ในสถานการณ์ที่กรุ่นด้วยอารมณ์หลากหลาย ทั้งความหวังจากภาคเศรษฐกิจที่รอการฟื้นตัว ความร้อนแรงของการเมืองที่ต้องจับตากันวันต่อวัน โรคระบาดที่ยังไม่รามือไปง่ายๆ ฯลฯ บรรยากาศเริ่มต้นปีอาจไม่ชวนอภิรมย์สักเท่าไร แต่ท่ามกลางความไม่รู้จะสุขหรือจะเศร้าดีนี้ ก็ยังมีสิ่งที่เข้ามาเยียวยาและปลอบประโลม ด้วยผลงานศิลปะของศิลปินจากทั่วโลกที่น่าออกไปทัศนา ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย Bangkok Art Biennale 2020 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง 

ใครที่อาจเพิ่งเคยได้ยินชื่อ หรือที่เคยลืมเลือนไป เราขอกระชับให้ฟังอย่างย่นย่อว่า ‘Biennale’ เป็นคำซึ่งมาจากภาษาอิตาเลียน แปลว่า ทุกๆ 2 ปี และได้ถูกใช้เป็นชื่อของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยเบียนนาเล่ ซึ่งครั้งแรกนั้นจัดขึ้นที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เมื่อปี ค.ศ. 1895 และจากนั้นก็ได้มีการจัดขึ้นในอีกหลายประเทศทั่วโลกมากถึง 300 ครั้ง ทั้งในยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา 

ประเทศไทยเองนั้นถือเป็นน้องใหม่สำหรับเทศกาลนี้ โดยเทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2018 โดยมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ซึ่งได้นำเอาพลังสร้างสรรค์ของเหล่าศิลปินระดับโลกทั้งไทยและต่างประเทศจากทุกทวีปทั่วโลก มาช่วยส่งเสริมรวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้สนใจเรื่องราวของศิลปะร่วมสมัย โดยผลงานศิลปะอันน่าตื่นตาจากศิลปินผู้สร้างผลงาน ได้กระจายจุดการแสดงไปยังสถานที่สำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดงานในครั้งแรกนั้น มีการเก็บข้อมูลโดยสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ TCEB เอาไว้ตลอดการจัดงาน พบว่ามีนักท่องเที่ยวในเชิงศิลปวัฒนธรรมจากต่างชาติสูงถึง 1.44 ล้านคน และสามารถสร้างรายได้เพิ่มทางเศรษฐกิจสูงถึง 8 พันล้านบาทเลยทีเดียว

สำหรับเทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2021 ก็เลือกเฟ้นสถานที่จัดแสดงงานได้อย่างน่าติดตามชมเช่นเคย โดยจัดแสดงใน 10 แห่ง แบ่งเป็น 4 แห่งในเส้นทางตัวเมือง  คือ The Prelude One Bangkok, BAB Box at One Bangkok, The PARQ, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC )และ 6 แห่งตามเส้นทางแม่น้ำ ได้แก่ Museum Siam, River City Bangkok, LHONG 1919, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ วัดอรุณราชวรารามฯ และวัดประยุรวงศาวาสฯ 

 

(ผลงานเมืองในฝัน : ผังโครงสร้างเมืองดุสิตธานี ที่ถูกจำลองขึ้นตามจินตนาการของรัชกาลที่ 6 โดย ประทีป สุธาทองไทย ที่ The Prelude โครงการ One Bangkok )

 

(ผลงาน We have found in the ashes what we have lost in the fire  โดย Rushdi Anwar)

 

(ผลงานประติมากรรม  DO A TO MII Doll 1939, Doll 2020  โดย Lolay ที่ BAB Box, One Bangkok )

 

(ผลงาน Anatomii A, 2020 โดย Lolay  ที่ BAB Box, One Bangkok)

 

หลากหลายผลงานสร้างสรรค์ผ่านมุมมองของศิลปิน ที่ The PARQ

เราได้มีโอกาสเข้าชมงานศิลปะส่วนหนึ่งที่จัดแสดงอยู่ที่ The PARQ มิกซ์ยูสบนถนนพระราม 4 ที่เปิดพื้นที่บนชั้น 15 ของอาคาร เป็นหนึ่งในพื้นที่จัดงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ที่มีพื้นที่ ขนาดใหญ่กว่า 1,000 ตารางเมตร ซึ่งมีผลงานศิลปร่วมสมัยจากศิลปินชาวไทยและชาวต่างชาติทั้ง 16 ท่าน จัดแสดงอยู่ถึง 25 ชิ้น ด้วยคอนเซ็ปต์ของชิ้นงานที่คัดสรรมาให้เข้ากับพื้นที่จัดแสดง 

บนพื้นผนังที่เคยว่างเปล่า ผลงานของ รีนา ไซนี กัลลัต ศิลปินหญิงชาวอินเดีย ที่ผสานทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม และการทอผ้าเอาไว้ในภาพแผนที่โลกขนาดใหญ่ ‘Woven Chronicle’ ถูกถักทอขึ้นบนผนังด้วยลวดไฟฟ้าและลวดหนาม มีเครือข่ายท่อร้อยสายเสียงเป็นตัวแทนกระแสการเคลื่อนที่ของมนุษย์ ที่เส้น สี และความหนาแน่นจะเปลี่ยนไปตามการเดินทางของผู้คน ทั้งนักเดินทาง ผู้อพยพ และการค้าข้ามพรมแดน และยังส่งเสียงสะท้อนที่มา ทั้งเสียงการจราจรทางโทรคมนาคม เสียงโดรนบิน เสียงไซเรน ฯลฯ ผสานกับเสียงเพลงของนกอพยพที่แทรกซ่อนอยู่ในเสียงสังเคราะห์

ส่วนหนังอีกด้านหนึ่ง น่ารักสดใสด้วยสีสันของโลกแฟนตาซีตามสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของยุรี เกนสาคู ทว่าคาแรกเตอร์ต่างๆ ของตัวละครที่จินตนาการขึ้นคราวนี้ ทำหน้าที่สะท้อนเรื่องราวของสังคม การเมือง เพศสภาพอย่างผู้หญิง ตลอดจนโลกศิลปวัฒนธรรม ไม่ว่าการนำภาพ Liberty Leading the People ของ Eugene Delacroix จิตรกรชื่อดังในยุคโรแมนติกมาวาดตามสไตล์ของตัวเอง ซึ่งแฝงความสนใจที่มีต่อเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ทุกตัวละครที่ปรากฏอยู่ในภาพวาด ล้วนซ่อนนัยทางความคิดที่ขึงขังท่ามกลางสีลูกกวาด

 

(ผลงาน Waven Chronicle โดย Reena Saini Kallat ที่จัดแสดงบน The PARQ ชั้น 15)

 

(ผลงาน BLUE BLANC ROUGE โดย ยุรี เกนสาคู ที่ The PARQ ชั้น 15)

 

เรื่องราวของสิ่งแวดล้อม ดูจะเป็นโจทย์ร่วมที่ศิลปินหลายคนพูดถึงและสะท้อนผ่านชิ้นงาน ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ศิลปินรุ่นใหญ่ สร้างงานสื่อผสม ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม วาดเส้น ออกแบบสถาปัตยกรรม เพื่อนำเสนอการเอาชีวิตรอด จากภยันตรายที่มนุษย์สร้างขึ้น ด้วยการใช้สำนวน ‘หนีเสือปะจระเข้’ มาสะท้อนถึงหายนะของโลกและสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกทำลาย จากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและเทคโนโลยีที่ควบคุมโลกใบนี้เอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ ในมุมหนึ่งของอาคาร ศิลปินนามไทวิจิตสร้างเครื่องจับปลาจากโครงเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งมีพลาสติกหลากหลายชนิดซึ่งเปรียบเสมือนปลาติดกับอยู่ด้านใน ขณะที่มุมลึกสุดของอีกฝั่งเขาทำงานจิตรกรรมบนผืนผ้าใบที่มีต้นแบบมาจากภาวะโลกร้อน ขยะจำนวนมหาศาล ท่ามกลางงานประติมากรรมจระเข้ ที่ชวนให้เราท่องไปในโลกแห่งความน่าหวาดหวั่น 

ขยะพลาสติกยังเป็นวัสดุที่มีคุณค่าของศิลปินลูกทะเลอย่าง ณรงค์ยศ ทองอยู่ ผู้มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับชายหาดสทิงพระในบ้านเกิด ที่กระแสน้ำจะพัดเอาขยะจากท้องทะเลมาขึ้นฝั่ง เขาเก็บขยะพวกนั้นมาแยกจำพวกหมวดหมู่ เช่น ก้นกรองบุหรี่ รองเท้าแตะ ทุ่นตกปลา ซากอุปกรณ์ ไปจนถึงขยะจากต่างประเทศที่เดินทางข้ามมหาสมุทร มาประกอบเป็นศิลปะจัดวางและของเล่นในงานชุด ‘A Child’s World in the Days of Adults’

เรื่องเล่าจากใต้ท้องทะเลลึกที่น่าสนใจอีกชิ้น คืองานวิดีโอสองช่อง ความยาว 16 นาที ในชื่อ ‘You Lead Me Down, to the Ocean’ ที่ธาดา เฮงทรัพย์กูล ถ่ายทำจากใต้น้ำนอกชายฝั่งจังหวัดนราธิวาส คราวที่เขาออกเดินทางวิจัยรถถังของกองทัพบก 25 คัน ที่กองทัพไทยซื้อจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและทิ้งลงก้นมหาสมุทรเมื่อมันไม่เหมาะสมสำหรับการรบอีกต่อไป อาวุธสงครามที่เคยดุดัน เมื่อสิ้นสภาพก็กลายเป็นเพียงวัตถุที่ปกคลุมด้วยสนิมและปะการังล้อมรอบด้วยฝูงปลาในปลายทาง

 

 

 

(ผลงาน หนีเสือ ปะจระเข้ ไฮไลต์คอนเซปต์ของงาน Bangkok Art Biennale 2020 ณ The PARQ ชั้น 15)

 

Escape Routes ศิลป์สร้าง ทางสุข ที่กระตุ้นความคิดและสะท้อนมุมมองปัจจุบัน

ไม่ง่ายเลยสำหรับการจัดงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 เพราะข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ โควิด-19 ที่ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างท้าทาย ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เล่าให้ฟังถึงการทำงานที่ยากขึ้นของศิลปิน ซึ่งบางคนได้มาดูพื้นที่จัดแสดงก่อน แต่บางคนก็ไม่มีโอกาส และในการติดตั้งงานของศิลปินบางคน ต้องใช้วิธีสื่อสารออนไลน์เพื่อให้ทีมงานในเมืองไทยช่วยลงมือติดตั้งให้เพราะไม่สามารถเดินทางมาได้ 

ครั้งนี้เรามีศิลปินทั้งหมด 82 ท่านที่เข้าร่วมแสดงงาน เป็นศิลปินต่างประเทศ 51 ท่าน ศิลปินไทย 31 ท่านทั้งหมดนี้มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เคยแสดงงานนี้ในคราวที่แล้ว คือมารีนา อบราโมวิช นอกนั้นเราพยายามไม่ซ้ำเดิม เพื่อที่จะหาศิลปินหน้าใหม่ รุ่นใหม่ จากหลากหลายประเทศ ที่สมัครกันเข้ามาประมาณ 500 คนจาก 5 ทวีป และเปิดเวทีให้ศิลปินไทยได้แสดงงานคู่ขนานกับศิลปินระดับโลก ที่ระหว่างการทำงานก็มีสถานการณ์เข้ามาสอดแทรกตลอด ทั้งเรื่องโควิด-19 เรื่องการเมือง

 

(ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ Bangkok Art Biennale)

 

‘Escape Routes’ หรือ ศิลป์สร้าง ทางสุข คือแนวคิดหลักของการจัดงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ซึ่งเป็นการขึ้นทศวรรษใหม่ที่ท้าทาย อย่างที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) ประกาศว่า นี่เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ หลังจากได้มีการประกาศ 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมา 5 ปี 

“17 หัวข้อที่ยูเอ็นประกาศ มันอยู่ใกล้ตัวบ้าง ไกลตัวบ้าง แต่เราลองดึงโจทย์ขึ้นมาแล้วโยนให้ศิลปินตีออกมาเป็นงาน คือการทำงานแต่ละครั้งเราคิดเยอะมากเพราะเราถือว่าเราเป็นน้องใหม่ในวงการเบียนนาเล่ ในครั้งแรกเรามีธีมของงานว่า สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต หรือ ‘Beyond Bliss’ เป็นหัวเรื่องกว้างๆ แต่พูดถึงเรื่องการใฝ่หาความสุขที่เอื้อมไม่ถึง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ศิลปินชอบมาก เพราะว่าทำให้เขาขบคิดหรือตั้งคำถามว่า แล้วโลกนี้สวยแล้วหรือ? โลกนี้ปริ่มแล้วหรือในความสุข? 

พอมาครั้งที่สองนี้ เราก็ต่อด้วย ศิลป์สร้าง ทางสุข หรือ ‘Escape Routes’ ตอนนี้เรากำลังค้นคว้าหาอะไร ในเชิงพุทธก็คือการต่อสู้กับอัตตา ความจริงแล้วคือ Escape จากอัตตาตัวเองนั่นแหละ เป็นโจทย์ที่ลึกลงไปกว่าเดิม

ภาวะที่โลกยังมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำมาซึ่งความกังวลใจร่วมกัน ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ไปจนถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายมาเป็นแนวคิดหลักที่กำหนดศิลปินสร้างสรรค์งานในรูปแบบต่างๆ ที่ถ่ายทอดและกระตุ้นความคิดใหม่ๆ สะท้อนถึงมุมมองจากสถานการณ์ปัจจุบัน แล้วมองไปถึงอนาคตที่ยั่งยืนได้อย่างไรนั้น กระทั่งปรากฏออกมาเป็นผลงานชวนติดตามกว่า 200 ชิ้น ให้เราได้ชมกันในคราวนี้ 

เมื่อศิลปะรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับพื้นที่แสดงงาน

ใครที่เคยได้ไป The PARQ หรือเคยผ่านอาคารแห่งนี้ คงได้เห็นงานศิลปะ 3 ชิ้นขนาดใหญ่ ติดตั้งอยู่ภายในโครงการ ผลงานเหล่านี้เป็น 3 ใน 5 ชิ้น ของ The PARQ Collection งานศิลปะสาธารณะร่วมสมัย ซึ่งผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ โดยอีก 2 ชิ้นที่เหลือนั้นยังรอการติดตั้งเนื่องจากเป็นผลงานของศิลปินชาวดัตช์ที่ต้องรอให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย 

เกื้อกูล เป็นประติมากรรมที่สร้างสรรค์โดย พงษธัช อ่วยกลาง ประติมากรและเจ้าของบริษัท Dong Sculpture ซึ่งนำแผ่นสเตนเลสหลายชิ้นมาประกอบกันเป็นรูปทรงเหลี่ยมโค้ง อันได้แรงบันดาลใจมาจากดอกมันแซม ที่มีใบต่อร้อยเรียงกันอย่างสมดุลทั้งชิ้นงาน พื้นผิวของสเตนเลสทำหน้าที่สะท้อนบรรยากาศโดยรอบ พร้อมกับทำหน้าที่ต้อนรับผู้มาเยือนที่บริเวณด้านหน้าอาคาร  ก่อนจะส่งความรื่นรมย์ต่อไปยังผลงาน ‘The Cradle’ ของพรพรรณ สุทธิประภา ศิลปินเซรามิกที่สื่อผลงานออกมาในรูปแบบของรากที่ค้ำจุนต้นไม้ เปรียบดังอาคารที่ย่อมต้องการรากฐานที่แข็งแรง โดยมีกระบวนการออกแบบที่มีวงจรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดในการกลับคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณโถงล็อบบี้

ส่วนผลงานชิ้นที่ 3 ถูกจัดวางให้เป็นแลนด์มาร์กของ Q Garden พื้นที่หย่อนใจบนชั้น 3 ของโครงการ The PARQ และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้มาเยือน ด้วยการออกแบบให้เป็นที่นั่งพักผ่อนรูปทรงคล้ายรังไหมที่หุ้มดักแด้อยู่ภายใน เป็นผลงานที่ชื่อ ‘The Cocoon’ ของสนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ภูมิสถาปนิกแห่งสนิทัศน์ สตูดิโอ ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยได้สอดคล้องกับงานภูมิสถาปัตยกรรมอย่างกลมกลืน 

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ One Bangkok และ The PARQ เล่าให้ฟังถึงการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ศิลปะในโครงการนี้ว่า The PARQ เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นด้วยแนวคิดยั่งยืน ที่ประกอบด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อมอาคารตามมาตรฐาน LEED รวมถึงส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้ใช้อาคารตามมาตรฐาน WELL และเป็นโครงการแรกในเมืองไทยที่ได้รับการรับรอง Pre-WELL Certification เพื่อมุ่งสู่การรับรองมาตรฐาน WELL และ LEED Gold V4

(The PARQ โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางกรุง)

 

The PARQ ออกแบบมาด้วยคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน คือ Life Well Balance ชีวิตการทำงานและชีวิตการพักผ่อนที่สมดุลกัน ความเป็นอาคารมาตรฐาน LEED ที่ให้สิ่งแวดล้อมที่ดีต่อผู้อยู่อาศัย เช่น มีแสงสว่างที่พอเหมาะ มีระบบไฟที่สามารถหรี่แสงให้เข้ากับแสงภายนอกเพื่อให้บาลานซ์กันทั้งภายในและภายนอกอาคาร มีอุณหภูมิที่เหมาะสม มีอากาศที่สะอาด และมาตรฐาน WELL ก็จะมีหนึ่งในข้อกำหนดว่าจิตใจของคนอยู่อาศัยต้องดีด้วย และงานศิลปะก็เป็นหนึ่งตัวบ่งชี้ว่าจะช่วยให้คนอยู่อาศัยรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งนับว่าเป็นมุมมองใหม่ที่ดี ที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญต่องานศิลปะ และอยากให้ศิลปะเป็นสิ่งที่คนเข้าถึงได้ง่าย

(ประติมากรรม เกื้อกูล โดย พงษธัช อ่วยกลาง)

 

(ประติมากรรม The Cradle โดย อ้อ- พรพรรณ สุทธิประภา)

 

(ประติมากรรม The Cocoon โดย บีนสนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์)

 

เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของตัวอาคาร และสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ศิลปะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ศิลปะได้ทำหน้าที่เยียวยาและสร้างความรื่นรมย์ในจิตใจของผู้เข้ามาใช้พื้นที่ในอาคาร 

นอกจากผลงานศิลปะซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ The PARQ แล้ว ยังมีผลงานอีกหลายชิ้นงานจากศิลปิน ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 และดึงดูดให้เราก้าวเท้าไปตาม Escape Routes ที่อย่างน้อยในช่วงเวลาที่ได้พักสายตาและวางหัวใจไว้กับงานศิลปะคัดสรรเหล่านี้ ก็ช่วยให้เราได้หลีกหนีและเยียวยาตัวเองจากความป่วยไข้ของสังคมโลก และคงจะดีไปกว่านั้น หากศิลปะที่ซ่อนนัยเอาไว้ในการสร้างสรรค์นี้ จะได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมในการชวนผู้คนหันหน้ามาคุยกัน เพื่อหาทางเยียวยาโลกใบนี้ให้อาการป่วยทุเลาลง

Bangkok Art Biennale 2020 จัดแสดงให้ชมข้ามปีไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 ยกเว้น The Prelude โครงการ One Bangkok และหอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร ที่ขยายเวลาจัดแสดงออกไปถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยผู้เข้าชมสามารถวางใจได้ถึงมาตรการการรักษาความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะทาง Bangkok Art Biennale ได้มีการทำความสะอาดบิ๊กคลีนนิ่งทั้ง 10 สถานที่จัดงาน พร้อมเตรียมหน้ากากอนามัย เครื่องวัดอุณหภูมิ และแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ รวมถึงเน้นย้ำขอความร่วมมือจากผู้เข้าชมให้เช็คอินผ่านแอปพลิเคชั่นไทยชนะ เว้นระยะห่าง ตลอดจนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเข้าชม

 ในยามที่หลายคนยังเดินทางไปไหนไม่ได้ไกล งานศิลปะร่วมสมัยที่ให้ทั้งความรื่นรมย์และชวนคิด ยังส่งคำชวนให้ทุกคนออกไปค้นหาทางสุข เส้นนี้ด้วยกัน

 

 

Tags: , , , , , ,