อิซากานี กวีและนักปฏิวัติในยุคปลดแอกฟิลิปปินส์จากสเปน, ซิโมน ผู้ทรยศต่อแผ่นดินด้วยการเข้ากับชาวจีนและนายพลฝั่งสเปน, เซซาเรีย หญิงสาวใต้อาณัติของนายพลฝั่งสเปนผู้เปิดเผยเส้นทางลับเข้าป้อมปราการของนักปฏิวัติให้กองทหารสเปนเข้าทะลวง จนนำไปสู่สมรภูมิและการสังหารหมู่ที่สิลัง และเกรกอเรีย เด เฮซุส หญิงผู้เข้าป่าตามหาสามี ผู้เป็นแกนนำการปฏิวัติที่เข้าป่าและหายสาบสูญไป
เหล่านี้เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของตัวละครเฉียดสิบที่มีชะตากรรมเวียนวนอยู่ใน A Lullaby to the Sorrowful Mystery (2016) ภาพยนตร์ความยาว 8 ชั่วโมง 5 นาที โดย ลาฟ ดิอาซ (Lav Diaz) นักทำหนังชาวฟิลิปปินส์ผู้ซื่อสัตย์กับแนวทางการทำหนังของตัวเองมากว่าสิบปี กับภาพขาวดำ ซีนละช็อต ถ่ายระยะกลางถึงไกล และแทบไร้การเคลื่อนกล้อง ถึงยุคหลังจะมีการถ่ายทำที่ละเอียดและละเมียดขึ้น จนถึงถ่ายทำด้วยภาพสีในบางเรื่อง แต่จิตวิญญาณแบบลาฟยังคงอยู่ เขายังคงพูดถึงประวัติศาสตร์ชาติฟิลิปปินส์ ผ่านความทุกข์เข็ญของชนชั้นล่างที่ได้รับผลกระทบจากการเอาเปรียบของชนชั้นนำ ความเจ็บปวดของปัญญาชนผู้ผ่านสงครามทางอุดมการณ์แล้วอกหักจากมัน และความเคียดแค้นที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมที่ตนได้รับ โดยไม่มีสัญญาณว่าพวกเขาจะหลุดจากวงจรอันเปื่อยเน่าที่ชนชั้นนำเป็นผู้สร้าง พวกเขาทั้งหมดบาดเจ็บสาหัส เจ็บปวดเจียนตาย สลายกลายเป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดินแล้งความหวังที่พวกเขาจำต้องอาศัย
ในปีนี้มีการฉายหนังของลาฟขึ้นที่หอภาพยนตร์ศาลายา ระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ ซึ่งฉายสามเรื่องในสามวัน ได้แก่ The Woman Who Left (2016), A Lullaby to the Sorrowful Mystery (2016) และ Season of the Devil (2018) หนังยุคหลังของลาฟที่มีความละเอียดสูง ใช้นักแสดงมีชื่อ และมีองค์ประกอบภาพที่สมบูรณ์ยิ่ง
เช่นเคย ลาฟใช้ประโยชน์จากกล้องดิจิทัลที่เอื้อให้เขาถ่ายช็อตที่มีความยาวมากๆ ได้ อย่างในช่วงท้ายของ Evolution of a Filipino Family ที่มีฉากคน ‘คลานไปตาย’ ในความหมายตรงตัวยาว 20 กว่านาที มันคือฉากที่ทรงพลังที่สุดฉากหนึ่งในหนังของลาฟ ในบรรดาภาพยนตร์แช่มช้า (slow cinema) ที่เราได้เคยผ่านตา และในประสบการณ์ทางภาพยนตร์ตลอดชีวิตของเรา สมกับที่ลาฟเคยพูดไว้หลายครั้งว่า ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องเล่นตามขนบที่บอกว่า หนังต้องเป็นภาพสีและมีความยาวสองชั่วโมง เพราะภาพยนตร์คืออิสรภาพและความเป็นไปได้
ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องเล่นตามขนบที่บอกว่า หนังต้องเป็นภาพสีและมีความยาวสองชั่วโมง เพราะภาพยนตร์คืออิสรภาพและความเป็นไปได้
ในส่วนของ A Lullaby to a Sorrowful Mystery เราอาจพูดได้ว่า มันไม่ใช่หนังของลาฟที่เราชอบที่สุดและคิดว่าดีที่สุด แต่เป็นหนังที่มีเส้นเรื่องและบริบทซับซ้อนที่สุด เพราะเป็นการประกอบกันของประวัติศาสตร์ชาติฟิลิปปินส์ช่วงปลดแอกจากอาณานิคมสเปน, Noli Me Tángere (1887) และภาคต่ออย่าง El Filibusterismo (1891) หนังสือของ โฮเซ่ ริซัล (José Rizal) นักเขียน ผู้นำทางความคิด และรัฐบุรุษของชาวฟิลิปปินส์ เพลงรักหวานซึ้งและเพลงสรรเสริญพระเจ้า รวมถึงเรื่องเล่าพื้นบ้าน
หนังแนะนำตัวละครอย่างรวดเร็วเพียงชื่อและการปรากฏ ไม่ประนีประนอมว่าคนดูจะตามทันหรือไม่ ก่อนจะเปิดเผยเรื่องราวเบื้องหลังของตัวละครที่แต่ละตัวที่แบกไว้ซึ่งความเคียดแค้น ความลับ ความรู้สึกผิด ความละอายใจ คล้ายคลึงกับธีมของนิยายคลาสสิกของดอสโตเยฟสกี ซึ่งลาฟเองเคยใช้เป็นเบ้าหลอมของ Norte, The End of History (2013)
ในช่วงแรกหนังตัดสลับจากเส้นเรื่องหนึ่งไปยังอีกเส้นเรื่องหนึ่งอย่างรวดเร็วและรวบรัด ผลักให้เราต้องปะติดปะต่อเรื่องราวเอาเองว่าใครเป็นใคร ใครทำอะไรมาก่อนจะเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ ‘ป่า’ อันเปรียบดังหนึ่งตัวละครหลัก ไม่ใช่ที่หลบซ่อน แต่เป็นประตูไปสู่ความจริงและการเปิดเผยคลี่คลาย
หนังผ่อนผันให้คนดูมากขึ้นในช่วงกลางและท้ายที่เล่าไปทีละเส้นเรื่อง ครั้งละราว 20-30 นาทีสลับไปมา เส้นเรื่องแรกเล่าเรื่องของหญิงสาวสี่คน สองในสี่คือเซซาเรียและเกรกอเรีย เด เฮซุส นักเคลื่อนไหวผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ทั้งสี่อยู่กับคนนำทางซึ่งเป็นชายกลางคนที่ไอแค่กๆ อยู่บ่อยครั้ง พวกเธอฝังตัวเองอยู่ในวงกตของป่าชื้น เพื่อตามหา อันเดรส โบนิฟาซิโอ สามีของเกรกอเรีย และแกนนำนักปฏิวัติของพวกเธอ
วันหนึ่งทั้งห้าได้ยินเสียงร้องอันไพเราะจากป่าลึกจึงเดินตามหาต้นทางของเสียง จนพบการชุมนุมของชายผู้ตั้งตัวเองเป็นบาทหลวง เหล่าสาวกของเขา และหญิงสาวในร่างพระแม่มารีที่เป็นเจ้าของเสียงและศูนย์รวมทางจิตใจของเหล่าสาวก ผู้ชุมนุมเชื่อว่าหากเดินทางไปยังภูเขาศักดิ์สิทธิ์พร้อมเชือกคนละเส้นในมือ เมื่อขว้างปลายเชือกไปยังศัตรูชาวสเปน เชือกนั้นจะรัดเหล่าศัตรูจนตายโดยที่พวกเขาไม่ต้องทำอะไร เราไม่เห็นว่าพวกเขาจะออกเดินทางเสียที มัวแต่วุ่นวายวกวนกับความเชื่อที่คอยแต่จะปิดบังความจริง จนหญิงสาวในร่างพระแม่มารีหนีเตลิดมายังเพิงของคนทั้งห้า ประกาศว่าเธอไม่อยากเป็นสิ่งที่เธอไม่ได้เป็นอีกแล้ว แต่เหล่าสาวกและผู้นำตามเธอมาที่เพิงแล้วขอร้องสลับขู่เข็ญให้เธอกลับไปเป็นหุ่นให้พวกเขา สุดท้ายเธอกลับไป ส่วนคนทั้งห้ายังคงอยู่ที่เพิงนั่น และออกร้องเรียกตามหาอันเดรสต่อไป
หญิงสาวในร่างพระแม่มารีหนีเตลิดมายังเพิงของคนทั้งห้า ประกาศว่าเธอไม่อยากเป็นสิ่งที่เธอไม่ได้เป็นอีกแล้ว แต่เหล่าสาวกขอร้องสลับขู่เข็ญให้เธอกลับไปเป็นหุ่นให้พวกเขา
อีกเส้นเรื่องหนึ่งคือการเดินเท้าอันยาวไกลของอิซากานี กวีนักปฏิวัติ กับซิโมน ผู้ทรยศแผ่นดิน ที่อิซากานีช่วยชีวิตเอาไว้จากกระสุนของเพื่อนนักปฏิวัติอีกคน และยอมพาซิโมนที่บาดเจ็บเดินทางไปหาลุงของอิซากานีผู้เป็นบาทหลวง ด้วยการจ้างคนพายเรือและชาวนาคนหนึ่งให้ช่วยแบกซิโมนทะลุป่าไป ระหว่างทางพวกเขาพบคนทั้งห้าและชุมนุมคนคริสต์ และสังสรรรค์ร่วมกันอยู่สองคืน คืนแรกคืองานเลี้ยงของเหล่าชุมนุมคนคริสต์ คืนที่สองคือการนั่งฟังเสียงร้องเพลงรักหวานซึ้งของหญิงสาวคนหนึ่ง ไร้เครื่องดนตรี พวกเขาถูกสะกดไว้กับเสียงสวรรค์ที่แฝงความเจ็บปวดนั้น
เช้าวันถัดมาพวกเขาออกเดินทางต่อ ระหว่างทางนั่งพัก อิซากานีและซิโมนท่องบทกวีของ โฮเซ่ ริซัล ร่วมกัน ศัตรูทั้งสองเชื่อมโยงถึงกันด้วยบทกวียาวเฟื้อยแต่บริสุทธิ์งดงาม ชนชั้นกลางผู้ตกเป็นทาสของความแค้นกับผู้ทรยศที่รับรู้ว่าตัวเองได้ทรยศชาติ ปลดปล่อยผ่อนคลายร่วมกันในฉากอันยืดยาวนี้ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังชายหาดอีกฝั่งของเกาะเพื่อพบกับลุงของอิซากานี ผู้รับซิโมนไว้ในการดูแล อิซากานีเดินเท้าขึ้นไปยังหน้าผาข้างกระท่อมของลุง ทบทวนทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ชั่งน้ำหนักระหว่างความเคียดแค้นและความรักในเพื่อนมนุษย์ อิซากานีผ่อนตัวตนของเขาลงตรงนี้ ตรงที่เขานั่งดูพระอาทิตย์ขึ้นและเขียนบทกวีอยู่บ่อยครั้งเมื่อยังเยาว์
ในหนังเรื่องนี้มีสามส่วนที่ควรพูดถึง หนึ่งคือพื้นหลังและบริบททางประวัติศาสตร์ สองคืองานของโฮเซ่ ริซัล สามคือนิทานพื้นบ้านปรัมปรา กล่าวอย่างสั้นที่สุด มันคือช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ปลายสุดของช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อยฟิลิปปินส์ออกจากการปกครองของสเปนที่กินเวลายาวนานกว่าสามศตวรรษ โดยหนึ่งในจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์รวมถึงเรื่องราวในหนัง คือตอนที่ โฮเซ่ ริซัล ถูกยิงตายตอนต้นเรื่อง เหตุการณ์ที่ขโมยความหวังของตัวละครเกือบทั้งหมดไป ตัวละครเกือบทั้งหมดในเรื่องมาจากนิยายสองเรื่องของริซัล บวกผสมกับการปรากฏตัวของ ‘ติ๊กบาลัง’ (Tikbalang) สัตว์ครึ่งคนครึ่งม้าที่มีส่วนในการสร้างมายาคติของคนในชาติ และผีป่าคาแรคเตอร์จัดหลายตัวที่มักจะโผล่มาทำให้คนดูไขว้เขว การซ้อนทับกันของมิติทั้งสามทลายกรอบการเล่าเรื่องแบบลาฟในยุคต้นที่มีความสัจนิยมสูง มาสู่การใช้ลูกเล่นทางบทภาพยนตร์ บทพูด บทกวี และบทร้อง เพื่อตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ในแบบที่คนฟิลิปปินส์คุ้นชิน
ในตอนกลางเรื่อง เราเห็นซิโมนผู้ทรยศชาติคุยกับนายพลฝั่งสเปนยืดยาว 20 นาที ก่อนจะถูกสหายของอิซากานียิงเข้าที่ท้องในชั่วโมงถัดไปของหนัง นายพลพยายามจะยื่นความช่วยเหลือให้เขาหนีไปยังคิวบา แต่เขาปฏิเสธราวกับอยากรับโทษทัณฑ์ ลาฟไม่ได้เอาแต่โทษชนชั้นนำและผู้มีอภิสิทธิ์อีกต่อไป แต่เริ่มแบ่งปันพื้นที่ให้ตัวละครจากวงสังคมอื่นเข้ามามีบทบาทและโอกาสที่จะแสดงความเป็นมนุษย์ให้เราเห็น แน่นอน ซิโมนคือผู้ทรยศ เหมือนกับตัวละคร โรดิโกร ตรินิแดด ใน The Woman Who Left ที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนเลว ทั้งสองต่างมีโอกาสพูดความในใจในหนัง แต่ในขณะเดียวกัน นี่อาจเป็นแฟนตาซีของริซัลรวมถึงลาฟเอง ที่ไม่อาจรู้เช่นเดียวกับคนดูว่า ในความเป็นจริงผู้ทรยศและทรราชย์คิดอย่างไร และใช่หรือไม่ว่าพวกเขาอาจไม่ได้อยากสารภาพความในใจอื่นใดเลยด้วยซ้ำ
แต่ถึงเราจะมิอาจบอกได้ว่าความจริงคืออะไรและจะเชื่ออะไรได้บ้างในหนังที่ตัวละครในนิยายพบเจอกับนักเขียนผู้สร้างพวกเขาขึ้นมา แต่สิ่งที่แท้จริงคือนี่เป็นโลกแห่งความโศก เรื่องราวแห่งความโศก บทเพลงแห่งความโศกที่ล่องลอยอยู่ในพื้นที่ป่าที่มีทางออก แต่อยู่ที่ว่าเราจะเดินออกไปหรือจะจมอยู่กับความเชื่อและการยึดติดที่เป็นดังคำสาป
ในหนังเรื่องนี้ การจะเดินออกจากป่า ตัวละครต้องก้าวผ่านความโกรธแค้นที่พวกเขามี ไม่ใช่ลืม ไม่ใช่ไม่จำ ไม่ใช่ลบมันทิ้ง แต่คือการเปิดเผยสัจธรรมและยอมจำนนต่ออิสรภาพที่เกิดขึ้นในจิตใจ ยอมให้อดีตนั้นหมดสิ้นหนทางไปต่อ เพื่อก้าวเข้าสู่อนาคตที่พวกเขากำหนดเอง
ตัวละครต้องก้าวผ่านความโกรธแค้นที่พวกเขามี ไม่ใช่ลืม ไม่ใช่ไม่จำ ไม่ใช่ลบมันทิ้ง แต่คือการเปิดเผยสัจธรรมและยอมจำนนต่ออิสรภาพที่เกิดขึ้นในจิตใจ
ในชั่วโมงสุดท้าย ตัวละครทั้งหมดทยอยเดินทางออกจากป่าที่เต็มไปด้วยหมอกควัน สู่ชายหาดที่คลื่นทะเลจะซัดพวกเขากลับเขาสู่ป่าลึกอีกครั้งและอีกครั้ง ตราบใดที่พวกเขายังคงมืดบอด ตัวละครทยอยกล่าวคำสารภาพจากส่วนลึกสุดของใจกับคนดู พระผู้เป็นเจ้าที่ไม่รู้ว่ามีอยู่หรือไม่ และชาวฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน ภาพเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในหนังลาฟยุคต้นที่มักจะจบลงด้วยการเวียนวนอยู่กับความสิ้นหวัง ความเสียจริตของหญิงสาว และการตายตกไปตามกันของตัวละคร เรียกว่าเริ่มอย่างไรจบโศกกว่านั้น
แต่หนังเรื่องนี้พูดถึงความรู้สึกผิดของผู้คน ทั้งผู้ที่รู้สึกผิดเพราะยังเคืองแค้นไม่ละวาง และผู้ที่รู้สึกผิดจากการกระทำเลวร้ายในอดีต รวมถึงการปลดเปลื้องพันธนาการในจิตใจของผู้ถูกกระทำย่ำยีที่ยังจดยังจำ แต่ผ่านรอยแผลมามากพอจะละวาง และพยายามเดินหน้าต่อไปเพื่อเขียนชะตากรรมของชาติขึ้นมาใหม่ นี่คือหนังที่ยกย่องความยิ่งใหญ่ของมนุษยธรรมและฉายแสงแห่งความหวังไปยังวันที่กำลังจะมาถึง
ถึงธีมของหนังจะเป็นเรื่องสากลที่จับต้องได้ แต่เราจะยังคงไม่เข้าใจแก่นแท้และจิตวิญญาณของตัวละครรวมถึงสิ่งที่หนังต้องการจะสื่อ เพราะใครเล่าจะเข้าถึงหัวอกหัวใจของคนในชาติที่ติดอยู่ในกรงของชาวตะวันตกมานานกว่าสามศตวรรษ อยู่ภายใต้อิทธิพลของอเมริกาอีกเกือบศตวรรษ ต้องดิ้นรนให้หลุดจากระบบทาสที่ดินอันเก่าแก่ และอยู่กับการปกครองแบบฟาสซิสต์ของ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส อีกกว่า 20 ปี อีกทั้งยังต้องข้ามผ่านสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันภายใต้รัฐบาลของดูเตอร์เต
นี่จึงไม่ใช่หนังที่อุทิศให้กับการปลดแอกจากสเปนแต่เพียงถ่ายเดียว แต่คือการฉายภาพชะตากรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กับชาวฟิลิปปินส์บนจอภาพยนตร์ เพื่อนคนหนึ่งที่รู้ประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์และได้ชมหนังเรื่องนี้ในโรงที่นั่นถึงกับบอกกับเราว่า “มันคือหนังปินอยที่ถูกสร้างมาเพื่อคนปินอย ส่วนพวกเราเป็นได้แค่คนที่ผ่านไปดู”
แต่เมื่อได้ผ่านไปดู ได้ซึมซับสุนทรียะ และโอบรับประสบการณ์ทางภาพยนตร์แล้ว ในฐานะประชาชนของประเทศที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นใครอย่างเป็นทางการ แต่กลับกำลังต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ จะใช้ประโยชน์จากบทเรียนของประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ได้แค่ไหน และเรียนรู้ที่จะเปิดตามองความจริงในป่าชื้นแห่งนี้หรือไม่ ก็คงอยู่ที่ตัวผู้ชมแต่ละคนเอง
Fact Box
เรารู้จักลาฟตั้งแต่การฉายหนังของเขาในไทยเมื่อปี 2552 ที่กระจายฉายไปสามแห่ง ตั้งแต่หอศิลป์กรุงเทพฯ, หอภาพยนตร์ศาลายา และ Conference of Birds แกลเลอรีขนาดเล็กบนถนนปั้นซึ่งไม่มีอยู่แล้ว ในการฉายครั้งนั้นประกอบไปด้วย Evolution of a Filipino Family (2004), Melancholia (2008), Death in the Land of Encantos (2007) และ Heremias Book 1 & 2 (2006) และ Agonistes A Season in Hell (2009) หนังยุคแรกของลาฟที่ยังถ่ายทำด้วยกล้องดิจิทัลความละเอียดต่ำ แต่ถือว่าดีในยุคนั้น ใช้นักแสดงที่เป็นคนธรรมดา และยังไม่มีองค์ประกอบภาพที่ทรงพลัง
ก่อนจะมีการฉายครั้งถัดมาในปี 2553 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับโปรแกรม Lav Diaz: The Early Years, ในปี 2556 ที่ The Reading Room กับ Century of Birthing (2011), Florentina Hubaldo, CTE (2012) และ The Investigation on the Night That Won’t Forget (2012) และในปี 2558 ฉายหลายจังหวัดทั่วประเทศกับ From What Is Before (2014) และ Storm Children (2014) จนอาจเรียกได้ว่าเราและนักดูหนังอีกจำนวนมากนั้น ‘โตมากับลาฟ’ ตลอดสิบปี ด้วยการลงแรงของผู้จัด วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ในนามของ Filmvirus และผองเพื่อน