ถ้าโยนปัญหาเรื่องหนึ่งไปให้คนจำนวนหนึ่ง เราจะได้เห็นปฏิกิริยาที่แต่ละคนมีต่อปัญหานั้นอย่างหลากหลายเพื่อผ่านมันไป แต่ถ้านั่นไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ ที่เพียงมีสติปัญญาก็อาจแก้ไขไม่ได้ แต่ต้องใช้แรงใจมหาศาลและความอดทนที่ก็ไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน

 

เราอาจได้เห็นคนที่พยายามปัดปัญหาให้พ้นตัว โทษคนอื่น หรือหนีปัญหา

เราอาจได้เห็นคนที่ทดท้อและยอมแพ้ ล้มเลิกทุกอย่างที่ทำมา

และเราอาจได้เห็นคนที่อดทนรอ และค่อยๆ แก้ปัญหาให้คลี่คลายไป

 

อะไรทำให้แต่ละคนมีท่าทีต่ออุปสรรคปัญหาแตกต่างกัน คำตอบแรกๆ ที่พอจะนึกออกได้เร็วๆ คือ ทัศนคติต่อโลกและชีวิต คนที่มีทัศนคติตรงนี้ดี ก็ย่อมไม่โทษคนอื่น ไม่ท้อแท้ หรือล้มเลิกอะไรง่ายๆ และเข้าใจได้ว่าอุปสรรคทุกอย่างจะผ่านพ้นไปและมีสิ่งดีๆ รออยู่ข้างหน้า หากรู้จักอดทนและรอคอย เหมือนคำกล่าวที่ว่า ‘ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ’

‘ภูมิต้านทานอุปสรรค’ เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยป้องกันโรคย่อท้อต่ออุปสรรคและความยากลำบากในชีวิต ซึ่งเป็นเหมือนสิ่งที่คนทุกคนต้องพบเจอ

อย่างไรก็ตาม ภูมิต้านทานอุปสรรคก็เป็นเหมือนนิสัยอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ไม่ได้สร้างขึ้นมาได้ในวันเดียว เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจากการหล่อหลอม สั่งสม และสร้างเสริมมาเป็นระยะเวลายาวนาน เราอาจต้องมองย้อนไปไกลถึงการเลี้ยงดูในช่วงต้นของชีวิตเลยทีเดียว

ว่ากันว่าช่วงวัยเด็ก ตั้งแต่เริ่มรู้ความจนถึงหกขวบ เป็นวัยที่สมองกำลังติดตั้งโปรแกรมให้กับชีวิต ไม่ว่าจะปลูกฝังหรือสร้างอะไรให้กับเด็กวัยนี้ ก็จะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต ระยะเวลาช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่สำคัญมากที่สุดช่วงหนึ่ง

 

 

แล้วเราจะช่วยเด็กๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหรือคนใกล้ชิด ติดตั้งโปรแกรมที่เรียกว่า ‘ภูมิต้านทานอุปสรรค’ ได้อย่างไรบ้าง แพทย์หญิง เสาวภา พรจินดารักษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ ให้คำแนะนำไว้ดังนี้

1. ฝึกความรับผิดชอบ โดยต้องทำอย่างมีสติ เพราะเราต้องการให้เด็กฝึก ‘ควบคุมตนเอง’ ไม่ใช่เราที่ไปควบคุมเขา การสร้าง ‘วินัยเชิงบวก’ จะเน้นให้เด็กร่วมคิดและตัดสินใจ โดยผู้ใหญ่เป็นฝ่ายควบคุมกติกา รวมทั้ง ‘บทลงโทษเชิงบวก’ ก็เน้นที่การเปลี่ยนแปลงโดยเด็กต้องเข้าใจ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเพราะกลัว

2. ฝึกช่วยเหลือตนเอง เด็กที่ได้โอกาสนี้จะรู้สึกมั่นใจในการคิดและทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง และมุ่งมั่นที่จะทำให้มากขึ้น ซึ่งความมุ่งมั่นนี่แหละที่จะทำให้เด็กอยากทำงานที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ

3. ฝึกให้เด็กควบคุมอารมณ์ตนเอง โดยผู้ใหญ่ต้องควบคุมอารมณ์ตนเองเป็นแบบอย่างด้วย

4. ฝึกไม่ให้เด็กติดความสบาย เช่น เปิดพัดลมแทนการเปิดแอร์ในวันที่อากาศไม่ร้อนมาก วิ่งเล่นในที่แจ้งแทนการนั่งดูการ์ตูนในบ้าน รวมทั้งการมอบหมายให้ช่วยงานบ้าน

5. เมื่อเด็กมีปัญหาและอุปสรรค ผู้ใหญ่ควรชะลอการช่วยเหลือ โดยสังเกตวิธีการแก้ปัญหาของเด็ก และหากพบว่าติดขัดจริงๆ ค่อยเข้าไปช่วยเหลือ โดยมุ่งไปที่การช่วยตีโจทย์ปัญหา วางแผนการแก้ไข และติดตามการแก้ปัญหาไปด้วยกัน

คุณหมอเสาวภาฝากข้อคิดไว้ด้วยว่าพ่อแม่ยุคใหม่ต้องเลี้ยงลูกให้รู้จักอดทนและมีความมุ่งมั่น เพื่อสร้างภูมิต้านทานอุปสรรคให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพราะคุณลักษณะที่ดีนี้จะติดตัวลูกไปตลอดชีวิต

นอกจากการให้กำลังใจเชิงบวกที่ช่วยให้คนเรารู้จักคุณค่าของตัวเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ทักษะการรับมือกับความผิดหวัง ไม่มีใครที่อยากทำอะไรไม่สำเร็จ แต่บนโลกใบนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ถ้าชีวิตต้องเจอสภาวะความผิดหวัง หรือยากลำบาก เราจะจัดการกับจิตใจตัวเองได้อย่างไร

 

 

อะไรที่จะทำให้เด็กมีภูมิต้านทานอุปสรรค เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหากันอย่างจริงจัง

ไม่ใช่แค่การเลี้ยงดูเชิงบวกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับทักษะทางสมองด้วย เรียกว่า Executive Functions หรือ EF เป็นทักษะทางสมองที่มี แบ่งออกเป็น 3 ทักษะ

1. กลุ่มทักษะพื้นฐาน หมายถึงทักษะความจำเพื่อนำมาใช้งาน การยั้งคิดไตร่ตรอง และการยืดหยุ่นการคิด ให้โอกาสให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ เล่นสนุกอย่างหลากหลายด้วยตนเอง เช่น อ่านหนังสือกับลูก การได้ฟังเรื่องราวทำให้ลูกจดจ่อกับเรื่องราวที่ได้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ หรือ วาดรูปหรือทำงานศิลปะ การทำงานศิลปะที่ต้องใช้มือและตาทำงานประสานกัน ช่วยให้ลูกสามารถมีสมาธิจดจ่อได้มากขึ้น

2. กลุ่มทักษะกำกับตนเอง คือทักษะการใส่ใจจดจ่อ ควบคุมอารมณ์ และประเมินตนเอง โดยการสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ต่างๆ ให้เขาได้อธิบายความรู้ของตัวเอง รู้จักใช้เหตุผลในการกำกับอารมณ์ เช่น ถ้าลูกไม่อยากให้คนอื่นทำให้ลูกเสียใจ ถ้ามีใครมาทำกับลูกแบบนี้แล้วลูกรู้สึกแย่ ลูกก็ไม่ควรไปทำแบบนั้นกับคนอื่น เป็นต้น

3. กลุ่มทักษะปฏิบัติ หมายถึงการริเริ่มลงมือทำ การวางแผนจัดระบบดำเนินการ การมุ่งที่เป้าหมาย เช่น การชวนลูกคิดว่าขณะนี้กำลังทำถึงขั้นตอนใด ต้องทำอะไรต่อไป ต้องทำให้แล้วเสร็จเมื่อใด เพื่อให้ลูกรู้จักติดตามความก้าวหน้าของเป้าหมาย และรู้จักใส่ใจในเรื่องเวลา

การปลูกฝังภูมิต้านทานอุปสรรคและพัฒนาทักษะทางสมองเป็นสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของชีวิต พ่อแม่ที่มีลูกเล็กไม่ควรรีรอ ก็เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างและพัฒนาให้งอกงามในความคิดและจิตใจของเขา เพื่อที่เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่งดงาม เพราะอนาคตเริ่มต้นจากวันนี้

 

ขอขอบคุณข้อมูลสนับสนุนจาก www.nutricia-shapingdestiny.com

Tags: