Wallet ซึ่งเราจะดำเนินการให้ไม่ว่าจะใช้เงินสกุลไหน โดยมอบ Velo เป็นตัวค้ำประกัน และเติมเงินบาทไปใน TrueMoney Wallet ให้เอง

นอกจากเราจะเป็นตัวกลางแล้ว เรายังมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นธนาคาร ร้านค้าอย่าง 7-Eleven ธนาคารดิจิทัลที่เมืองนอก ซึ่งจะออกสกุลเงินดิจิทัลที่ซื้อไม่ได้จากตลาด แต่จะออกในพวก Lateral Agreement เท่านั้น เขายอมให้ตัวกลางอย่างเราไปจับคู่กับดิจิทัลฟรังก์ ดิจิทัลหยวน ที่สามารถใช้งานจริงกับ Stable Coin ต่างๆ ได้ โดยเราจะเป็นคนคอยกรองพวก Stable Coin เหล่านี้ให้กับเขา

เราเลยมองว่าเป็นเรื่องดี สมมติเด็กไทยที่อยากเล่น DeFi เข้าไปหาโบรกเกอร์อื่นๆ เพื่อเอาเงินดอลลาร์ดิจิทัล (USDT) ไปเปลี่ยนเป็น Ethereum เข้าไป Stake ได้เงินก้อนใหญ่ออกมา หากอยากส่งเงินไปให้เพื่อนที่ญี่ปุ่นก็สามารถเอา USDT ส่งผ่านเครือข่ายของ Velo ไปกลายเป็นดิจิทัลเยนของ 7-Eleven ที่ญี่ปุ่น เขาก็สามารถเอาเงินเยนออกมาได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางหลายๆ คน

จุดแข็งของเราพอเรามี ระบบคำ้ประกัน เราสามารถนำเหรียญกลุ่มที่ใช้งานประเภทต่างๆ มาขึ้นเงินให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้จริงๆ เราจะเป็นตัวกลางในการเอามูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลมาเปรียบเทียบกับสินทรัพย์โลกจริง และมอบให้กับเขา

ถ้า Velo เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลและสินทรัพย์จริง หากวันหนึ่งเราหันไปใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล 100% Velo จะทำอย่างไร

การวางสายไฟเบอร์ออปติกจะต้องมีวางโครงสร้าง พ่อค้าปลีกสายไฟ นายหน้าขาย แต่สุดท้ายทุกอย่างจะต้องเชื่อมกันด้วยระบบ ‘เครดิต’ หมายความว่า ‘เงินคือเครดิต’ ผมถือเงินบาท หมายความว่ารัฐบาลไทยให้เครดิตผมในการจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทย แต่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะใช้กับประเทศไทยไม่ได้ แต่ผมยอมให้เครดิตทุกคนไม่ว่าเขาจะถือสกุลเงินใดๆ ก็ตาม ผมรับค้ำพันธบัตรรัฐบาล ผมเปลี่ยนเงินดอลลาร์ฯ ให้กลายเป็นบาทได้

อีกหน่อย Stable Coin จะออกมาเป็น พันๆ เหรียญ ใครจะบอกว่าเหรียญไหนน่าเชื่อถือ พอถึงเวลาต้องใช้งานจะมาไล่ถามทีละคนอย่างนั้นเหรอ สำหรับ Velo Labs ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินอะไร ผมให้เครดิตเขาได้หมด เราจะรับคำ้เป็นตัวกลางให้ทั้งโลก แปลงเป็นสกุลเงินที่ทุกคนต้องการได้ทั้งหมด

การออกกฎของ ก.ล.ต. จะกลายมาเป็นกำแพงสำหรับการทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยหรือเปล่า

ผมเข้าใจในมุมของ ก.ล.ต. คือว่าคริปโตเคอร์เรนซีในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง เลยมองว่าถ้าคนที่มีเงินทุนมากกว่าก็น่าจะยอมรับความเสี่ยงได้สูงกว่า แต่คิดว่าจุดนี้คือการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในปัจจุบัน คนมาซื้อคริปโตฯ เบื้องต้นต้องมีสินทรัพย์เกิน 1 ล้านบาท ถึงจะซื้อได้ แต่ในอนาคต คนจะเริ่มออกคริปโตฯ มาไม่ใช่ในมุมของการลงทุนอีกต่อไป

สมมติว่าผมสามารถออกเหรียญที่แสดงถึงการเป็นเจ้าของพื้นที่แถวสาทร 1 ไร่ เป็นเหรียญทั้งหมด 1 ล้านเหรียญ โดย 1 เหรียญมีค่าเท่ากับ 1 ใน 100 ของ 1 ตารางเมตรในสาทร แต่ก่อนคุณต้องมีเงินพันล้านคุณถึงจะซื้อที่สาทรได้ แต่เดี๋ยวนี้คุณมีเงิน 100 บาท คุณก็เป็นเจ้าของพื้นที่สาทรได้ อันนี้ไม่ใช่เรื่องของคนรวยที่มีเงินเกิน 1 ล้านแล้ว แต่มันคือการกระจายอำนาจสินทรัพย์ (Democratize) หากเรามีนวัตกรรมตัวนี้ออกมา คุณก็จะเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของพื้นที่สาทรได้โดยง่าย

พอมันมีสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบนี้ออกมา ก.ล.ต. ก็จะเริ่มเข้าใจว่ามันไม่ได้มีแค่คริปโตเคอร์เรนซีที่ความเสี่ยงสูงสำหรับการเก็งกำไรเท่านั้นนะ แต่มันจะมีเหรียญที่ถูกสร้างออกมาเพื่อให้คนที่มีเงินน้อยสามารถจับจองทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากได้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของกรรมสิทธิ์ คิดว่าตอนนี้ ก.ล.ต. ต้องการที่จะปกป้องนักลงทุน แต่หากมีเหรียญรูปแบบใหม่ออกมา ก.ล.ต. ก็จะยืดหยุ่นในเรื่องนี้มากขึ้น

ในวันนี้ ก.ล.ต. มองในมุมของการลงทุนเท่านั้น แต่ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมันไม่ใช่เรื่องของการลงทุน คือสินทรัพย์ดิจิทัลต้องแยกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ Financial Inclusion คือการกระจายโอกาสให้กับผู้คนอย่างเท่าเทียม เช่น การเป็นเจ้าของพื้นที่สาทรที่อธิบายไป กับ Financial Mobility คือเรื่องความง่ายของการจับจ่ายใช้สอย ไม่ใช่เรื่องของการลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว

แล้วการจับมือกันของ Interstellar และ Velo labs มีความสำคัญอย่างไร

เราก็ได้ไปซื้อ Interstellar ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของ Velo เพราะเราต้องการจะสร้าง Global Network และเราเชื่อในระบบของ Stellar เราจึงหาทีมที่ดีที่สุดมาเพื่อที่จะ Run Network ของเรา อย่าง Mike Kennedy ที่เป็น CEO ของ Interstellar เขาเป็นคนที่สร้างระบบโอนเงินในสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Zell ที่มีการทำธุรกรรมสูงถึง 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

เราคิดว่านอกจากเราจะได้เทคโนโลยีของเขา เรายังได้คนที่มีความสามารถเพื่อที่จะทำให้บริษัทของเรากลายเป็นบริษัทระดับโลกจริงๆ ขึ้นมา เพราะผมมองว่าถ้าดูทิศทางตอนนี้ ตลาดโลกเป็นของคนไทย และคนที่มีความสามารถเก่งๆ ก็อยู่กับคนไทยทั้งนั้น

ตลาดโลกเป็นของคนไทยหมายความว่าอย่างไร คนไทยมีความสามารถทางด้านบล็อกเชนมากขนาดนั้นเลยเหรอ

ผมว่าเป็นอย่างนี้ อินเทอร์เน็ตกับบล็อกเชนคือโลกที่ไม่มีรูปแบบ ไม่มีตำแหน่ง ต่อจากนี้ถ้ามองในมุมทฤษฎี มันไม่ได้มานั่งแบ่งกันอีกต่อไปแล้วว่าคนนี้คนไทยหรือคนนี้คนอเมริกา แต่ทุกคนเชื่อมโยงกันหมด บนโลกใบเดียวกันที่ไม่มีพรมแดน ทำให้โลกของเราหลังโควิด คุณสามารถคุยกับคนคนหนึ่งได้เหมือนคุณเจอเขาตัวเป็นๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะการเกิดโควิดทำให้เราชินกับ Zoom มันมี Clubhouse ทำให้การแชร์ข้อมูลง่ายขึ้นแม้คนคนนั้นจะอยู่ไกลแค่ไหน

อีกทั้งบล็อกเชนยังเป็นการรื้อโครงสร้างพื้นฐานใหม่ (Layout Infastructure) รูปแบบของการเงินจะเปลี่ยนไป การที่มันไม่มีรูปแบบ ไม่มีพรมแดน ตามทฤษฎี ไม่ว่าคุณจะอยู่ไทยหรืออยู่อเมริกา มันไม่มีความหมาย

ต่อมา ผมมองว่าคนไทย ‘เก่ง’ ยกตัวอย่างก่อนต้มยำกุ้ง คนไทยเจ็บจากการเสียรู้ที่กู้เงินดอลลาร์ฯ มา แต่หลังจากนั้น สถาบันการเงินไทยมีวันหนึ่งที่มี Market Capitalization ใหญ่กว่า Morgan Stanley ที่อเมริกา คนไทยตั้งแต่ปี 2540 เมื่อวันนั้นเราเก่งขึ้นเยอะ หรือปี 2551 วิกฤตซับไพรม์ บริษัทของไทยเราเคยทำอะไรแบบ ‘ลูกทุ่ง’ แต่คุณดูทุกวันนี้ บริษัท ป.ต.ท. ทำทุกอย่างแบบมืออาชีพมากไม่แพ้เมืองนอกเลย

ในวงการสตาร์ทอัพ ถึงแม้เราเพิ่งเริ่มได้ไม่นาน แต่คุณมักจะเห็นว่ามีคนเก่งๆ อย่าง Flash Express คนไทยเก่ง แต่ที่ผ่านมาโอกาสอาจจะยังไม่เยอะ แต่เมื่อเราล้มแล้วเราได้ลองผิดลองถูก สังเกตได้ว่า เรากลับมาเร็วกว่าคนอื่น ผมมองว่าโมเดลไทยคือเกาหลีของอาเซียน ซึ่งเกาหลีเป็นผู้นำเรื่องเทคโนโลยี

อีกไม่กี่ปีเราจะเห็นว่าคนเก่งๆ ทั่วโลกจะมาอยู่ที่ไทย เพราะประเทศของเราก็น่าอยู่ เราได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ จริงๆ แล้วในอาเซียนเราคือผู้นำ เราควรจะเป็นผู้นำของอาเซียนทางด้านการเงินเพราะไทยเราก็มีสถาบันการเงินที่มีข้อบังคับที่แข็งแรง มีใบอนุญาตทางด้านคริปโต มีปริมาณเงินไหลเวียนเยอะ อีคอมเมิร์ซเราก็แพร่หลาย ดิจิทัลมีเดียเราก็แข็ง หลังจากที่วิกฤตโควิดนี้จบ เราจะเติบโตมายิ่งใหญ่กว่าเดิมได้แน่นอน

CP เป็น Food Company ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ในเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คุณเจริญกวาดซื้อทั้งหมด ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ เรื่องอินเทอร์เน็ต คุณคอยดูใน 3-4 ปีหลังจากนี้ เราจะครอบคลุมทั้งอาเซียน คนอื่นอาจจะมีตลาดที่ใหญ่กว่า แต่เขาไม่มีคนเก่งๆ เหมือนเรา ตอนผมเรียนแสตมฟอร์ด ผมไม่เห็นคนอาเซียนคนไหนที่เก่งกว่าคนไทยเลย

ในเมื่อต่างประเทศเขาเริ่มหน้าไปก่อนนานแล้ว เราจะเติบโตทันเขาจริงๆ เหรอ Velo จะสามารถแข่งขันในระดับที่ไปกอบโกยเงินจากต่างประเทศมาได้เลยมากแค่ไหน

หากมีความคิดแบบนี้ แสดงว่าเป็นความคิดที่ ‘ไร้เดียงสา’ มากๆ คุณดู CP นะ เขาเริ่มจากทำธุรกิจเทเลคอมก่อน ไปพาร์ตเนอร์กับ Orange ทุกวันนี้ก็กลายเป็น True ที่เป็นผู้ให้บริการสัญญาณชั้นนำของไทย ตอนเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ทำเหล้า เขาก็ไปพาร์ตเนอร์กับ Carlsberg แล้วก็ออกเบียร์ช้างมาเอง

ผมบอกแล้วไงว่าเราแค่เริ่มช้า แต่เริ่มช้าไม่ได้ความว่าจะตามไม่ทัน คนอื่นอาจจะคิดค้นขึ้นมาได้ก่อน แต่เพราะเขามีประชากรที่มากกว่าเรา เขาขายแบบแมสได้ แต่คุณอย่าลืมนะ เมืองจีนก็ให้พวกคนตะวันตกวางรากฐาน พอถึงเวลาจริง พวกผลิตภัณฑ์ทางด้านอินเทอร์เน็ตก็เป็นของจีนหมด คุณดูง่ายๆ ไทยเคยมี Gojek, Grab เข้ามาตีตลาด แต่ทุกวันนี้เราเริ่มมี Robinhood เข้ามาติดตลาดแล้วเหมือนกัน หรืออย่าง Wongnai ถึงขั้นที่ว่า Line ต้องไปจับมือด้วยเพราะว่า Wongnai แข็งแรงมาก

ผมจะบอกคุณว่าเทคโนโลยีเป็นตลาดที่เราเชี่ยวชาญ ความสามารถเรามากกว่าเขา ตลาดเรามากกว่า คอนเน็กชันเราเยอะกว่า ในอดีตเราอาจจะระดมทุนไม่เก่ง (Raise Fund) แต่ทุกวันนี้ผมซื้อบริษัทบล็อกเชน Top 10 ของโลก ตอนนี้คือจุดเริ่มต้นที่คนไทยจะได้ผงาดแล้ว

CP ไปซื้อ ผิงอัน (Ping An) ได้ถึงเมืองจีน ถ้า CP เป็นเจ้าตลาดเมืองจีนได้ เซ็นทรัลเป็นห้างที่ดีที่สุดของจาการ์ตาได้ แล้วทำไมเราจะทำตลาดเทคโนโลยีไม่ได้

แค่เราเริ่มช้ากว่าไม่ได้แปลว่าไม่เข้าเส้นชัย

velo labs

แล้วโครงสร้างโดยรวมเอื้อให้รายย่อยสามารถแข่งขันได้มากแค่ไหน เพราะที่ยกตัวอย่างมามีเพียงแค่รายใหญ่ทั้งนั้น

นี่คือความใฝ่ฝันของผมเลย ถ้าคุณดูเกาหลีเป็น Role Model มันอาจจะเริ่มต้นจากการที่มีผู้เล่นรายใหญ่ครองตลาดก่อน การที่รายย่อยจะแข่งขันได้จึงต้องไปพึ่งพาทางดิจิทัล และรัฐบาลรู้ดีว่า SME คือตัวหล่อเลี้ยงประเทศเขาก็เลยสร้างโครงสร้างให้เกิดการระดมทุนอย่าง Venture Fund, Capital Fund, Government Fund สร้างสะพานให้คนเกาหลีไปหาเงินจากต่างประเทศได้เก่งขึ้น เราจึงเห็นเศรษฐีหน้าใหม่จากการทำแอพพลิเคชันหรือคริปโตเกิดขึ้นมากมาย

อีกเหตุผลหนึ่งที่เราทำ Velo ขึ้นมา เพราะผมอยากทำระบบการเงินแบบ Peer-to-Peer ที่ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินโอนเงินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องการระดมทุนต่างๆ ด้วย ผมมองว่าอนาคต ไม่ว่าจะพนักงานออฟฟิศที่อยากเปิดธุรกิจ เขาจะมีต้นทุนการเงินที่เหมือนกับการที่ CP จะไปกู้ เพราะการกระจายอำนาจการเงินออกไปนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน

มันมี 2 เรื่อง อย่างแรก การทำ Velo Labs จะเกิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เกิดการระดมเงินผ่านบุคคลได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร ทำให้คนมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น อย่างที่ 2 ผมเชื่อว่าการที่ไทยยังไม่มี Unicorn ทำให้ยังไม่มีนักลงทุนเข้ามา เราก็เลยต้องสร้าง Unicorn ขึ้นมา ต่างชาติจะเริ่มกลัวการพลาดโอกาสตรงนี้ไป ตอนนี้ต่างชาติไปแค่มาเลเซีย อินโดนีเซีย เขาไม่เข้าใจว่าคนไทยเก่งขนาดไหน

ในวันที่เขาเข้าใจว่าทางอินโดจีนมีศักยภาพเท่าเกาหลี แต่มีขนาดของตลาดใหญ่กว่าเกาหลี 4 เท่า ต่างชาติจะน้ำลายหก ซึ่งผมว่า ถ้ากลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่สร้างภาพจำเช่นนั้นได้ ต่างชาติจะเข้ามาเยอะพอที่จะช่วยทำให้ SME และสตาร์ทอัพมีเม็ดเงินไปแข่งขันระดับโลก

นอกจากทางด้านการเงิน ใน Ecosystem ของ Velo ทำอะไรอีกบ้าง

หลักๆ แล้วเราต้องการทำระบบการเงินตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง (End to End) บริษัทลูกเราเป็นบริษัทส่งของออนไลน์อันดับ 2 ของประเทศอินโดนีเซีย แล้วเรายังมีพวก Fintech อย่าง Financial Supermarket Shopping online, P2P Lending และก็มีพวก Credit Score และเราก็มี Velo Labs ที่เป็นบริการที่เราจะสามารถเข้าไปบุกตลาดอินโดนีเซียเมื่อไหร่ก็ได้

เรามีธุรกิจลูกที่ชื่อว่า MoneyTable ที่ทำให้พนักงานสามารถเบิกเงินเดือนล่วงหน้ามาใช้ได้ ตัวนี้เราทำมาเพื่อถ้ามีคนทำงานหรือแรงงานต่างด้าวเข้ามา เขาก็สามารถที่จะเบิกเงินเดือนล่วงหน้ามาได้ก่อนสิ้นเดือน เบิกเสร็จก็โอนเงินกลับไปประเทศเขา

และเราก็มี Lightnet ที่เหมือนเป็น Visa Network ที่หากมีสถาบันการเงินไหนที่ทาง Lightnet รองรับ จะสามารถโอนเงินได้ ผ่าน 7-Eleven หรือเทรดคริปโตฯ สามารถจ่ายเงินเข้า e-Wallet ได้หมด

เป้าหมายต่อไปของเราคือการเข้าไปจับตลาด SME เพราะปัญหาของเขาคือการ ‘ซื้อขายต่างประเทศได้อย่างยากลำบาก’ เราต้องช่วยให้ SME ซื้อขายได้ง่าย กู้เงินได้ง่าย และทำธุรกรรมการเงินได้ง่าย เพราะ SME สุดท้ายคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงประเทศ

เห็นว่า Velo Labs จับมือกับ ‘คุณชัช’ (ชัชวาลย์ เจียรวนนท์) จาก CP ที่มีภาพลักษณ์ในด้าน ‘การผูกขาดตลาด’ Velo ที่เป็นพาร์ตเนอร์จะลบภาพลักษณ์ตรงนี้ได้อย่างไร

CP มีข้อดีอยู่มาก เมืองจีนรู้จัก CP  ทั้งโลกรู้จัก CP และการจะสร้างเครือข่ายการเงินเราไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะเทคโนโลยี แต่ต้องมีความน่าเชื่อถือด้วย ซึ่งการมี CP ของเรานั้นก็ต้องมีหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) เพราะเราไม่ได้มีแค่ CP เรามีลวดลายอื่นด้วยอย่าง 7-Eleven ที่ญี่ปุ่น เรามีธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่ระดับ CP ของประเทศไต้หวัน และเกาหลี เรามีธนาคาร UOB จากสิงคโปร์

เราจับมือกับคนตัวใหญ่ก็จริง แต่เราไม่ได้จับมือกับคนตัวใหญ่คนเดียว เราจับมือกับคนตัวใหญ่หลายๆ คน และรูปแบบของเหรียญเรานั้น การมีคนตัวใหญ่หลายๆ คน ทำให้เรามีความน่าเชื่อถือไปด้วย

ผมเลยคิดว่า มันจำเป็นที่เราจะต้องหาลูกพี่ใหญ่ก่อน แล้วค่อยกระจายอำนาจให้กับคนตัวเล็กที่รองลงมา ให้ทั้งสองฝั่งเกิดการพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น ให้เกิดการ Share Economic กัน ต้องยอมรับว่าคนตัวใหญ่อาจจะเป็นคนที่ริเริ่มให้อะไรบางอย่างมันเคลื่อนไหวได้ แต่เขาไม่ใช่คนเดียวที่จะเป็นคนกำหนดทิศทางซ้ายหรือขวา

ผมว่ามันเป็นการที่ CP คืนประโยชน์แก่สังคมด้วย เหมือนให้เขากลับมาสร้างผลประโยชน์ให้แก่โลกการเงิน จริงๆ ถ้ามองว่าแต่ก่อนสถาบันการเงินผูกขาดการเงินอยู่แค่ 3-4 เจ้า การที่ CP เข้ามามีบทบาทก็เป็นการลดอำนาจระบบการเงินเดิมลงไปด้วย เพราะเขาช่วยทำให้ต้นทุนทางการเงินของคนดีขึ้น

แต่อย่างที่บอกไป เราไม่ได้มาแข่งกับธนาคาร เราจะมาเป็นเครือข่ายเชื่อมให้ทุกคนที่ใช้เครือข่ายของเราจ่ายเงินได้มากขึ้น ตอนนี้เรามีเครือข่ายที่ครอบคลุมไป 30 ประเทศแล้ว เป้าหมายของเราคือการครอบคลุมทั่วทั้งโลก มันคงฟังดูเท่ดีนะที่เครือข่ายการใช้เงินระดับโลกอย่าง Velo มาจากไทย

และมันคงเท่กว่าเดิมอีก ถ้าเราพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ GDP ของไทยมากกว่าเกาหลี

Fact Box

เหรียญ Velo จะเปิดให้ซื้อขายแล้วในบิทาซซ่า (www.bitazza.com) เป็นที่เดียวในประเทศไทย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) ที่ได้การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

Tags: , , ,