*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์ 

“ไม่ว่าเราจะอยู่ลำพังในจักรวาลนี้หรือไม่ก็ตาม มันต่างก็เป็นเรื่องน่ากลัวด้วยกันทั้งคู่”

 อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ชาวอังกฤษ

Ad Astra เริ่มต้นที่ความสูงเหนือพื้นโลก 254.762 ไมล์ นักบินอวกาศ รอย แม็คไบรด์ กำลังปฏิบัติหน้าที่ของเขาอย่างที่เคยทำ บนสถานีอวกาศ ISS แต่แล้วคลื่นพลังงานบางอย่างก็ปะทะเข้ากับสถานีจนได้รับความเสียหาย ร่างของเขาร่วงหล่นลงมา ในสภาวะอากาศอันเบาบางนั้นเขาแทบไม่สามารถควบคุมร่างกาย ทำได้เพียงปล่อยให้แรงโน้มถ่วงเชื้อเชิญลงมาสู่พื้นโลก โดยมีร่มชูชีพที่ขาดวิ่นคอยประคับประคอง เขารอดตายอย่างปาฏิหาริย์ แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น

ย้อนไปเมื่อปี 1968 มีเรื่องเล่าของนักบินอวกาศบนยานดิสคัฟเวอรี่ วัน พวกเขาออกเดินทางไปในจักรวาล จนสุดท้ายก็ได้พบวัตถุหน้าตาประหลาด รูปทรงสี่เหลี่ยมสีดำทะมึน หาก 2001: A Space Odyssey กำลังพูดถึงสิ่งมีชีวิตนอกโลกว่าดีหรือร้าย ในปี 2019 ก็มีเรื่องเล่าบทกลับออกมาว่า สิ่งที่เป็นอันตรายข้างนอกนั้นไม่ใช่คน สิ่งของ หรือเอไอ แต่คือความเวิ้งว้าง กว้างใหญ่ ของจักรวาลที่ขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่างหาก เมื่อสิ่งที่เรียกว่าอวกาศไร้ซึ่งสิ่งมีชีวิต มีเพียงวัตถุหลากรูปทรง บ้างเป็นของแข็ง บ้างเป็นแก๊ส บางอันเล็กจ้อย บางอันใหญ่โตเกินกว่าจะคาดเดาได้ แต่ไม่มีสิ่งใดอาศัยอยู่ ไม่มีลิตเติ้ลกรีนแมน หรือแม้แต่พระเจ้าที่คอยโอบอุ้มความทุกข์ใจของมนุษย์โลก 

แม้ว่า 2001: A Space Odyssey จะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจหลักของการสร้าง Ad Astra ทว่าเจมส์ เกรย์ ผู้กำกับฯ เลือกที่จะทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามออกไป “ถ้าคุณมีความสามารถมากพอที่จะสร้าง 2001 คุณก็ไม่ควรทำ เพราะมันมีอยู่แล้ว” เขากล่าวในการสัมภาษณ์กับสื่อ การคัดลอกและวาง ไม่ใช่แนวทางการทำหนังของเขา เขาไม่เพียงบอกกับคนดูว่า ข้างนอกนั้นไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ แต่ยังปลอบประโลมคนดูว่าการเดินทางบนอวกาศที่แสนโหดร้ายนั้น อาจจะไม่ได้ทำให้ตัวตนของเราสูญหายไปมากกว่าเดิม แต่อาจทำให้เจอตัวเองมากขึ้น เช่นที่ รอย แม็คไบรด์  นักบินอวกาศ ตัวละครหลักของเรื่องได้พบเจอ

เรื่องราวของ Ad Astra ดำเนินอยู่ในช่วงอนาคตอันใกล้ แม้จะไม่ได้ระบุปีไว้ แต่เราก็อนุมานได้ว่า ไทม์ไลน์ในหนังนั้น ค่อนข้างใกล้เคียงกับช่วงเวลาปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย หรือเทคโนโลยี ทว่าความน่าสนใจในการออกแบบงานสร้าง คือ การเดินทางไปยังดวงจันทร์ดูจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป (ขอแค่คุณมีเงิน) เราจึงได้เห็นภาพดวงจันทร์ที่มีร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด และคลาคล่ำไปด้วยผู้คนเพื่อมาท่องเที่ยว รวมถึงความน่าเบื่อของการเดินทางที่แสนจืดชืด 

ภาพที่ได้เห็นอาจไม่ใช่เรื่องเกินจริง เจมส์ เกรย์ ให้เหตุผลว่าการเดินทางโดยเครื่องบินเมื่อก่อนอาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่ทุกวันนี้มันกลับต่างออกไป ไม่ได้น่าตื่นเต้นอีกแล้ว ทำนองเดียวกันเขาสร้าง Ad Astra บนพื้นฐานของความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาบอกว่านี่ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ แต่คือความจริงของวิทยาศาสตร์ในอนาคต เขาไม่ต้องการให้คนดู ดูจบแล้วพูดออกมาว่า สิ่งที่เห็นบนจอนั้นไม่มีความสมจริง 

Ad Astra จึงได้เชิญ การ์เรตต์ เรส์แมน (Garrett Reisman) อดีตนักบินอวกาศ NASA ผู้เคยประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติมาให้คำปรึกษาเรื่องความสมจริง และ โรเบิร์ต โยเวลล์ (Robert Yowell) นักวิศวกรผู้เคยร่วมงานกับ NASA มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎฟิสิกส์รวมทั้งเรื่องเครื่องแต่งกายของนักบินอวกาศ และแม้ว่าหนังจะให้ความสำคัญกับเรื่องความสมจริง แต่หนังก็ไม่ละเลยที่จะสร้างเวทย์มนต์ให้คนดูต้องมนต์เช่นที่ภาพยนตร์พึงทำ

หนังได้สร้างภาวะกึ่งความจริงบางอย่างขึ้น นั่นคือในขณะที่เรื่องราวในหนังกำลังดำเนินอยู่ หนังได้ทิ้งพื้นที่ว่างให้คนดูได้ตีความถึงภาพที่ได้เห็นตรงหน้าหรือถ้าพูดให้ตรงประเด็นคือ หนังทำงานในระดับจิตใต้สำนึกและชวนให้ขบคิดต่อเมื่อหนังจบลงแล้ว มันจึงไม่ใช่หนังประเภทแอ็กชั่น แม้ว่าแนวทางการตลาดของหนังเรื่องนี้พยายามจะให้เป็นเช่นนั้นก็ตาม 

Ad Astra เป็นเหมือนบทกวีในห้วงจิตสำนึกของ รอย แม็คไบรด์ (‘Ad Astra’ ในภาษาละตินหมายถึง การไปสู่ดวงดาว) แบรด พิตต์ ถ่ายทอดบทบาทนี้ออกมาได้อย่างน่าจดจำ (เช่นเดียวกับใน Once Upon A Time in Hollywood ที่เข้าฉายในเวลาไล่เลี่ยกันด้วย) และด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องที่มีเสียงวอยซ์โอเวอร์ของตัวละครกำกับอยู่ เราจึงไม่เพียงได้เห็น แต่ยังได้ยินเสียงของเศษซากปรักหักพังในชีวิตของเขา ที่คนภายนอกไม่อาจรับรู้ได้เพราะการฝึกเพื่อเป็นนักบินอวกาศทำให้เขาต้องเก็บกักอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดไว้ 

หลังจากตกลงสู่พื้นโลก รอยถูกเรียกตัวให้เข้าพบรัฐบาล ไม่ใช่เพราะเหตุการณ์ที่เขารอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์ แต่เกี่ยวกับพลังงานลึกลับนั้นซึ่งมาจากบริเวณใกล้กับดาวเนปจูนและอาจจะเกี่ยวโยงโดยตรงกับโครงการลิม่า โครงการเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตนอก ซึ่งมีเจ้าของโครงการคือ เอช คลิฟฟอร์ด แม็คไบรด์ นักบินอวกาศผู้เป็นเสมือนฮีโร่ของนักบินอวกาศรุ่นต่อๆ มา 

คลิฟฟอร์ดทุ่มเทให้กับโครงการนี้ทั้งชีวิต เขาทิ้งทุกสิ่งบนโลกไปพร้อมกับความเชื่ออันแรงกล้าที่ว่าสิ่งมีชีวิตนอกโลกผู้ทรงภูมิรอคอยให้เขาค้นพบ ส่วนสิ่งที่เขาทิ้งไว้บนโลกคือภรรยาและลูกชายตัวน้อยซึ่งก็คือรอยในวันวาน

การเป็นนักบินอวกาศของรอยได้รับอิทธิพลมาจากพ่อโดยตรง รอยเชื่อว่าเรื่องราวข้างบนอวกาศนั้น จะถูกเล่าขานต่อไปบนโลก และการเป็นนักบินอวกาศจึงไม่ใช่แค่เป็นตัวแทนของพ่อ แต่ยังเป็นเหมือนการดำเนินรอยตาม เพื่อที่จะเป็นนักบินอวกาศที่ดี เขาถูกฝึกให้ควบคุมอารมณ์ของตัวเอง แม้กระทั่งอัตราการเต้นของหัวใจ เรื่องดีก็คือนั่นทำให้เขาสงบและตั้งมั่นแม้ในเหตุการณ์ที่ร้ายแรง เขาก็สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้อย่างดีและทันท่วงทีเสมอ ทำให้เขาเป็นนักบินอวกาศระดับต้นๆ 

เราได้เห็นทักษะนั้นของเขาชัดมากขึ้น เมื่อหนังใส่ฉากแอ็กชั่นเข้ามาไม่ว่าจะเป็นการถูกไล่ล่าบนดวงจันทร์จากผู้แปลกหน้าที่พยายามขโมยทรัพยากร หรือลิงทดลองสติแตกที่พยายามทำร้ายเขาและลูกเรือคนอื่นๆ ในขณะที่อาชีพนักบินอวกาศของของเขาไปได้ดี เขากลับใช้ทักษะที่ถูกฝึกมากับชีวิตส่วนตัว  กักขังความรู้สึกเอาไว้ ผล คือ เขาล้มเหลวในความสัมพันธ์กับคนรักและสูญเสียความรู้สึกเชื่อมโยงต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวไปจนสิ้น 

รอยไม่เพียงแต่ต้องรับมือกับการหย่าร้าง แต่เรายังเห็นอีกว่าเขาไม่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นใดบนโลก เขาไม่ต้องการสร้างครอบครัวหรือมีลูก ความรู้สึกผิดหวังในวัยเด็กที่สูญเสียพ่อไปในความดำมืดของจักรวาลนั้น สร้างรอยแผลลึกให้กับเขา ในช่วงขณะหนึ่งที่เขาเดินทางอยู่ในอวกาศเพียงลำพัง เราได้ยินเสียงวอยซ์โอเวอร์ว่าเขาเบื่อชีวิตบนโลกมากเพียงใด และแม้ว่าเขาอยากอยู่ลำพังมากแค่ไหน แต่การอยู่คนเดียวข้างบนนั้นก็ได้ทำให้เขารู้ว่ามันน่ากลัวไม่ต่างกัน และอีกสิ่งที่เขาหวาดกลัวที่สุดในเวลานั้นก็คือ การต้องเผชิญหน้ากับพ่ออีกครั้ง ไม่ใช่แค่ว่าพ่อเขายังคงมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องจริงและหลบซ่อนตัวอยู่ข้างบนนั้น แต่เพราะความจริงที่ว่าพ่อไม่ใช่ฮีโร่ในแบบที่รอยและใครอีกหลายคนบนโลกได้รับรู้มาโดยตลอด

ขณะที่แรงผลักดันอันมหาศาลที่ทำให้คลิฟฟอร์ดยังคงหลบลี้อยู่ข้างบนอวกาศ ภายในยานที่ทรุดโทรม เขาเปรียบเปรยไว้ว่า เมื่อเรือล่ม กัปตันก็ย่อมต้องล่มไปกับเรือด้วย เพราะเขาเชื่อว่า เขาคือผู้ที่จะต้องค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาว เขาไม่สามารถกลับไปยังที่ที่จากมาได้ และเรื่องราวข้างบนนั้น จะถูกเล่าและจดจำอยู่บนโลก เมื่อคลิฟฟอร์ดเจอรอย เขาบอกกับรอยว่า เขาไม่เคยเสียใจเลยด้วยซ้ำที่ทิ้งโลกมาไกลถึงเพียงนี้ 

ประโยคสนทนาของรอยและพ่อ ในช่วงเวลาที่ทั้งคู่กำลังสวมชุดนักบินอวกาศให้กันก่อนเดินทางกลับมายังโลก ผู้เป็นพ่อมองว่าโครงการลิม่าคือความล้มเหลว และเขายังคงอยากตามหาสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่ ขณะที่รอยบอกว่า นี่ไม่ใช่ความล้มเหลว เราได้รู้แล้วว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นใดในจักรวาล (อย่างน้อยๆ ก็ ณ เวลานี้) แต่เรายังมีกันและกัน ฉากดังกล่าวเรียบง่าย แต่กลับงดงาม โดยไม่ต้องโหมกระพือ มันได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง รอยเอื้อมมือไปสัมผัสพ่อ คล้ายกับการเชื้อเชิญของเด็กชายตัวน้อยที่เฝ้ารอพ่อให้กลับบ้านมาโดยตลอด

เป็นเรื่องแน่ชัดว่า อวกาศไม่ใช่ที่ที่เสียงจะเดินทางได้ และในที่สุดแม้จะพบและทำความเข้าใจกัน รอยตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ต่างออกไปจากพ่อของเขา

ระยะหลังมานี้เรามักจะเห็นว่าแนวทางหลักของหนังไซไฟ แม้จะยังมีฉากหลังเป็นอวกาศอันไม่มีที่สิ้นสุด แต่จริงๆ แล้วมักจะเป็นการพาคนดูไปสำรวจสภาพจิตใจของมนุษย์ที่ลึกลับเสียมากกว่า

เมื่อปีก่อน First Man ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของ นีล อาร์มสตรอง หากตัดเรื่องภารกิจสุดทะเยอทะยานในการสำรวจดวงจันทร์ออกไปออกไป หนังก็มีสภาพไม่ต่างจากลำนำของความเศร้าสร้อยและรู้สึกผิดอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียลูกสาวและความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวกับหญิงผู้เป็นที่รัก 

หรือ Arrival ที่แม้จะเป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวมาเยือนโลก แต่ความแตกต่างจนทำให้หนังเป็นที่พูดถึง คือการหยิบเอาเรื่องการสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตแปลกหน้ามาสะท้อนความเป็นมนุษย์อย่างเราๆ เมื่อสิ่งมีชีวิตแปลกหน้าเสนอทางเลือกบางอย่างให้มนุษย์ตัดสินใจ ท้ายที่สุดมันจึงเป็นการเดินทางลึกเข้าไปในจิตใจตัวเองอยู่ดี

หากจะกล่าวว่า Star Wars เคยเป็นภาพแทนของสงครามเย็น ก็อาจพูดได้ว่าหนังไซไฟในปัจจุบันก็กำลังวิพากษ์การเป็นมนุษย์ในยุคมิลเลนเนียลอย่างเข้มข้น เราไม่เพียงแต่แบกรับความรู้สึกที่ว่าตัวเองนั้นเล็กจ้อยภายใต้ท้องฟ้านี้ แต่มันรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของความรู้ ข้อมูลมหาศาล การรุดหน้าของเทคโนโลยี ความหวาดกลัวต่อโลกใหม่ การปะทะกันของโลกยุคเก่ายุคใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะไปสั่นคลอนชุดความเชื่อที่คนยุคก่อนหน้ายึดถือ 

สิ่งที่ปรากฏให้เห็นใน Ad astra จึงไม่ใช่แค่การตามหาพ่อที่หายไปในอวกาศ แต่หลายๆ ครั้งหนังมีท่าทีราวกับ เป็นการตามหาพระเจ้า และบทสรุปออกมาว่า ไม่ใช่แค่ไม่มีเอเลี่ยนข้างนอกนั้น แต่พระเจ้าเองก็ไม่มีอยู่เช่นกัน หรือถ้ามีเขาก็คงทอดทิ้งมนุษย์โลกไปแล้ว ไม่ว่านั่นจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ก็ตามบางช่วงบางตอน บรรยากาศของหนังก็อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อความสูญเสียเกิดขึ้นบนยาน คนที่เหลือรอดจึงสวดอวยพรประกอบพิธีกรรมแด่ร่างไร้ชีวิต แสงอาทิตย์เล็ดลอดเข้ามาทางกระจกของตัวยาน เกิดเป็นภาพย้อนแสง ก่อนคนในยานจะปล่อยให้ร่างนั้นลอยออกไปอยู่ท่ามกลางหมู่ดาว หรือในฉากท้ายเรื่องที่มีลักษณะคล้ายภาพวาด The Creation of Adam ของมีเกลันเจโล เมื่อลูกพยายามจะสัมผัสมือของผู้เป็นพ่อ 

ท้ายที่สุดแล้ว อาจจะมีมนุษย์ต่างดาวอยู่จริงก็ได้ แต่การที่มนุษย์พยายามติดต่อกับสิ่งมีชีวิตต่างดาวมาตั้งแต่ยุค 60s แต่เราก็ยังไม่เคยได้รับสัญญานใดๆ ตอบกลับมา ซึ่งคำถามดังกล่าวก่อให้เกิดการถกเถียงใน ปฏิทรรศน์ของแฟร์มี (Fermi paradox) ว่าหากมนุษย์ต่างดาวมีอยู่จริง พวกเขาหายไปไหนกันหมดนะ? ซึ่งเราจะไม่พูดถึงมันในบทความนี้ แต่หากจะมีหนังสักเรื่องที่พูดถึงความโดดเดี่ยวของการเป็นมนุษย์บนดาวเคราะห์สีน้ำเงินนี้ ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องเศร้ามากนัก หากวันหนึ่งความจริงปรากฎชัดว่า มนุษย์ต่างดาว เป็นเพียงจินตนาการที่น่าตื่นเต้นเท่านั้น-การมีหรือไม่มีอยู่ของพระเจ้าก็เช่นกัน

เจมส์ เกรย์ พูดถึงเรื่องดังกล่าวได้น่าสนใจ และน่าจะเป็นเหตุผลหลักๆ ของการทำให้เกิดคอนเซปต์หลักของ Ad Astra นั่นคือ เราไม่สามารถสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตต่างดาวได้ และอาจจะทำไม่ได้เลยในช่วงอายุขัยของเรา มันอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยด้วยซ้ำไปว่า 200 ปีแสงจากบ้านเรา จะมีมนุษย์ต่างดาวไหม บนดาวเคราะห์ RU72V98 หรืออะไรก็ตาม แต่ความจริงตอนนี้คือเราไม่สามารถติดต่อ สื่อสารกันได้ มันไกลเกินไป สุดท้ายแล้วคำตอบไม่ใช่การอยู่ลำพัง แต่คือการมองเห็นสิ่งที่เห็น อย่างตั๊กแตนตำข้าวบนใบไม้ที่ลูกชายของเขายื่นมาให้ 

ทำนองเดียวกันกับรอย หลังการเดินทางอันแสนยาวไกลท่ามกลางหมู่ดวงดาวที่ไร้สัญญานสิ่งมีชีวิต เมื่อความสูญเสีย ความพลัดพราก ความตาย เรื่องราวที่น่าผิดหวังได้ผ่านพ้นไป ในค่ำคืนหนึ่งรอยกำลังนั่งรอคอย เธอ หญิงสาวที่เคยอยู่เคียงข้างเขามาโดยตลอด ณ ร้านคาเฟ่แห่งหนึ่ง เธอยืนมองเขาจากข้างนอกร้าน ก่อนจะผลักประตู เดินตรงเข้ามาหาพร้อมรอยยิ้ม

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม การเดินทางของเจมส์ เกรย์ กับ บทกวี Ad Astra จบลงด้วยผลลัพธ์ที่ว่าเขาพบเจอตัวเอง และเขายังไม่เคอะเขินที่จะบอกกับคนดูให้พิจารณามองสิ่งรอบตัวอันแสนซ้ำซาก จำเจ และน่าเบื่อนี้อีกครั้ง ดั่งประโยคสุดเชยที่ว่า “บางครั้งเรามองหาสิ่งที่ขาด… จนพลาดสิ่งที่มี” และหากมองในแง่ของการเป็นหนังที่บอกว่า ‘ไม่มีพระเจ้า’ สิ่งที่ได้คือเราพึงมีความรักต่อมนุษย์โลกด้วยกัน มิใช่การแสวงหาหรือเรียกร้องพระเจ้าที่ไม่รู้ว่าสถิตอยู่ ณ สถานที่แห่งใด ถึงแม้ว่าอวกาศจะยังคงเป็นสถานที่ที่ลึกลับ รอคอยให้มนุษย์ไปสำรวจไม่รู้จบสิ้น และท้าทายจินตนาการให้เราได้แหงนหน้ามองอยู่เสมอก็ตาม หรือบางทีความสนุกอาจจะเป็นการตั้งคำถามถึงเรื่องราวข้างนอกนั้น โดยที่ไม่มีคำตอบก็เป็นได้

อ้างอิง: 

https://www.gamesradar.com/ad-astra-james-grey-interview/ 

https://deadline.com/2019/08/ad-astra-james-gray-interview-sci-fi-future-fox-venice-1202705879/

Tags: , ,