ไม่นานหลังจากที่อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่พังครืนจากแรงแผ่นดินไหว ไฟล์เอกสารชุดหนึ่งก็ถูกโพสต์ลงในโซเชียลฯ เป็นเอกสารที่มีรายละเอียดโครงการสร้างตึก สตง.ตั้งแต่แบบแปลนโครงสร้าง ไปจนถึง ‘สเป็ก’ เฟอร์นิเจอร์พร้อมมูลค่าที่มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนบาท

เฟอร์นิเจอร์อาคาร สตง.ที่บางรายการมีมูลค่าหลักแสนบาทนี้ ถูกตั้งคำถามทันทีหลังจากการขุดคุ้ยของภาคประชาชน และกลายเป็นภารกิจใหม่ที่ผู้บริหารสำนักงาน สตง.ต้องออกมาให้ความกระจ่างถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ของแพงขนาดนี้ แม้ว่าประเด็นอื่นๆ เช่น ทำไมต้องใช้บริษัทจีนที่มีประสบการณ์รับเหมาไม่นานมารับโครงการใหญ่ หรือการใช้ ‘เหล็ก’ ที่ไม่ได้คุณภาพ ก็ยังไม่ได้รับคำตอบก็ตาม

คำถามสำคัญคือ ทำไมเฟอร์นิเจอร์ในอาคาร สตง.ต้องมีราคาแพง ทั้งๆ ที่ใช้ภาษีของประชาชนเป็นงบประมาณในการจัดซื้อ แล้วของใช้ที่มีความหรูหราเหล่านี้มีความจำเป็นมากแค่ไหน ในหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานราชการทั้งแผ่นดิน ที่การจัดซื้อจัดจ้างและราคากลาง อาจฉายภาพวิธีการกำหนดราคา และนำไปสู่การสร้างมาตรฐานให้กับอาคารราชการอื่นๆ ได้หรือไม่ 

กำหนด ‘สเป็ก’ ตาม ‘ฐานะ’ ของผู้บริหาร 

เริ่มต้นที่เอกสารที่ระบุว่า เป็น ‘รายการเฟอร์นิเจอร์ (6)’ ซึ่งมีรายละเอียดทั้งจำนวน ร้านค้าขายเฟอร์นิเจอร์ที่จะนำมาเป็นคู่เทียบและ ‘สเป็ก’ ของเฟอร์นิเจอร์ที่จะนำเอาไปจัดวางไว้ในอาคาร A และ B ของสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘สเป็ก’ ของเฟอร์นิเจอร์แต่ละตัวในเอกสาร ซึ่งมีการใส่ข้อมูลเอาไว้อย่างละเอียด ยกตัวอย่าง โซฟาในห้องรับรองชั้น 3 อาคาร สตง.จะต้องเป็นสีรัก เป็นงานเข้าลิ้นไม้แบบใช้บากร่องหางเหยี่ยว (Dovetail Wood Joint) หุ้มผ้าแล้วตอกหมุดโดยรอบ หรือจะเป็นเก้าอี้ในห้องรับรองชั้น 11 ที่ต้องเป็นงานแกะสลักด้วยมือแล้วปิดทอง ยิ่งกว่านั้นยังต้องเป็นแผ่นทองที่นำเข้าจากอิตาลี และในเฟอร์นิเจอร์ที่กำหนดสเป็กเอาไว้อย่างละเอียดส่วนใหญ่มีราคาตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาท 

สิ่งที่ทำให้ราคาเฟอร์นิเจอร์บางรายการมีราคาสูง เนื่องจากใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูง และบางรายการต้องนำเข้าวัสดุหรือสั่งทำตามออเดอร์ มูลค่าจึงสูงขึ้น 

คำถามสำคัญคือ สตง.เป็นผู้เรียกร้องให้ ‘บ้านหลังใหม่’ ของตัวเองต้องมีเฟอร์นิเจอร์สุดหรูเหล่านี้หรือไม่ ซึ่ง มณเฑียร เจริญผล ผู้ว่า สตง.ได้ออกมาแก้ต่างต่อหน้าสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ว่า เป็นเพราะบริษัทที่รับจ้างออกแบบอาคาร สตง.แห่งใหม่ได้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในอาคารเข้าไปด้วย โดยลักษณะของเฟอร์นิเจอร์และมูลค่าจะยึดตาม ‘ฐานะ’ ของผู้บริหารในองค์กร พร้อมเสริมว่า สตง.จะต้องนำไปพิจารณาความเหมาะสมก่อนการจัดซื้อ 

แต่ถึงจะบอกว่า สตง.ไม่ได้เป็นผู้ร้องขอให้อาคาร สตง.แห่งใหม่ต้องมีเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง และจะตรวจสอบความเหมาะสมก่อนจัดซื้ออีกครั้ง แต่ก็พบว่า มีเอกสารอีกชิ้นหนึ่งที่ภาคประชาชนเปิดเผยที่มีการสำรวจราคากลางของเฟอร์นิเจอร์แต่ละตัวเอาไว้แล้ว โดยคณะกรรมการกำหนดราคากลาง 

สิ่งที่น่าจับตาก็คือ สตง.จะตอบคำถามอย่างไรให้เห็นว่า มีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องใช้เฟอร์นิเจอร์ในราคาระดับเฉียดแสนบาท หรือบางรายการเหยียบหลักแสนบาทไปแล้ว โดยเฉพาะเก้าอี้ในห้องประชุมที่มีไว้สำหรับผู้บริหารระดับสูงนั่งมีมูลค่าถึง 9 หมื่นบาท ซึ่งผู้ว่า สตง.ได้ให้คำตอบว่า เป็นไปตาม ‘ฐานะ’ ของผู้นั่งที่มีการระบุเอาไว้ในกฎหมายว่า ผู้ว่า สตง.มีระดับเทียบเท่ากับตำแหน่งไหนในกระทรวงอื่น 

เขายังเสริมว่า พนักงาน สตง.ทั่วไป 2,400 คน ร้อยละ 80 นั่งเก้าอี้ปกติราคา 1-2 หมื่นบาท ไม่ใช่ว่าทุกคนใน สตง.จะต้องนั่งเก้าอี้หรู 

ทั้งนี้แม้จะมีเอกสารจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำเนียบรัฐบาลที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเทียบตำแหน่งการดำรงตำแหน่งอยู่จริง แต่จากการตรวจสอบรายละเอียด ไม่ได้มีการระบุชัดว่า ตำแหน่งใดจะต้องใช้เฟอร์นิเจอร์ ‘สเป็ก’ แบบไหน ซึ่งสอดคล้องกับ ธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโสนโยบายการกำกับดูแลที่ดี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ระบุว่า ไม่มีกฎหมายใดที่ระบุว่า ผู้บริหารระดับสูงเฉียดแสนบาทจะต้องนั่งเก้าอี้ที่มีลักษณะแบบใด

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวระดับสูง สตง.ได้ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศราว่า สตง.ไม่ได้เรียกร้องให้มีเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงในอาคาร แต่เป็นบริษัทที่รับจ้างออกแบบเป็นคนนำมาใส่ไว้ โดยเอาเฟอร์นิเจอร์ของผู้บริหารในหน่วยงานราชการอื่นๆ มาเปรียบเทียบ จึงเป็นข้อสังเกตต่อไปว่า ในหน่วยงานราชการอื่นๆ อาจมีการ ‘ลอกเลียนแบบ’ เมื่อเห็นหน่วยงานอื่นใช้ของแพงก็ซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่คล้ายกันมาใช้กับองค์กรของตัวเอง ทำให้ของใช้ของผู้บริหารระดับสูงในแต่ละหน่วยงาน แพงตามๆ กัน

ราคากลางไม่ตรงกับราคาตลาด

ประเด็นที่น่าสนใจและชี้ได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างของ สตง.มีความผิดปกติหรือไม่คือ ‘ราคากลาง’ โดยเฉพาะราคากลางของเฟอร์นิเจอร์และสุขภัณฑ์ต่างๆ ที่มีข้อมูลอยู่ในเอกสาร ‘แบบแสดงรายการ ปริมาณงาน และราคา’ ซึ่งจากการขุดคุ้ยของภาคประชาชนพบว่า มีบางรายการที่มีมูลค่าสูงเกินกว่าราคาขายทั่วไป 

ยกตัวอย่าง ราคากลางฝักบัวอาบน้ำ ที่ สตง.ต้องการจัดซื้อ 44 ชุด ที่ สตง.ระบุราคากลางไว้ที่ชุดละ 11,214 บาท แต่จากการสำรวจของ The Momentum พบว่า สินค้ารุ่นเดียวกันในร้านค้าออนไลน์มีราคา 3,990 บาท หรือก๊อกน้ำอัตโนมัติราคา 8,250 บาท ที่พบว่าขายในราคา 5,535 บาทเท่านั้น ขณะที่ทีมข่าวจากหลายสำนักได้ลงไปสำรวจราคาเฟอร์นิเจอร์ที่มีลักษณะคล้ายกับที่ระบุไว้ในเอกสารของ สตง.ก็พบว่า มีบางรายการที่ราคาถูกกว่าในเอกสาร

นักวิจัยอาวุโสด้านนโยบายกำกับดูแลที่ทีดีอาร์ไอตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมหน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักคือ การตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานราชการอื่นๆ อย่างเข้มข้น จึงสำรวจและได้ราคากลางของเฟอร์นิเจอร์บางรายการที่ไม่สะท้อนกับราคาที่ขายตามท้องตลาด 

“ทำไม สตง.ไม่มีความสามารถที่จะไปสืบราคาได้อย่างแม่นยำ หรือบางรายการไม่แม้แต่จะใกล้เคียงกับราคาตลาด” 

อย่างไรก็ตามการจะชี้ได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างของ สตง.ผิดปกติ นักวิจัยอาวุโสเสริมว่า อาจจะต้องสำรวจราคากลางให้ละเอียดในทุกรายการว่า สวนทางกับราคาตามท้องตลาดหรือไม่ 

ความโปร่งใสให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคาร สตง.พร้อมสิ่งสร้างประกอบ กระทั่งการกำหนดเฟอร์นิเจอร์แต่ละตัวเข้ามาในอาคาร สตง. ล้วนแล้วแต่ใช้ภาษีของประชาชนในการทำโครงการตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งนี้แม้จะเป็นโครงการที่ใช้เงินประชาชน แต่หากพูดถึงการมีส่วนร่วมของเจ้าของเงินในโครงการกลับมีน้อยนิดหรือไม่มีเลย

ที่สำคัญและเป็นเรื่องตลกร้ายคือ หากไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เป็นเหตุให้อาคารมูลค่า 2,000 กว่าล้านบาทพังถล่มราบเป็นหน้ากลอง ก็คงไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของโครงการก่อสร้างจาก สตง.หรือแม้กระทั่งบริษัทผู้รับเหมาโครงการดังกล่าว 

คำถามคือ แล้วเมื่อไรที่รัฐจะเปิดให้ประชาชนได้มองเห็นว่า เงินภาษีของตัวเองจะถูกนำไปใช้กับสิ่งใดบ้าง และเมื่อไรที่พวกเขาจะมีโอกาสในการกำหนดเงินภาษีของตัวเองให้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งนี้อาจกลายเป็นโจทย์ต่อไปไม่ใช่แค่ สตง.ที่เป็นหน่วยงานตรวจการใช้ภาษีของประเทศ แต่รวมถึงหน่วยงานอื่นที่ใช้ภาษีประชาชนในการบริหาร

แต่หากประชาชนยังไม่มีสิทธิแม้แต่จะกำหนดทิศทางการใช้เงินภาษี ไม่แน่ว่า ในอนาคตอาจจะได้เห็นเฟอร์นิเจอร์ในราคาเดียวกันกับอาคาร สตง.แต่อาจจะเป็นในหน่วยงานราชการอื่น และผู้จ่ายภาษีก็อาจจะต้องมานั่งถกกันถึงความ ‘คุ้มค่า’ เรื่องเดิมๆ อีกซ้ำๆ 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/thai/articles/cvgnwv9yx22o 

https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/136801-invessddssdsddd.html 

https://drive.google.com/file/d/1i7dhZMu1Qga_iJ8PPjXZAwrOS44Nrs31/view 

https://drive.google.com/drive/folders/15mHP9xmrQpnnc_6iHjKEEPQFHF_faNUE?fbclid=IwY2xjawKRF0xleHRuA2FlbQIxMABicmlkETFxM1E4bTBQTFpsUEhjekh4AR4DKk5L9YFKhLiHmXoF7fHiQj5we1RQe7NYHRt_msQX5veR_Sm0h3k5w9davg_aem_iAvjxVEKd2aEUmFXOtrdFQ 

Tags: , , , , , ,