1968 เป็นปีแห่งการก่อกบฏในเยอรมนี นอกจากนักศึกษาที่พากันปฏิเสธระบบการศึกษาแบบแผนเก่า และแสวงหาโมเดลสังคมรูปแบบใหม่แล้ว ในเรื่องของเซ็กซ์ ก็ล่วงเข้าถึงจุดที่คนรุ่นใหม่ในสังคมปรารถนาจะปฏิวัติด้วย
ช่วงปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีตะวันตกพยายามจัดระเบียบศีลธรรมจรรยาเกี่ยวกับเรื่องเพศใหม่ ที่เต็มไปด้วยข้อห้ามและคำข่มขู่ เช่น ใครสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองจะเสี่ยงต่อภาวะไขสันหลังส่วนหลังอักเสบ (Tabes dorsalis) หรือมือเปื่อย และการสำเร็จความใคร่ในเพศหญิงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
‘เรื่องเพศ’ กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนเลี่ยงจะพูดถึง เป็นเรื่องน่าอาย และเป็นเรื่องที่ควรเก็บซ่อนให้พ้นหูพ้นตาเด็กและเยาวชน เหตุผลหลักมาจากความพยายามที่จะตั้งกฎระเบียบสังคมขึ้นใหม่ เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไป ลบเลือนจากภาพเลวร้ายจากสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ต้องมีคำถาม ไม่ต้องมีคำตอบ แทบทุกชีวิตต้องการปรับเข้าสู่โหมด ‘บริโภค’ อย่างเดียว
“แม่เคยคาดหวังจากฉันว่า อย่างช้าที่สุดตอนฉันอายุยี่สิบปลายๆ ฉันควรจะได้แต่งงานกับหมอหรือทนายฐานะดีสักคน มีลูกและบ้านที่อบอุ่น จนกระทั่งแม่มาพบว่า ตอนอายุยี่สิบเอ็ด ฉันมีเซ็กซ์กับแฟนคนแรก แม่เลยเรียกฉันเป็นผู้หญิงแพศยา” อูลริเก ไฮแดร์ (Ulrike Heider) นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ซึ่งเคยร่วมในเหตุการณ์ปฏิวัติของนักศึกษาช่วงปี 1968 เล่าประสบการณ์ให้ฟังในผลงานหนังสือของเธอ
กระทั่งเริ่มมียาคุมกำเนิดออกวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 1960 และในเยอรมนีเมื่อปี 1961 โดยบริษัท เชริง เบอร์ลิน ทำให้เกิดความหมิ่นเหม่ขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้นที่คอนราด อาเดเนาแอร์ (Konrad Adenauer) ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และบ่มเพาะแนวความคิดอนุรักษ์นิยมแบบสุดขั้ว ยาคุมกำเนิดกลายเป็นวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ใหม่ที่เปิดโอกาสให้กับคนทั้งสองเพศ ไม่เพียงแต่จะพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์ หากยังทำให้ฝ่ายหญิงรู้สึกเป็นเอกเทศอีกด้วย พวกเธอสามารถวางแผนครอบครัวได้ด้วยตนเอง และยังสามารถเรียนต่อจนสำเร็จระดับมหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ต้องติดกับเงื่อนไขเรื่องแต่งงานแล้วมีลูกอยู่กับบ้าน
กลางทศวรรษ 1960s กระแสเรื่องเพศเริ่มกระจายตามสื่อต่างๆ ทั้งสื่อโฆษณา นิตยสาร รวมไปถึงหนังสือแนววาบหวิว ก็อวดเนื้อหนังมังสาของสตรีเพศมากขึ้น มีการปฏิรูปทางเพศ โดยเฉพาะออสวัลต์ คอลเล (Oswalt Kolle) นักข่าว นักเขียน และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ‘ราชาไขข้อข้องใจเรื่องเซ็กซ์’ ได้หยิบเอาประเด็นเรื่องเพศมาขยาย คล้ายเพศศึกษาบนแผ่นฟิล์ม จนกระทั่งกระทรวงการศึกษาและวิจัยได้บรรจุหลักสูตรเพศศึกษาไว้ในวิชาเรียนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในช่วงทศวรรษ 1970s
แต่หนุ่มสาวนักปฏิวัติตามสถานศึกษารุดหน้าไปไกลกว่านั้น นอกเหนือจากความสนใจในเรื่องการปฏิวัติสังคมแล้ว พวกเขายังพร้อมจะปฏิวัติวัฒนธรรมและเรื่องเพศด้วย เพื่อให้เรื่องความรักและเรื่องเซ็กซ์หลุดพ้นจากโซ่ตรวนทางศีลธรรมของคริสตจักรและรัฐ
รูปแบบใหม่ของความรักและชีวิตครอบครัวที่แตกต่างจากกรอบเดิมๆ ในอุดมคติของคนหนุ่มสาวก็คือ ‘คอมมูน’ ลักษณะเป็นห้องพักอพาร์ตเมนต์รวม ซึ่งผู้คนที่ยังไม่แต่งงานสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ รวมถึงมีเพศสัมพันธ์กันแบบไม่ผูกมัดได้ด้วย
มีการก่อตั้งกลุ่มสัมมนาและคณะทำงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันปัญหา และหากใครเกิดตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจขึ้นมา ก็สามารถทำแท้งได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด กำแพงเกี่ยวกับเซ็กซ์จึงทลายลง ทุกคนปรารถนาจะ ‘เสพ’ มากกว่า ‘สืบ(พันธุ์)’
ทั้งหมดนั้นเป็นความพยายามของคนเจเนอเรชันหนึ่งที่จะพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า พวกเขาแตกต่างจากอาชญากรคนสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ สโลแกนอย่าง ‘Make love, not war’ น่าจะบอกชัดเจนว่า เซ็กซ์เป็นเรื่องดี ที่ตอนนี้ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านความชั่วร้าย
ทว่าปัญหาใหญ่ก็มีขึ้นในระหว่างนั้นเช่นกัน นั่นคือ ทุกคนปฏิวัติเพื่อให้เซ็กซ์เป็นในแบบที่ควรเป็น แต่กลับไม่มีการหยิบยกเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศมากล่าวถึง ผู้หญิงหลายคนรู้สึกกดดันจากประโยคคำพูดอย่าง “ใครที่หลับนอนกับคนคนเดิม ถือว่าเป็นพวกคร่ำครึ” หรือเวลาประชุมสัมมนา ผู้หญิงมักจะถูกดักคอว่า “เธอน่าจะไปพิมพ์ใบปลิวมากกว่าพูด หรือคนนี้เป็นแค่ ‘แฟนสาว’ ของ…” จนกระทั่งเกิดกระแสการปฏิวัติครั้งที่สองขึ้น โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิง หรือที่เรียก ‘เฟมินิสต์’ นั่นเอง
การปฏิวัติเซ็กซ์ปี 1968 คงไม่ถูกมองว่าล้มเหลว หากชีวิตเซ็กซ์เป็นไปตามอุดมการณ์ของทุกฝ่าย
แล้ววันนี้เล่า หลังจากการปฏิวัติเซ็กซ์ผ่านไป 50 ปี ชาวเยอรมันยังต้องตั้งคำถามหรือตัดสินใจในเรื่องเซ็กซ์อยู่อีกไหม?
ภาพแสดงออกทางเพศปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งในเยอรมนี ทั้งในหนัง ในโฆษณา ในนิตยสารไลฟ์สไตล์ หรือในวัฒนธรรมป็อป ภาพยั่วยุทางอารมณ์ก็มีให้ดูกันอย่างเหลือเฟือทางอินเทอร์เน็ต มีการแสดงออกถึงรสนิยมทางเพศของผู้คนอย่างชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีงามหรือน่าละอายสำหรับคนทั่วไป แต่ทุกคนมีเสรีภาพ ทั้งในเรื่องความรักและเซ็กซ์ รวมถึงการแสวงหาให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ
ในการแสวงหานั้นเอง สะท้อนถึงการบังคับเคี่ยวเข็ญในใจของทุกคน ว่าจะต้องมีเซ็กซ์ที่ ‘ดี’ และ ‘ประสบความสำเร็จ’ ให้ได้
Fact Box
ช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติ ‘เซ็กซ์’
จากอดีตในยุคอาณาจักรไรช์และพรรคนาซี การอภิปรายหัวข้อความสัมพันธ์ทางเพศของคนในสังคมเยอรมันแม้จะเริ่มมีขึ้นบ้าง แต่ขีดวงจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มนักการเมืองแนวอนุรักษ์นิยม ตัวแทนคริสตจักร นักกฎหมาย แพทย์ และสื่อมวลชนเท่านั้น
ต่อมา ปี 1952 รัฐสภาเยอรมันลงมติผ่านร่างกฎหมาย ซึ่งเคร่งครัดและจำกัดเรื่องเพศยิ่งกว่าสมัยนาซี เช่น มีกฎห้ามจัดแสดงหรือจำหน่ายรูปภาพและบทความลามกอนาจาร ห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์อุปกรณ์ป้องกันการตั้งครรภ์ (ยกเว้นถุงยางอนามัย) แม้สิ่งเหล่านี้จะเคยได้รับอนุญาตตามคำสั่งของไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส มาตั้งแต่ปี 1941 อีกทั้งยังห้ามการมีเพศสัมพันธ์ในหมู่คนรักร่วมเพศ การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่สมรส