เดือนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายหวนมาอีกครั้งกับเดือน Pride Month 2025 เดือนแห่งการเฉลิมฉลองของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อผลักดันความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ 

บุญรอด อารีย์วงษ์ ยูทูบเบอร์ชื่อดังจากช่อง Poocao Channel ปรากฏตัวคนเดียวเมื่อถูกนัดสัมภาษณ์ เขาไม่มีพี่เลี้ยง ไม่มีผู้จัดการ และไม่มีผู้ดูแล แววตาและท่าทีนั้นเต็มไปด้วยความมั่นใจ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และใช้ชีวิตได้เหมือนคนอื่นๆ 

บุญรอดเต็มไปด้วยพลังงานที่ดีและรอยยิ้มในขณะที่ร่วมงานกันเสมอ ซึ่งสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเห็น บุญรอดเป็นดั่งตัวแทนแห่งผู้มีความไม่สมบูรณ์ทางร่างกาย และอยู่ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่สร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงความสุขให้แก่ผู้ชมได้เสมอ

หลายคนอาจเคยเห็นบุญรอดในสื่อโซเชียลฯ ด้วยคอนเทนต์ที่สร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้คน แต่กว่าชีวิตของบุญรอดจะมาอยู่ในจุดนี้ได้ผ่านอะไรมามากมาย 

วันนี้ The Momentum ได้ร่วมพูดคุยถึงชีวิตที่ผ่านมาของบุญรอด เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ เป็นกระบอกเสียง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นในแคมเปญ ‘Just Don’t Judge’ ของแสนสิริอีกด้วย เพราะ ‘ความไม่สมบูรณ์ไม่ใช่ความพิการ แต่คือสิ่งพิเศษที่โผล่ขึ้นมาในตัวเรา’

ชีวิตของ ‘บุญรอดไม่น่ารอด’ เกิดอะไรขึ้นตอนลืมตามาดูโลกครั้งแรก

กว่าบุญรอดจะได้เฉิดฉายและเติบโตมาสร้างความสุขให้แก่คนอื่น ชีวิตตั้งแต่แรกเกิดก็ผ่านความยากลำบากมาแสนสาหัส บุญรอดคลอดก่อนกำหนดด้วยวัยเพียง 7 เดือน และอยู่ในตู้อบนานกว่า 3 เดือน และโชคร้ายกว่านั้นคือ เขาตรวจพบ ‘มะเร็งตับ’ ในวัยทารก

การรักษามะเร็งได้กินเวลานานกว่า 1 ปี เป็นผลให้บุญรอดต้องนอนอยู่เฉยๆ กล้ามเนื้อในร่างกายจึงยึดและไม่เติบโตเท่าเด็กคนอื่นๆ ซึ่งกระทบต่อการพูด การกิน การเดิน รวมถึงการใช้ชีวิตในทุกๆ ด้าน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายกว่าบุญรอดจะสามารถใช้ชีวิตอย่างคล่องแคล่วได้เช่นนี้

รู้สึกอย่างไรกับการถูกตัดสินหรือถูกตีกรอบว่า เป็น ‘คนพิการ’ และ ‘เกย์’ เคยโดนตัดสินแบบนี้บ้างไหม

เราถามคำถามนี้ภายใต้หัวข้อ ‘Just Don’t Judge’ บุญรอดตอบทันทีหลังจากที่เราถามเสร็จว่า “เคยโดนตัดสินมาตลอด และรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่าอะไรเลย” จากนั้นจึงพูดถึงการที่ตนเองถูกตีกรอบและตัดสินจากคนอื่น ซึ่งคงเป็นคำตอบที่แทนใจใครหลายๆ คน

 “การสร้างกรอบให้คนอื่นมัน ‘ไม่เลิศ’ ทำไมถึงต้องมาสร้างกรอบให้กับพวกเรา มันไม่แฟร์กับคนที่มีความแตกต่างและหลากหลาย เรารู้สึกว่าความคิดแบบนี้ควรหายไป และไม่ควรมีกรอบให้ใคร”

เพราะการตีกรอบของคนในสังคมกำลังกดขี่และตัดสินเพื่อนมนุษย์ โดยไม่ได้อิงจากความเป็นจริงในชีวิตของเขา การตีกรอบนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ฉุดรั้งความเท่าเทียมไม่ให้เกิดขึ้น เพราะนำไปสู่การตัดสินคนจากภายนอก ถูกกีดกัน และไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม

ร่างกายไม่แข็งแรงไม่ใช่ ‘ปมด้อย’ แต่เป็นเพียง ‘อุปสรรค’ ในชีวิต

“มันมีอุปสรรคเยอะมาก” บุญรอดกล่าว และอธิบายต่อไปอีกว่า

“ตั้งแต่ชั้นอนุบาล บุญรอดโดนสร้างกรอบว่า คนพิการเรียนไม่ได้ ก็จะไม่มีการรับบุญรอดเข้าเรียนเลย เพราะกลัวเราเป็นภาระของคุณครู ซึ่งบุญรอดมองว่ามันไม่แฟร์

“กับการทำงานก็ตาม ก็จะมีกรอบว่าคนพิการทำงานไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งเราเรียนจบพร้อมเพื่อนเหมือนกันสี่ปี รับปริญญาเหมือนกัน ทำไมเราไม่ได้ทำงาน เพราะแค่เราพิการเหรอ”

บุญรอดศึกษาปริญญาตรีและโทที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเพื่อนๆ ในคณะดูแล ให้การยอมรับ และสนับสนุนในตัวเขามาเสมอ คำถามเหล่านั้นถูกพรั่งพรูออกมากับความไม่ยุติธรรมในการหางานทำ เขาบอกอีกว่า สิ่งนี้ไม่ยุติธรรมกับคนพิการ รวมถึงการที่สังคมมองว่า คนพิการช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึ่งเห็นได้จากการที่คนพิการประกอบอาชีพได้น้อยมาก เพราะบุญรอดเชื่อว่า ทุกคนมีศักยภาพในการทำงาน เนื่องจากเป็นคนคนหนึ่งเหมือนกันที่อยู่ในสังคม

แล้วกว่าจะผ่านอุปสรรคนี้มาได้ คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เรา ‘ทลายบรรทัดฐาน’ หรือ ‘ขีดจำกัด’ ของตัวเอง

“สำหรับบุญรอดคือ ครอบครัว บุญรอดคิดว่าครอบครัวสำคัญในการหล่อหลอมให้เราเป็นแบบนี้ ครอบครัวเป็นคนซัพพอร์ตทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน เรื่องร่างกาย และเรื่องชีวิตประจำวัน บุญรอดคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ”

หากใครรู้จักหรือติดตามบุญรอดจะรู้ดีว่า เขาได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวในทุกๆ ด้าน ทั้งการศึกษา การทำงาน หรือเรื่องเพศในการแต่งหญิง ซึ่งถือเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งที่ทำให้เด็กที่ถูกสังคมตีตราตั้งแต่เกิดเติบโตมาอย่างดี และกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นในทุกวันนี้

เหตุเพราะครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานที่เล็กที่สุดของสังคมและทรงอิทธิพลต่อเด็ก หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว’ เช่นนั้นครอบครัวก็คงไม่ต่างอะไรจากจิตรกรที่จะสร้างสรรค์งานลงบนผืนผ้า จะป้ายสีฉูดฉาด สดใส หรือหม่นหมองเช่นไรให้เด็กก็ขึ้นอยู่กับการอบรมบ่มนิสัยของคนในครอบครัวนั้นๆ

“ครอบครัวบอกว่า บุญรอดไม่ได้พิการ แค่แตกต่างจากคนอื่น เรามีทุกอย่างเหมือนคนอื่น แต่อาจจะไม่ 100% เพราะฉะนั้นบุญรอดไม่เคยมองว่าบุญรอดพิการเลย มองว่าตัวเองอาจจะมี ‘สิ่งพิเศษ’ โผล่ขึ้นมามากกว่า มันทำให้บุญรอดมั่นใจว่าเราจะเรียนได้ ทำอะไรได้ เพราะงั้นไม่มีอุปสรรคอะไรเลย”

‘เกย์และความพิการ’ เป็นอาวุธที่คนใช้ทำลายเราอยู่หรือเปล่า

  “บุญรอดมองว่าคนที่ไม่ยอมรับเรื่องเพศของเราคือ คนที่มีเจนเนอเรชันต่างกันมากกว่า ถ้าคนในเจนฯ เดียวกันมีน้อยคนมากที่จะไม่ยอมรับในตัวบุญรอด เราเข้าใจว่า คนสมัยก่อนมองเพศมีแค่ 2 เพศ แต่ในปัจจุบันมีเพศเยอะมาก คนสมัยนี้เข้าใจความหลากหลายมากขึ้น เราก็คือตัวเรา” 

บุญรอดตอบไปในทิศทางที่ดี พร้อมกับเข้าใจในทัศนคติและมุมมองที่ต่างกันเพราะช่วงวัย การที่คนรุ่นใหม่เข้าใจความหลากหลายมากขึ้นจึงเป็นหมุดหมายที่ดีของสังคม ซึ่งใกล้กับเส้นความเท่าเทียมขึ้นเรื่อยๆ ก่อนเขาจะเล่าถึงเหตุการณ์ในชีวิต และการจัดการกับสายตาคนรอบตัวต่อไปว่า

“มีวันหนึ่งบุญรอดแต่งหญิงไปขึ้นบีทีเอส แต่งหน้าจัดเต็มมาก คนมองว่าทำไมเราแต่งตัวแปลกจัง เราทำงานอะไรนะ ซึ่งบุญรอดแค่ทำงานหาเงินเพื่อตัวเอง เราจึงแคร์แค่ตัวเอง ไม่ต้องไปแคร์คนอื่นเลย”

ด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งขนาดนี้ มีการกระทำไหนที่ทำให้เราเจ็บหรือเสียน้ำตาบ้างไหม

บุญรอดเล่าว่า ด้วยความที่เขาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ไม่ว่าจะใน Youtube หรือ TikTok แน่นอนว่าเป็นเรื่องปกติที่คอมเมนต์จากทั่วทุกสารทิศจะหลั่งไหลเข้ามา และทุกคนก็สามารถพูดอะไรก็ได้ แต่มีคำหนึ่งที่เขาจำได้ไม่ลืม ทว่าก็ยังตอบด้วยกำลังใจที่ดี และเข้มแข็งเหมือนที่เป็นว่า

“เราตกใจคอมเมนต์หนึ่งคือคำว่า ‘บุญรอดไม่น่าเกิดมาเลย’ ทำให้เราคิดว่า เขาคิดอะไรอยู่ถึงพิมพ์ออกมาแบบนี้ แต่บุญรอดไม่ได้เก็บมาคิดมากนะ แค่ตกใจ ถึงจะรู้สึกว่าไม่มีค่า แต่ก็ไม่เคยเอาออกมาพูด เราก็แค่ปล่อยไป”

แล้วได้จัดการคำพูดแย่ๆ ที่บูลลีร่างกายและเพศของเราไหม

“ไม่จัดการ ก็แค่ปล่อยไป เพราะคิดว่ามันไม่มีค่าจริงๆ เพราะถ้าเราเก็บมา เราก็จะทุกข์เอง เราเลยไม่คิดอะไรเลย” ซึ่งก็คงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยรักษาแผลและป้องกันหัวใจของใครได้หลายคน

โอกาสหนึ่งในไม่รู้เท่าไรที่ได้มายืนอยู่ในจุดนี้ กับแสงและสาส์นไปถึงภาครัฐ 

เราได้พูดคุยกับบุญรอดว่า ไม่ใช่คนพิการทุกคนที่จะได้รับโอกาสในการทำงาน ยิ่งกับงานหน้ากล้องหรืองานที่มีชื่อเสียงยิ่งน้อยมาก ซึ่งเราอยากให้บุญรอดพูดแทนเขาในฐานะกระบอกเสียง

“ก่อนจะบอกคนพิการด้วยกัน อยากบอกว่าเรื่อง ‘นโยบาย’ สำคัญมาก เพราะคนที่เขาไม่มีงานทำ มันเกิดจากพวกเขาไม่ได้เรียน 

“แล้วทำไมถึงไม่ได้เรียนล่ะ ก็เพราะสวัสดิการไม่ซัพพอร์ตการเรียน เขาไม่ให้คนพิการเข้าไปเรียน คนถึงไม่มีความรู้เข้าทำงาน” 

บุญรอดยังบอกต่อไปอีกว่า นโยบายสำหรับคนพิการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หากจะแก้อะไรต้องเริ่มที่สวัสดิการและโครงสร้างก่อน ซึ่งเขาเห็นควรว่า คนพิการควรได้เรียนหนังสือ เหมือนกับคนอื่นๆ เพราะหากมีใบปริญญาหรือวุฒิการศึกษาก็จะมีโอกาสมากขึ้น ซึ่งเขามองว่านี่คือต้นเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

แล้วในฐานะคนที่ผ่านมันมาได้แล้ว อยากบอกอะไรแก่พวกเขาไหม

“บุญรอดเชื่อว่า คนพิการทุกคนมีศักยภาพ อยากให้ทุกคนดึงมันออกมาใช้ ตอนนี้หลายๆ บริษัทก็รับสมัครงานจากคนพิการเยอะมากขึ้นแล้ว อย่าง ‘แสนสิริ’ ก็รับคนพิการเข้าทำงานเช่นกัน

“บุญรอดว่าสิ่งนี้สำคัญ เพราะหลายองค์กรพูดว่าซัพพอร์ตจริงๆ แต่ไม่ได้ซัพพอร์ตในระยะยาว เหมือนกับแค่พูดว่า ‘เราซัพพอร์ตนะ’ แต่แค่ผิวเผิน อย่างแสนสิริซัพพอร์ตด้วยการรับเข้าทำงานจริงๆ ซึ่งมันยั่งยืนกว่า การซัพพอร์ตคนพิการมันต้องยั่งยืน ไม่ใช่ฉาบฉวย อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากจริงๆ”

 ก่อนบุญรอดจะทิ้งท้ายคำตอบนี้ด้วยรอยยิ้มและให้กำลังใจกับทุกคนว่า

“แล้วก็อยากให้ทุกคนเชื่อมันในตัวเอง ทำได้แน่ๆ รักตัวเองให้มากๆ” 

สุดท้ายนี้ มองว่าสังคมไทยจะหยุดการตีกรอบและตัดสินได้อย่างไรบ้าง

“อันดับแรกคือ ให้ทุกคนหยุด Judge กันก่อน ‘Just Don’t Judge’ เราต้องหยุดตัดสินกันได้แล้ว เพราะบุญรอดคิดว่าถ้าเราไม่ Judge กัน สังคมจะน่าอยู่มากขึ้น

“อันดับที่สองคือ ทุกคนต้องมีความ Respect ซึ่งกันและกัน อันนี้บุญรอดคิดว่าสำคัญ ถ้าคนเรา Respect กัน สังคมก็จะน่าอยู่ และเมื่อถึงเวลานั้น คนก็จะเท่ากันจริงๆ”

เพราะความเท่าเทียมในนิยามของบุญรอดคือ การไม่ตัดสินและมองทุกคนเท่ากัน เพราะทุกคนมีความเป็นคน มีร่างกาย มีจิตใจ มีหัวสมอง แค่ทุกคนเลิกตัดสินกัน ความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นในสังคมนั่นเอง

Tags: , , , , , , , ,