ใครคือ ‘คนเหงา’ แล้วเราจะนิยาม ‘ความเหงา’ อย่างไร?
ในวิทยานิพนธ์ สู่ทฤษฎีความเหงาที่อิงตัวตน ของ วสันต์ ลิมป์เฉลิม ได้มีการเสนอให้มีการนิยามความเหงาให้ชัดเจน โดยส่วนหนึ่งที่นับว่าสนใจและอาจเป็นประโยชน์ที่ควรยกมากล่าวตรงนี้ก็คือการที่เขาเลือกแปลศัพท์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ ความเหงา = loneliness ความโดดเดี่ยว = aloneness การแยกตัว = isolation ความสันโดษ = solitude ซึ่งในวิทยานิพนธ์นี้พยายามจะจำแนกให้ชัดเจนว่าชุดคำต่างๆ ที่กล่าวมาล้วนมีความหมายแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
วสันต์อธิบายว่า
“ความเหงาเป็นอารมณ์ที่มีความหมายในทางลบ หรืออารมณ์ในซีกของความทุกข์ใจ (distress) ความเหงาต่างจากภาวะการแยกตัว โดยที่อย่างหลังเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่าย หรืออาจเรียกว่าเป็นภาวะเชิงปรวิสัย (objective state) แต่ความเหงาเป็นภาวะที่อยู่ ภายในใจ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นประสบการณ์ในเชิงอัตวิสัย (subjective experience) ความเหงาของแต่ละคนมีลักษณะที่แตกต่างกันได้ และเราอาจไม่สามารถเห็นความเหงาของคนจากอาการภายนอกได้ บุคคลผู้แสดงท่าทีมี ‘ความสุข’ ระหว่างเข้าสังคม ลึกๆ ในใจอาจกําลังรู้สึกเหงาอย่างมากอยู่ก็ได้”
คนเหงาและความเหงาในกรอบอธิบายนี้ จึงเป็นอารมณ์ของความทุกข์ใจอย่างหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคำอธิบายส่วนร่วมของคนจำนวนมาก คลาร์ก อี. มูสเตคาส (Clark E. Moustakas) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้เขียน Loneliness (1961) อธิบายว่า “ความเหงาของชีวิตในโลกสมัยใหม่อาจแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกันคือ ความเหงาเชิงการดำรงอยู่ที่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์อันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของมนุษย์ และความเหงาจากความรู้สึกแปลกแยกในตัวเองและการปฏิเสธตัวเอง ที่ไม่ใช่ความเหงาแต่เป็นความกังวลอันคลุมเครือและรบกวนจิตใจ”
ความเหงาจากความรู้สึกแปลกแยกในตัวเองและการปฏิเสธตัวเองมาจากไหน? มูสเตคาสอธิบายว่า “ผู้ใหญ่เป็นล้านๆ คนที่เคยได้รับการปกป้องคุ้มครองและถูกให้ความรัก ผู้เคยมีความสัมพันธ์แนบชิดกันในช่วงขวบปีแรกๆ ต้องทนทุกข์ทรมานจากความไม่ยุ่งเกี่ยว โลกของการแข่งขันที่ปฏิเสธตัวเองและแปลกแยก พวกเขาจึงต้องตระเวนไปไกลเพื่อหลีกเลี่ยงและเอาชนะความกลัวความเหงา ด้วยการไม่พยายามเข้าถึงหรือเผชิญกับประสบการณ์ภายในที่แท้จริง อะไรเล่าคือสิ่งที่ทำให้คนเราพยายามอยู่ในท่ามกลางบทสนทนาที่ไร้แก่นสาร ผลประโยชน์และกิจกรรมต่างๆ ตลอดห้วงเวลาค่ำที่บ้านซึ่งแทบไม่ต่างจากที่ทำงาน มันคือความกลัวความเหงา ไม่ใช่ความเหงาด้วยตัวของมันเอง แต่เป็นความกังวลใจในความเหงา ความกลัวที่จะถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพัง ถูกกันออกไป”
ชัดเจนว่ามูสเตคาสได้หยิบยืมกรอบอธิบายนี้มาจาก The Lonely Crowd (1950) ของ เดวิด รีสแมน (David Riesman) เนธาน เกลเซอร์ (Nathan Glazer) และ เรยูเอล เดนนีย์ (Reuel Denney) ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ก่อนหน้านั้นนานนับสิบปี
The Lonely Crowd ได้การยกย่องให้เป็นหนึ่งในงานวิชาการด้านสังคมวิทยาที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ของศตวรรษที่ 20 มียอดจำหน่ายมากถึง 1.4 ล้านเล่ม ผลงานชิ้นนี้ได้ทำให้คนในสังคมอเมริกันเริ่มตั้งคำถามกับการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางสมัยใหม่ ความเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่ถูกกำหนดโดยการผลิตมาสู่สังคมที่กำหนดโดยการบริโภค และไม่เพียงแต่มูสเตคาสเท่านั้น ทว่านักทฤษฎีด้านปรัชญาการเมืองผู้โด่งดังอย่างฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) ก็ยังได้อ้างอิงงานวิจัยชิ้นนี้ประกอบคำอธิบายเรื่องความเหงาในฐานะภัยคุกคามความเป็นมนุษย์ไว้ในงาน Human Condition (1958) ของเธออีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กว่าที่ ‘ความเหงา’ จะกลายเป็นหัวข้อทางวิชาการอย่างเป็นทางครั้งแรกๆ ก็ต้องย่างเข้าสู่ปลายทศวรรษที่ 60 ไปแล้ว
ดัชนีชี้วัดความเหงา
คงไม่ผิดไปจากความจริงนักหากจะกล่าวว่า ความเหงา หรือ ความโดดเดี่ยว ถูกหยิบยกมาพูดถึงในโลกวิชาการด้านจิตวิทยาก่อน โดยบุคคลแรกที่จัดการให้มีงานเสวนาภายใต้หัวข้อ The Anatomy of Loneliness ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (UCLA) ก็คือ เยฮูดี โคเฮน (Yehudi Cohen) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งภายหลังจากนั้นเพียงไม่นาน การศึกษาความเหงา หรือความโดดเดี่ยวก็ได้ถูกบรรจุเป็นหลักสูตรหนึ่งของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย จนกระทั่งช่วงปลายของทศวรรษที่ 1970 ความเหงาได้กลายเป็นหนึ่งในสามของหัวข้อศึกษาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของจิตวิทยาสังคม
เพราะสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นเชื่อกันว่า ความเหงาได้กลายเป็นปัญหาทางสังคม 26% ของผู้ทำแบบสำรวจเห็นว่า ตัวเองรู้สึกเหงาและไกลห่างจากผู้คนมากขึ้น ความเหงาถูกเชื่อมโยงกับปัญหาพิษสุราเรื้อรัง การก่ออาชญากรรมของเยาวชน และการฆ่าตัวตาย เพียงแต่ยังไม่มีแบบทดสอบความเหงาที่เป็นระบบออกมานอกจากคำถามข้อเดียวว่า “คุณรู้สึกเหงาบ้างไหม”
UCLA Loneliness Scale หรือ ‘แบบทดสอบความเหงา UCLA’ ได้ถือกำเนิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในห้วงเวลาเดียวกันนี้ แบบทดสอบดังกล่าวประกอบไปด้วยคำถามในเชิงลบที่มีต่อความโดดเดี่ยว โดยเราสามารถเลือกตอบ 4 ระดับคือ ก) เป็นบ่อยๆ ข) บางครั้ง ค) ไม่ค่อยเป็น และ ง) ไม่เป็นเลย
คำถามในแบบทดสอบก็เช่นว่า
-
ฉันไม่มีความสุขในการทำสิ่งต่างๆ เพียงลำพัง
-
ฉันไม่มีใครคุยด้วย
-
ฉันไม่สามารถทนอยู่เพียงลำพังได้
-
ฉันรู้สึกขาดเพื่อน
-
ฉันรู้สึกเหมือนไม่มีใครเข้าใจฉันเลย
-
ฉันรอคอยให้ใครสักคนโทรมาหาหรือเขียนถึง
-
ไม่มีใครที่ฉันสามารถพึ่งพาได้
-
ฉันไม่รู้สึกสนิทสนมกับใครเลย
-
ความสนใจและความคิดต่างๆ ของฉันดูจะไม่มีส่วนร่วมกับคนอื่นเลย
-
ฉันรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง
-
ฉันรู้สึกเหมือนอยู่เพียงลำพัง
-
ฉันไม่สามารถเข้าถึงหรือสื่อสารกับคนรอบข้างได้
-
ความสัมพันธ์กับคนในสังคมเป็นไปในแบบผิวเผิน
-
ฉันโหยหาใครสักคนที่จะเป็นเพื่อน
-
ไม่มีใครรู้จักฉันดีพอ
-
ฉันรู้สึกตัดขาดจากคนอื่น
-
ฉันไม่มีความสุขเวลาแยกตัวออกมา
-
เป็นเรื่องยากที่ฉันจะมีเพื่อนสักคน
-
ฉันรู้สึกถูกกีดกันและปิดกั้นจากคนอื่นๆ
-
คนที่อยู่รอบข้างฉันไม่ได้ไปด้วยกันกับฉัน
ระบบการให้คะแนน ข้อ ก. = 3 ข้อ ข. = 2 ข้อ ค. = 1 ข้อ ง. = 0 คนที่ได้คะแนนสูงจะถือว่าเป็นคนเหงา
แดเนียล รัสเซลล์ (Daniel Russell) และแอนน์ เพเพลา (Anne Peplau) ผู้จัดทำ UCLA Loneliness Scale ได้ใช้กลุ่มนักศึกษาชายและหญิงที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเป็นผู้ทดสอบ และ Loneliness Scale ยังได้รับการปรับปรุงคำถามและการให้คะแนนใหม่ในปี 1980 และปี 1996 จนต่อมาได้กลายเป็นแบบทดสอบที่ใช้โดยทั่วไป
สองเงาของความเหงา
ในขณะที่ UCLA Loneliness Scale ใช้ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่เนเธอร์แลนด์และประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศนั้นเลือกใช้ De Jong Gierveld Loneliness scale ซึ่งแบ่งแยกความเหงาออกเป็นความเหงาเชิงสังคม (Social Loneliness) และความเหงาเชิงอารมณ์ (Emotional Loneliness) ประกอบด้วยคำถาม 6 ข้อ ได้แก่
-
ฉันรู้สึกได้ถึงความว่างเปล่า
-
ฉันคิดถึงช่วงเวลาที่มีคนอยู่รอบๆ ตัวฉัน (ความเหงาเชิงอารมณ์)
-
ฉันรู้สึกถูกปฏิเสธ (ความเหงาเชิงอารมณ์)
-
ในยามที่ฉันมีปัญหายังมีคนจำนวนหนึ่งที่ฉันพึ่งพาได้ (ความเหงาเชิงสังคม)
-
มีคนมากมายที่ฉันเชื่อสนิทใจจริงๆ (ความเหงาเชิงสังคม)
-
มีคนจำนวนหนึ่งที่ฉันรู้สึกผูกพันใกล้ชิด (ความเหงาเชิงสังคม)
ข้อ 1-3 เป็นคำถามความเหงาเชิงอารมณ์ที่มีลักษณะเป็นลบ (negative) คำตอบ 1. ใช่ 2. บางครั้ง 3. ไม่ จะมีคะแนนเท่ากับ 1, 1 และ 0 ตามลำดับ ข้อ 4-6 ความเหงาเชิงสังคมที่มีลักษณะเป็นบวก (positive) คำตอบ 1. ใช่ 2. บางครั้ง 3. ไม่ จะมีคะแนนเท่ากับ 0, 1 และ 1 ตามลำดับ คนที่ได้คะแนนสูงสุด 6 คะแนนจะมีค่าความเหงาสูงที่สุด ในขณะที่ 0 คือมีค่าความเหงาน้อยที่สุด
แน่นอนครับว่าการใช้แบบทดสอบนี้ยังมีรายละเอียดและปัจจัยที่ต้องควบคุมในการศึกษา ซึ่งก็ทำให้แดเนียล รัสเซลล์หนึ่งในผู้จัดทำ UCLA Loneliness Scale ยอมรับว่าแบบทดสอบนี้อาจให้ผลที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงได้
อย่างไรก็ตามผู้เขียนคิดว่า ไม่เสียหายอะไรที่เราจะทดลองดูว่าเราเป็นคนเหงาหรือไม่ อย่างไร
อ้างอิง
Journal of Personality and Social Psychology, 1980, Vol. 39, No. 3, 472-480
Clark E. Moustakas, Loneliness (New Jersey : Prentice-Hall, 1961)
Lars Svendsen, A Philosophy of Loneliness, (London: Reaktion Books, 2018)วสันต์ ลิมป์เฉลิม, สู่ทฤษฎีความเหงาที่อิงตัวตน, (กรุงเทพฯ: วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2009)
Tags: The Anatomy of Loneliness, UCLA Loneliness Scale, Soliloquy, loneliness, UCLA, The Lonely Crowd