บริษัท Ant Financial Services ในเครือ Alibaba Group ประกาศความร่วมมือกับบริษัท Ascend Money อย่างเป็นทางการแล้ว!
จากข่าวที่ว่า Ant Financial Services มีแผนจะซื้อหุ้น 20% ของ Ascend Money ผู้ให้บริการด้านการเงินอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของไทยภายใต้กลุ่มซีพี
ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทั้งสองบริษัทได้ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมตั้งเป้าว่าจะร่วมยกระดับบริการด้านการเงินทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ให้รองรับลูกค้า 100 ล้านราย ทั้งในไทยและอาเซียนภายในปี 2020
ซึ่งฝ่ายผู้บริหารระดับสูงของ Ascend Money ได้ยืนยันกับ The Momentum ว่าข่าวดังกล่าวเป็น ‘จริง’ พร้อมกับแง้มแผนที่จะเกิดขึ้นในเฟสต่อไป
ทำไมไทยควรจับตา Ant Financial Services ในเครือ Alibaba Group
ก่อนหน้านี้ The Momentum ได้รายงานข่าวแจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba Group มาเยือนไทยในการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ACD Summit 2016 เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา และควรจับตามองบริษัทฟินเทคยักษ์ของจีน Ant Financial Services ในเครือ Alibaba Group เอาไว้ให้ดี
Ant Financial Services เป็นธุรกิจฟินเทคในเครือ Alibaba Group ที่ให้กู้ยืมแก่ธุรกิจขนาดเล็กกว่า 3 ล้านราย มูลค่ารวม 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้ Big Data วิเคราะห์พิจารณาเงินกู้และจัดการโอนเข้าบัญชีในวินาทีเดียว!
Ant Financial Services ยังเป็นบริษัทแม่ของ Alipay บริการธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ ซึ่งได้เปิดตัวในไทยด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวจีนที่ไหลบ่าเข้ามา
Credit Suisse ประมาณการว่า 58% ของธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ในจีนทำผ่าน Alipay ที่สำคัญนักท่องเที่ยวจีนไปเยือนที่ไหนก็สามารถจ่ายเงินผ่าน Alipay ได้ที่นั่น
นอกจากนี้ Ant Financial Services ยังมีบริการที่ครอบคลุมทางการเงินด้านอื่นๆ เช่น
Ant Financial Services Cloud บริการ Cloud Computing Services, Yu’e Bao กองทุนรวมออนไลน์, Ant Micro Loan บริการให้สินเชื่อออนไลน์ขนาดเล็กแก่ SMEs และบุคคลทั่วไป, Sesame Credit ระบบ Credit Scoring, ธนาคารออนไลน์ MyBank, Zhao Cai Bao แพลตฟอร์มลงทุนสำหรับบุคคลทั่วไป
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Ant Financial Services มีผู้ใช้บริการเป็นประจำกว่า 450 ล้านคนต่อปี และมีมูลค่าสูงถึงราว 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
Ant Financial Services จับมือกับ Ascend Money ใครได้ประโยชน์
เมื่อสองบริษัทยักษ์ใหญ่ร่วมมือกัน จึงไม่แปลกที่จะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า ทั้ง Ant Financial Services ของ Alibaba และ Ascend Money ของบริษัท CP จะยึดครองตลาดบริการทางการเงินในอาเซียน ทั้งตลาด Online Payment ธุรกิจกู้ยืมขนาดเล็ก หรือกระทั่ง Ecosystem ของอีคอมเมิร์ซและระบบการเงิน โดยไม่เปิดช่องว่างให้คู่แข่งรายเล็กได้หายใจ
ทางฝ่ายผู้บริหารระดับสูงของ Ascend Money กล่าวกับ The Momentum ว่าความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลต่อการเติบโตของบริษัท และวงการฟินเทคทั้งในไทยและอาเซียนอย่างแน่นอน ซึ่งปัจจุบัน Ascend Money ขยายตลาดจากไทยไปสู่ระดับอาเซียนแล้ว ได้แก่ พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
“ในส่วนผลประโยชน์หลักๆ จะมี…
“หนึ่ง Know-How ทางด้านฟินเทค ตอนนี้ Ant Financial Services และ Alipay เองก็มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสูงมาก ซึ่งทาง Ascend Money และ TrueMoney จะสามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาด้าน Operation Efficiency หรือขีดความสามารถของบริษัทให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
“สอง เทคโนโลยีและนวัตกรรม เราจะมีการแชร์ Technology Platform กัน ทำให้บริษัทฟินเทคในไทยสามารถเติบโตพัฒนาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น อาจเป็นแอปพลิเคชันหรือโมบายล์แอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งจะแอดวานซ์มากขึ้น
“สาม เรื่องเงินทุนที่จะช่วยทำให้ธุรกิจฟินเทคของเราเติบโตไปไกลมากขึ้น
“และสุดท้าย สี่ เรื่องความร่วมมือ Ant Financial Services มีพาร์ตเนอร์กับหลายๆ ที่ อย่าง Uber, KFC และธุรกิจรายอื่นที่เป็น ‘Global Player’ ซึ่งเราก็หวังว่าการร่วมมือกับ Ant Financial Services จะช่วยยกระดับความร่วมมือกับบริษัทอื่นได้ เช่น TrueMoney อาจจะช่วยเรื่องเพย์เมนต์กับพาร์ตเนอร์ที่เป็นพาร์ตเนอร์ระดับโลกกับ Ant Financial Services ได้”
ยักษ์ใหญ่อาจครองตลาดฟินเทค ความกังวลของ กรณ์ จาติกวณิช
ทางด้าน กรณ์ จาติกวณิช ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย ได้โพสต์สเตตัสเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวบนเฟซบุ๊ก โดยแสดงความกังวลว่าการร่วมมือของสองยักษ์ใหญ่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนา SMEs และนวัตกรรมในเมืองไทย จึงขอให้ทั้งสองฝ่ายพึงระวังการกีดกันทางการค้าฟินเทครายอื่นๆ
“ผมคุยกับน้องในแวดวงฟินเทค เขามีแนวคิดที่น่าสนใจครับว่า การจับมือระหว่าง 2 เจ้าสัวนี้ ทำให้เราสามารถจินตนาการเห็นลูกค้า True และลูกค้า 7-Eleven ใช้บริการทางการเงินทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ผนวกเข้ากับชีวิตประจำวันออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น ฝากถอนเงินได้ที่เซเว่น, โอนต่อให้ใครก็ได้ทางแอปฯ มือถือ, กู้เงิน peer-to-peer ได้ทางมือถือ และจ่ายดอกเบี้ยได้ผ่านเซเว่น, บิลค่าใช้จ่ายไปเก็บรวมกับบิลมือถือทรู, ใช้ระบบ 7-Eleven เพิ่มประสิทธิภาพเรื่องโลจิสติกส์เวลาซื้อขายของผ่าน Lazada ฯลฯ
“นี่คือความสะดวกของผู้ใช้บริการ แต่เมื่อเราแทบนึกไม่ออกว่าจะมีคู่แข่งคู่ไหนที่สามารถให้บริการในระดับเดียวกันได้ เราจึงอดไม่ได้ที่จะนึกเป็นห่วงว่าการครองตลาดในระดับนี้จะมีผลอย่างไรต่อผู้ประกอบการอื่น รวมไปถึงผลต่อการพัฒนา SMEs และนวัตกรรมโดยทั่วไปที่ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน
“ดังนั้นสิ่งที่เราอยากขอคือ อย่ากีดกันทางการค้าคนอื่น ให้โอกาสฟินเทคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในเครือ Alibaba หรือ CP เติบโตบ้าง และเติบโตไปด้วยกัน เช่น ถ้าจะใช้บริการฟินเทคที่สร้างขึ้นใหม่ ก็ให้คนใช้มือถือค่ายอื่นใช้ได้ด้วย จะจ่ายเงินด้วย e-wallet ที่เซเว่นก็ให้โอกาส e-wallet เจ้าอื่นเป็น Payment Gateway ได้บ้าง แล้วการแข่งขันจะทำให้ประเทศไทยรวมถึงกลุ่ม CP เองพัฒนาได้อีกเยอะครับ
“เรื่องแบบนี้ไม่มีประเทศใดที่จะฝากความหวังไว้ว่าผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่จะใจกว้าง ทุกประเทศเขาใช้อำนาจรัฐและกฎหมายกำกับดูแล เพื่อให้การแข่งขันมีจริง รัฐเราต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าให้ใครมาปิดประตูตีแมวในบ้านเราครับ”
ในท้ายสเตตัสดังกล่าว กรณ์ระบุว่า เป็นแนวคิดจากการสนทนาและบทความของคุณเจษฎา สุขทิศ เลขาฯ ชมรมไทยฟินเทค
เราจะยังไม่ได้เห็น Blockchain ในตอนนี้
เมื่อ The Momentum ถาม Ascend Money ว่าการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ของ Ant Financial Services มาพัฒนานั้นครอบคลุมถึงนวัตกรรมสุดล้ำอย่าง Blockchain ด้วยหรือไม่
ทางผู้บริหารระดับสูงยืนยันว่า ‘ยังไม่ถึงเวลา’ พร้อมกับเผยว่าจะมุ่งพัฒนาระบบบริการทางการเงินดิจิทัลและขยายบริการให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีมือถือ
“ยังไม่ใช่ครับ อย่างน้อยตอนนี้ยังไม่ได้อยู่ในสโคปที่อยู่ในการพิจารณานะ ถ้าไปดู Ant Financial Services ตอนนี้ เขาก็ยังไม่มี Blockchain ที่เป็น Consumer Application ขนาดนั้นครับ
“จริงๆ แล้ว เราตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี บริการของ Ascend Money จะรองรับความต้องการของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างน้อย 100 ล้านคน ไม่ว่าจะผ่านช่องทาง Mobile Wallet ก็ตาม หรือ Agent Money ที่เป็นเคาน์เตอร์การจ่ายเงิน เพื่อที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีมือถือในตลาดที่ยังพัฒนาอยู่ เช่น พม่า เพื่อที่จะยกระดับระบบบริการทางการเงินสำหรับคนที่ยังไม่มีบัญชี และสำหรับคนที่ทำธุรกรรมการเงินบนมือถืออยู่แล้ว ก็จะใช้ได้สะดวกสบายมากขึ้น
“ถามว่ามองตลาดอื่นด้วยไหม เรารู้สึกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ใหญ่มาก การเข้าถึง 100 ล้านคน ก็ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของประชากรทั้งอาเซียน 600 กว่าล้านคน”
ผลักดันไทยสู่สังคม ‘ไร้เงินสด’
จากแผนการพัฒนาฟินเทคที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจ่ายเงินออนไลน์ Mobile Wallet การกู้ยืมทางออนไลน์ เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า Ascend Money มุ่งหมายจะผลักดันให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคม ‘ไร้เงินสด’ ด้วยหรือเปล่า
“เราสนใจเรื่องนี้โดยตรงเลย” ผู้บริหารระดับสูงของ Ascend Money กล่าว
“การให้บริการด้าน Payment มันมาตอบโจทย์ pain point ของการใช้เงินสด ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายด้วยบัตรเครดิต หรือ e-Payment ที่เข้ามาตอนนี้เป็นการจ่ายผ่านมือถือ (Mobile Payment) ใช้สแกน QR Code เหมือนที่ Alipay ทำ หรือว่าจ่ายผ่านทางมือถือแบบ Apple Pay หรือ Samsung Pay
“เทคโนโลยีพวกนี้ช่วยให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society ได้เร็วมากขึ้น หมายถึงสัดส่วนของการจ่ายเงินสดจะลดลง เพราะสามารถโอนผ่านมือถือ QR Code หรือจ่ายผ่านบัตรอื่นๆ ได้แทน ซึ่งการเป็นพาร์ตเนอร์กับ Ant Financial Services จะทำให้ TrueMoney เอาเทคโนโลยีต่างๆ ของ Alipay ที่มีอยู่ในเมืองจีนมาพัฒนาระบบบริการทางการเงินของไทยไปสู่ Cashless Society ได้มากขึ้น
“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราไปที่เมืองหางโจว คนก็ไม่ใช้เงินสดแล้ว แล้วก็ไม่ใช้บัตรเครดิตด้วย ใช้น้อยมาก เพราะสามารถจ่ายเงินผ่านทาง Alipay ไปที่ต่างๆ ก็สามารถใช้ QR Code ในการจ่ายเงินได้
“อย่าง TrueMoney ตอนนี้เราก็สามารถเอามือถือที่มีแอปพลิเคชัน TrueMoney ไปใช้จ่ายเงินของ 7 Eleven ได้โดยไม่ต้องพกเงินสด ซึ่งหลังจากการทำพาร์ตเนอร์ เราก็จะเห็นความก้าวหน้าเรื่องนี้มากขึ้น เราสามารถไปจ่ายเงินที่นู่นที่นี่ได้ โดยไม่ต้องพกกระเป๋าตังค์ ไม่ต้องมีเงินสด”
ผู้บริหารระดับสูงของ Ascend Money ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของสังคมไร้เงินสดว่า
“ข้อดีคือ ลดต้นทุนการจัดการเงินสด ค่าโลจิสติกส์ การขนส่ง ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาความปลอดภัย เพราะการใช้เงินสดมันก็สามารถขโมยได้ และสามารถเก็บข้อมูลในระบบเพื่อ tracking ได้ และเป็นการจัดการเงินสดในระบบที่ช่วยให้คนที่ไม่มีบัญชีเงินสด และไม่สามารถเข้าถึงธนาคารผ่านช่องทางต่างๆ ได้ จะสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านทางมือถือได้มากขึ้น”
เรียกได้ว่านี่คือข่าวความร่วมมือธุรกิจของสองบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหากมองในอีกแง่หนึ่ง มันอาจเป็นการโต้กลับจากกระแส disruption ที่เข้ามาสั่นคลอนความเฟื่องฟูของธุรกิจ SMEs สตาร์ทอัพ และฟินเทคในประเทศไทย
อ้างอิงจาก:
– www.facebook.com/KornChatikavanijDP
– https://www.techinasia.com/ant-financial-thailand-investment-ascend-money-