ล่าสุดเมื่อปี 2005 ครั้งที่นาตาลี เกลโบวา (Nathalie Glebova) สาวงามจากประเทศแคนาดาคว้าตำแหน่งไป และการกลับมาของ Miss Universe ที่อะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป เรื่องน่าลุ้นไม่ใช่แค่ว่าใครจะมง แต่ยังรวมถึงทิศทางกับจุดยืนของเวทีและเจ้าภาพเราด้วย
ลุ้นที่ 1: ภาพลักษณ์ความเป็นไทยแบบไหนที่เราจะได้เห็น?
สำหรับงานใหญ่ระดับโลกขนาดนี้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นโอลิมปิกความงาม แน่นอนว่าการได้เป็นเจ้าภาพย่อมหมายถึงการได้นำเสนอตัวเองสู่สายตาชาวโลก ครั้งล่าสุดในปี 2005 เรานำเสนอประเทศของเราในฐานะเมืองพุทธ หลักๆ จะเป็นวัดและวิถีชีวิตคนไทยในฐานะพุทธศาสนิกชน แต่ในปี 2018 ที่กระแสโลกไหลไปอย่างรวดเร็ว ที่เราเคยลุ้นอยู่ก่อนหน้านี้ว่าประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจะเลือกความเป็นตัวเองด้านไหนออกมานำเสนอสู่สายตาชาวโลก จะเหมือนหรือแตกต่างกับ 13 ปีที่แล้วอย่างไรบ้าง ภาพที่เราคิดว่าเรา ‘เป็น’ จะใช่ภาพเดียวกันกับที่คนอื่นมองเห็นเราไหม ก็พบว่าจากภาพที่เห็นในการเก็บตัว โลเคชั่นต่างๆ ยังคงเป็นหมุดหมายยอดฮิตของชาวต่างชาติ เช่นพัทยา หรือกระบี่ เข้าชมวัด ทำผัดไท น่าสนใจว่าไทยยังคงเลือกสะท้อนภาพลักษณ์ ‘เมืองแห่งการท่องเที่ยว’ เอาไว้อย่างเหนียวแน่น
ลุ้นที่ 2: ความท้าทายของกองประกวด Miss Universe ในประเทศไทย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน Miss Universe โดยเฉพาะรอบตอบคำถามที่ทำให้คำว่า ‘social movement’ กลายเป็นคำที่เป็นกระแสในบ้านเราอยู่พักใหญ่ รวมถึงคำถามอันสุดแสนจะเป็นการเมืองที่มุ่งเน้นเรื่องของความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน การต่อต้านความรุนแรงและการกดขี่ในทุกรูปแบบ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวที Miss Universe ซึ่งน่าสนุกมากว่ามันจะออกมารูปแบบใด? ในบริบทของประเทศที่ประชาธิปไตยเป็นลูกผีลูกคน การเลือกตั้งกุมภาพันธ์ปีหน้าจะจัดจริงไหม ก็ยังนอนใจไม่ได้ รวมถึงการเรียกร้องและการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเรื่องต้องห้าม หนำซ้ำยังมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก
เราจะได้เห็นกันว่าบริบทของประเทศจะมีพลังมากน้อยแค่ไหนในการจำกัดเสรีภาพของเวที หรือเวทีจะออกแบบคำถามออกมาอย่างไรในบริบทแบบนี้ คำตอบสวยงามในเรื่องการเชิดชูคุณค่ามนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนจะรับเสียงปรบมือได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจหรือไม่ แล้วปฏิกิริยาตอบสนองของคนไทยจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง
ลุ้นที่ 3 : นิ้ง โศภิดา กับความหวังของแฟนนางงามไทย
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ Miss Universe เปลี่ยนผู้อำนวยการกองประกวดจากโดนัลด์ ทรัมป์ มาอยู่ในการดูแลของเอเจนซี่ดูแลนางแบบอย่าง WME/IMG สาวงามจากประเทศไทยก็ถือว่าทำผลงานได้ดีมากมาตลอดตั้งแต่ แน็ต อนิภรณ์ เฉลิมบูรณวงศ์ (ปี 2015) น้ำตาล ชลิตา สวนสเน่ห์ (ปี 2016) และมารีญา พูนเลิศลาภ (ปี 2017) ที่ผ่านเข้ารอบลึกจนเกือบถึงมง ซึ่งต่างจากตอนที่ Miss Universe ยังเป็นของทรัมป์อยู่ โอกาสที่ไทยจะเข้ารอบมีน้อยมาก ตรงนี้ทำให้แฟนนางงามไทยคาดหวังและหวังสูงขึ้นเรื่อยๆ ว่าเราใกล้ถึงมงกุฏนางงามจักรวาลมงที่ 3
จนถึงปีนี้ เราได้ตัวแทนของประเทศไทย คือ นิ้ง โศภิดา กาญจนรินทร์ ซึ่งในช่วงแรกหลังได้รับรางวัล Miss Universe Thailand 2018 เธอโดนวิจารณ์หนักมากว่าสวยไม่สมมง แต่นั่นก็เป็นโอกาสที่ทำให้นิ้งมีประเด็นที่นำมาใช้สร้างจุดขายให้กับตัวเธอ เธอให้สัมภาษณ์เสมอว่าเธออาจจะไม่ได้สวยถูกใจทุกคน แต่เธอสวยในแบบของตัวเธอเอง และอยากให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าในตัวเอง บวกกับการมาพร้อมกับเรื่องราวความล้มเหลวกับชีวิตการเรียนที่อเมริกาจนถูกส่งกลับมาที่ไทย เธอตั้งสติและกลับไปเรียนใหม่จนคว้าเกียรตินิยมอันดับ 2 ที่มหาวิทยาลัยเนวาดาที่ลาสเวกัสจนกลับมารับตำแหน่งเป็นผู้จัดการวาณิชธนกิจของธนาคารทหารไทยตั้งแต่อายุยังน้อย เธอจึงเป็นภาพแทนของผู้หญิงยุคใหม่ที่มีกล้า ความพยายาม ความมุ่งมั่น ความตั้งใจ
หลายคนก็คิดว่านี่คือเหตุผลที่ทำไมนิ้งถึงคว้ามงกุฏ Miss Universe Thailand เพราะสิ่งที่เธอเป็นสอดรับกับอุดมคติของผู้หญิงที่ Miss Universe ต้องการ เป็นคุณสมบัติเดียวกันกับผู้ชนะในปีก่อนๆ กับการสร้างแรงบันดาลใจหรือให้พลัง (empower) ผู้หญิงด้วยกัน เช่น เดมี-ลีห์ เนล-ปีเตอร์ Miss Universe 2017 จากประเทศแอฟริกาใต้ที่ริเริ่มทำโครงการ ‘I Will Be Unbreakable’ เป็นโครงการที่เธอสนับสนุนศิลปะการป้องกันตัวให้ผู้หญิงจากการคุกคามของผู้ชายในแอฟริกาใต้ ซึ่งเมื่อพิจารณาในคุณสมบัตินี้ ที่ว่าด้วยความงามอันไม่เป็นไปตามอุดมคติของคนส่วนใหญ่ ก็ถือว่านิ้งน่าจะมาถูกทาง
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความนิ้งจะละทิ้งประเด็นเรื่องความสวยงามไปเสียทีเดียว เพราะหนึ่งเรื่องที่เธอหยิบขึ้นมาพูดบ่อยครั้งคือการพยายามลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายอย่างหนักและรับประทานอาหารคลีนเพื่อที่จะมีหุ่นสวย รูปร่างดี
ในแง่หนึ่งคนทั่วไปก็คงรู้สึกว่ามันก็ไม่เห็นแปลก เพราะเวทีความงามกับการรักษารูปร่างน่าจะไปด้วยกันได้ดีอยู่แล้ว และเป็นที่น่าสังเกตคือมันไม่ใช่สิ่งที่นางงามที่เคยคว้ามงกุฎไปแล้ว (ในช่วง 3 ปีของการดูแลของ WME/IMG) เอามาใช้เป็นจุดขายของตัวเองเลย จะพูดว่าเรื่องความสวยงามของเรือนร่างมันไม่สำคัญไปแล้วหรือ? ก็ไม่ใช่… เพราะนางงามในทุกๆ ปีก็ยังหุ่นสวย รูปร่างดี แต่มันคงไม่ใช่สิ่งที่เวที Miss Universe อยากนำเสนอเป็นเรื่องหลักอีกต่อไปแล้ว สังเกตได้จากแอร์ไทม์ของการเดินชุดว่ายน้ำหรือชุดราตรีที่หายไปเยอะ แต่ไปเพิ่มในส่วนของการนำเสนอสกู๊ปเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจของนางงาม การสัมภาษณ์ การตอบคำถามให้เห็นทัศนคติแทน
ในข้อนี้นี่เองที่แตกต่างกับการประกวดยุคทรัมป์โดยสิ้นเชิง ที่เน้นการเดินแบบและการโชว์เรือนร่างจนมักจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศและสร้างค่านิยมความสวยแบบเดียวให้แก่ผู้หญิง ดังนั้นการที่กองประกวด Miss Universe ในยุค WME/IMG เลือกเชิญ อาร์ชเลย์ กราเฮม (Ashley Graham) นางแบบสาวไซส์บวก (plus size) ที่มาพร้อมกับภาพลักษณ์ของความพึงพอใจต่อรูปร่างของตัวเองที่ไม่ได้ต้องผอมแบบความสวยอุดมคติ และสตีฟ ฮาร์วี่ (Steve Harve) พิธีกรตลกผิวสี ในการดำเนินงานรอบตัดเชือก ซึ่งไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของเวที กลายเป็นเป็นภาพแทนของการประกวด Miss Universe ยุคใหม่ ความตั้งใจของกองประกวดตรงนี้น่าจะมากพอที่จะบอกว่าการจะขายสตอรี่การออกกำลังกายเพื่อมีหุ่นดีและรับประทานอาหารคลีนไม่น่าจะพอหรือล้าสมัยไปแล้วหรือเปล่าใน Miss Universe ยุคนี้
อย่างไรก็ตามใครจะรู้ใจกรรมการนอกจากกรรมการเอง เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่านิ้งจะพาความหวังของแฟนนางงามไทยไปได้ไกลแค่ไหน
ลุ้นที่ 4 : บทบาทของสตรีข้ามเพศบนเวที Miss Universe
เป็นข่าวดังอยู่ไม่น้อยที่ว่าการประกวด Miss Universe 2018 เป็นการประกวดครั้งแรกที่จะมีสตรีข้ามเพศเข้าร่วมด้วย เธอผู้นั้นคือ แองเจล่า พอนซ์ (Angela Ponce) สาวงามจากประเทศสเปน
อันที่จริง Miss Universe ริเริ่มกติกาให้สตรีข้ามเพศเข้ามาร่วมประกวดได้นี้ตั้งแต่ปี 2012 ตั้งแต่สมัยที่ทรัมป์ยังเป็นผู้อำนวยการกองประกวดอยู่ แต่ยังไม่มีสตรีข้ามเพศคนไหนที่ฝ่าด่านการประกวดระดับประเทศเพื่อเป็นตัวแทนมาร่วมประกวดได้จนกระทั้งปีนี้
น่าสนใจที่ว่าหลังจากที่พอนซ์ได้รับตำแหน่งก็กลายเป็นประเด็นทั่วโลกว่าเหมาะสมหรือไม่ที่สตรีข้ามเพศที่มาร่วมประกวด ซึ่งนางงามจากประเทศอื่นๆส่วนใหญ่ก็ตกลงด้วยเหตุผลความถูกต้องทางการเมือง (political correct) ที่ไม่อาจพูดได้ว่าไม่เห็นด้วย เว้นเสียแต่ว่านางงามจากโคลัมเบีย วาเลอเรีย มอรอลส์ (Valeria Morales) ที่แสดงความคิดเห็นว่าเธอไม่เห็นด้วย
“ฉันคิดว่าการประกวดความงาม เช่น Miss Universe มีไว้สำหรับผู้หญิงโดยกำเนิดเท่านั้น” และคิดว่า “เธอ (พอนซ์) น่าจะเสียเปรียบ ซึ่งอย่างไรก็ตามเราก็ต้องเคารพกติกาแต่ไม่ควรเห็นดีด้วย”
ทางด้านของพอนซ์ออกมาตอบกลับไปแบบสวยๆ ว่า “ฉันเคารพความคิดของเขา(มอรอลส์) และก็ไม่ต้องการไปประกวดMiss Universe ด้วยอคติต่อเพื่อนนางงามคนอื่นๆ (…) ถ้าเขาอยากจะรู้จักฉัน ฉันก็อยากจะทำความรู้จักกับเขา การเปลี่ยนความคิดของเขาไม่ใช่หน้าที่ของฉัน สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างความตระหนักรู้ว่าความจริงที่ว่าโลกของเรายังขาดความรู้ในเรื่องของความหลากหลาย ซึ่งเป็นตัวการที่นำไปสู่การรุมประณามคนอื่น อคติ และความรุนแรง และขอให้ทุกคนเคารพความคิดของทั้งฉันและมอรอลส์”
แน่นอนว่าประเด็นนี้จะร้อนระอุแน่ในเวที Miss Universe ที่กำลังจะจัดขึ้น ใครเห็นด้วย ใครไม่เห็นด้วย คนไทยในฐานะที่อ้างตลอดว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับคนรักเพศเดียวกันจะมีความคิดเห็นอย่างไร การเดินของพอนซ์ในฐานะของสตรีความเป็นเพศคนแรกในประวัติศาสตร์ Miss Universe จะถึงฝั่งฝันหรือไม่
มากกว่าลุ้นใครจะมง เหตุผลต่างๆ เหล่านี้ที่น่าจะทำให้ Miss Universe 2018 ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยน่าจะสนุกกว่าครั้งไหนๆ เรามาร่วมลุ้นและหาคำตอบไปพร้อมๆกันในวันที่ 17 ธันวาคม เวลา 7.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
Tags: Miss Universe, นางงาม, Miss Universe Thailand, คำถามนางงาม, Miss Universe 2018, นิ้ง โศภิดา กาญจนรินทร์