ในระยะเวลาที่ไม่ต้องรวดเร็วเหมือนนิตยสารรายวัน หรือเรียกร้องการบ่มเพาะอย่างนิตยสารรายเดือน a day BULLETIN จับเรื่องราวที่กำลังเป็นประเด็นทางสังคมได้อยู่มือเสมอ มีบทสัมภาษณ์ขนาดยาวเนื้อหาเข้มข้นให้ดื่มด่ำ ไม่ต้องพูดถึงอาร์ตเวิร์คที่ผ่านการคิดมาแล้วหลายตลบ จึงไม่น่าสงสัยทำไม a day BULLETIN ถึงอยู่กับสังคมไทยมานานถึง 13 ปี

 a day BULLETIN เพิ่งจัดงาน ‘Reading the Future: อ่านอนาคต’ โดยได้เชิญบรรณาธิการบริหารคนปัจจุบันรวมถึงในอดีต ทั้ง 3 คน ผู้ล้วนโลดโผนอยู่ในโลกของนิตยสาร ทั้งในวันฟ้าเปิด และมรสุม รวมถึง 9 คอลัมนิสต์ที่จะเข้ามาเพิ่มสีสันและเนื้อหาให้ a day BULLETIN ในรอบปีนี้ มานั่งพูดคุย แลกเปลี่ยน และคาดการณ์อนาคตท่ามกลางความเป็นไปได้นับร้อยพัน

ตุ๊ก – วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ผู้ซึ่งเข้ามาเป็นบรรณาธิการบริหารคนแรกของ a day BULLETIN ตั้งแต่ปี 2008 เท้าความไปถึงจุดเริ่มต้นที่ต้องการให้ a day BULLETIN เป็นนิตยสารแจกฟรีที่ครบถ้วนในเนื้อหา และมีคุณค่าเพียงพอแก่การสะสม ในยุคที่เธอเข้ามากุมบังเหียนของ a day BULLETIN โลกเชื่องช้ากว่าทุกวันนี้ ไม่มีนวัตกรรมที่เรียกว่า 4G และสิ่งที่ใครๆ ก็ทำเพื่อแก้เบื่อระหว่างอยู่บนรถไฟฟ้าคือ “หานิตยสารที่จะอยู่กับเราตั้งแต่ต้นจนจบ”

 เธอกล่าวต่อว่า a day BULLETIN เริ่มต้นจากหลักคิดว่าต้องเป็นนิตยสารแจกฟรีที่มีคุณค่าไม่แพ้นิตยสารเล่มอื่น มีความเหมาะสมและอัดแน่นในแง่ของเนื้อหา มีระยะเวลาในการอ่านที่สำราญต่อหนึ่งการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส และมีอาร์ตเวิร์กที่สวยงามจนน่าสะสม

ในยุคนั้น a day BULLETIN ทำหน้าที่ disrupt โลกของนิตยสาร เพราะท่ามกลางหนังสือพิมพ์ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นนิตยสารรายวันที่เกาะติดสถานการณ์ปัจจุบัน และนิตยสารอีกหลายหัวที่ออกเป็นรอบเดือน a day BULLETIN ถือว่าแปลกใหม่ทั้งระยะเวลาต่อฉบับ รวมถึงวิธีการแจกฟรีทุกวันศุกร์

อ๋อง – วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ เข้ามารับไม้ต่อจากวิไลรัตน์ ตั้งแต่ปี 2016 – 2019 กล่าวว่า เขาตั้งใจวางให้ a day BULLETIN ทำหน้าที่เป็นนิตยสารที่รวมองค์ความรู้ก้อนหนึ่งมอบให้แก่ผู้อ่าน จากประสบการณ์ที่เขาเคยทำงานกับทั้งนิตยสารรายเดือนอย่าง GM กว่าสิบปี รวมถึงประสบการณ์ครั้งเป็นนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ในช่วงแรกๆ ที่เข้ามาจับอาชีพสื่อมวลชน ทำให้เขาตั้งใจคงความอัดแน่นของข้อมูลในระดับนิตยสารรายเดือน โดยที่ไม่ลืมเกาะติดสถานการณ์ที่น่าสนใจของรอบอาทิตย์นั้นๆ ไปในตัว

เขาเชื่อมั่นว่า บทสนทนาที่ดีนอกจากมอบความรู้ มันสำคัญที่จะต้องส่งพลังบวกกลับไปให้ผู้อ่านไปพร้อมกันด้วย

บรรณาธิการบริหารคนล่าสุด หนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา กล่าวว่าในโลกยุคที่เรามีช่องทางการสื่อสารหลายทางมากขึ้น a day BULLETIN จะยังคงปักหลักในเนื้อหาที่หนักแน่นและครบถ้วนของตัวเอง เพียงแต่จะเพิ่มความหลากหลายของเนื้อหาผ่านทางโซเชียลมีเดียอีกช่องทาง กล่าวคือ จะใช้ทั้งรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ในการสื่อสารกับผู้อ่านไปพร้อมๆ กัน

ในยุคที่เทคโนโลยี disturpt ทุกอย่างในโลก คำถามที่ท้าทายบรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ทุกคนคงไม่พ้น ทิศทางและความคุ้มค่าของสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับนั้น ในฐานะบรรณาธิการบริหารคนปัจจุบัน เขามองว่าปัจจุบันเทคโนโลยีไม่ได้ disrupt แค่วงการสื่อเท่านั้น แต่มันกระจายไปถึงทุกมิติของสังคม ในแง่มุมของธุรกิจ demographic ที่เคยถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายรสนิยมของคนแต่ละเพศ-วัยไม่สามารถใช้ได้แล้วในปัจจุบัน หรือมองได้ว่ารสนิยมของคนไม่ได้คาดเดาได้จากอายุหรือเพศอย่างในอดีตอีกแล้ว ผู้สูงอายุสามารถเปิดเน็ตฟลิกซ์เพื่อตามดูการ์ตูนเรื่องโปรดสมัยหนุ่มสาวได้ เช่นเดียวกับเด็กที่สามารถค้นหาในอินเทอร์เน็ตเพื่อตามดูหนังคลาสสิก เช่น Gone with the Wind

เขาเปรียบเปรยให้ฟังว่า โลกนี้มีหินอยู่ 3 ชนิด หินอัคนี หินชั้น และหินแปร สื่ออนไลน์เปรียบเสมือนหินชั้นที่มีเม็ดหินหลากหลายปนอยู่ด้วยกัน ขณะที่นิตยสารคล้ายหินแปร ที่ต้องผ่านทั้งแรงดันและความร้อนจากการเคี่ยวข้นของกองบรรณาธิการ เขามองว่าทั้งสองอย่างมีเสนห์ที่แตกต่างกัน คำถามของเขาคือ ‘ในโลกใบนี้ มีสิ่งใดมาแทนสิ่งใดได้ด้วยหรือ

โตมรยังคงเชื่อว่าสื่อสิ่งพิมพ์มีเสน่ห์บางอย่างที่โลกออนไลน์ไม่สามารถให้ได้ ผิวสัมผัสของกระดาษ สีสันและรายละเอียดของศิลปกรรมในเล่ม และแน่นอน การเก็บสะสมเพื่อย้อนอ่านในวันข้างหน้า

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ เจ้าของคอลัมน์ ‘Econocity’ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความเบื่อหน่ายของตัวเขาเองต่อความเป็นไปของเมือง ทั้งที่เขาเองต้องเป็นผู้ที่อยู่อาศัย แต่กลับไม่มีสิทธิมีเสียงในการกำหนดอนาคตของท้องถนนที่ตัวเองเดินอยู่ทุกวัน เขาจึงเลือกที่จะหยิบแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่เขาหลงใหลมาจับกับแนวคิดการออกแบบเมืองต่างๆ มาอธิบายพร้อมนำเสนอแนวคิดผ่านคอลัมน์นี้

สิ่งที่น่ากลัวสำหรับเขาคือ ความเหลื่อมล้ำ เช่นเดียวกัน ในปัจจุบัน ดัชนี Genie ความเหลื่อมล้ำในเชิงที่ดินของกรุงเทพฯ สูงถึง 0.92 และในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว เรากำลังขาดแรงงานที่จะคอยเป็นข้อต่อเชื่อมระหว่างผู้สูงอายุและคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหายิบย่อยเต็มไปหมด

เขาตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะผลักดันประเด็นสาธารณะ โดยไม่ต้องพึ่งหน่วยงานสาธารณะ เป็นไปได้ไหมที่ภาคเอกชนจะนำเทคโนโลยีอย่าง AI หรือ Big Data มาพัฒนาความเป็นอยู่ในชีวิตตัวเอง โดยไม่ต้องคอยพึ่งพาหน่วยงานสาธารณะอื่นมากเกินไป

เจษฎา สุขทิศ จะนำทีมนักเขียนจาก FINNOMENA อาทิ แบงค์ – ชยนนท์ รักกาญจนันท์ และ Mr.Messenger มาร่วมกันเขียนคอลัมน์เชิงพัฒนาตัวเอง ภายใต้ชื่อ ‘ALPHA PRO’ คอลัมน์ที่จะหยิบยกแนวคิดด้านต่างของบริษัทหรือมหาเศรษฐีรอบโลกมาเล่าสู่ผู้อ่าน ตลอดจนนำแนววิธีการพัฒนาองค์กร หรือเทรนด์ของบริษัทชื่อดังของโลกมาร้อยเรียงแบ่งปันด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

สิ่งที่เขากังวลมากที่สุดในอนาคตคือ สภาพเศรษฐกิจของไทย ที่หากพูดตามทฤษฎีของ ชาลส์ ดาร์วิน คืออาจถูกคัดออกไม่ให้ไปมีชีวิตต่อไป เขากล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตกำลังถูกกลืนด้วยกลุ่มทุน ที่ไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น แต่เรากำลังถูกกลืนจาก 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ได้แก่ เฟซบุ๊ก แอมะซอน ไมโครซอฟท์ กูเกิล เน็ตฟลิกซ์ อาลีบาบา  เทนเซ็นต์ และหากเรายังอยู่นิ่งเฉยไม่มีการขยับหรือพลวัตในการพัฒนา อนาคตของประเทศไทยคงไม่ใช่เรื่องน่าดูเท่าไรนัก

อุ๋ง – กมลนาถ องค์วรรณคดี เป็นนักออกแบบที่ให้ความสนใจทั้ง ศิลปะ สังคมการเมือง ตลอดจนเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ดังนั้น เรื่องราวที่เธอกำลังจะหยิบมาเล่าในคอลัมน์ ‘Fashion Matters’ จึงเต็มไปด้วยองค์ความรู้ที่จงใจตีแผ่เรื่องราวเบื้องหลังความศิวิไลซ์ของวงการแฟชั่น เพราะในฐานะนักออกแบบ เธอตระหนักดีว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นส่งผลต่อภาวะโลกร้อนมากแค่ไหน เธอจะพาเราดำดิ่งลงไปในโลกของแฟชั่นที่มีมากกว่าแค่เรื่องของความสวยงามหรือทันสมัย แต่พาเราไปไกลถึงประเด็นความยั่งยืนของวัตถุดิบ รสนิยมที่ถูกสร้างขึ้นด้วยมือคนไม่กี่กลุ่ม ตลอดจนกลับมาสำรวจและรู้เท่าทันตัวเองอีกครั้งถึงสไตล์และความเป็นตัวของตัวเองอย่างไม่ต้องวิ่งไล่กระแส

เธอวิเคราะห์ว่า ความเหลื่อมล้ำและความยั่งยืน เป็นประเด็นของยุคสมัยที่ทุกคนต้องประสบร่วมกัน แต่ความท้าทายเหล่านั้นเป็นสิ่งสามัญทั่วไปที่เข้ามาท้าทายประชาคมมนุษย์มานับตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ ปัญหาที่เธอมองว่าเป็นวิกฤตมากที่สุดคือ ‘วิกฤตทางปัญญา’ เมื่อในปัจจุบัน เรามีสื่อให้เลือกหลากหลาย มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มีความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุดมากมาย เราจะกลับมามีสติปัญญาในตัวเองได้แค่ไหน เพื่อสร้างความสามารถที่จะตัดสินใจโดยไม่ถูกครอบงำจากกระแสต่างๆ

 

คอลัมน์ ‘SCIENTIFICA’ เริ่มต้นจากกลุ่มนักเขียน Space.co ที่มองว่าความรู้วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา มันโอบอุ้มองค์ความรู้และความเข้าใจต่อโลกยุคปัจจุบันเอาไว้ อย่างไรก็ตาม สื่อและสังคมไทยกลับไม่ได้เน้นสื่อสารด้วยกระบวนความคิดทางวิทยาศาสตร์ แต่มุ่งเร่งเร้าอารมณ์และเน้นมุมมองที่เป็นความเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า นักเขียนกลุ่มนี้จึงต้องการสื่อสารให้ผู้อ่านและวิทยาศาสตร์ไม่หน้ายีใส่กันและกัน เพื่อสร้างสังคมที่มีพื้นฐานมากจากเหตุและผล

เติ้ล – ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน ในฐานะตัวแทน กล่าวว่าเขาไม่เชื่อว่าโลกจะไปถึงจุดย่ำแย่ที่สุด หรือไปถึงจุดที่ดีสุด แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ‘ความเร็วของเวลา’ เขามองว่าระยะเวลาระหว่างอดีตกับปัจจุบันไม่เท่ากัน ซึ่งเขามองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอำนาจที่ถูกกระจายออกจากส่วนกลาง ผู้คนสามารถโต้เถียง พูดคุยโดยไม่ต้องอิงความเชื่ออยู่กับศาสนจักรหรือจักวรรดิ อำนาจที่กระจายพร้อมข้อมูลที่หลั่งไหลท่วมท้นมากขึ้นจากเทคโนโลยี และในอนาคตเวลาที่รวดเร็วขึ้นนี้จะยิ่งเร่งความเร็วขึ้นอีกผ่านเทคโนโลยีที่รุดหน้า

แขก – คำ ผกา นักเขียนและสื่อมวลชนที่มีแฟนคลับติดตามมากมาย เล่าให้ทุกคนฟังว่าทำไมชีวิตที่แหกทุกอย่างกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หรือเรียกได้ไม่กลมกลืนกับคนส่วนใหญ่ถึงทำให้เธอมีความสุขในชีวิตเหลือเกิน เธอจะมาเล่าให้ฟังผ่านคอลัมน์ ‘อยู่เป็น’ ว่าชีวิต 10 เปอร์เซ็นต์ที่เธอไม่แหกเป็นอย่างไร เธอเฉลยภายในงานบางส่วนว่า อาจเป็นเพราะเธอเป็นคนไม่มีอดีต (แต่ในสมัยมหาวิทยาลัยเธอเรียนประวัติศาสตร์มา – ผู้เขียน) เธอไม่เก็บรูปภาพ ไม่หวนจำสิ่งที่ทำให้เจ็บ ใครอยากรู้ว่าทำไมเธอถึงใช้ชีวิตอีก 10 เปอร์เซ็นต์ได้อย่างมีความสุข เธอจะมาตอบในคอลัมน์ ‘อยู่เป็น’ 

เธอมองว่า ไม่ว่า อดีต ปัจจุบันจะทำให้เกิดอนาคตข้างหน้าอย่างไร สิ่งที่เราทุกคนทำได้มีเพียงการตั้งรับให้ดีที่สุดเท่านั้น โลกทุกยุคทุกสมัยมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นเสมอ และเช่นเดียวกันมันก็มาพร้อมโศกนาฏกรรมของยุคสมัยทุกครั้งไป 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในอนาคตสำหรับเธอคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะมันเกิดขึ้นไปทั่วโลก ทั้งในประเทศประชาธิปไตยและเผด็จการ ประเทศพัฒนาและด้อยพัฒนา ซึ่งเธอเชื่อว่ามันจะนำไปสู่ความรุนแรงในหลายรูปแบบ และตั้งคำถามว่าเราในฐานะที่เป็นฟันเฟืองที่สร้างและเสริมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้คงอยู่ ควรมีท่าทีอย่างไรต่อมัน

พู-อุรุดา โควินท์ เจ้าของคอลัมน์ ‘Love Changes Everything’ ที่จะนำผู้อ่านย้อนมองดูความสัมพันธ์ที่ล้อมรอบตัวเราอยู่เสมอด้วยสายตาที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างมนุษย์กับสุนัข หรือความหลงใหลในการทำสวน และเชื่อมือได้เลยถ้ามันถูกเล่าผ่านปลายปากกาของเธอมันต้องเปี่ยมไปด้วยความพลังและความสวยงาม

เธอบอกว่า ในอนาคตสิ่งที่เธอพยายามทำคือรักษาความหวังของตัวเองเอาไว้ ดูแลจิตใจและร่างกายตัวเองให้ดี เพราะท่ามกลางความลึกลับของอนาคต เธอยังอยากมีชีวิตที่ยืนยาวและอยู่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่ง

Tags: ,