อะไรคือรักแบบโรแมนติก? ถ้าคุณถามนักประวัติศาสตร์สังคมอย่าง ธเนศ วงศ์ยานนาวา เขาก็จะตอบคุณว่ารักโรแมนติกก็คือรักที่ไม่สมหวัง รักประเภทที่จบลงด้วยความตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย การจะมีรักโรแมนติกได้เราอาจต้องสังเวยชีวิต อวัยวะบางชิ้น หรือบางสิ่งบางอย่างที่มีค่าความหมายต่อชีวิตเราไปตลอดกาล

ความรักโรแมนติกในแง่นี้จึงผูกพันกับหายนะและความสูญเสีย ซึ่งนับว่าห่างไกลจากความเข้าใจของคนทั่วไปที่มีต่อความโรแมนติกแบบคู่รัก เช่น การเดินเล่นริมหาดชมพระอาทิตย์ตก ดินเนอร์ใต้แสงเทียน ฯลฯ อย่างชนิดกลับหัวกลับหาง

มาคราวนี้ผู้เขียนจะพาเราย้อนกลับไปสู่ยุคกลาง (Medieval Period) เพื่อพูดคุยถึงตำนานความรักของพระและนางชีที่ชื่อว่า ปิแยร์ อเบลารด์ (Pierre Abélard) กับ เอลัวอิส (Héloïse) ซึ่งเคยเป็นภาพแทนของความโรแมนติก

ภาพของอเบลารด์และเอลัวอิสฝีมือของจิตรกรจากยุคโรแมนติก เอ็ดมันด์ ลีห์ตัน (Edmund Leighton)

ทั้งโลกชิงชังข้าเพราะตรรกะ

ก่อนปิแยร์ อเบลารด์จะกลายเป็นพระนั้น เขาเคยเป็นอาจารย์สอนปรัชญาผู้โด่งดังมาก่อน และก่อนจะกลายเป็นนักปรัชญา เขาเคยมีนามว่า ปิแยร์ เลอ ปาลเยต์ (Pierre le Pallet)

อเบลารด์เกิดที่เลอ ปาลเยต์ในแคว้นบรีตานีที่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกของเมืองน็องแตส์ประมาณ 16 กิโลเมตร บิดาของเขาเป็นขุนนางชั้นอัศวินผู้เห็นว่าลูกชายหัวปีเป็นเด็กหัวดีสามารถอ่านเขียนได้ตั้งแต่อายุยังน้อยจึงพยายามส่งเสริมให้เขาได้ร่ำเรียนด้านศิลปศาสตร์

วิชาหนึ่งในที่อเบลารด์เก่งกาจเชี่ยวชาญก็คือวิภาษวิธี (Dialectic) ที่ว่าด้วยการโต้แย้งถกเถียงด้วยเหตุผล วิชานี้ไม่ได้เน้นการแพ้ชนะเหมือนเช่นวาทศิลป์ (Rhethoric) แต่มักจะให้ความสำคัญกับการตรวจสอบความคิดต่างๆ ว่าสอดคล้องตามหลักตรรกะหรือไม่เพียงใด ถึงกระนั้นอเบลารด์ก็ได้ใช้วิภาษวิธีเป็นอาวุธในการประลองปัญญากับพระนักปราชญ์ทั้งหลาย จนทำให้เขาได้ฉายาว่าเป็น ‘ปราชญ์ไร้พ่าย’ ที่จะถกเถียงกับใครก็ชนะมาโดยตลอด

ปิแยร์ เลอ ปาลเยต์กลายเป็นปิแยร์ อเบลารด์ ภายหลังจากได้ย้ายมาศึกษาต่อยังนครปารีสที่ ณ เวลานั้น (ศตวรรษที่ 11-12) มีโรงเรียนสอนศาสนาควบคู่ไปวิชาความรู้แขนงต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เขาได้ร่ำเรียนกับกีโยม เดอ ช็องโปซ์ (Guillaume de Champeaux) พระนักปรัชญาชื่อดัง

ด้วยความเป็นคนชอบถกเถียง อเบลารด์ได้ใช้เหตุผลโต้แย้งในการบรรยายหนหนึ่งจนผู้เป็นอาจารย์ต้องยอมจำนน แต่แทนจะยอมรับหรือชื่นชมในความสามารถของศิษย์ เดอ ช็องโปซ์กลับเห็นว่าการกระทำนี้เป็นการหักหน้า ซ้ำยังประนามว่า อเบลารด์ว่าเป็นพวกอหังการและทะนงตนมากเกินไป และจากความเชื่อมั่นไว้ใจก็กลับกลายเป็นความเกลียดชัง

ปิแยร์ อเบลารด์ หรือ Peter Abelard ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปรัชญาผู้เก่งกาจและชาญฉลาดที่สุดในศตวรรษที่ 12

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของอเบลารด์ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะอาจารย์สอนปรัชญารุ่นใหม่ เขาสามารถตั้งสำนักของตนเองได้นอกเขตปารีสและก็มีสานุศิษย์ติดตามมาเรียนด้วยพอสมควร ด้วยความเคร่งเครียดตรากตรำทำงานหนัก อเบลารด์จึงล้มป่วยจนต้องหยุดการสอนและย้ายกลับไปพักฟื้นในแคว้นบริตานีบ้านเกิดของเขาเป็นเวลาหลายปี

จนเมื่อเขาเริ่มหายดี ความต้องการจะเอาชนะผู้เป็นอาจารย์ก็ทำให้อเบลารด์เดินทางกลับไปปารีสเพื่อเข้าร่วมฟังบรรยายและเปิดฉากถกเถียงโต้แย้งกับเดอ ช็องโปซ์ที่ ณ ตอนนั้นได้กลายเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของเขาไปเรียบร้อยแล้ว แน่นอนว่าอเบลารด์ที่เชี่ยวชาญการใช้ตรรกะเหตุผลอย่างไม่มีใครเทียบเทียมได้สามารถโต้ตอบและเอาชนะเดอ ช็องโปซ์อย่างง่ายดายอีกครั้ง

อเบลารด์สร้างชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะนักตรรกศาสตร์และนักปรัชญาที่เก่งกาจที่สุดในปารีส เขาเขียนผลงานปรัชญาและตรรกศาสตร์เล่มสำคัญหลายเล่ม อาทิเช่น Logica ingredientibus (1121) หรือ Dialectica (1115–1116) แม้จะมีคนยอมรับนับถือเขามากมายเพียงใด แต่คนที่เกลียดชังก็ไม่ได้น้อยไปกว่ากันสักเท่าไรนัก และก็กลายเป็นที่มาของวาทะอันโด่งดังที่ว่า “ทั้งโลกชิงชังข้าเพราะตรรกะ” ซึ่งอเบลารด์ได้กล่าวไว้ยามเมื่อได้ระลึกถึงความหลังครั้งยังเป็นนักปรัชญาหนุ่ม

ภายหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็หันไปทุ่มเทความสนใจด้านศาสนาและเทววิทยาที่ในตอนนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตีความพระคัมภีร์ งานเขียนของอเบลารด์ในช่วงถัดจากนี้เองถือว่ามีส่วนสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนวิชาเทววิทยาขึ้นอย่างจริงจัง จนกลายจุดเริ่มของเทววิทยาสมัยใหม่เช่นที่เรารู้จักในปัจจุบัน

อเบลารด์ตัดสินใจเดินทางไปยังเมืองลาองเพื่อร่ำเรียนกับอ็องแซล์ม เดอ ลาอง (Anselme de Laon) แต่ภายหลังจากพบว่าแนวทางของอ็องแซล์มไม่ได้มีความลึกซึ้งมากเท่าที่เขาคาดหวังเอาไว้ อเบลารด์จึงเดินทางกลับไปยังปารีสเพื่อเริ่มต้นสอนเทววิทยาในแนวทางของตัวเองและเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้พบกับเอลัวอิส

รักระหว่างเรียน

สำหรับคนฝรั่งเศสแล้ว เอลัวอิสนั้นถือเป็นมารดาแห่งเฟมินิสต์ เรียกได้ว่าข้อเขียนของเธอ (ที่แม้เหลือรอดมาจนปัจจุบันเพียงหยิบมือ) ได้แสดงสปิริตหรือทำการวิพากษ์บทบาทสถานะของผู้หญิงได้อย่างแยบคายเฉียบคม จนเมื่อได้อ่านเผินๆ โดยไม่ดูว่าใครเขียน เราอาจนึกคิดไปว่าเป็นจดหมายหรือบทบันทึกของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีร่วมยุคร่วมสมัยกับเราสักคน วาทะที่โด่งดังของเธอก็เช่นว่า “การแต่งงานคือการค้าประเวณีรูปแบบหนึ่ง” หรือ “ฉันปรารถนาให้ความรักคือการสมรสกับเสรีภาพไม่ใช่การผูกมัด”

เอลัวอิสถือเป็นหนึ่งในปัญญาชนคนสำคัญของฝรั่งเศส ข้อเขียนของเธอที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันสะท้อนความคิดที่ก้าวหน้าเกี่ยวกับความรักและการแต่งงาน

เอลัวอิสเป็นหญิงสาวที่เก่งกาจและเชี่ยวชาญภาษากรีก ละติน และฮีบรู เธอจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในคนดังของห้วงเวลานั้น หรืออาจเรียกได้ว่ามีชื่อเสียงมาตั้งแต่ก่อนจะได้รู้จักกับอเบลารด์ด้วยซ้ำไป ฟูลแบรต์ (Fulbert) ลุงผู้เลี้ยงดูเธอเหมือนลูกสาว สนับสนุนให้เธออ่านวรรณคดี ปรัชญา และแม้แต่วิชาแพทย์ ซึ่งอายุอานามของเธอตอนได้รู้จักและพบรักกับอเบลารด์ยังเป็นปัญหาให้ถกเถียงกันในหมู่ผู้ศึกษาชีวประวัติว่าจริงๆ ควรเป็นช่วงวัยใดกันแน่

ตำนานที่ยอมรับกันโดยแพร่หลายในอดีต ซึ่งปรากฏในข้อเขียนและศิลปะต่างๆ ตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 วาดภาพให้เอลัวอิสเป็นดรุณีวัยสิบเจ็ดที่ถูกอาจารย์ซึ่งมีความสูงวัยกว่าใช้วิชาความรู้เข้าล่อลวงจนเธอตั้งครรภ์ ภาพของเอลัวอิสในกรอบเรื่องเล่านี้จึงเป็นเพียงสาวบริสุทธิ์อ่อนด้อยประสบการณ์ ขณะที่ ณ ปัจจุบันมีการค้นพบหลักฐานสำคัญอื่นๆ ที่ช่วยยืนยันว่า ตอนที่เอลัวอิสได้พบรักกับอเบลารด์ครั้งแรกนั้นเธอน่าจะมีอายุประมาณยี่สิบถึงสามสิบปีโดยประมาณ ความสัมพันธ์ของทั้งสองอาจจะไม่ใช่รักต่างวัยเช่นที่เราเคยเชื่อกันมา แต่ทว่าเป็นความรักของชายหญิงที่มีวุฒิภาวะทั้งคู่

ในช่วงปี 1115 อเบลารด์ ได้อาศัยชื่อเสียงและความเป็นอาจารย์ปรัชญาผู้โด่งดังเข้าไปตีสนิทกับฟูลแบรต์จนได้กลายเป็นอาจารย์ของเอลัวอิส และเริ่มต้นความสัมพันธ์กับเธอ เรื่องที่แย่ก็คือเขาได้คุยเขื่องถึงเรื่องนี้ให้คนอื่นๆ ฟังจนเรื่องราวไปเข้าหูฟูลแบรต์ที่รู้สึกโกรธและผิดหวัง

ภาพวาดของจิตรกรยุคโรแมนติกฝรั่งเศส ฌ็อง แว็งโนด์ (Jean Vignaud) ที่แสดงฉากที่ฟูลแบรต์เข้ามาเห็นอเบลารด์กับเอลัวอิสพลอดรักกันพอดี

แม้จะถูกห้ามไม่ให้พบกัน แต่ทั้งสองก็ยังคงลักลอบพบกัน จนในที่สุดเอลัวอิสก็ตั้งครรภ์ อเบลารด์ได้พาเอลัวอิสหลบหนีไปยังแคว้นบริตานี เพื่อพำนักอยู่กับครอบครัวของเขา จนเธอคลอด บุตรของทั้งสองมีชื่อว่าแอสโตรเลบ (Astrolabe) ตั้งชื่อตามอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ใช้สังเกตการณ์ดวงดาวบนท้องฟ้า และเพื่อที่จะแสดงความรับผิดชอบ อเบลารด์จึงเสนอให้จัดพิธีสมรสแบบลับ ไม่ให้กระทบต่อชื่อเสียงและตำแหน่งหน้าที่การงานของเขา (เข้าใจว่าเป็นเวลาเดียวกันกับที่ทางศาสนจักรเพิ่งออกกฎห้ามไม่ให้นักบวชแต่งงาน ซึ่งถ้าอเบลารด์สมรสเขาก็อาจจะสิ้นสภาพความเป็นนักบวชไปด้วย)

ในทีแรกเอลัวอิสก็ไม่เห็นด้วย หากสุดท้ายก็ยินยอม แต่ฟูลแบรต์ผู้เป็นลุงกลับนำเอาเรื่องนี้ไปเปิดเผย จนทำให้เอลัวอิสต้องออกมาปฏิเสธกับทุกคนว่าอเบลารด์กับเธอยังไม่ได้สมรสกัน ฟูลแบรต์โกรธที่เธอปกป้องอเบลารด์มากกว่าจะรักษาชื่อเสียงของตนเอง และเพื่อต้องการสยบเรื่องอื้อฉาว อเบลารด์จึงพาเอลัวอิสไปยังสำนักชีที่อาร์จ็องเตอีย์ (Argenteuil) ในเวลานั้นเธอแค่แต่งตัวเป็นชี แต่ยังไม่ได้ปิดคลุมหน้า และยังไม่ได้เป็นนางชี

ฟูลแบรต์เห็นว่าการส่งเธอไปสำนักชีแท้จริงแล้วก็คือการพยายามกำจัดเธอไปจากชีวิตอเบลารด์ ดังนั้นเขาจึงว่าจ้างคนบุกเข้าไปยังที่พักยามวิกาล แล้วจับอเบลารด์ตัดอวัยวะเพศทิ้ง! ที่ก็สร้างทั้งความเจ็บปวดอับอายให้แก่เขา

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว อเบลารด์ได้ขอให้เอลัวอิสอุทิศตนให้ศาสนาเช่นเดียวกันกับเขา เธอเขียนจดหมายไปหาเขา เพื่อถามว่าเหตุใด เธอจึงต้องทำเช่นนั้น ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนจดหมายอันเป็นที่มาของตำนานความรักที่เป็นไปไม่ได้ระหว่างคนทั้งสอง ที่อยู่ในหนังสือเล่มดังที่มีชื่อว่า Letters of Abelard and Heloise

ความเป็นไปไม่ได้ของความเป็นไปได้ในความรัก

Letters of Abelard and Heloise ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงต้นของศตวรรษที่ 17 ผลงานชิ้นนี้ฉายให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง นับจากจดหมายของเอลัวอิสฉบับแรกๆ ที่แสดงถึงความโกรธขึ้งและเสียใจที่เขาได้กระทำกับเธอ เนื้อหาใจความส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความอัดอั้นและอารมณ์รุนแรง แต่จากนั้นไม่นาน ภายหลังการเขียนโต้ตอบกันด้วยความคิดและเหตุผล อเบลารด์สามารถน้อมนำทำให้เอลัวอิสเริ่มยอมรับว่า การอุทิศตนเพื่อศาสนาของเขาเป็นไปก็เพื่อเธอ ความรักของเขาที่ผ่านมาเป็นเพียงความรักจากตัณหาราคะ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีความรักใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าความรักพระเจ้า ดังนั้นเขาจึงขอให้เธอทุ่มเทความรักให้พระเจ้าไม่ใช่เขา

ถึงตรงนี้ผู้อ่านคงสงสัยว่าแล้วไหนล่ะความโรแมนติก อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราเชื่อว่า คนทั้งสองรักกัน แต่ความรักนั้นไม่สามารถเป็นไปได้ ตำนานนี้อาจสร้างความผิดหวังให้กับคนร่วมสมัยในยุคของเรา แต่สำหรับผู้คนในยุคก่อนหน้าเรา ไม่มีความรักใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าความรักในพระเจ้าอีกแล้ว การละทิ้งความรักแบบหนุ่มสาวเพื่อแสวงหาความรักบริสุทธิ์จึงถือเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่

สำหรับผู้เขียน การได้กลับมาพูดถึงอเบลารด์กับเอลัวอิส ในแง่หนึ่งก็คือการระลึกถึงประวัติศาสตร์ส่วนตัว ด้วยในห้วงเวลาก่อนหน้านี้ไม่นานในช่วงที่ความความรักความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานเกือบหนึ่งในสามของชีวิตดำเนินต่อไปไม่ได้ ผู้เขียนก็ได้มอบหนังสือเล่มหนึ่งไว้ให้กับอดีตคนรักซึ่งหนังสือนั้นก็มีชื่อว่า Letters of Abelard and Heloise ด้วยเพราะก็เชื่อว่า ในความเป็นไปไม่ได้ของความรักนั้นอย่างน้อยๆ ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ให้เราระลึกว่าครั้งหนึ่งเราเคยรักกัน เพียงแต่หนังสือก็เปรียบเหมือนวัตถุชิ้นหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่ถูกอ่านหรือถูกวางทิ้งไว้มันก็ไม่สามารถพูดหรือบอกอะไรใครได้

 

 

อ้างอิง

  • Peter Abelard, Abelard and Heloise; The letters and other writings (Indianapolis: Hackett Publishing, 2007)
  • Constant J. Mews,  Abelard and Heloise, (New York: Oxford University Press, 2005)
  • http://www.sacred-texts.com/chr/aah/index.htm
Tags: , , , , , ,