เพียงไม่นานหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่งปลดล็อตการเมืองเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม เพื่อยกเลิกประกาศ คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองและประชาชนทำกิจกรรมทางการเมือง จำนวน 9 ฉบับ ก็ดูเหมือนว่าอุณหภูมิการเมืองไทยจะร้อนระอุอีกครั้ง
หลังการปลดล็อค พรรคการเมืองต่างก็ลงพื้นที่หาเสียง ไม่เว้นแม้แต่นักการเมืองที่เพิ่งเปิดตัวอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังลงพื้นที่หาเสียงขอแรงสนับสนุนจากประชาชน ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองที่นิยามตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็เริ่มเดินเกมรุกลงพื้นที่หาเสียงพร้อมชูธงฟื้นฟูประเทศ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของคสช.
หัวหน้าคสช. เปิดตัวเป็นนักการเมือง ลงพื้นที่ขอประชาชน ‘อย่ารังเกียจฉัน’
หลังการปลดล็อคทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทางลงพื้นที่ในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน เพื่อพูดคุยกับประชาชน และชี้แจงเรื่องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรคนจน พร้อมทั้งกล่าวอ้อนวอนประชาชนว่า ขออย่าต้อต้าน ในเมื่อมายืนอยู่ตรงนี้แล้ว ก็พร้อมฝากตัวไว้ในอ้อมอกอ้อมใจของประชาชน และรักกันนานๆ
“อย่ารังเกียจฉันเลย ไหนไหนก็หลวมตัวมารักกันแล้ว อย่าทอดทิ้งกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวระหว่างลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย
นอกจากนี้ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมเดินรณรงค์ ‘คน รัก คลอง’ ซึ่งได้ตอบกับพี่น้องประชาชนที่ขอให้อยู่ต่อว่า เป็นเรื่องประชาชนจะตัดสินใจว่าจะให้อยู่ทำงานต่อหรือไม่
ด้าน สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พรรคที่ประกอบไปด้วยคณะรัฐมนตรีจากรัฐบาลคสช. และออกตัวชัดเจนว่าพร้อมหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานต่อ ให้สัมภาษณ์หลังปลดล็อกการเมืองว่า เมื่อมีการปลดล็อกการเมืองแล้ว คิดว่าน่าจะถึงเวลาที่จะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แล้ว แต่ส่วนตัวไม่เคยคุยเรื่องนี้กับ พล.อ.ประยุทธ์ มีเพียงการพูดคุยกันเรื่องงาน
พรรคการเมืองเปิดศึกการเมืองสองขั้ว ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ
หลัง คสช. ปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง พรรคการเมืองค่ายต่างๆ ก็แข่งขันกันลงพื้นที่หาเสียงและประกาศนโยบาย พร้อมทั้งจัดทัพลุยศึกเลือกตั้ง ดังนี้
พรรคเพื่อไทย: หยุดวิกฤติเศรษฐกิจ-ล้างมรดกบาปคสช.
สำหรับพรรคเพื่อไทย พรรคขั้วตรงข้ามกับคสช. มีแกนนำเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง และมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นหัวหน้าหัวหน้าคณะกรรมการรณรงค์หาเสียง
หลังการปลดล็อค พรรคเพื่อไทยชูธงนโยบายหยุดวิกฤติเศรษฐกิจ หยุดการทุจริต ปราบปรามยาเสพติด พร้อมกับปรับโครงสร้างราชการ ส่งเสริมการแข่งขันของเอกชน ลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น พร้อมทั้งยังประกาศแก้รัฐธรรมนูญและล้มยุทธศาสตร์ชาติมรดกบาปของคสช.
โดย ร.ต.อ.เฉลิม เปิดเผยว่า ประเด็นหลักที่จะใช้หาเสียง คือจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกบาป ไม่เป็นประชาธิปไตย และสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะ มาตรา 272 ที่ให้ ส.ว. สามารถลงคะแนนเลือกนายกฯ ได้ นอกจากนี้ จะให้ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
พรรคไทยรักษาชาติ: ฟื้นฟูเศรษฐกิจ-หยุดการสืบทอดอำนาจคสช.
ด้านพรรคใหม่อย่างพรรคไทยรักษาชาติที่แตกตัวมาจากพรรคเพื่อไทย โดยมี จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย นั่งตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค ก็จัดประชุมใหญ่พรรคหลังการปลดล็อคทางการเมือง
โดยพรรคไทยรักษาชาติ ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นพรรคการเมืองปีกประชาธิปไตย พร้อมชูธงนโยบาย ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปลี่ยนแนวคิดการบริหารจากอำนาจนิยมเอื้อทุนใหญ่ไปสู่ประชาธิปไตยที่ฟังความเห็นประชาชน สร้างการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมกับแก้กฎระเบียบไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจใหม่ และพร้อมจะเป็นพรรคแกนนำแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“พรรคไทยรักษาชาติเป็นฝ่ายประชาธิปไตย มีภารกิจสำคัญร่วมหยุดสืบทอดอำนาจ พรรคจะเป็นตัวชี้ขาดให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะในการต่อสู้ครั้งนี้” จาตุรนต์กล่าวในเวทีประชุมพรรคไทยรักษาชาติ
พรรคเสรีรวมไทย: ปฏิรูปกองทัพ-ยกเลิกการรัฐประหาร
ด้านพรรคเก่าแต่มีผู้เล่นใหม่อย่างพรรคเสรีรวมไทย ที่นำโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคก็ยังเดินสายลงพื้นที่อยู่ตลอดไม่ขาดสาย โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ หากต้องการให้บ้านเมืองกลับมาดีขึ้นต้องเลือกฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น
โดยพรรคเสรีรวมไทย ชูนโยบายปฏิรูปกองทัพ เสนอยุบหน่วยงานปฏิรูปโครงสร้างกองทัพ เช่น การย้ายกองทัพออกนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ยุบกองบัญชาการทหารสูงสุด และเปลี่ยนการถือครองที่ดินของกองทัพให้นำมาสร้างรายได้ให้ประเทศเพื่อสร้างสวัสดิการให้กับประชาชน
“หากท่านต้องการให้ผมเป็นนายกฯ ก็ขอให้เลือกผู้สมัครพรรคเสรีรวมไทย ผมจะจัดการเผด็จการทหารให้ดู อย่างที่ผมเคยพูดไว้ ต้องเชื่อมั่น คนอย่างผม พูดคำไหนคำนั้น ไม่มีเปลี่ยน” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวระหว่างการลงพื้นที่หาเสียง
พรรคอนาคตใหม่: ลดทุนผูดขาด-ล้างมรดกคสช.
ส่วนพรรคเกิดใหม่ที่ประกาศเป็นกองหน้าประชาธิปไตยอย่างพรรคอนาคตใหม่ ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค ก็จัดเวทีแถลงนโยบายพรรคภายใต้ชื่องาน ‘เปิดวิสัยทัศน์ เปลี่ยนอนาคต’ หลัง คสช. ปลดล็อคทางการเมือง
โดยพรรคอนาคตใหม่ประกาศนโยบายว่า จะแก้ปัญหาทุนผูกขาด ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสวัสดิการ รวมถึงใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลพัฒนาเศรษฐกิจ การเกษตร แก้ปัญหาคอร์รัปชัน รวมถึงจะปฏิรูประบบราชการยกเลิกการรวมศูนย์และปฏิรูปกองทัพ รวมถึงปักธงประชาธิปไตย ล้างมรดกคณะรัฐประหาร
พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่ออกตัวชัดเรื่องการลดปัญหาทุนผูกขาด ด้วยการแก้ไขระบบสัปทานใหม่ เพิ่มความโปร่งใส่ เน้นผู้เล่นใหม่ในตลาด พร้อมกับแก้กฎหมายเพื่อยกเลิกการกีดกันการแข่งขันทางการค้า เอื้อให้ผูกขาด เช่น เหล้าและบุหรี่ ที่สำคัญคือ กระจายแหล่งทุนท้องถิ่นโดยเปิดให้ประกอบกิจการธนาคารที่มีสำนักงานใหญ่ในต่างจังหวัดได้
ในขณะเดียวกัน พรรคอนาคตใหม่ยังเสนอนโยบาย ‘สวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร’ ดูแลคนตั้งแต่แรกเกิดจนวัยชรา เช่น ขยายสิทธิลาคลอด ให้เงินดูแลลูก เพิ่มงบบัตรทอง และเบี้ยคนชรา โดยคาดการณ์ว่าจะใช้งบประมาณราว 650,000 ล้านบาท
พรรคอนาคตใหม่แจกแจงที่มาของเงินงบประมาณในการออกนโยบายว่า ที่มาของเงินงบประมาณสำหรับการให้สวัสดิการแก่ประชาชนจะดึงมาจากกองทุนสวัสดิการแห่งรัฐ เงินภาษีที่ดิน เงินจากนโยบายหวยบนดิน และเงินที่มาจากการลดงบของกระทรวงกลาโหม เงินจากการลดสิทธิประโยชน์เพื่อการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เงินจากงบประจำและงบกลาง รวมถึงเงินจากลดสิทธิลดหย่อนภาษีบางส่วน
พรรคประชาธิปัตย์: สร้างตัวชี้วัดเศรษฐกิจใหม่-กระจายอำนาจ
สำหรับพรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงมีหัวหน้าพรรคคนเดิมคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยหลังการปลดล็อคก็มีการเดินทางลงพื้นที่หาเสียง พร้อมทั้งประกาศว่า ให้ประชาชนเลือกพรรคที่มีความเป็นประชาธิปไตยมาเป็นรัฐบาล และต้องเป็นพรรคที่เข้าใจปัญหาและรู้วิธีแก้ปัญหา รวมถึงเป็นรัฐบาลที่มีความซื่อสัตย์สุจริต
โดยพรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นพรรคแรกที่ออกตัวประกาศนโยบายหลังมีการปลดล็อคของคสช. ด้วยแนวคิดสร้างหลักประกันให้ประชาชน เช่น การประกันสินค้าเกษตร การศึกษาฟรี อาหารกลางฟรี มีสวัสดิการ พร้อมทั้งสนับสนุนการกระจายอำนาจและการสร้างตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจใหม่ที่มุ่งเน้นการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงชูนโยบายการปฏิรูปการศึกษา
“หลักคิดของประชาธิปัตย์คือประชาชนทุกคนต้องมีหลักประกัน เพราะหากประชาชนมีหลักประกัน เศรษฐกิจก็จะมั่นคง และหากประชาชนมีความมั่นคง ก็จะนำความสามารถมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ประชาธิปัตย์จะทำให้ประชาชนเข้มแข็งและประเทศชาติเข้มแข็ง” อภิสิทธิ์กล่าว
พรรคภูมิใจไทย: ชูธงสร้างเศรษฐกิจบนแนวคิด ‘แบ่งปัน’
ด้านพรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่นำโดย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ทั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยมาพร้อมกับแนวคิดเรื่อง ‘เศรษฐกิจแบ่งบัน’ ที่เน้นแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร มีการแบ่งบันกำไรระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ เน้นการพัฒนาท้องถิ่น เน้นการพัฒนาท่องเที่ยว ขนส่งมวลชน นอกจากนี้ยังเน้นพัฒนาการศึกษาที่สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุน และใช้เทคโนโลยีพัฒนาการศึกษา เช่น การมีการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นต้น
“ใช้ profit sharing แก้ปัญหาเกษตรกรรายได้น้อย เพราะไทยมีเกษตรกรชาวนาชาวไร่ที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาความล้มเหลวต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวนา ชาวไร่ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมที่สุดในสายตาของผม ผู้ที่ทำงานหนักที่สุด ถูกเอาเปรียบมากที่สุด ได้รายได้น้อยที่สุด เป็นหนี้มากที่สุด เราอิ่ม มีของกินทั้งข้าว พืชผัก ผลไม้ เนื้อ มาจากเกษตรกร แต่คนที่ทำอาหารให้กินกลับลำบากที่สุด ในขณะที่เราอิ่ม โคตรไม่แฟร์เลย” อนุทิน กล่าว
“แก้รัฐธรรมนูญ” ประเด็นร้อนการเลือกตั้ง 2562
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นร้อนที่สุดหลังคสช. ปลดล็อคทางการเมืองคือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอุณหภูมิทางการเมืองสูงขึ้นทันทีหลัง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊คเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตั้งใจควบคุมและจำกัดสิทธิของประชาชนตามมาตรฐานสากล
การโพสต์เฟสบุ๊กของอดีตนายกฯ ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาตอบโต้ว่า “รัฐธรรมนูญใช้หรือยัง ยังไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่เลย ยุทธศาสตร์ชาติก็ยังไม่ได้เริ่มเลย ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ทำแทบตายออกมา มาบอกจะยกเลิก”
ด้านฝ่ายที่ออกตัวเป็นกองหนุน คสช. อย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็ออกมาให้ความเห็นเรื่องดังกล่าวว่า “พรรค รปช. เคารพประชาชน 16.8 ล้านคนที่ลงมติรับรองรัฐธรรมนูญ พรรค รปช. จะปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจพิเศษรัฐบาลคสช. ก่อนการเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องยอมรับว่า รัฐบาลคสช. จะมีสิทธิพิเศษมากกว่ารัฐบาลรักษาการปกติในช่วงก่อนเลือกตั้ง เนื่องจาก ในหมวดบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดอำนาจในการบริหารประเทศไว้ เช่น อำนาจในการอนุมัติโครงการ การใช้เงินงบประมาณ หรือการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ด้วยอำนาจพิเศษนี้ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลคสช. จึงอนุมัติงบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท หรือตัวเลขสุทธิ 86,994 ล้านบาทออกมาแจกจ่ายประชาชน เช่น ใช้แจกจ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแบ่งไปอุ้มราคาสินค้าเกษตรอย่างเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมไปถึงยังมีมาตรการช่วยเหลือข้าราชการเกษียณที่รับบำนาญ เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังให้คสช. มีอำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ที่ออกคำสั่งใดๆ ก็ได้โดยถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงยังรับรองบรรดาประกาศคำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่เคยประกาศใช้ก็ยังมีผลบังคับอยู่ เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย เช่น เรียกไปรายงานตัว ควบคุมตัวได้ 7 วัน หรือจับกุมสอบสวน ค้นตัวหรือเคหะสถาน หรืออย่างประกาศคสช. ฉบับที่ 103/2557 ที่ควบคุมสื่อในกรณีที่จะนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์คสช. เป็นต้น
Tags: พรรคประชาธิปัตย์, อนุทิน ชาญวีรกูล, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, แก้รัฐธรรมนูญ, พรรคอนาคตใหม่, เลือกตั้ง62, พรรคเพื่อไทย, พรรคไทยรักษาชาติ, ปลดล็อคการเมือง, จาตุรนต์ ฉายแสง, พรรคพลังประชารัฐ, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, พรรคเสรีรวมไทย, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, พรรคภูมิใจไทย