เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 ทางคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard University) ร่วมกับศูนย์สติกเลอร์ (Stigler Center for the Study of the Economy and the State) จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘Populist Plutocrats: Lessons from Around the World’ (มหาเศรษฐีประชานิยม: บทเรียนจากรอบโลก)

ในงานแบ่งเนื้อหาออกเป็นช่วงย่อยสี่ช่วงด้วยกัน หนึ่งในนั้นเป็นการเสวนาเกี่ยวกับประเทศไทย นั่นคือ ‘ทำความเข้าใจมหาเศรษฐีประชานิยม ทักษิณ ชินวัตร จากประเทศไทย’ มีวิทยากรร่วมเสวนาสองท่าน ท่านหนึ่งคืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนอีกท่านคือศาสตราจารย์ดันแคน แมคคาร์โก (Duncan McCargo) จากมหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) ซึ่งเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทย

ไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่เวทีวิชาการในต่างประเทศจะจัดงานเสวนาเกี่ยวกับการเมืองไทย แต่หลายครั้งงานเสวนาทำนองนี้มักจะเน้นเฉพาะประเด็นภายในของไทยเอง ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นการเสวนาที่นำเอากรณีของประเทศไทยไปเทียบเคียงกับการเมืองของประเทศอื่นๆ สิ่งที่โดดเด่นของงานนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องการเชิญวิทยากรระดับอดีตนายกรัฐมนตรีมาประชันความคิดกับนักวิชาการชื่อดังเท่านั้น แต่การที่ผู้จัดงานเล็งเห็นว่ากรณีของไทยสามารถนำมาเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าศึกษาและเทียบเคียงกับต่างประเทศก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

คำว่า มหาเศรษฐีประชานิยม เป็นคำที่นำมาใช้เรียกผู้นำทางการเมืองที่มีลักษณะบางอย่างคล้ายกัน หลักๆ คือมีฐานะร่ำรวยมหาศาล ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ และเข้าสู่เวทีการเมืองด้วยการขายภาพความเป็นนักธุรกิจที่ต่างจากนักการเมืองทั่วไป ในแง่หนึ่ง การชูภาพความเป็นนักธุรกิจก็อาจไม่ได้เป็นเรื่องที่โดดเด่นหรือแปลกอะไรนัก แต่ผู้นำทางการเมืองบางคนได้ผสมผสานความเป็นนักธุรกิจของตัวเองเข้ากับลักษณะของนักการเมืองแบบประชานิยม เช่น เน้นย้ำว่าตัวเองเข้าอกเข้าใจความยากลำบากของประชาชนเป็นอย่างดี เข้าใจว่าประชาชนเบื่อหน่ายการเมือง หมดหวังกับนักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่เหมือนกันไปหมด หรือบางคนก็ประกาศว่าตัวเองมีฐานะร่ำรวยอยู่แล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องหาผลประโยชน์จากการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงพยายามสร้างภาพว่า ตัวเองจะเป็นคนที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ให้กับประเทศ

 

‘มหาเศรษฐีประชานิยม’ ใช้เรียกผู้นำทางการเมืองที่มีฐานะร่ำรวยมหาศาล และเข้าสู่เวทีการเมืองด้วยการขายภาพความเป็นนักธุรกิจที่ต่างจากนักการเมืองทั่วไป

 

ลักษณะของนักการเมืองที่เข้าข่ายมหาเศรษฐีประชานิยมที่กล่าวมาก็อย่างเช่นโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน และซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี ส่วนกรณีของเมืองไทย ทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกหยิบยกมาเป็นกรณีตัวอย่างของนักการเมืองมหาเศรษฐีประชานิยมด้วยเช่นกัน

ดังที่เราทราบกันว่าอภิสิทธิ์เติบโตทางการเมืองจนได้สัมผัสเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายตรงข้ามของทักษิณ ขณะที่แมคคาร์โกเองก็มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับทักษิณที่ได้รับการยอมรับ เช่นหนังสือเรื่อง The Thaksinization of Thailand ที่เขาเขียนร่วมกับ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ (นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในลุ่มน้ำโขง) ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยว่าวิทยากรทั้งคู่มีความเหมาะสมและเชี่ยวชาญในหัวข้อนี้อย่างยิ่ง

 

การเลือกตั้งปี 2544 : เมื่อมหาเศรษฐีประชานิยมขึ้นสู่อำนาจ

อภิสิทธิ์ให้ข้อสังเกตว่า ชัยชนะของทักษิณที่นำพาพรรคไทยรักไทยกวาดที่นั่ง ส.ส. ไปได้เกือบครึ่งหนึ่งของสภาในปี 2544 นั้นมาจากปัจจัยหลักสามประการ ประการแรกคือทักษิณเป็นผู้ที่เข้าใจและเข้าถึงอารมณ์ของประชาชนได้มากกว่าคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวคือพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนั้นทำงานกอบกู้ประเทศจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ได้อย่างดีก็จริง แต่กลับไม่สามารถเข้าใจอารมณ์ของประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งในช่วงนั้นได้ ในเรื่องนี้อภิสิทธิ์กล่าวว่านโยบายหาเสียงของไทยรักไทยจูงใจประชาชนได้มาก จนไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามว่านโยบายประชานิยมที่ใช้เงินมหาศาลแบบนั้นจะทำได้จริงหรือไม่

ประการที่สองคือทักษิณใช้วิธีหาเสียงด้วยการขายภาพความ ‘ใหม่’ ของตัวเอง ดังเช่นสโลแกนของพรรคไทยรักไทยที่เป็นที่รู้จักกันดีว่า “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” ในเรื่องนี้ อภิสิทธิ์เห็นว่าความใหม่ของไทยรักไทยเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะจริงๆ แล้วในพรรคก็มีนักการเมืองหน้าเก่าอยู่มากมาย

และประการที่สาม ระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เอื้อต่อการสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง เช่นการมีระบบปาร์ตีลิสต์ที่ให้ที่นั่งเฉพาะกับพรรคการเมืองที่ได้คะแนน 5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เป็นต้น

ในประเด็นการขึ้นสู่อำนาจของทักษิณ แมคคาร์โกกล่าวว่า เราไม่ควรลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นผลผลิตจากชนชั้นนำที่ต้องการทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นรัฐบาลไทยหลายๆ ชุดมักมีอายุไม่ยืนนานเนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค และทักษิณก็เป็นคนที่ถูกมองว่าจะเข้ามาช่วยทำให้ประชาธิปไตยไทยลงหลักปักฐานได้มั่นคง

 

ทักษิณกับการใช้อำนาจ

ในช่วงที่ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ยอมรับว่ารัฐบาลของทักษิณประสบความสำเร็จด้านนโยบาย สามารถครองใจคนจำนวนมากได้จากการดำเนินนโยบายที่เห็นผลจริง เข้าถึงความต้องการของประชาชนได้จริง แต่อภิสิทธิ์ก็ย้ำว่ารัฐบาลทักษิณได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจของไทยที่กำลังกระเตื้องขึ้นอันเป็นผลงานจากยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ก่อนหน้านั้น เขายังวิจารณ์ทักษิณว่าได้ใช้ประโยชน์จากความนิยมของตัวเองมาทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดไว้ เช่นการเข้าไปครอบงำวุฒิสภาและองค์กรอิสระต่างๆ

พฤติกรรมทำนองนี้ของทักษิณล้วนแสดงให้เห็นถึงความไม่อดทนต่อเสียงคัดค้านวิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งทักษิณเองยังเคยแสดงทัศนะว่าอยากให้การเมืองไทยเป็นแบบสิงคโปร์ อันหมายถึงการเมืองแบบที่รัฐบาลใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่โดยแทบไม่ต้องกังวลกับเสียงของฝ่ายค้านในสภา การไม่ฟังเสียงใครเช่นนี้ยังมีส่วนทำให้ทักษิณไม่สามารถจัดการกับปัญหาชายแดนภาคใต้ได้อีกด้วย

สิ่งที่อภิสิทธิ์กล่าวมานั้น เป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้วสำหรับผู้สนใจการเมืองไทย แต่แมคคาร์โกเสนออีกมุมมองหนึ่งที่หลายคนมักมองข้าม นั่นคือรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มักเป็นที่ยกย่องชื่นชมในเมืองไทยนั้นเป็นสิ่งที่มีปัญหาหลายเรื่อง เช่นเรื่องระบบการตรวจสอบที่เป็นจุดเด่นก็สะท้อนถึงความคิดแบบนิตินิยม (Legalism) ซึ่งเป็นความคิดที่เชื่อว่าปัญหาต่างๆ สามารถแก้ได้ด้วยกฎหมาย แมคคาร์โกมองว่าเอาเข้าจริงแล้วการเขียนกฎหมายกับปัญหาทางการเมืองเป็นคนละเรื่องกัน เราไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้ด้วยการเขียนกฎหมายเท่านั้น แม้กฎหมายที่ว่าจะมีความเลิศหรูหรือมาจากมันสมองของมือกฎหมายที่เก่งกล้าเพียงใดก็ตาม ตัวอย่างสำคัญของปัญหานี้ก็คือการที่ทักษิณรอดพ้นผิดจากกรณีซุกหุ้นในปี 2544 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชวนให้คิดว่าชนชั้นนำไทยในตอนนั้นไม่มั่นใจที่จะใช้ระบบตรวจสอบที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่

 

แมคคาร์โกมองว่าการเขียนกฎหมายกับปัญหาทางการเมืองเป็นคนละเรื่องกัน เราไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้ด้วยการเขียนกฎหมายเท่านั้น

 

การต่อต้านผู้นำอย่างทักษิณ

ประเด็นเรื่องการต่อต้านทักษิณดูจะเป็นเรื่องที่วิทยากรทั้งสองมีความเห็นแย้งกันมากที่สุด อภิสิทธิ์ชี้ให้เห็นว่าทักษิณแสดงลักษณะผู้นำแบบประชานิยมอย่างเข้มข้นมากขึ้นเมื่อเขาต้องเผชิญกับคดีความต่างๆ ในศาล กล่าวคือผู้นำแบบประชานิยมในโลกนี้มักจะพยายามพูดว่าการเมืองคือการเผชิญหน้ากันระหว่างชนชั้นนำกับประชาชน ซึ่งอภิสิทธิ์ก็มองว่าทักษิณใช้วิธีการสร้างภาพความเลวร้ายให้แก่ศาลว่าเป็นเครื่องมือของกลุ่มชนชั้นนำไทยที่ต้องการกดขี่คนรากหญ้า ทำให้เมื่อใดก็ตามที่ศาลตัดสินอย่างเป็นผลร้ายต่อฝ่ายของเขาแล้ว ตัวทักษิณก็จะอ้างได้ตลอดว่าเป็นการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม

อภิสิทธิ์ยังกล่าวด้วยว่าทุกครั้งที่มีคำพิพากษาที่ไม่ดีต่อฝ่ายทักษิณ กลับกลายเป็นว่าคะแนนนิยมของฝ่ายทักษิณจะพุ่งสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าการเล่นงานทักษิณด้วยวิธีการทางกฎหมายนั้นใช้ไม่ได้ผล

ข้อเสนอของอภิสิทธิ์คือการจะต่อต้านผู้นำประชานิยมนั้นไม่ควรเน้นไปที่การชี้ความผิดของตัวผู้นำ แต่ควรพยายามจูงใจผู้สนับสนุนผู้นำแบบนั้นให้เลิกสนับสนุนเขาเสีย

ในเรื่องนี้แมคคาร์โกแย้งทันทีว่า สิ่งที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากแสดงความเห็นอกเห็นใจทักษิณไม่ได้มาจากการสร้างภาพความเลวร้ายให้แก่ศาลเท่านั้น แต่มาจากการกระทำของฝ่ายตรงข้ามทักษิณเองอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการบอยคอตเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำมาแล้วถึงสองครั้งภายใต้การนำของอภิสิทธิ์เอง รวมถึงการที่แกนนำคนสำคัญหลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ออกไปอยู่ในกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ที่ชุมนุมยืดเยื้อเพื่อสร้างภาวะวุ่นวายในบ้านเมืองและเอื้อให้ทหารเข้ายึดอำนาจ ถึงแม้ กปปส. จะเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ ก็ตาม แต่แม้รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยอมถอนร่างกฎหมายแล้ว แต่ผู้ชุมนุมยังไม่หยุดเคลื่อนไหว แมคคาร์โกจึงมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้พยายามจูงใจผู้สนับสนุนทักษิณเลย แต่ยิ่งกลับทำให้ผู้สนับสนุนทักษิณรู้สึกเจ็บแค้นใจมากขึ้น

 

ประเด็นเรื่องประชานิยมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโจทย์การเมืองไทยที่มีเรื่องเกี่ยวพันอีกหลายเรื่อง และการทำความเข้าใจการเมืองไทยก็ไม่สามารถแยกเรื่องของทักษิณออกจากโครงสร้างอำนาจแบบดั้งเดิมที่ฝังรากลึกในสังคมได้

 

ในช่วงท้าย วิทยากรทั้งสองมีความเห็นตรงกันว่าการรัฐประหารเป็นวิธีที่ผิด การที่ทหารยึดอำนาจไม่ใช่สิ่งที่สามารถจัดการกับทักษิณได้ แต่อภิสิทธิ์พยายามเสนอว่าการชุมนุมประท้วงร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ โดยกลุ่ม กปปส. ช่วยให้ประเทศไทยยังมีความหวังว่ายังมีประชาชนจำนวนมากพร้อมจะคัดค้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่แมคคาร์โกก็แย้งอีกว่าการที่ไทยตกอยู่ในภาวะทหารปกครองประเทศเช่นนี้ก็ไม่ได้สร้างความหวังอะไรขึ้นมาเลย ทำให้อภิสิทธิ์ต้องยอมรับว่าเขาไม่ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการเคลื่อนไหวของ กปปส. อย่างเต็มที่ เพราะผู้ชุมนุมใน กปปส. จำนวนมากก็เป็นผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์
ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัด วิทยากรทั้งสองจึงไม่ได้ขยายความในบางประเด็นได้อย่างชัดเจนมากนัก แต่การเสวนาครั้งนี้ก็เป็นเวทีที่ทำให้ผู้ฟังได้แง่มุมที่น่าสนใจหลายประการเกี่ยวกับความเป็นผู้นำแบบมหาเศรษฐีประชานิยมของทักษิณ และชวนให้เราได้พิจารณาว่าการมีผู้นำแบบนี้มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไรบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเด็นเรื่องประชานิยมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโจทย์การเมืองไทยที่มีเรื่องเกี่ยวพันอีกหลายเรื่อง ผู้นำอย่างทักษิณอาจมีความเป็นประชานิยมอยู่มาก แต่การทำความเข้าใจการเมืองไทยก็ไม่สามารถแยกเรื่องของทักษิณออกจากโครงสร้างอำนาจแบบดั้งเดิมที่ฝังรากลึกในสังคมได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทางหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เองน่าจะตระหนักเป็นอย่างดี

 

ภาพประกอบโดย ปรางวลัย พูลทวี

 

FACT BOX:

ชมคลิปงานเสวนาในส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวกับประเทศไทยได้ที่นี่

 

Tags: , , , , , , , ,