แม้จะมีความรู้มากมายที่สอนเคล็ดลับของการใช้ชีวิตให้มีความสุขคือ การอยู่กับปัจจุบัน ไม่โหยหาถึงความสำเร็จในอดีต หรือยึดติดอยู่กับความทรงจำอันเลวร้าย และไม่คาดหวังถึงอนาคตที่ยังมองมาไม่ถึง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในความคิดของคนเรามักจะอยากรู้อยากเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าที่ยังมาไม่ถึงเสมอ
การตั้งคำถามถึงอนาคตของตัวเอง อนาคตของสังคม หรืออนาคตของประเทศ ที่ยังมาไม่ถึง มักเกิดขึ้นในเวลาที่คนเรากังวลต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่นั้นว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ในวันที่งานคือสิ่งหายาก เศรษฐกิจของประเทศกำลังจะทะยานหรือดิ่งลงเหว จะได้เจอความรักหรือยังคงต้องผิดหวัง ควรจะเรียนอะไรต่อจากนี้ ทำธุรกิจอย่างไรถึงจะยั่งยืน ฯลฯ ทั้งหมดคือการแสวงหาทิศทางในการดำเนินชีวิตว่าควรจะมุ่งไปในทิศทางไหน
เราอาจจะไม่ต้องขวนขวายหาหมอดูคนไหนมาทำนาย ไม่ต้องวิ่งไปเปิดนิตยสารในหน้าท้ายๆ เพื่อทายอนาคตในรอบสัปดาห์ เพราะทุกคนสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้ด้วยการหันกลับมาพิจารณาตนเอง เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้อื่น แล้วนำมาสู่การพัฒนาตนเอง นั่นคือ สิ่งที่ Future: ปัญญาอนาคต ได้นำเสนอไว้ในหนังสือเล่มนี้
สิ่งแรกที่จะได้รับเมื่อเปิดในบทแรก คือการรีเซตความคิดของเราใหม่ว่า การทำชีวิตของเราให้ดีขึ้นจากจุดเดิมได้นั้น ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่าสูตรสำเร็จ ที่หลังจากเรียนรู้แล้วจะทำให้ชีวิตรวยขึ้นหรือมีความสุขได้โดยทันที แต่การนำพาชีวิตไปสู่อนาคตที่ดีสามารถกำหนดได้ด้วยการศึกษาจากประสบการณ์ของคนทั่วโลก เพื่อหลีกเลี่ยงวิธีการเก่าๆ หรือหวังพึ่งแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หากเป็นการเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์จากผู้ที่เคยเผชิญหน้ากับปัญหา ทบทวนหลักการ วางทัศนคติใหม่ สร้างวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน แล้วลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
คำว่า ‘อนาคต’ ในหนังสือเล่มนี้จึงหมายถึง ปัญญาที่ได้จากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จ ผ่านการทดลองและปรับใช้จนกลายเป็นสูตรในการสร้างตัวตนของเราให้พร้อมเข้าสู่ยุคใหม่
ในครึ่งแรกของ Future: ปัญญาอนาคต ได้รวบรวมปัญหาที่ผู้คนเคยเผชิญหน้าต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่ระดับมหภาคถึงจุลภาค การแก้ปัญหาบ้านเมืองจนถึงการออกนโยบายเศรษฐกิจในครัวเรือน จากเรื่องราวของชนชั้นสูง รัฐบุรุษ จนถึงคนธรรมดาสามัญ จากวิธีการทำธุรกิจในแบบคนเมืองจนถึงวิถีแห่งการบรรลุจิตวิญญาณเยี่ยงนักรบ เรื่องราวของผู้คนทั่วโลกนำมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันตามลำดับยุคสมัย ในแต่ละยุคยังถอดรหัสกระบวนการคิดพัฒนาตัวตนไปทีละขั้นซึ่งสรุปได้ว่ามีหลักการสำคัญอยู่ 3 ประการคือ การค้นหาตัวตน การพัฒนาตัวตน และการกำหนดเป้าหมายมุ่งสู่อนาคต ตัวอย่างเช่น การทำความรู้จักตนเองคือการค้นหาจุดแข็งจุดอ่อนของตนเอง แล้วนำมาพัฒนาจุดแข็งกลบจุดอ่อนในการเอาชนะอุปสรรคไปทีละขั้นจนสามารถก้าวขึ้นสู่จุดสุดยอด ซึ่งเป็นกระบวนการคิดจาก คัมภีร์ห้าห่วง ของซามูไร มิยาโมโต้ มูซาชิ แม้จะฟังดูเป็นแนวคิดที่สุดโต่งและไกลตัวจากวิถีชีวิตในปัจจุบัน หากในยุคสมัยใหม่ที่เป็นดัง ‘ยุคโกลาหล’ ผู้เขียนก็ได้เสนอว่า ทุกคนล้วนมีโอกาสผิดพลาดล้มเหลวได้ตลอดเวลา การพัฒนาตัวเองจากความล้มเหลวแล้วลุกขึ้นมายืนใหม่ให้ได้ทุกครั้งนับเป็นทักษะสำคัญที่จะใช้รับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนต่อจากนี้ การสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่แม้จะแพ้เป็นพันครั้งจึงเป็นการบอกให้ผู้อ่านเลิกโหยหาอดีตที่เคยพบกับความสำเร็จ เป็นวิถีแห่งปราชญ์แต่ครั้งโบราณที่ไม่ต้องทำให้คนขึ้นมาทะเลาะรบราฆ่าฟัน แต่คือการหาหนทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
“นี่คือการศึกษาของผู้ตื่นรู้ ของผู้มีกลยุทธ์ เป็นการศึกษาของปราชญ์ เป็นวิธีการที่ผู้มีปัญญาใช้ในการสร้างตนขึ้นมาตั้งแต่ครั้งอดีต และเป็นวิธีการที่คนรุ่นใหม่ควรศึกษา เพื่อใช้ในการสร้างอนาคต”
(Future: ปัญญาอนาคต, 89)
แต่สิ่งที่น่าเสียดายจากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ หากคาดหวังจะได้อ่านบทเรียนจากผู้นำในประวัติศาสตร์ไทยถึงการเรียนรู้จากความผิดพลาดแล้วหากระบวนการใหม่ในการก่อร่างสร้างตนอย่างภาคภูมิเช่นเดียวกับผู้นำในประเทศอื่นๆ ก็ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยที่ผู้อ่านจะไม่พบในหนังสือเล่มนี้ เพราะผู้เขียนได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “หนังสือมันชื่อ Future แต่ตอนนี้เมืองไทยไม่ค่อยมี” (อ่านเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์ ‘ค้นหาปัญญาก่อนโลกอนาคตจะมาถึงกับภิญโญ ไตรสุริยธรรมา’)
และความชัดเจนในคำตอบ นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งสาระสำคัญนอกจากกระบวนการสร้างตัวตนเพื่อรับมือกับอนาคต คือทัศนคติอย่างแรงกล้าของผู้เขียนที่มีต่อองค์ความรู้ต่างๆ ที่ผ่านการคัดสรรแล้วว่าดีและมีคุณภาพมากพอจะสร้างองค์ความรู้ให้ผู้อ่าน ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ‘ปัญญาความรู้’ คือเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ทุกคนสามารถสร้างอนาคตได้ด้วยมือของตนเอง ดังนั้นผู้อ่านจะพบข้อเสนอแนะการสนับสนุนให้สร้างมหาวิทยาลัยที่ดี หรือควรอ่านหนังสือที่ดีแทรกอยู่ตลอดเล่ม เช่น การยกตัวอย่างเมืองแอนต์เวิร์ป ที่เคยเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขายน้ำตาลในช่วงปี 1510 และตกต่ำลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะกองทัพเยอรมนีเข้ายึดครองในปี 1940 ทำให้แอนต์เวิร์ปจำเป็นต้องก่อร่างสร้างตนขึ้นมาใหม่ โดยรัฐได้ค่อยๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ รวมถึงสร้างสถานศึกษาศิลปะและการออกแบบในทศวรรษ 1990 โดยประกาศว่าจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแฟชั่นโลก การออกแบบและพัฒนาหลักสูตรให้เข้ากับยุค ทำให้แอนต์เวิร์ปผลิตนักออกแบบแฟชั่นสไตล์อาว็อง-การ์ดขึ้นมาได้ อย่างมาร์ติน มาร์เจลา (Martin Margiela) ผู้มีฝีมือทัดเทียมเช่นเดียวกับนักออกแบบแฟชั่นแห่งปารีส มิลาน ลอนดอน และนิวยอร์ก หรือทัศนะต่อการซื้อหนังสือดีไม่ว่าจะราคาแพงแค่ไหนก็ถือเป็นการลงทุนที่มีราคาถูกที่สุด และเป็นการใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะหนังสือคือความรู้ที่ผ่านการคิดอย่างเป็นระบบมาแล้ว และช่วยให้ผู้อ่านออกแบบชีวิตอนาคตของตนเองได้
“เราจึงควรเลือกหาหนังสือที่จะอ่านเป็นอย่างดี และเมื่อได้หนังสือดี ไม่ว่าสั้นหรือยาวเพียงใด เราควรอ่านทันที เพราะชะตากรรมของหนังสือดีหลายเล่มที่เราซื้อหา มักมีวาสนาเพียงแค่วางประดับชั้นหนังสือหรือกองอยู่ตามมุมห้อง เพราะเราส่วนใหญ่ล้วนไม่สามารถจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านเนื้อหาของหนังสือที่ดีได้ แต่เรามีเวลาเถลไถลไปกับข่าวสารไร้สาระ ที่ถูกส่งขึ้นหน้าจอให้เราทุกวัน ถ้าเราได้คืนเวลาเหล่านั้น เราจะคืนความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับการอ่าน”
(Future: ปัญญาอนาคต, 60)
ด้วยความรู้ที่มากมายนี้เอง การมองหรือตัดสินใจต่ออุปสรรคหรือเหตุการณ์ต่างๆ จะทำให้เรามีสายตาที่ใช้ในการตัดสินใจที่แม่นยำมากขึ้น แบบเดียวกับสายตาของผู้เขียนที่วิพากษ์สังคมไทยในปัจจุบันได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น การวิพากษ์ระบบการศึกษาไทยที่บังคับให้ผู้เรียนต้องเรียนในสิ่งที่ไม่ได้รัก ซึ่งไปปิดกั้นโอกาสที่เด็กจะได้เปล่งศักยภาพในด้านที่ตนถนัด จบมาทนทำงานที่ฝืนอุปนิสัย จนหมดไฟกับการทำงานไปก่อนเวลาอันควร หรือการมองอนาคตของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่นั้นมีสายตาที่แตกต่างกัน คนรุ่นเก่าฝันสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ ทำงานเก็บเงินแล้วค่อยใช้ชีวิต แต่คนรุ่นใหม่ฝันสร้างธุรกิจเล็กๆ ที่ทำได้ด้วยตนเอง ทำงานใช้ชีวิตแล้วค่อยเก็บเงิน การให้คนรุ่นเก่ามาวางยุทธศาสตร์บ้านเมืองให้กับคนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องที่สูญเปล่า (น. 74)
ในครึ่งเรื่องหลัง ผู้อ่านจะได้เรียนรู้การตั้งมั่นในเป้าหมายชีวิตของตัวเองด้วยวิธีการสร้างสรรค์อัตลักษณ์จากตัวอย่างประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ที่ดูเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เช่น เสน่ห์ในงานแอนิเมชั่นของสตูดิโอจิบลิ วิธีการแหกขนบอนุรักษ์นิยมของการใส่สูทในแบบชาวอังกฤษของนักออกแบบ พอล สมิท จะทำร้านขายขนมปังอย่างไรให้แตกต่างเมื่อทุกร้านต่างล้วนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ปิดท้ายด้วยคำถามสำคัญของคนรุ่นใหม่ เราจะใช้ชีวิตหรือทำธุรกิจอย่างไรในยุคต่อไปที่โลกนั้นจะหมุนเร็วขึ้นทุกวินาที
หากเปรียบหนังสือเป็นชาเขียวชั้นดีเยี่ยงชาในร้านอิโปโดะ ที่เปิดกิจการในเกียวโตมากว่า 300 ปี Future: ปัญญาอนาคต ก็คือชาที่ต้องกรีดซองออกอย่างช้าๆ นาบฝ่ามือสัมผัสปกสีขาวอันบอบบางที่ค่อนข้างเปิดยากและเปรอะเปื้อนง่ายออกอย่างทะนุถนอม ใช้เวลาไปกับการละเลียดตัวหนังสือทีละตัวที่บอกใบ้หนทางสู่การสร้างอนาคตด้วยตัวเอง ซึมซับกับประวัติศาสตร์เพื่อให้เกิดความเบิกบานทางรสปัญญา หนังสือเล่มนี้จึงมอบสิ่งที่เหนือกว่าความบันเทิง แต่คือการหลอมจิตใจและสมาธิที่ก่อให้เกิดความหวังจะก้าวเดินสู่อนาคตต่อจากนี้