ช่วงครึ่งปีหลัง 2018 นี้ ดูเหมือนวงการศิลปะในบ้านเราจะครึกครื้นมากเป็นพิเศษ เห็นได้จากมหกรรมศิลปะระดับโลกสองงานที่จัดขึ้นพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น Bangkok Art Biennale และ Bangkok Art Biannial ในกรุงเทพฯ กับอีกงานคือ Thailand Biennale 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดกระบี่
หลายคนอาจเกาหัวแกรก ๆ ว่างานหลังนี้มีด้วยหรือ ต้องยอมรับเลยว่าการประชาสัมพันธ์งานนี้ไม่ทั่วถึงเท่าที่ควรจะเป็น แต่แม้จะบอกกล่าวกันไม่กว้างไกลนัก ก็อยากให้รู้ว่า งานที่เอามาจัดแสดงใน Thailand Biennale มีความปังอยู่พอตัว ไม่ใช่แค่ธีม Edge of the Wonderland ที่ตั้งขึ้นมาให้รู้สึกว้าว ราวได้ไปเยือนดินแดนมหัศจรรย์ของอลิซเท่านั้น หากแต่งานที่จัดแสดงในครั้งนี้คืองานศิลปะเฉพาะที่ (site-specific art) กล่าวคือ เป็นงานที่ติดตั้งอยู่นอกพื้นที่พิพิธภัณฑ์ ไม่ได้จัดวางอยู่ในพื้นที่ทางศิลปะ และแน่นอนว่า ศิลปินที่ได้รับคัดเลือกมาจัดแสดงงานต้องสามารถสร้างงานที่อยู่ร่วมกับปัจจัยต่าง ๆ นอกพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายลม หยาดฝน แสงแดด แม่น้ำ เกลียวคลื่น พื้นที่อุทยาน นอกจากนี้ บางส่วนของศิลปิน ยังเป็นผู้สนใจในการทำงานร่วมกับคนในชุมชน ศิลปินท้องถิ่น หรือช่างฝีมือในพื้นที่อีกด้วย
ว่าแล้วเราก็อยากพาไปดูความปังที่คัดสรรมาให้สมกับเป็นดินแดนมหัศจรรย์ กับ 5 งานศิลปะที่ควรไปดูใน Thailand Biennale
No Sunrise No Sunset
พิกัด: อ่าวพระนาง ริมผาด้านหลัง กระบี่ รีสอร์ต
ผลงานโดย คามิน เลิศชัยประเสริฐ และ สุริยะ อัมพันศิริรัตน ศิลปินและสถาปนิกชื่อดังชาวไทย
แวบแรกที่เห็นงานชิ้นนี้จากภายนอกคืออาการตะลึงในความงามของวิวอ่าวพระนางที่สะท้อนอยู่บนแผ่นแสตนเลสที่หุ้มอยู่บนโถงทรงเรขาคณิต แม้ชิ้นงานนี้จะมีขนาดใหญ่ แต่กลับไปด้วยกันได้ดีกับสภาพพื้นที่ริมผาหินสุดปลายหาดอ่าวนาง
ลูกเล่นของศิลปินยังจบไม่แค่นั้น ผู้ชมบางคนอาจถึงกับผงะ เมื่อได้พบกับหุ่นยายสา จากตำนานของจังหวัดกระบี่ ที่ยืนอยู่ตรงปลายสุดของสถาปัตยกรรมโดยมีผืนน้ำทะเลกว้างใหญ่เป็นฉากหลัง เงาของเธอที่ทอดอยู่บนผืนน้ำภายในโถง สะท้อนเรื่องเล่าที่ว่ายายสากำลังยืนรอคอยใครสักคนให้กลับมา
No Sunrise No Sunset ไม่ได้อ้างอิงถึงพื้นที่ในกระบี่หรืออ่าวนางเท่านั้น แต่ยังพูดถึงสภาวะของชีวิตโดยตัวมันเอง งานชิ้นนี้สามารถติดตั้งได้ทุกที่เพราะ “พระอาทิตย์ไม่ได้ขยับไปไหน แต่โลกเราเองต่างหากที่หมุน” นับว่างานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานของศิลปินไทยที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุดชิ้นหนึ่งใน Thailand Biennale เลยก็ว่าได้
Rumours from the Sea
พิกัด: สะพานลอยน้ำหินเพิง หาดเกาะกวาง
นี่คือผลงานของ Felix BLUME ศิลปินชาวฝรั่งเศส ต้องบอกก่อนว่า งานชิ้นนี้ ไม่ได้แค่ต้องไปดู แต่ต้องเตรียมหูเพื่อไปฟัง เพราะคุณกำลังจะได้ฟังเสียงกระซิบกระซาบจากท้องทะเลที่ตัวศิลปินเจ้าของผลงานพัฒนางานชิ้นนี้มาจากเขื่อนไม้ไผ่กันคลื่น ซึ่งหลายชุมชนในประเทศไทย รวมถึงชาวบ้านในชุมชนคลองประสงค์จังหวัดกระบี่ใช้ในการป้องกันชายฝั่งจากการถูกกัดเซาะ
แนวคิดจากเขื่อนไม้ไผ่ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดไปสู่การจัดเวิร์คช็อปร่วมกับนักเรียนจากโรงเรียนบ้านคลองม่วง Felix ชวนเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ลองทำเครื่องดนตรีไม้ไผ่ของตัวเอง ก่อนจะนำมันไปเสียบเข้ากับท่อนไม้ไผ่ที่ปักลงไปในทะเล คล้ายกับเขื่อนของชาวบ้าน หากแต่ทุกครั้งที่คลื่นเข้ากระทบ มันจะส่งเสียงออกมาผ่านขลุ่ยแต่ละตัวที่จัดวางตัวโน้ตเอาไว้ ชวนให้เราเงี่ยหูว่าทะเลกำลังเล่าอะไรให้เราฟัง
Silver Souls
พิกัด: ท่าเรือท่าเล บ้านเกาะกลาง
ผลงานของ Mella JAARSMA ศิลปินชาวที่เนเธอร์แลนด์ที่ย้ายมาอยู่อินโดนีเซียตั้งแต่ 1984 จนปัจจุบัน
ขอสารภาพตามตรงว่าเสียดายมากเพราะวันที่เราไปถึง ผลงานชิ้นนี้ก็ไม่เหลืออะไรให้ดูอีกเลย เว้นแต่รูปภาพที่แขวนไว้ในจุดจัดแสดงงาน
เราโยนคำถามนี้ใส่ทีมภัณฑารักษ์ที่ดูแลงาน จึงได้คำตอบที่น่าสนใจถึงวิธีคิดของศิลปินผู้นี้ เพราะการสูญหายไปของผลงานคือหนึ่งในความตั้งใจของศิลปินที่ต้องการส่งเมจเสจถึงผู้ชมอย่างเราๆ
Mella มีประสบการณ์ในการสร้างชิ้นงานที่สวมใส่ได้ เมื่อเดินทางมาถึงกระบี่ เธอตกหลุมรักกับชุมชนเล็กๆ กลางปากแม่น้ำบนเกาะกลาง ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ เรื่องราวที่เธอได้พูดคุยกับช่างฝีมือบาติกชั้นครูในจังหวัดกระบี่เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งต่อแรงบันดาลใจให้เธอสร้างงานชิ้นนี้ขึ้น และติดตั้งไว้บริเวณท่าเรือท่าเล บ้านเกาะกลาง
งาน Silver Souls บอกเล่าเรื่องราวของแม่พิมพ์ทองเหลือง ซึ่งครั้งหนึ่ง ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัย จนชาวบ้านชาวช่องต่างต้องถูกบังคับให้ทิ้งเครื่องมือทำมาหากินเหล่านี้ลงไปในน้ำ เมื่อความมืดแห่งรัตติกาลมาเยือน บรรพบุรุษของช่างฝีมือท่านนี้ก็แอบไปดำมันขึ้นมาเก็บไว้และส่งต่อมาให้ใช้ตราบจนปัจจุบัน
ศิลปินผู้หลงใหลในงานผ้า หยิบยกเอาเรื่องราวของการต่อสู้ กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณค่า และการเดินทางของภูมิปัญญา มาบอกเล่าผ่านงานศิลปะที่ใช้น้ำเป็นตัวเก็บงำความลับ ผ้าบาติกที่พิมพ์ลายขึ้นจากแม่พิมพ์ทองเหลืองที่เคยจมดิ่งอยู่ใต้น้ำในสมัยนั้น เปลือกหอยจากร้านกระชังปลาที่นำมาเย็บมือเพื่อตกแต่งบนชุด ก่อนการนำชุดไปโยงกับเบ็ดตกปลาอันเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ แล้วหย่อนมันลงในน้ำ รอให้ผู้คนริมท่าเรือที่ผ่านไปมายกขึ้นมาดู
แน่นอนว่าวันที่เราไปถึง เมื่อยกดูกลับเหลือแค่โครงเหล็กเท่านั้น ชุดบาติกประดับเปลือกหอยได้ขาดวิ่น บางก็ผุเปื่อยไปกับสายน้ำอันเป็นพื้นที่กุมความลับนี้ไว้ตลอดกาล
Coming Community
ผลงานของ Valentina KARGA ศิลปินชาว กรีซ งานชิ้นนี้ถือเป็นอีกงานที่น่าประทับใจ เพราะ Valentina เจ้าของผลงานลงแรงร่วมออกแบบงานไปพร้อมๆ กับคนในชุมชน ประติมากรรมเสาสี่ต้นที่จัดแสดงอยู่บริเวณจุดชมวิวคลองลุ สะท้อนถึงสี่หมู่บ้านในตำบลคลองประสงค์ เสาแต่ละต้นสร้างขึ้นจากอิฐที่ประทับลวดลายที่ไม่อาจซื้อหาได้จากร้านอิฐใด เนื่องจากลวดลายบนผิวอิฐเหล่านั้น มาจากมันสมองและสองมือของชาวบ้านในชุมชนคลองประสงค์นั่นเอง
แน่นอนว่าการจะได้อิฐมาแต่ละก้อนพร้อมเรื่องราวขนาดนี้ เธอต้องปักหลักทำงานร่วมกันคนในชุมชนเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ช่วยกันออกแบบว่าชุมชนนี้มีอะไร อยากถ่ายทอดอะไรลงไปในลวดลายบนผิวอิฐ ไปจนถึงการทำเวิร์คชอปในโรงงานอิฐหนึ่งเดียวในจังหวัดกระบี่ เพื่อเผาอิฐให้ออกมาในแบบที่ต้องการ
แม้เกาะแห่งนี้จะอยู่ห่างจากตัวเมืองกระบี่เพียงไม่กี่นาที แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่ต้องการสร้างบ้านบนเกาะแห่งนี้จำต้องขนส่งวัสดุอุปกรณ์บนเรือหางยาวลำเล็กๆ ข้ามไปอีกฝั่ง ศิลปินประทับใจในความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนที่สร้างสิ่งปลูกสร้างบนข้อจำกัดที่มีจนกลายเป็นรากฐานที่สวยงาม
เสาที่บรรจุเรื่องราวของแต่ละหมู่บ้าน มีทั้งลายแม่พิมพ์บาติก แมว ผลไม้ ทะเล กระทั่งลวดลายอิมโพรไวส์จากเด็ก ๆ ในชุมชนถูกประทับอยู่บนก้อนอิฐแต่ละก้อน คงคล้ายกับสถาปัตยกรรมโบราณที่กรีซที่รอให้คนมาเรียนรู้ผ่านสัญลักษณ์เหล่านี้ หากวันหนึ่งในอนาคตที่งานชิ้นนี้ถูกกาลเวลากร่อนทำลายไป ใครสักคนที่ได้พบกับอิฐแต่ก้อนคงได้รู้ว่าอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยมีอะไรบ้าง ที่หลอมผู้คนรวมกันจนกลายเป็นชุมชน
Giant Ruins
พิกัด: เขาขนาบน้ำ
ผลงานของ TU Wei-cheng ศิลปินชาวไต้หวันชิ้นนี้ถือเป็นงานชื้นที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดงานหนึ่งใน Thailand Biennale ชอบทั้งตัวงานและความเล่นใหญ่ไฟกระพริบของศิลปินในการนำเสนองาน
จุดเริ่มต้นของงานชิ้นนี้มาจากตำนานแห่งเมืองกระบี่ที่หากลองถามใครต่อใครในกระบี่ก็คงได้ฟังเวอร์ชั่นคล้ายๆ แต่ไม่ซ้ำกัน ด้วยพื้นที่ติดตั้งงานที่ศิลปินเลือกเป็นจุดที่เคยขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคโบราณมาก่อน ชิ้นงานนี้จึงยิ่งทวีความขลังจนยั้งไม่อยู่
ผลงานการขุดค้นพบโครงกระดูกยักษ์ที่ต่อสู้อยู่กับพญานาคจนตายตกไปตามกันอันน่าเหลือเชื่อของศิลปิน ยิ่งถูกทำให้ดูน่าเชื่อขึ้นไปอีกเมื่อศิลปินเซ็ตพื้นที่เหมือนแหล่งขุดพบทางโบราณคดีทุกประการ ทั้งอุปกรณ์การปัดตกแต่ง ป้ายไวนิลเกี่ยวกับการขุดพบครั้งสำคัญบริเวณทางเข้าถ้ำ ตู้กระจกแสดงชิ้นส่วนกระดูก เหรียญกษาปณ์ ของสะสม (สังเกตให้ดี ศิลปินแอบใส่คิตตี้มาด้วย)
ความเล่นใหญ่ยังไม่จบแค่นั้น ศิลปินยังลงทุนทำคลิปวีดีโอข่าวการค้นพบโครงกระดูกยักษ์และนาคอย่างใหญ่โต แล้วปล่อยให้ไวรัลในอินเทอร์เน็ต ก่อนวันเปิดงานร่วมสัปดาห์ก็ลงทุนสวมบทเป็นนักโบราณคดีในไซต์งานตัวเอง เล่นเอาผู้ชมปั่นป่วนจนยากที่จะแยกออกได้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง สิ่งไหนถูกอุปโลกน์ขึ้นมา
ทั้งหมดทั้งมวลก็เพียงจะส่งเมจเสจกลับไปว่าตำนานที่เราเล่ากันไปกันมา มันก็ไม่ต่างอะไรจากเรื่องราวที่เขาทำนี่แหละ ไม่แน่ทิ้งไว้นานๆ งานชิ้นนี้ก็จะเป็นอีกตำนานเล่าขานต่อไป ซึ่งแน่นอน TU Wei-cheng ตั้งใจให้งานชิ้นนี้อยู่คู่ถ้ำแห่งนี้ต่อไปแม้จะจบงานแล้วก็ตาม
ขอแถมงานชิ้นสุดท้ายที่เป็นกระแสขึ้นมานั่นคือการสั่งห้ามฉายหนังสั้น กำเนิดหอยทากทอง ของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ศิลปิน ผู้กำกับ (หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ Ten Years Thailand) ด้วยเหตุผลด้าน ‘ความมั่นคง’
หนังสั้นเรื่องนี้ของเขาจะเป็นการตีความตำนานเขาขนาบน้ำในช่วงก่อนประวัติศาสตร์และสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยความตั้งใจเดิมงานชิ้นนี้จะถูกฉายขึ้นด้วยการใช้ฟิล์มขาวดำ 16 มม.ภายในถ้ำ (ไม่ไกลจากงานของ TU Wei-cheng) พร้อมเครื่องฉายแบบยุคแรกของภาพยนตร์เป็นการสื่ออุปมาถึงจุดกำเนิดของภาพยนตร์และมนุษย์ที่เริ่มจากถ้ำอันดำมืดของความเป็นแม่สู่แสงสว่างของโลก น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสได้ดู แต่วันที่เราไปยังพื้นที่ดังกล่าว เครื่องฉายยังคงอยู่พร้อมหนังสือคำสั่งห้ามฉายติดทั่วบริเวณ
ทั้งหมดนี้คืองานศิลปะที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนได้ชมกับตาให้ได้ ทั้งนี้ยังมีงานอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจใน Thailand Biennale กระจายไปทั่วทั้งพื้นที่อ่าวพระนาง ในตัวอำเภอเมือง และอำเภออ่าวลึก โดยงานจะจัดระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 ใครยังไม่มีแพลนสำหรับหยุดยาวปีใหม่หรือหลังจากนี้ ลองตีตั๋วลงใต้ไปเสพงานศิลป์กัน
Tags: art, นิทรรศการ, Thailand Biennale 2018, เทศกาลศิลปะ