นาทีนี้คงไม่มีซีรีส์เรื่องไหนจะถ่ายทอดความ ‘วายป่วง’ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยเฉพาะในฮอลลีวูดได้ดีและแสนสันไปกว่า The Studio (2025) ซีรีส์ความยาว 10 ตอน ที่ออกฉายทาง Apple TV+ โดยว่าด้วยชายเนิร์ดหนังที่ดันได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสตูดิโอยักษ์ที่กำลังถังแตก และต้องเลือกระหว่างการทำ ‘หนังรางวัล’ กับการทำ ‘หนังตลาด’ ที่จะทำให้พวกเขาโกยเงินล้านกลับมา!
เซ็ท โรแกน (Seth Rogen) รับหน้าที่ทั้งเป็นหนึ่งในทีมสร้าง กำกับ เขียนบท และแสดงนำ โดยเขารับบทเป็น แม็ตต์ นักวิจารณ์หนังที่หลงใหลในโลกภาพยนตร์สุดๆ เขาบูชาคนทำหนังชั้นครูและหนังรางวัล ตลอดจนหนังอิสระทั่วโลก ก่อนจะจับพลัดจับผลูได้มาเป็นผู้บริหารใหญ่ของสตูดิโอคอนติเนนทัล และต้องเจอโจทย์ยากเมื่อต้องรับผิดชอบทำโปรเจกต์หนังกระแสหลักที่จะทำเงินให้สตูดิโอได้ (แม้ใจเขาจะอยากทำแต่หนังรางวัลที่แทบไม่สร้างกำไรแม้สักนิดก็ตาม!)
และทางออกที่น่าจะทำเงินได้มากที่สุดคือ การทำหนังบล็อกบัสเตอร์จากคูล-เอด (Kool-Aid) เครื่องดื่มสัญชาติอเมริกันกับมาสค็อตเหยือกใส่เครื่องดื่มสีแดง ที่มีแขนกับขาป้อมๆ แม็ตต์จึงพยายามทำ ‘หนังรางวัล’ จากโจทย์นี้ (เอ่อ…) ท่ามกลางเสียงคัดค้านของซัล (ไอก์ บารินโฮลต์ซ) เพื่อนสนิทเขาที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานฝั่งโปรดักชันกับ ควินน์ (เชส ซุย วันเดอร์ส) ผู้ช่วยของแม็ตต์ที่ตบตีกับซัลอยู่เนืองๆ รวมทั้ง มายา (แคทริน ฮาห์น) ผู้จัดการฝั่งมาร์เกตติงที่ต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากับการหาทางขายหนังจากไอเดียของแม็ตต์และแพ็ตตี (แคเทอรีน โอฮารา) อดีตผู้บริหารใหญ่ที่เป็นเสมือนรุ่นพี่ของแม็ตต์
พ้นไปจากมุกตลกแยบคายและเข้าเป้าของ The Studio สิ่งที่ทำให้มันถูกพูดถึงมหาศาลคือ การที่แต่ละตอนมีนักแสดงรับเชิญที่หลายคนคุ้นหน้ามารับบทเป็นตัวเอง โดยเฉพาะการปรากฏตัวของ มาร์ติน สกอร์เซซี ตั้งแต่ตอนแรกๆ ในฐานะคนทำหนังที่แม็ตต์บูชาสุดหัวใจ สกอร์เซซีตั้งใจจะทำโปรเจกต์คูล-เอด กับข้อแม้ว่ามันจะเป็นหนังทุนสร้างสูง แถมยังว่าด้วยประวัติศาสตร์การฆ่าตัวตายหมู่ที่ลือกันว่า ทุกคนดื่มคูล-เอดใส่ยาพิษ, สตีฟ บุสเซมี ซึ่งจะมารับบทนำในหนัง (ที่ทำให้มายาเครียดจนจะเสียสติ เพราะไม่รู้จะขายเขาทางการตลาดอย่างไร), เกรตา ลี นักแสดงสาวดาวรุ่งที่รบเร้าขอการบริการชั้นยอดจากแม็ตต์ ไปจนถึง โซอี คราวิตซ์ ที่ตบตีกับแม็ตต์อยู่เนืองๆ
ไม่เพียงแต่มุกตลกเสียดสีสตูดิโอที่ขับเคลื่อนด้วยเงื่อนไขทางทุนนิยมเท่านั้น ในแง่การถ่ายทำ The Studio ยังโดดเด่นด้วยการล้อเลียนภาษาภาพยนตร์ของหนังแต่ละฌ็อง อย่างการที่อยู่ๆ มันก็อุทิศทั้งตอนไปกับการถ่ายทำด้วยท่วงท่าแบบหนังฟิล์มนัวร์ สอดรับกับเส้นเรื่องที่พูดถึงม้วนฟิล์มที่หายไปของ โอลิเวียร์ ไวลด์ (มารับเชิญเป็นตัวเองในฐานะผู้กำกับหญิง) หรือความทะเยอทะยานในการถ่ายลองเทกที่สร้างความปวดกบาลให้ทีมงานสุดๆ หรือแม้แต่สถานะของผู้บริหารสตูดิโออย่างแม็ตต์ ที่ไม่ว่าปรากฏตัวที่ไหนก็ทำให้ทีมงาน ‘เสียเส้น’ ทั้งด้วยความเกร็งและความเนิร์ดหนังของเขา
แหงล่ะว่า โรแกนเอาเรื่องพวกนี้มาจากชีวิตจริงของเขา “คนที่ทำงานในสตูดิโอน่ะอยากถูกพวกคนทำหนัง พวกนักแสดงและคนเขียนบทรักจะตาย อยากรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของงานสร้างสรรค์อะไรสักงาน แต่พร้อมกันนี้พวกเขาก็มักหาช่องทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลักตลอดแหละ!”
หากใครชอบซีรีส์ที่ว่าด้วยความวายป่วงเช่นนี้ Studio 60 on the Sunset Strip (2006–2007) ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าจับตาไม่น้อย กล่าวอย่างย่นย่อ มันเป็นซีรีส์คอเมดี-ดราม่าที่หัวเรือหลักของการเขียนบทคือ อารอน ซอร์กิน (Aaron Sorkin) คนเขียนบทมือฉมังจาก The Social Network (2010) และ Moneyball (2011)
ตัวเรื่องเล่าถึงความหายนะสุดขอบเหวของรายการโทรทัศน์ตลกเสียดสี ที่ต้องรับมือกับเหตุการณ์สุดวายป่วงที่พร้อมจะโผล่มาเมื่อไรก็ได้ หรือการประชุมสุดเดือดที่ทำเอาสมองแทบละลาย เพราะทีมเขียนบทต้องหาประเด็นสดใหม่ แหลมคม เพื่อให้รายการทันตารางถ่ายทำทุกสัปดาห์
แมตต์ (แมตทิว เพอร์รี ที่ได้รับคำชมว่าสวมบทบาทได้หมดจดที่สุด) รับหน้าที่หัวหน้าทีมเขียนบทผู้มากับไอเดียสดใหม่เฉียบแหลม ขณะเดียวกันแดนนี (แบรดลีย์ วิตฟอร์ด) ในฐานะโปรดิวเซอร์ก็ต้องคอยหาทางประคองรายการให้รอด แถมยังมีปัญหาส่วนตัวเรื่องการติดยาเสพติดที่ซ้ำเติมสถานการณ์ให้ยิ่งเข้มข้น
Studio 60 on the Sunset Strip ถ่ายทอดเบื้องหลังการผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อดัง ที่ทำงานบนแนวคิดว่า ‘คนดูไม่ได้โง่กว่าคนทำรายการ’ พวกเขาจึงต้องเค้นสมอง เพื่อผลิตเนื้อหาที่ฉลาด ทันกระแส และไม่ดูถูกคนดู พร้อมทั้งยังรักษาอารมณ์ขันที่เฉียบแหลม
เมื่อซีรีส์ออกอากาศตอนแรกก็สร้างปรากฏการณ์ ยอดผู้ชมในสหรัฐฯ พุ่งถึง 13 ล้านวิว สร้างรายได้ต่อตอนถึง 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่พอเข้าสัปดาห์ที่ 3 เรตติงกลับร่วงอย่างน่าใจหาย โดยไม่มีใครสามารถระบุได้แน่ชัดว่าเพราะอะไร อาจเป็นเพราะในเวลานั้น คนดูโหยหาซีรีส์แนวรอมคอมเบาๆ มากกว่างานที่ท่าทีจริงจังเช่นนี้ (แม้ว่าเส้นเรื่องความรักของซีรีส์จะอ่อนโยนและน่ารักมากก็ตาม)
เหตุผลที่ว่ามานี้ทำให้ Studio 60 on the Sunset Strip ถูกยกเลิกหลังฉายได้เพียงซีซันเดียว และแม้เวลาจะผ่านไปหลายปี หลายคนก็ยังเสียดายอยู่เสมอ โดยเฉพาะการไม่ได้เห็นงานเขียนบทอันเฉียบคมของซอร์กินในบริบทโลกโทรทัศน์ รวมถึงการแสดงของเพอร์รีที่นักวิจารณ์หลายคนเห็นพ้องว่า นี่คือหนึ่งในบทบาทที่ดีที่สุดของเขา นับตั้งแต่บทแชนด์เลอร์ใน Friends (1994–2004) อันเป็นที่รัก
ในแง่ภาพยนตร์ Once Upon a Time… in Hollywood (2019) ก็ฉายภาพการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมฮอลลีวูดและความเข้มงวดของสตูดิโอยุค 70s ของ เควนติน ทารันติโน เส้นเรื่องแนบชิดเป็นหนึ่งเดียวกับเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์อย่างการเสียชีวิตของ ชารอน เทต นักแสดงหญิงชื่อดังและลัทธิสุดคัลต์ของ ชาร์ล แมนสัน แต่เล่าผ่าน ริก ดัลตัน (ลีโอนาร์โด ดิแคปริโอ) อดีตนักแสดงดาวรุ่งที่อันดับความนิยมตกลงมาเรื่อยๆ จนมีแต่ไปออกงานรับเชิญตามรายการโทรทัศน์ คนที่พลอยเดือดร้อนไปด้วยแต่ไม่ปริปากพูดใดๆ คือ คลิฟฟ์ บูท (แบรด พิตต์) สตันต์แมนผู้เป็นอดีตทหารผ่านศึก เป็นทั้งเพื่อนรักและเป็นทั้งบอดี้การ์ดของดัลตัน ที่หากดัลตันไม่มีงาน บูทก็พลอยไร้งานไปด้วย อีกด้านหนึ่งดัลตันพบว่า ข้างบ้านเขามีดาราสาวย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ เธอชื่อ ชารอน เทต (มาร์โกต์ ร็อบบี) หากแต่ทั้งสองก็ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากนัก เว้นเสียแต่รู้ว่าต่างทำงานในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ว่าไปแล้ว Once Upon a Time… in Hollywood ก็อาจไม่ได้ฉายให้เห็นกระบวนการทำหนังอันเดือดดาลชัดเจนนัก หากแต่ทุกอย่างล้วนบอกเล่าผ่านความเครียดเขม็งและจนตรอกสุดขีดของดัลตัน ความรู้สึกเหมือนตัวเองไร้ที่ไปเพราะกำลังจะตกกระป๋อง ซีรีส์แนวคาวบอยที่เขาแสดงนำเริ่มไม่ได้รับความนิยม ถูกสตูดิโอจับโยนให้ไปเล่นบทเล็กๆ ในซีรีส์เรื่องอื่นที่ทำให้เขารู้สึกว่า ความสลักสำคัญของตัวเองหดเหลือน้อยลงเล็กนิดเดียว มิหนำซ้ำภาวะไม่มีงานของเขายังกระทบต่อบูทที่เป็นเพื่อนรักเขาโดยตรงด้วย
บูทเองรู้ชะตากรรมดี เขาเป็นมากกว่าสตันต์แมน เขาเป็นเพื่อน เป็นคนดูแล เป็นคนขับรถและเป็นกระทั่งคนดูแลความเรียบร้อยของบ้านให้ดัลตัน (บางครั้งบางคราวน่ะ) ไม่มีใครรู้เรื่องชะตากรรมของเขาแน่ชัดนัก เว้นเสียแต่ว่าเคยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 (และอาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมเขาจึงได้เก่งกาจนัก) และลือกันว่าเขาสังหารเมียตัวเอง
“ผมเคยทำงานกับนักแสดงคนหนึ่ง แล้วเขามีสตันต์แมนส่วนตัวที่ทำงานด้วยกันมานานมาก เราไม่มีบทสำหรับสตันต์แมนคนนี้หรอก” ทารันติโนบอก “แต่ตอนนั้นเหมือนมีฉากหนึ่งที่สตันต์แมนคนนี้น่าจะแสดงได้ และนักแสดงคนนั้นก็ถามผมว่า ‘ให้คนของผมมาแสดงได้ไหม ผมไม่ได้รบกวนคุณเรื่องเขาหรอก เพราะอันที่จริงหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีสิ่งที่เหมาะให้เขาทำนัก แต่ถ้ามีอะไรที่เหมาะ และผมช่วยเขาได้ มันคงจะดีมากๆ เลยนะ’
“ผมเลยบอกเขาไปว่า ‘ได้เลย บอกคนของคุณมาที่กองเลย’ แล้วสตันต์แมนคนนี้ก็มาที่กอง มันเหมือนว่าพวกเขาทำงานด้วยกันมานานแสนนาน นานมากจริงๆ แต่นั่นแหละ เราเห็นแล้วก็บอกได้เลยว่า นี่คือจุดจบของพวกเขาแล้วล่ะ ทุกคนแก่ตัวลง ซึ่งผมสนใจมากๆ เพราะผมชอบคุยกับสตันต์แมน พวกเขาก็เป็นนักแสดงเหมือนกัน” ทารันติโนบอก “ตอนผมคุยกับสตันต์แมนคนนี้ เขาเป็นคนเก่งมาก แต่เขาไม่ได้ทำงานให้ผม เขาทำงานให้นักแสดงคนนั้นต่างหาก”
ทั้งนี้ตามประสาทารันติโน ผู้สนใจหยิบเส้นเรื่องทางประวัติศาสตร์มาบิดแล้วเล่าใหม่ในแบบของตัวเอง อย่างที่เคยปรากฏมาแล้วใน Inglourious Basterds (2009) ที่ตัวละครเผาโรงละครวอดวายทั้งหลัง และใน Once Upon a Time… in Hollywood ทารันติโนก็บิดโศกนาฏกรรมของเทต ให้กลายเป็นความวายป่วงที่ลัทธิแมนสันต้องรับมือแทน กับฉากสุดเถิดเทิง (และบันเทิง) ช่วงท้ายของเรื่อง
อีกเรื่องที่สำรวจฮอลลีวูดยุคหนังเงียบได้อย่างมีหัวใจ ทั้งท้ายเรื่องยังมีลักษณะของการ ‘บูชา’ ศาสตร์ภาพยนตร์สุดๆ คือ Babylon (2022) หนังยาวลำดับล่าสุดของ เดเมียน ชาเซลล์ ที่นำแสดงโดยร็อบบีกับพิตต์เช่นเดิม เพิ่มเติมคือเป็นหนังแจ้งเกิด ดิเอโก กัลบา นักแสดงชาวเม็กซิกันที่โดดเด่นสุดๆ โดยเขารับบทเป็น แมนนี หนุ่มน้อยที่อพยพมาจากเม็กซิโกและจับพลัดจับผลูได้เข้าไปรู้จักผู้คนในวงการภาพยนตร์ รวมทั้งเนลลี (มาร์โกต์ ร็อบบี) สาวน้อยจากนิวเจอร์ซีย์ที่หวังจะแจ้งเกิดเป็นดาว พร้อมกันนั้นก็ไปเป็นลูกมือของ แจ็ก คอนราด (แบรด พิตต์) นักแสดงรูปหล่อในหนังเงียบ
ตลอดทั้งเรื่องหนังฉายให้เห็นความไม่ปรานีของการถ่ายทำหนัง ในยุคที่สวัสดิการยังไม่ครอบคลุมทีมงานนัก หรือกล่าวอย่างใจร้ายคือ ไม่มีสวัสดิการด้วยซ้ำ การทำงานเป็นไปในลักษณะของการสู้เอาดาบหน้า ชนิดที่ทำทุกทางรวมทั้งขับรถปาดหน้ารถทุกคันบนถนน เพื่อเอากล้องและม้วนฟิล์มมายังกองถ่ายให้ทันแสงสุดท้าย การตะบี้ตะบันลากสังขารบอบช้ำไปถ่ายงาน การต้องรับมือกับฟืนไฟที่บทจะไหม้ก็ไหม้เอาดื้อๆ (โดยเฉพาะกับฟิล์มหนังที่เป็นเชื้อไฟชั้นดี) หรือเมื่อหนังเข้าสู่ยุคของ ‘หนังเสียง’ และยังไม่มีระบบตัดเสียงที่ได้มาตรฐานนัก คนในกองก็ต้องรับมือกับการหาทาง ‘เงียบ’ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งโดยมากแล้วก็แลกมาด้วยความเครียดระดับหัวจะแตกทั้งสิ้น
คนดูจึงได้เห็นเนลลี นักแสดงสาวที่อุตส่าห์กัดฟันสู้แจ้งเกิดในหนังเงียบได้ ต้องหาที่ทางของตัวเองใหม่ในหนังเสียง แต่มันก็ช่างยากเย็นเหลือเกิน สตูดิโอโยนบทสาวยั่วให้เธอ ซึ่งอยู่ได้ไม่นานนัก เธอทุ่มเทแลกวิญญาณ เพื่อจะเป็น ‘ดาวดัง’ ของวงการ แต่ช่วงเวลานั้นก็แสนสั้น สตูดิโอฮอลลีวูดใช้นักแสดงเปลือง พ้นไปจากเธอแล้วก็ยังมีนักแสดงใหม่ๆ พร้อมเข้าวงการตลอดเวลา เช่นเดียวกับคอนราดที่พบว่า บัลลังก์ของเขาหายลับไปในเวลาไม่กี่ปีหลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่หนังเสียง และเช่นเคย สตูดิโอไม่แม้แต่จะแยแสหรือหาที่ทางให้เขาได้อยู่ในอุตสาหกรรมต่อด้วยซ้ำ
ทั้งนี้เป็นที่น่าเสียดายว่า ตัวหนังขาดทุนย่อยยับ โดยทำเงินไปเพียง 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุนสร้าง 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าคำวิจารณ์จะออกไปในแง่บวกมหาศาลก็ตาม โดยเฉพาะองก์สุดท้ายของหนังที่แสนจะยกย่องความเป็นภาพยนตร์ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างงดงามก็ตามที
Tags: ภาพยนตร์, People Also Watch, Babylon, The Studio, Studio 60 on the Sunset Strip, Once Upon a Time... in Hollywood