ไม่ว่าคุณจะรัก เอ็นดู หรือหมั่นไส้กับชื่อของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ แต่คงปฏิเสธได้ยากว่า อดีตเจ้าหญิงคันทรี่ที่กลายร่างมาเป็นอสรพิษสาวแห่งเพลงป๊อปคนนี้ ทรงอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมดนตรีของอเมริกาอย่างมหาศาล เพราะไม่เพียงแต่อัลบั้ม ‘Reputation’ จะทำสถิติถล่มทลายด้วยยอดขายหนึ่งล้านก๊อปปี้ภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ สเตเดี้ยมทัวร์กับความจุกว่าหกหมื่นที่นั่ง ก็ขายหมดเกลี้ยงเป็นเทน้ำเทท่าทั้งในอเมริกาเหนือตลอดจนในยุโรป
การขยับตัวครั้งหนึ่งสวิฟต์สร้างแรงสะเทือนมหาศาลให้วงการเพลงเสมอ ทั้งการเปลี่ยนแนวเพลงจากคันทรี่หวานใสมาสู่โลกจัดจ้านของป๊อปจ๋า ไหนจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเองจากอเมริกันสวีตฮาร์ตเมื่อครั้งยังเด็กมาสู่มาดควีนสาวอสรพิษ… นี่เรายังไม่ได้พูดถึง ‘ดราม่า’ จากเรื่องราวส่วนตัวของเธอที่ไม่ว่าจะทำอะไรกับใคร มักเรียกร้องพื้นที่ใหญ่โตจากหน้าแท็ปลอยด์เสมอ
ย้อนกลับไปในปี 2006 เด็กสาววัย 16 เซ็นสัญญากับ สก็อตต์ บอร์เช็ตตา หัวหอกหลักของค่ายบิ๊กแมชชีนเรคคอร์ดส์ และแจ้งเกิดในแวดวงคนฟังเพลงคันทรี่ด้วยอัลบั้มที่ชื่อเดียวกันกับเธออย่าง ‘Taylor Swift’ พร้อมเพลงหวานซึ้ง –ที่เธอแต่งร่วมกับ ลิซ โรส นักแต่งเพลงคันทรี่ เล่าความรักและความเศร้าในชีวิตวัยรุ่นของเธออย่างเพลง Tim McGraw, Teardrops on My Guitar และ Our Song ซึ่งพุ่งทะลุชาร์ตเพลงบิลล์บอร์ดทันทีที่มันถูกปล่อยออกจากคลื่นวิทยุ แต่เหนืออื่นใดคือการที่เธอถูกจดจำในฐานะนักแต่งเพลงสาวมากพรสวรรค์ (แถมยังเลือกอยู่ในวงการคันทรี่ที่ตลาดแคบกว่าเพลงป๊อปอีกนะ!) และภาพลักษณ์สาวน้อยวัยใสที่ส่งให้เธอกลายเป็นขวัญใจชาวอเมริกันได้ไม่ยาก
นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเธอเท่านั้น สวิฟต์ดังระเบิดในอีกสองปีถัดมาเมื่อเธอปล่อยอัลบั้มคันทรี่ ‘Fearless’ กับเพลงดังอย่าง You Belong with Me, Love Story และ Fifteen โดยยังคงกลิ่นอายของกีตาร์โปร่งและเนื้อเพลงที่พูดถึงการเป็นเด็กสาวกับความรักไม่สมหวัง ‘Fearless’ ส่งให้สวิฟต์ –ด้วยวัยเพียง 19 ปี คว้ารางวัลแกรมมี่มาถึงสี่สาขาด้วยกันในคราวเดียว (กับภาพชวนเหวอที่กลายเป็นไวรัลไปทั่วเมื่อเธอโอบรางวัลแกรมมี่ทั้งหมดไม่ไหวจนทำหล่นต่อหน้าต่อตานักข่าวนั่นเอง) ก่อนที่ในอีกสองปีถัดมา สวิฟต์จะปล่อย ‘Speak Now’ อัลบั้มที่ยังคงกลิ่นอายความเป็นคันทรี่และเปิดตัวอันดับหนึ่งบนชาร์ตบิลล์บอร์ด 200 กับยอดขายสัปดาห์แรกที่พุ่งไปจนถึง 1,047,000 อัลบั้ม เหนืออื่นใดคือเป็นอัลบั้มที่เธอเขียนเพลงเองทุกแทร็ค และมีเพลงที่เราต่างน่าจะเคยได้ยินกันอย่าง Mine, Sparks Fly และ Enchanted
ปี 2012 สวิฟต์จัดการเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองด้วยการปล่อยอัลบั้ม ‘Red’ ที่เธอบอกว่าผสมดนตรีแนวป๊อปกับคันทรี่อย่างละครึ่ง กับภาพลักษณ์ใหม่ที่เธอตัดหน้าม้าและใส่กางเกงขาสั้นโชว์เรียวขา เปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวจากที่ใส่เดรสหวานๆ ลายดอกไม้มาสู่เสื้อยืดเก๋ๆ กับเพลง We Are Never Ever Getting Back Together, I Knew You Were Trouble และ Red ตัวอัลบั้มเข้าชิงรางวัลอัลบั้มคันทรี่ยอดเยี่ยมจากแกรมมี่ (แต่พ่ายให้อัลบั้ม ‘Same Trailer Different Park’ ของ เคซีย์ มัสกราเวส) และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากแฟนเพลงอย่างหนักในฐานะที่มัน ‘ไม่มีความเป็นคันทรี่มากพอ’ ที่จะเข้าชิงสาขานี้
อย่างไรก็ตาม เวลานี้เองที่ผู้คนต่างจับจ้องชีวิตส่วนตัวของสวิฟต์จนชื่อของเธอปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์แท็ปลอยด์บ่อยๆ จากการเขียนบทเพลงถึงคนรักเก่า (และไปๆ มาๆ ก็กลายเป็น ‘เกม’ ที่หลายคนเดาทุกครั้งที่เธอปล่อยเพลงใหม่ออกมาว่าเธอเขียนถึงใคร) โดยเฉพาะหลังการเลิกรากับ เจค จิลเลนฮาล นักแสดงหนุ่มที่ถือว่ามีอิทธิพลและชื่อเสียงอย่างมากในอุตสาหกรรมฮอลลีวูด รวมไปถึง คอร์เนอร์ เคนเนดี เด็กหนุ่มจากตระกูลใหญ่ของอเมริกาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก แฮร์รี่ สไตล์ ผู้ที่ขณะนั้นยังเป็นนักร้องวงบอยแบนด์ One Direction ที่สาวๆ ค่อนโลกคลั่งไคล้ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่แปลกนักหากเราจะกล่าวว่า ชื่อเสียงด้านดนตรีและการประพันธ์เพลงของสวิฟต์ ที่ก็โด่งดังอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อถูกจับคู่เข้ากับชีวิต (รัก) ส่วนตัวของเธอ ก็ยิ่งโหมกระหน่ำชื่อของเธอให้กินพื้นที่หลักในสื่อต่างๆ มากเข้าไปใหญ่
กระทั่งเมื่อเธอปล่อยอัลบั้ม ‘1989’ ออกมาในปี 2014 พร้อมลุคใหม่ที่ทั้งใส่เสื้อคร็อปท็อปและตัดผมบ็อบ (จนแฟนเพลงจากยุคคันทรี่ของเธอบางคนถึงกับ ‘ใจสลาย’ เมื่อเห็นศิลปินอันเป็นที่รักตัดผมสั้นเป็นครั้งแรก!) กับเพลงดังที่กวาดคะแนนนิยมทุกชาร์ตอย่าง Shake It Off, Blank Space และ Style ตัวอัลบั้มคว้ารางวัลอัลบั้มแห่งปีและอัลบั้มป๊อปยอดเยี่ยมจนส่งให้ชื่อของเธอเป็นที่กล่าวถึงอย่างหนาหูในสื่อต่างๆ มากไปกว่านั้นคือการที่เธอแผ่ขยายอิทธิพลไปยังกลุ่มคนกลุ่มอื่นนอกเหนือจากอุตสาหกรรมดนตรี ไม่ว่าจะการเชิญศิลปินรุ่นเก๋าอย่าง สตีเวน ไทเลอร์ (ฟรอนต์แมน Aerosmith), มิค แจ็คเกอร์ (ฟรอนต์แมน the Rolling Stones) ข้ามฟากไปฝั่งนักแสดงจูเลีย โรเบิร์ตส์, วงการนางแบบที่ได้แก๊งเพื่อนสาวจาก Victoria’s Secret มาสมทบบนเวที ไปจนถึงนักกีฬาอย่าง โคบี้ ไบรอันต์ (นักบาสเก็ตบอล) และเหล่านักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ที่ล้วนได้ขึ้นเวทีของเธอทั้งสิ้น
จึงไม่น่าแปลกหากเราจะระบุว่าช่วงปีนี้เองที่ชื่อเสียงของสวิฟต์พุ่งขึ้นทะลุขีดสุด ยิ่งบวกรวมกับชีวิตส่วนตัวที่เธอคบหาดูใจกับคาลวิน แฮร์ริสและทอม ฮิดเดิลสตัน (กับสถิติคบเพียงสามเดือนที่ยิ่งโหมฉายา ‘คาสโนวี่’ ของเธอให้เป็นที่เลื่องลือมากยิ่งขึ้น) แต่เหนืออื่นใดคือกรณีวิวาทกับสองสามีภรรยา คานเย่ เวสต์และคิม คาร์ดาเชียน ที่โหมกระหน่ำชื่อของสวิฟต์ให้กลายเป็นทั้งที่รักและที่ชังของคนค่อนโลก มากไปกว่านั้นคือการที่ข่าวค(ร)าวเหล่านี้ ล้วนเป็นหลักฐานยืนยันถึงชื่อเสียงและอิทธิพลของสวิฟต์ ไม่ว่าเธอจะยินดีโอบกอดมันหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น เมื่อเธอปล่อย ‘reputation’ ออกมาพร้อมมิวสิกวิดีโอที่ ‘เหน็บแนม’ สารพัดดราม่าที่เกิดขึ้นในชีวิต ชื่อของเธอจึงพุ่งติดทะลุเพดานอย่างที่ไม่ว่าใครก็ปฏิเสธไม่ได้
อิทธิพลเช่นนี้ของเธอเองที่ทำให้หลายคนจับตามองดูความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง เมื่อในเดือนพฤศจิกายนนี้ สวิฟต์กำลังจะหมดสัญญากับบริษัทบิ๊กแมชชีนเรคคอร์ดส์ที่เธอเซ็นสัญญามาตั้งแต่อายุ 16 และนั่นจะทำให้เธอกลายเป็นศิลปินอิสระ ซึ่งทำให้หลายคนจับตามองโดยเฉพาะเรื่องของลิขสิทธิ์เพลงอัลบั้มก่อนหน้าของเธอจะตกอยู่ที่มือของใคร ค่ายเพลงหรือเธอเอง นี่เรายังไม่ได้พูดถึงกรณีที่หากเธอจะเปลี่ยนมาเป็นผู้กุมบังเหียนทั้งหมดด้วยการเปิดค่ายเพลงใหม่ในนามของเธอเอง ซึ่งน่าจะสั่นสะเทือนวงการยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อเรามองย้อนไปยังอิทธิพลในแวดวงมากมายที่เธอเคยเหยียบย่างไปถึง ทั้งอุตสาหกรรมฮอลลีวูด นางแบบ หรือแม้แต่กีฬา
ทั้งหมดนี้จึงน่าจะเป็นคำตอบว่าทำไมการกลายเป็นศิลปินอิสระของนักร้องสาวเพลงป๊อปคนหนึ่งกลายเป็นคลื่นที่รอวันถล่มอุตสาหกรรมดนตรีเช่นนี้
“ก่อนหน้านี้มันไม่เคยมีกรณีที่ศิลปินระดับยักษ์ในยุคดิจิตอลแบบนี้มาเป็นศิลปินอิสระน่ะสิ” ดักจ์ เดวิส นักกฎหมายในแวดวงดนตรีให้ความเห็น “ในนาทีนี้ ผมว่าเทย์เลอร์ สวิฟต์ สามารถเขียนสัญญาหรือสร้างเงื่อนไขใหม่ๆ ขึ้นมาได้เองด้วยซ้ำ หากเธอตั้งเป้าอยากทำเงินมหาศาลและทำงานร่วมกับศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ ผมว่าเธอก็ทำได้ หรือหากเธออยากสร้างอะไรขึ้นมาใหม่เองจริงๆ แบบที่ฉีกโครงสร้างระบบทุนนิยมไปเลย เธอก็ทำได้อีกเหมือนกันแหละ ซึ่งตรงนี้นี่เองที่ผมว่ามันช่างน่าตื่นเต้นจริงๆ”
ฉะนั้น เงื่อนไขหลักๆ ที่หลายคนจับตาจึงน่าจะเป็นประเด็นสุดท้ายที่เดวิสออกความเห็นมากกว่า นั่นคือการเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งใช่ว่าสวิฟต์จะไม่เคยทำมาก่อน เพราะครั้งหนึ่ง สวิฟต์ในวัยเพียง 24 ปีเคยถอนเพลงทั้งหมดของเธอออกจากระบบสตรีมมิงออกเพื่อประท้วงความไม่ชอบธรรมในการเสพดนตรีของคนยุคใหม่ รวมถึงเคยชนกับบริษัทแอปเปิลครั้งใหญ่เมื่อเธอออกมาวิจารณ์บริษัทดังว่าไม่ยอมจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์เพลงให้ศิลปินเป็นเวลานานถึงสามเดือนในระบบการฟังเพลงผ่านแอปเปิล มิวสิก สตรีมมิงเซอร์วิส จนบริษัทแอปเปิลต้องยอม ‘ลง’ ให้เธอในคราวนั้น
ทิศทางความเป็นไปได้ที่มากที่สุดสำหรับอนาคตของสวิฟต์คือการที่เธอจะออกมาทำเพลงรวมถึงค่ายเพลงเอง และนั่นอาจหมายความว่าเธออาจปลุกปั้นศิลปินหน้าใหม่ไปพร้อมๆ กับทำเพลงของตัวเองไปพลางๆ เป็นที่รู้กันว่าสวิฟต์นั้นชื่นชอบการทำเพลงร่วมกับศิลปินคนอื่นเสมอ ไม่ว่าจะชื่อดังหรือไม่ก็ตาม และเธอมักให้ความสำคัญกับเหล่าศิลปินที่เพิ่งออกเดินในก้าวแรกๆ เสมอ (อย่างที่เธอเชื่อว่าเธอได้รับโอกาสอันดีนั้นในวัย 15 ปีจาก สก็อตต์ บอร์เช็ตตา ผู้ก่อตั้งค่ายบิ๊กแมชชีนที่ให้เธอเซ็นสัญญาทำเพลงตั้งแต่ยังเด็ก) หากนี่เป็นไปได้จริง โอกาสที่เธอจะ ‘เขย่า’ อุตสาหกรรมเพลงอีกคราวนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้แน่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจนกว่าจะถึงเดือนพฤศจิกายนอันเป็นจุดสิ้นสุดสัญญาระหว่างเธอและค่ายเพลงนี้
Tags: Taylor Swift, pop music, country music