สถาบันครอบครัว แม้ว่าจะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม แต่ก็เป็นสถาบันที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อตัวเรา หล่อหลอมให้เด็กๆ ทุกคนเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ เปรียบเสมือนรากฐาน ซึ่งไม่ได้มีความสำคัญแค่กับสังคม แต่ยังรวมไปถึงเศรษฐกิจและการเมืองด้วย
แต่ลักษณะครอบครัวก็มีหลากหลาย ด้วยเงื่อนไขของสังคม พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องทำงานหนัก บ้างไม่มีเวลาให้ลูก บ้างไม่ได้อยู่ร่วมกัน ทำให้เด็กๆ ถูกปล่อยปละละเลย เติบโตขึ้นท่ามกลางความโดดเดี่ยว และอาจเลือกเข้าหาสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่มีพื้นที่ให้กับตนเอง แต่หากโชคไม่ดีก็อาจต้องเผชิญปัญหาหลากหลายรูปแบบ
อย่างไรก็ดี ความอบอุ่นจากครอบครัวถือเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่อาจช่วยรองรับปัญหาหากคนคนหนึ่งเจออุปสรรคในชีวิต ไม่เช่นนั้นแล้ว ทุกอย่างที่เคยมีมาอาจพังทลายลงไม่ต่างจากภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่องนี้
Precious (2009)
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลขวัญใจผู้ชมในเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต ปี 2009 รวมถึงคว้าหัวใจผู้ชมไปมากมายด้วยเรื่องราวอันหนักหนาสาหัสของเด็กผู้หญิงผิวดำคนหนึ่ง
Precious เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนิยายของแซฟไฟร์ ซึ่งเขียนขึ้นในปี 1996 กำกับโดยลี เดเนียล ภาพยนตร์ได้รับคำวิจารณ์ที่ดีและรางวัลต่างๆ ไปอย่างท่วมท้น ทั้งยังได้รับการเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 3 สาขา
แม้จะมีคำกล่าวว่าชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกทางที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แต่บ่อยครั้งทางเลือกที่มีให้ก็ดูจะเป็นไปไม่ได้เลย และก็ยากเต็มทีที่จะหลุดพ้นจากบางสิ่ง
ชีวิตของเด็กสาว แคลรีซ พรีเชียส โจนส์ บ่งบอกสิ่งนี้ได้เป็นอย่างดี เธอผิวดำ อ้วน หน้าตาไม่สะสวย ฐานะยากจน ถูกแม่ทำร้ายร่างกายอยู่เสมอ และที่เลวร้ายไปกว่านั้น เธอถูกพ่อล่วงละเมิดทางเพศจนคลอดลูกออกมาหนึ่งคน และเด็กคนนั้นก็เป็นออทิสติก ถึงอย่างนั้น ทั้งพ่อและแม่ก็ไม่เคยหยุดทารุณเธอเลย แล้วเธอก็ตั้งท้องลูกอีกคน หนำซ้ำแม่ยังรับรู้สิ่งที่พ่อทำกับเธอด้วย
พรีเชียส ไม่เป็นที่รักสำหรับใครเลย ไม่อยู่ในสายตาของคนในสังคม ไร้ตัวตน เติบโตมาท่ามกลางความโสมมของชีวิต ไร้การศึกษา และต้องแบกรับหัวใจที่บอบช้ำ เธอแทบจะสิ้นหวังไปแล้ว จนเมื่อได้พบกับคุณครูเรน ผู้ผลักดันให้พรีเชียสมีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นกำลังใจให้เธอไม่ย่อท้อ และบอกว่าเธอสามารถกล้าหาญได้มากกว่านี้เพียงใด เพราะหัวใจที่กล้าแกร่งจะตอบแทนทุกความมุ่งมั่น
We Need to Talk About Kevin (2011)
หลายคนอาจจะคุ้นหูอยู่บ้างกับภาพยนตร์เรื่องนี้ We Need to Talk About Kevin ภาพยนตร์จากผู้กำกับหญิง ลินน์ แรมซี่ย์ ที่สร้างมาจากนวนิยายชื่อดังรางวัลออเรนจ์ ไพรซ์ ผลงานของไลโอแนล ไชรเวอร์
ในปีที่เข้าฉาย ภาพยนตร์ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ดีไปอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งสร้างความกดดันได้ยอดเยี่ยม รวมถึงการแสดงของทิลด้า สวินตัน และเอซรา มิลเลอร์ ก็ทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน
หลายครั้งที่มนุษย์โดนตั้งคำถามถึงความชั่วร้าย ว่าเพราะเหตุใด ทำไมคนคนหนึ่งถึงลงมือก่อเหตุอันไม่สมควร เขาไม่มีสำนึกผิดชอบชั่วดีงั้นหรือ แล้วอะไรที่บ่มเพาะให้เขากลายเป็นคนแบบนั้น
เช่นเดียวกับอีวา เธอเฝ้าถามตัวเองอยู่เสมอ หลังจากเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นไปแล้ว และเธอก็กำลังได้รับผลกระทบที่ตามมาอยู่ ทั้งโดนตราหน้าจากสังคม โดนรังควานจากเพื่อนบ้าน จมอยู่กับห้วงแห่งความทุกข์ที่เรียกได้ว่าเธอเป็นคนก่อมันขึ้นมาเอง อีวาต้องมานั่งทบทวนว่า เพราะอะไร ลูกชายของเธอจึงกลายเป็นคนเย็นชาและก่อเหตุสังหารหมู่ได้
เนื้อเรื่องดำเนินโดยมีเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันคู่ขนานกันไป ทำให้เราได้เห็นว่า อีวาในอดีตเป็นอย่างไร และเควิน ลูกชายคนโตของเธอเติบโตมาแบบไหน ชีวิตวัยสาวของอีวาเต็มไปด้วยความสุข เธอรักการผจญภัยและเข้ากันได้ดีกับสามี จนกระทั่งเธอท้องไม่พร้อมและคลอดเควินออกมา อัวาเปลี่ยนไปกลายเป็นคนละคน ไม่มีความสุขกับการเป็นแม่ เลี้ยงลูกอย่างขอไปที และขัดใจเด็กชายคนนี้ทุกครั้งไป อีวาทำทุกอย่างไปโดยที่ไม่รู้เลยว่าทุกการกระทำนั้นหยั่งรากลึกลงไปในจิตใจของเควินขนาดไหน พฤติกรรมของเขาที่มีต่อแม่จึงห่างเหินและเย็นชา ทั้งที่ความจริงเขาก็เป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่ต้องการความรักความอบอุ่นจากแม่ก็เท่านั้น และเมื่อไม่ได้มันกลับมา เขาจึงแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนชีวิตครอบครัวไปตลอดกาล
Tokyo Sonata (2008)
Tokyo Sonata ภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาครอบครัวได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่ง หากใครได้ดูก็คงจะคิดไปในทิศทางเดียวกัน ภาพยนตร์นี้กำกับโดยคิโยชิ คุโรซาวะ ซึ่งที่ผ่านมา ผลงานส่วนใหญ่ของเขาจะเน้นหนักไปที่ภาพยนตร์แนวสยองขวัญเสียมากกว่า
อย่างที่รู้กันดีว่าสังคมญี่ปุ่นมีทั้งด้านที่เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะในแง่สังคม การเมือง หรือเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีด้านที่บั่นทอนชีวิตอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งความเครียดสูง ความรับผิดชอบที่ต้องมาก่อน อัตราการฆ่าตัวตายมากติดอันดับโลก โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปส่งผลให้เศรษฐกิจโตช้าลง และปัญหาเชิงสังคมอื่นๆ
Tokyo Sonata ตีแผ่วิกฤตครอบครัวของคนชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ในยุคที่คนในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง ช่องว่างทางความรู้สึกที่มากขึ้น ความเป็นมนุษย์ต่อกันค่อยๆ แห้งเหือดไป และทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้นกับครอบครัวซาซากิ ซึ่งประกอบด้วยกัน 4 คน ริวเฮ พ่อผู้เงียบขรึม เสาหลักของบ้านที่โดนไล่ออกจากงาน แต่ไม่กล้าบอกให้คนในครอบครัวรู้ เขายังคงแสร้งออกไปทำงานตอนเช้า พร้อมกับการพยายามหางานใหม่ เมงุมิ แม่บ้านเต็มตัวที่ดูแลสารพัดอย่างภายในบ้าน ไม่ค่อยมีปากมีเสียง แต่ก็สนใจสารทุกข์สุขดิบของทุกคน ทาเคชิ ลูกชายคนโต เปรียบเสมือนตัวแทนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ อยากเลือกเส้นทางของชีวิตด้วยตัวเอง ใฝ่ฝันจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ และค่อยๆ เหินห่างจากครอบครัวไปทุกที คนสุดท้าย เคนจิ ลูกชายคนเล็ก อยู่ในวัยกำลังโต มีความสนใจการเล่นเปียโน แต่โดนสั่งห้ามจากพ่อ เขาจึงขัดขืนด้วยการนำเงินค่าอาหารไปจ่ายค่าเรียนเปียโนแทน
รอยร้าวเล็กๆ ของครอบครัวนี้ค่อยๆ ซึมลึกเข้าไปทีละน้อย พวกเขาแทบไม่เคยปริปากพูดคุยกัน ไม่บอกสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่บอกความจริงต่อกัน ไม่พยายามทำความเข้าอกเข้าใจกัน ทำให้แต่ละคนค่อยๆ ตีตัวออกห่างจากคำว่าครอบครัวไปเรื่อยๆ ภายใต้สังคมที่แก่งแย่งแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย เศรษฐกิจตกต่ำ ทุกอย่างกระทบจนสะเทือนคำว่าครอบครัว แต่ทุกคนก็เฝ้าแต่จะสนใจเรื่องตัวเอง จนความเหนียวแน่นกลายเป็นความเมินเฉยเพื่อรอวันแตกสลาย
20th Century Women (2016)
20th Century Women ผลงานการกำกับและเขียนบทโดย ไมค์ มิลล์ส ตัวละครแต่ละตัวในเรื่องนี้ของล้วนมีพื้นฐานมาจากคนที่เขารู้จัก เขาสังเกต พูดคุย และเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตมาสร้างเป็นเหล่าสตรีที่จะมีบทบาทสำคัญในภาพยนตร์ของเขาเอง
ภาพยนตร์นำแสดงโดยดาราชั้นนำมากมาย อาทิ แอนเน็ต เบนนิง, แอล แฟนนิง, เกรตา เกอร์วิก และบิลลี่ ครูดัพ หรือย่างหนุ่มน้อย ลูคัส เจด ซูมานน์ ที่อาจจะไม่ได้มีผลงานมากมายเท่าคนอื่นๆ ได้ก็แสดงได้อย่างสมบทบาท และทำให้เราเข้าใจตัวละครได้เป็นอย่างดี
ภาพยนตร์มีฉากหลังเป็นซานตา บาบารา ช่วงปี 1979 เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในปีนั้น เช่น จิมมี่ คาร์เตอร์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปีสุดท้าย เกิดการปฏิวัติในอิหร่าน เด็กสาววัย 16 ปีถือปืนกราดยิงในโรงเรียน โรงงานนิวเคลียร์ในสหรัฐฯ เกิดรั่วไหลครั้งแรก และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ศตวรรษเก่ากำลังจะล่วงผ่าน ศตวรรษใหม่กำลังก้าวเข้ามาแทนที่ โดโรเธีย คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมีอายุห่างจากเจมี่ ลูกชายคนเดียวของเธอถึง 40 ปี ช่องว่างระหว่างวัยบวกกับการเติบโตขึ้นมาแบบคนละยุคสมัยทำให้มีบางอย่างกั้นกลางระหว่างทั้งคู่ ความไม่เข้าใจในตัวแม่และลูกชายไม่ได้ถูกเอ่ยออกมา นั่นยิ่งทำให้ทั้งสองมีความแคลงใจต่อกัน นี่เองจึงทำให้ผู้หญิงสองคนเข้ามามีส่วนร่วมกับการเลี้ยงดูเจมี่ ซึ่งได้แก่ แอบบีและจูลี โดโรเธียคิดว่าเธอคงไม่เข้าใจลูกชายในวัยนี้ได้เท่ากับผู้หญิงสองคนที่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกับลูกเธอ แต่จริงๆ แล้วมันจะเป็นแบบนั้นจริงหรือ ถึงทั้งโดรโรเธียและเจมีจะห่างกันขนาดไหน แต่อย่างไรในวันที่ไม่มีใครเข้าใจเจมีได้เลย อย่างน้อยเขาก็ควรจะมีใครสักคนในครอบครัวให้ได้วิ่งไปนั่งลงข้างๆ สิถึงจะถูก
20th Century Women คือโมงยามของการเปลี่ยนแปลง เป็นการจับมือกันก้าวผ่านช่วงเวลาของการเติบโตและเรียนรู้ ภาพยนตร์ยังบอกอีกด้วยว่าบางครั้งเราก็ต้องยอมปล่อยหัวใจให้แตกสลายเสียก่อน เราถึงจะเรียนรู้โลกใบนี้
Lady Bird (2017)
จากนักแสดงสู่บทบาทผู้กำกับ หลังจากผ่านการทำงานมาร่วมสิบปี เกรตา เกอร์วิกก็ลุกขึ้นมากำกับภาพยนตร์ เธอสร้างภาพยนตร์ Lady Bird ที่เปรียบเสมือนเรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติของเธอเอง จากแรกเริ่มเดิมทีบทภาพยนตร์มีความยาวถึง 350 หน้า แต่เกรตาก็ตัดเหลือเพียง 120 หน้าสำหรับการถ่ายทำ
Lady Bird เป็นเรื่องราวของครอบครัวเล็กๆ ซึ่งมีคริสทีน แม็คเพียร์สัน เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง เธอเป็นเด็กสาวหัวขบถและตั้งชื่อใหม่ให้กับตัวเองว่า เลดี้เบิร์ด
คริสทีนไม่ค่อยพอใจกับชีวิตตัวเองเท่าไร เธอไม่ชอบเมืองเกิดอย่างซาคราเมนโต ไม่ชอบโรงเรียนคาทอลิกที่เรียนอยู่ ไม่อยากจมปลักอยู่กับชีวิตที่เธอมองมันว่าห่วย และที่สำคัญเธอไม่ลงรอยกับแม่ ครอบครัวของเธอไม่อยู่ในสถานะทางการเงินที่ดีนัก แฟนที่คบกันก็มีความเคลือบแคลงบางอย่าง แม่ไม่อนุญาตให้ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่อยากเรียน พ่อกำลังจะตกงานและป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คล้ายว่าทุกอย่างกำลังถาโถมเข้ามาใส่เธอ
คริสทีนไม่ต่างจากเด็กสาวทั่วๆ ไป เธอแค่อยากมีความรัก ความฝัน ความมั่นคง และอยากเลือกเส้นทางนั้นๆ ด้วยตัวเอง แต่ด้วยความที่ยังไม่เป็นผู้ใหญ่นัก เธอจึงแสดงมันออกมาอย่างหยาบกระด้างไปสักนิดต่อครอบครัวของเธอ แต่อาจจะด้วยปัญหาในการเปิดใจของแม่เธอด้วย ที่มีผลทำให้เธอเลือกที่จะทำแบบนั้น ภายใต้ความไม่เข้าใจกันนั้นมีความปวดร้าวอยู่เต็มไปหมด บทสนทนาในหลายๆ ครั้งแสดงให้เห็นว่าคริสทีนเจ็บปวดขนาดไหน เราจะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร หากหัวใจยังบอบช้ำอยู่
Tags: ครอบครัว, ภาพยนตร์