แม้ว่าจะยังไม่มีคำตอบถึงสูตรการคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อตามวิธีการที่เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ จนทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยตีความ แต่หากยึดตามข่าวก่อนหน้านี้ที่ กกต. เคยออกเอกสารชี้แจงการคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ว่าจะมีจำนวนพรรคการเมืองได้ที่นั่ง ส.ส. ไม่ต่ำกว่า 25 พรรค

นั่นจึงบอกเป็นนัยว่า กกต.ชอบที่จะให้ใช้สูตรคำนวณที่ยอมให้พรรคเล็กที่ได้คะแนนเสียงรวมน้อยกว่าจำนวนส.ส.พึงมี หรือมีคะแนนน้อยกว่าจำนวนเฉลี่ยประชากรต่อจำนวนส.ส.ที่ราว 71,055 เสียง ซึ่งจะทำให้มี ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อจากพรรคคะแนนน้อยเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาถึง 11 พรรค

เรามาทำความรู้จักกับว่าที่ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์จากทั้ง 11 พรรคเล็กนี้ ซึ่งไม่แน่ว่า โฉมหน้าทั้ง 11 คนนี้อาจจะได้เข้ามาทำงานในสภา หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยืนยันตามการคำนวณของ กกต. ตามที่ได้แจ้งไว้ก่อนหน้านี้

สมเกียรติ ศรลัมพ์
พรรคประชาภิวัฒน์
69,417 คะแนน

สมเกียรติ ศรลัมพ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครสวรรค์ และสมาชิกวุฒิสภาไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2543 ก่อนจะลงเล่นการเมืองในนามพรรคเพื่อแผ่นดินในปี พ.ศ. 2549 รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน ต่อมาเขาได้เข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อในปี พ.ศ. 2557 ก่อนจะลาออกจากพรรคเพื่อไทยและก่อตั้งพรรคประชาภิวัฒน์ในปี พ.ศ. 2561 โดยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค ผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

สมเกียรติ ศรลัมพ์เคยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเคยร่วมเคลื่อนไหวกับศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย นั่นเองจึงเป็นที่มาของนโยบายพรรคประชาภิวัฒน์ ที่เน้นในเรื่องศาสนาพุทธ ทั้งหนึ่งจังหวัดหนึ่งพุทธมณฑล จัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา รวมไปถึง กัญชาล้านไร่กระจายรายได้ให้ประชาชนทุกระดับ

คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล
พรรคพลังไทยรักไทย
60,588 คะแนน

คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล เป็นหัวหน้าพรรคและผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรค โดยมีพลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัยรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร เป็นแคนดิเดตนายรัฐมนตรีร่วม และเป็นประธานกำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียงเลือกตั้งของพรรค โดยจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561 มีสำนักงานพรรคที่จังหวัดอำนาจเจริญ มีนโยบายมุ่งเน้นที่ไปที่เรื่องการเกษตรและการพัฒนาภาคอีสาน ทั้งการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ตั้งกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 3,000,000 บาท และอีสานเขียวภาค 2

มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์
พรรคไทยศรีวิไลย์
60,421 คะแนน

ยื่นจดทะเบียนก่อตั้งพรรคการเมืองเมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยมีนาย มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เป็นผู้ยื่นจดแจ้งชื่อพรรคและเป็นหัวหน้าพรรค ผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เคยทำงานให้กับ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ซึ่งแนะนำให้รู้จักกับ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ประธานที่ปรึกษาพรรคต้นตระกูลไทยของชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ในขณะนั้น และลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคต้นตระกูลไทย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงออกจากพรรคต้นตระกูลไทยไปร่วมกับพรรคการเมืองใหม่ หลังจากนั้น เมื่อพล.อ.กิตติศักดิ์ ลาออกจากพรรคการเมืองใหม่ และได้เข้าร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นแห่งชาติ มงคลกิตติ์จึงลาออกและมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติ

ยงยุทธ เทพจำนงค์
พรรคประชานิยม
56,617 คะแนน

พล.ต.อ. ยงยุทธ เทพจำนงค์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคประชานิยม ผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ยื่นจดทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยส่งผู้ลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตจำนวน 320 คน และผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 111 คน

ในช่วงแรก พรรคประชานิยมถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่เป็นนอมินีของพรรคเพื่อไทย ด้วยนโยบาย ‘เปลี่ยนรถถังเป็นรถไถ’ ชูนโยบาย 5 ร. โรงเรียน โรงพยาบาล โรงพัก โรงนา โรงงาน แต่ต่อมา พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ก็ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกครั้ง

ปรีดา บุญเพลิง
พรรคครูไทยเพื่อประชาชน
56,339 คะแนน

ปรีดา บุญเพลิง อดีตเลขาธิการคุรุสภาเป็นหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค จดทะเบียนก่อตั้งพรรคเมื่อปีพ.ศ. 2544 โดยปรีดา บุญเพลิง เป็นผู้นำครูประชาบาลขอนแก่นที่ร่วมกับเพื่อนครูต่อสู้ปลดแอกครูประชาบาลออกจากมหาดไทยก่อนจะเดินทางเข้าสู่สนามการเมือง

ก่อนหน้านี้เขายังร่วมกับโรงพยาบาลศุภมิตร จัดทำโครงการ “โลกสวย ตาใส ครูไทยไร้ต้อกระจก” อีกด้วย โดยพรรคครูไทยเพื่อประชาชน มีนโยบาย ‘บัตรคนดี ปลดหนี้ประชาชน’ ปลดหนี้ครู ปลดหนี้กยศ. ตั้งธนาคารประชาชน ตั้งธนาคารวิถีพุทธ และทำบัตรคนดีเพื่อใช้ในการปลดหนี้

พิเชษฐ สถิรชวาล
พรรคประชาธรรมไทย
47,848 คะแนน

พรรคประชาธรรมไทยจดทะเบียนพรรคการเมืองในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยมี พิเชษฐ สถิรชวาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, อดีตผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก., อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และอดีตผู้แทนการค้าไทย

พิเชษฐ สถิรชวาล เป็นหัวหน้าพรรคและเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค โดยส่ง ส.ส. ในเขตพื้นที่ภาคใต้ครบทั้ง 50 เขต มีนโยบายกองทุนผู้สูงอายุใหม่ ประกันอนาคตชีวิตให้แก่เด็กแรก รวมไปถึงการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก

ไพบูลย์ นิติตะวัน
พรรคประชาชนปฏิรูป
45,508 คะแนน

พรรคประชาชนปฏิรูป มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้าพรรคและผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 โดยไม่ส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทางพรรคส่งผู้สมัคร ส.ส. ในแบบแบ่งเขตจำนวน 320 เขตใน 75 จังหวัด และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 40 คน จดทะเบียนต่อตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ไพบูลย์ นิติตะวัน เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ถือเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กที่โดดเด่นที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยนโยบายการน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชน และในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ได้ยื่นหนังสือต่อ กกต. คัดค้านกรณีพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี และขอให้ยุบพรรค

ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์
พรรคพลเมืองไทย
44,766 คะแนน

พรรคพลเมืองไทยจดทะเบียนก่อตั้งพรรคเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยมีนายเอกพร รักความสุข อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นผู้ก่อตั้งพรรค แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 2 แต่เดิมนั้นพรรคพลเมืองไทยมีชื่อว่า พรรคพลังพลเมือง แต่ได้เปลี่ยนชื่อเนื่องจากมีพรรคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าพลังเป็นจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ และในวันที่ 10 ธันวาคม 2561 นายเอกพร รักความสุข ซึ่งแต่เดิมเป็นหัวหน้าพรรคได้ประกาศลาออก และให้นางสาวศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ลูกสาวของสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ภรรยาของอดีตนักตะกร้อทีมชาติไทย สืบศักดิ์ ผันสืบ และยังเคยเป็น ส.ส. เขตคลองสานมาก่อน ขึ้นมาทำหน้าที่แทน พร้อมทั้งเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่  1 อีกด้วย

สุรทิน พิจารณ์
พรรคประชาธิปไตยใหม่
39,792 คะแนน

พรรคประชาธิปไตยใหม่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554 โดยมีนายสุรทิน พิจารณ์ เป็นหัวหน้าพรรค ผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค โดยในการเลือกตั้งปีพ.ศ. 2554 ได้ที่นั่งส.ส. จำนวน 1 คนจากการลงสมัครแบบเขตคือ นางพัชรินทร์ มั่นปาน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนหน้านี้ ในปีพ.ศ. 2546 นายสุรทิน พิจารณ์ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเสรีธรรม ตามมาด้วย หัวหน้าพรรครักษ์แผ่นดินไทย จนในปีพ.ศ. 2547 เขาก่อตั้งพรรคพรรคประชาธิปไตยก่อนจะถูกยุบพรรคและกลายมาเป็นพรรคประชาธิปไตยใหม่ในที่สุด

ระวี มาศฉมาดล
พรรคพลังธรรมใหม่
35,533 คะแนน

ก่อตั้งเมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561 มีนายแพทย์ระวี มาศฉมาดล อดีตเลขาธิการ พรรคพลังธรรม เป็นผู้ยื่นคำร้องขอเป็นหัวหน้าพรรค และผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 โดยไม่ส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยนายแพทย์ระวี มาศฉมาดล เป็นแกนนำรุ่นที่สองของพรรคพลังธรรมในอดีต ที่ก่อตั้งโดยพล.ต. จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยมีการชูนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ให้คดีทุจริตคอร์รัปชันไม่มีอายุความ และการทุรจริตคอรัปชั่นเกิน 50 ล้านบาทให้มีโทษประหารชีวิต

พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค
พรรคไทรักธรรม
33,748 คะแนน

ชื่อเดิมคือพรรคไทยรักธรรม ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นไทรักธรรม ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556 โดยมีนายนราวิชญ์ ชะยะ ซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค เป็นหัวหน้าพรรคและและผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 โดยไม่ส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทรักธรรมส่งผู้สมัครฯ ครบทั้ง 350 เขต ส่วน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อนั้นส่ง 149 คน โดยชูนโยบาย ‘เมืองไทย 24 ชั่วโมง’ ฟื้นฟูธุรกิจการค้าอาชีพกลางคืนให้กลับมาคึกคัก และส่งเสริมให้การค้าอุปกรณ์ทางเพศสัมพันธ์ หรือ Sex Toy เป็นเรื่องถูกกฎหมาย

Tags: , ,