เปิดปี 2019 มาได้อย่างงดงามสำหรับสตรีมมิ่งเซอร์วิสยักษ์ใหญ่อย่างเน็ตฟลิกซ์ ที่นอกจากจะเพิ่งมีหนังของตัวเองได้เข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นเรื่องแรก (ซึ่งก็คือ Roma) ส่วนออริจินัลคอนเทนต์อื่นๆ ที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงต้นปีก็ยังสร้างกระแสฮือฮาได้ล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็น Sex Education, Tidying Up with Marie Kondo, Conversations with a Killer: The Ted Bundy Tapes รวมไปถึง Kingdom ซีรีส์ออริจินัลเรื่องแรกจากเกาหลีใต้ที่เล่าเรื่องซอมบี้ในฉากจักรๆ วงศ์ๆ ของยุคโชซอน
Kingdom เป็นผลงานการกำกับของ คิมซองฮุน เจ้าของผลงานเดือดอย่าง A Hard Day (2014) และ Tunnel (2016) ดัดแปลงมาจากเว็บคอมิกส์ Land of the Gods (2011) ของ คิมอึนฮี มือเขียนบทชื่อดังจากซีรีส์ Signal (2016) ที่มารับหน้าที่ดัดแปลงบทโทรทัศน์เองด้วย
ซีรีส์ความยาว 6 ตอน (ในซีซั่นแรก) เล่าถึงเหตุประหลาดเมื่อกษัตริย์ทรงประชวรหนัก แต่องค์ชายรัชทายาท (รับบทโดย จูจีฮุน จาก Princess Hours และ Along with Gods) ได้รับคำสั่งห้ามจากพระมเหสีองค์ปัจจุบันไม่ให้เข้าเฝ้า พระองค์จึงเริ่มสืบหาความจริงด้วยสงสัยว่าพระมเหสีกับอัครมหาเสนาบดีผู้เป็นบิดาของนางจะมีลับลมคมในบางอย่าง ในขณะที่โรคปริศนาที่ทำให้คนตายลุกขึ้นมาเป็นอสูรกายไล่กัดกินคนเป็นเริ่มระบาด องค์ชายจึงต้องกอบกู้อาณาจักรให้รอดพันจากความหิวโหยไม่รู้จบของทั้งผีดิบและกลุ่มอำนาจที่ชักใยอยู่ในวังไปพร้อมๆ กัน
แน่นอนว่าจุดขายที่เชื้อเชิญให้คนดูเกิดความสนใจใคร่รู้กับ Kingdom หนีไม่พ้นลักษณะลูกผสมระหว่างละครย้อนยุคกับหนังซอมบี้ เพราะใครจะไปคิดว่าภัยพิบัติผีดิบที่เราคุ้นตาจากสื่อบันเทิงตะวันตกร่วมสมัยอยู่บ่อยๆ จะข้ามน่านน้ำและกาลเวลามาอยู่ในบริบทเอเชียย้อนยุคเช่นนี้ แต่อย่าลืมว่าเกาหลีใต้เคยส่งหนังซอมบี้ในแบบฉบับของตัวเองออกมาให้โลกยลโฉมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จล้นหลามอย่าง Train to Busan (2016) หรือหนังซอมบี้พีเรียดที่ได้เสียงตอบรับครึ่งๆ กลางๆ อย่าง Rampant (2018)
สิ่งที่ทำให้ Kingdom โดดเด่นขึ้นมาจึงเป็นการสร้างเหตุผลให้ซอมบี้มีอยู่ในยุคโชซอนได้อย่างแนบเนียน แถมลีลาการเล่าเรื่องชวนลุ้นระทึกไปจนการสร้างปมซ่อนเงื่อนต่างๆ ก็ยิ่งทำให้มันกลายเป็นซีรีส์ดูสนุกที่สุดเรื่องหนึ่งในตอนนี้
เหนือสิ่งอื่นใด ความน่าสนใจของ Kingdom เห็นจะอยู่ที่วิธีการพูดถึงซอมบี้ และการเรียงร้อยประเด็นต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจ ชนชั้น และการกดขี่
ในขณะที่ภัยพิบัติซอมบี้โดยทั่วไปอาจเป็นตัวสะท้อนได้ถึงหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความล่มสลายของอารยธรรม วิกฤตทางเศรษฐกิจ ความชั่วร้ายของทุนนิยม ไปจนความปรารถนาชีวิตอมตะของมนุษย์ ซอมบี้ใน Kingdom นั้นถูกวางทาบทับเข้ากับความกระหายอำนาจของกลุ่ม ‘แฮวอนโจ’ ของอัครมหาเสนาบดีที่ครอบงำราชบัลลังก์ ตลอดทั้งเรื่องเราเห็นองค์ชายและผู้ร่วมเดินทางต้องกระเสือกกระสนวิ่งหนีซอมบี้และช่วยเหลือชาวบ้าน แถมยังต้องรับมือกับการคุกคามจากกลุ่มแฮวอนโจไปด้วยอีกต่างหาก แต่ภัยคุกคามต่างๆ ที่ดาหน้าเข้ามาทุกทิศนั้นที่จริงล้วนไม่ต่างกันนัก ในเมื่อมันมีต้นตออยู่ที่ความหิวโหยเหมือนกัน
*ต่อจากนี้มีเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ
ความหิวโหยของซอมบี้กับความโลภอำนาจของกลุ่มแฮวอนโจไม่อาจถูกมองแยกจากกันได้ เมื่อซีรีส์เผยว่าหายนะครั้งนี้มีต้นตอมาจากการพยายามคืนชีพให้กับกษัตริย์ที่ประชวรหนักจนเสด็จสวรรคตไปแล้ว สภาวะซอมบี้ที่จะเรียกว่ามีชีวิตอยู่ก็ไม่ได้ เรียกว่าตายก็ไม่เชิง ทำให้กษัตริย์กลายมาเป็นเครื่องมือให้อัครมหาเสนาบดีมีอำนาจควบคุมทุกอย่างในนามพระองค์ มิหนำซ้ำยังช่วยประวิงเวลาให้พระมเหสีได้ให้กำเนิดบุตรของตนเพื่อเป็นรัชทายาทองค์ใหม่ แทนที่จะยกบัลลังก์ให้องค์ชายรัชทายาทองค์ที่มีอยู่ไปตามจารีต
กระทั่งเชื้อซอมบี้แพร่ระบาดออกไปนอกวัง ความหิวโหยก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งให้คนล้มตายกลายเป็นกองทัพซอมบี้ เพราะมันเริ่มกระจายในกลุ่มคนยากไร้ที่แทบไม่มีของกินจนต้องเอาศพคนตาย (ที่บังเอิญเป็นศพติดเชื้อพอดี) มาทำเป็นอาหาร การกลายเป็นซอมบี้จึงเป็นการกระทำของรัฐต่อประชาชน ไม่เพียงในแง่การส่งต่อเชื้อซอมบี้จากชนชั้นสูงเท่านั้น แต่รัฐยังทำให้ชนชั้นล่างเปราะบางต่อการเป็นซอมบี้มาก่อนแล้วด้วย ผ่านการกดขี่ไม่เหลียวแล จนพวกเขาไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากการกินเนื้อคนด้วยกันเองเพื่อความอยู่รอด เราอาจกล่าวได้ว่าประชาชนถูกรัฐทำให้เป็นซอมบี้มานานแล้วก่อนจะติดเชื้อ และการปกครองที่กดขี่ไม่เป็นธรรมนั่นเองที่ผลิตอสูรกายกินคนขึ้นมา ซอมบี้ใน Kingdom จึงเป็นทั้งเครื่องมือทางการเมือง เป็นภัยที่รัฐต้องจัดการ และเป็นสิ่งที่รัฐสร้างขึ้นมาเอง
ประเด็นชนชั้นถูกขับเน้นมากขึ้นไปอีกผ่านหลายต่อหลายสถานการณ์ในซีรีส์ ที่ความเห็นแก่ได้ของชนชั้นสูงนำมาซึ่งความฉิบหายแก่ส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจที่จะใช้วิธีต่างกันในการกำจัดศพซอมบี้ของชนชั้นสูงกับซอมบี้ชาวบ้าน (จำแนกง่ายๆ ด้วยชุดแต่งกาย!) ความเห็นแก่ตัวของเหล่าขุนนางที่ล่องเรือหนีทิ้งชาวบ้านไว้เบื้องหลัง หรือการปะทะกันระหว่างทหารของกลุ่มแฮวอนโจกับองค์ชายที่กลับทำชาวบ้านต้องเสียเลือดเสียเนื้อ
เมื่อซีรีส์เริ่มเดินเครื่องเข้าสู่ช่วงท้ายของซีซั่นแรก การห้ำหั่นภายในชนชั้นสูงด้วยกันเองก็ดูจะเข้มข้นขึ้น ในขณะที่องค์ชายรัชทายาทพยายามกอบกู้อาณาจักรและปกป้องประชาชน เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองคู่ควรต่อบัลลังก์และอำนาจที่พระองค์พึงมีตามสิทธิ์โดยกำเนิด ตัวอัครมหาเสนาบดีก็ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจสมบูรณ์ อำนาจที่เขานิยามว่าไม่อาจถูกโต้แย้งหรือไต่ถามใดๆ ได้ไม่ว่าจะทำสิ่งเลวร้ายแค่ไหนมาก็ตาม
ซีซั่นแรกของ Kingdom แสดงให้เห็นตัวละครที่ถูกตรึงอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของความหิวโหย ไม่ว่าจะเป็นความละโมบของกลุ่มการเมือง ความหิวของซอมบี้ และความอดอยากของชนชั้นล่าง น่าสนใจว่ายังมีความหิวโหยประเภทอื่น ขั้วอำนาจอื่นๆ หรือความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบอื่นที่ยังรอให้สำรวจต่อในซีซั่นต่อไป (ซึ่งได้รับการประกาศสร้างแล้ว) หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเจตจำนงของผู้หญิง อิทธิพลจากการรุกรานของญี่ปุ่น ไปจนถึงประชาชนคนธรรมดาที่อาจมีพลังต่อกรกับรัฐได้…โดยไม่จำเป็นต้องกลายมาเป็นซอมบี้ก่อน
Tags: Kingdom, Netflix, Series, South Korea