ดูเหมือนจะคืบหน้า แต่ความจริงการสืบหาข้อเท็จจริงกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม ยังคงไม่มีความชัดเจนมากนัก ราวกับมีความพยายาม ‘ขวาง’ กระบวนการสอบสวน และทำให้เรื่องการสืบสวนของตึกนั้นล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

หลายคนถึงขั้นตั้งข้อสังเกตไว้ล่วงหน้าว่า นี่คือแท็กติกการ ‘ชะลอเวลา’ ทำเรื่องให้วุ่นๆ เข้าไว้ อาจเหมือนกับหลายกรณีในประเทศนี้ คือเมื่อฝุ่นหายตลบ คนก็จะลืมหมด ไม่มีใครต้องรับผิด จับมือใครดมไม่ได้ แม้มีผู้เสียชีวิตอยู่ใต้ซากตึกนับร้อยรา

สิ่งหนึ่งที่ต้องย้ำเตือนสังคมก็คือ กรณีตึก สตง.ถล่มนั้นเต็มไปด้วย ‘ความผิดปกติ’ ที่ต้องการคนรับผิดชอบ และความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายอาจลากโยงไปถึงการคอร์รัปชันครั้งมโหฬารในระบบราชการ อาจเป็นการคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ลากเส้นต่อจุดทั้งข้าราชการ-นักการเมืองได้อีกจำนวนมาก หากสืบสวนกันโดยปราศจากอคติ ไม่ปล่อยให้ระบบอุปถัมภ์และบรรดาความ ‘เกรงใจ’ ทำงาน

จากความผิดปกติที่ยังเห็นได้ชัด The Momentum รวบรวมคำถามเหล่านี้ไว้ในโอกาส 1 เดือนนับจากการถล่มของตึก สตง. เพื่อเป็น ‘โจทย์’ ให้ทั้งคณะกรรมการสอบสวน รัฐบาล และสังคม ได้ร่วมกันหาคำตอบต่อไป

1. ขั้นตอน-กระบวนการจัดหา ‘ผู้รับเหมา’

ปกติถ้าจะสร้างบ้านสักหลัง คุณต้องเลือก ‘ผู้รับเหมา’ ที่เชื่อถือได้มากที่สุด ในราคาสมเหตุสมผลที่สุดใช่หรือไม่

สตง.ก็ทำเช่นนั้น เป็นเหตุให้เราได้บริษัทร่วมทุนภายใต้กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ITD-CREC)ระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีที่ปรึกษาระบุว่า เป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ ของรัฐบาลจีน มีประสบการณ์ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง มีประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์ที่มีความซับซ้อน

ทว่าไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ที่รับงานมูลค่านับพันล้านบาท กลับอยู่ในห้องแถวเก่าๆ มีนอมินีคนไทยที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องหลักวิศวกรรมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมี ‘ชาวจีน’ เป็นหัวหน้าอีกที 

ในเวลาเดียวกัน ไชน่า เรลเวย์ก็ปรากฏความว่า ไปสร้างหายนะ ไปสร้างเรื่องไม่ชอบมาพากลอีกหลายประเทศ ทั้งในเซอร์เบีย เคนยา และเปรู 

คำถามก็คือ ณ วันที่ตกลงเซ็นสัญญากันอย่างใหญ่โตนั้น หน่วยงานอย่าง สตง.ซึ่งถือเป็น Audit ของแผ่นดินนั้น ไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้เลยหรือ หรือมองเพียงแต่อิตาเลียนไทยอย่างเดียว อย่างที่ มณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์

2. บริษัทนอมินีตระเวนรับงานโครงการรัฐ ใครอยู่เบื้องหลัง

ข้อที่น่าสังเกตอีกข้อก็คือ นอกจากอาคาร สตง. ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ยังมีงานก่อสร้างในอาคารโครงการรัฐอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), อาคารศาลแพ่งมีนบุรีและศาลอาญามีนบุรี และอาคารพักอาศัยสูง 32 ชั้น ที่ดินแดง ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโครงการก่อสร้างของรัฐทั้งสิ้น

น่าสังเกตก็ตรงที่ไชน่า เรลเวย์ เริ่มสยายปีกเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ในห้วงเวลาระหว่างปี 2562-2566 ซึ่งตรงกับรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พอดิบพอดี คำถามก็คือว่าในช่วงเวลานี้ มีบริษัท ที่ ‘ล็อก’ ให้ไชน่า เรลเวย์เข้า ‘ร่วมทุน’ กับบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทย ในการประมูลโครงการต่างๆ หรือไม่ 

หรือแท้จริงแล้วมีการบีบบังคับให้ ‘จับมือ’ พาไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เข้าร่วมทุนกับบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่อีกหลายบริษัท เพื่อส่งคืน ‘เงินทอน’ ให้กับผู้ที่พา ไชน่า เรลเวย์ ในการเข้าร่วมประมูลโครงการรัฐ

ที่สำคัญก็คือภาพของไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ยังปรากฏหราอยู่ในคลิปวิดีโอโปรโมตบริษัท (ที่ถูกลบในภายหลัง) ว่าเป็น ‘อาคารสูง’ อาคารแรกของบริษัท คำถามก็คือว่า แล้วทำไม สตง.และกรมบัญชีกลางถึงได้มั่นใจว่า ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 จะส่งมอบงานก่อสร้างอาคารมูลค่า 2,000 กว่าล้านบาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามกำหนดเวลา และเป็นไปตามมาตรฐาน

เรื่องใหญ่เหล่านี้ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ นอกจากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษไปตามจับผู้ถือหุ้นชาวไทยในฐานะ ‘นอมินี’ ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษต่ำกว่ามากเท่านั้น

3. สตง.เตรียมยกเลิกสัญญา แต่ทำไมถึงไม่ได้ยกเลิกสัญญา

หากติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด จะพบว่าการก่อสร้างอาคาร สตง. ‘ล่าช้า’ กว่ากำหนดไปหลายครั้งหลายครา โดยมีสาเหตุหลักจากปัญหาการเงินของผู้รับเหมา และมีการหยุดงานเป็นช่วงๆ ข้อมูลที่เปิดเผยโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันพบว่า ผู้รับเหมาหยุดงานเป็นระยะนับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2561 โดยกำหนดการเดิมต้องเสร็จภายในปี 2564 แต่เมื่อทำงานจริง ปี 2568 ก็ยังไม่เสร็จดี

เรื่องนี้ สตง.ชี้แจงว่า การก่อสร้างที่ล่าช้าทำให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุตัดสินใจบอกเลิกสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 โดยแจ้งปากเปล่าไปยังบริษัทผู้รับเหมาแล้ว หากแต่ยังไม่มีหนังสือยกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการ

ปัญหาทางการเงินของผู้รับเหมายังส่งผลกระทบต่อผู้รับเหมาช่วงระบบไฟฟ้า ที่ถูกค้างจ่ายค่าจ้างกว่า 3.7 ล้านบาท และผู้รับเหมารายอื่นๆ ที่คาดว่า ผู้รับเหมาหลักติดเงินรวมแล้วในหลัก 10 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีการ ‘ลดต้นทุน’ โดยใช้วัสดุที่มีคุณภาพต่ำลง

กล่าวสำหรับเหตุการณ์วันแผ่นดินไหว 28 มีนาคม 2568 ผู้รับเหมาหลักได้รับข้อมูลมาว่าหนังสือ‘บอกเลิกสัญญา’ อาจมาถึงในเร็ววัน จึงเร่งระดมคนงานเข้าไปยังอาคาร ณ วันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ขณะที่อีกส่วน ผู้รับเหมาช่วงต่างก็เร่งเข้าทำงาน เพราะต้องการเบิกเงินที่ค้างจ่าย

นั่นจึงเป็นเหตุโศกนาฏกรรมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยในที่สุด

4. กรณี ‘ปลอมลายเซ็น’ วิศวกร ใครวางยาหรือตั้งใจวางยาใคร

นอกจากกรณีผู้รับเหมาแล้ว อีกส่วนที่มีปัญหาคือกิจการร่วมค้า พีเคดับเบิลยู (PKW) ผู้ควบคุมงานก่อสร้างที่ สตง.ว่าจ้างด้วยวงเงินรวม 84.3 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้าดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าปลอมลายเซ็น สมเกียรติ ชูแสงสุข ในฐานะวิศวกรควบคุมงานก่อสร้างตึก สตง.ปรากฏในแบบแปลนและเอกสาร ทั้งที่ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาคารดังกล่าว จนสมเกียรติต้องไปแจ้งความกิจการร่วมค้าพีเคดับเบิลยูกับสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง และเข้าให้ปากคำกับกรมสอบสวนคดีพิเศษไปแล้ว

ขณะเดียวกันยังพบกรณีวิศวกรอายุ 85 ปีของบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบออกแบบอาคาร สตง. โดยได้ค่าให้คำปรึกษาเป็นจำนวนเงิน 1.5 แสนบาท แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการอีก แต่กลับได้ชื่อว่าเป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบอาคาร สตง. 

ความผิดปกติดังกล่าว อาจลากโยงไปถึงการแก้แบบอาคาร การแก้แบบปล่องลิฟต์ให้รับแรงได้น้อยลง การใช้ ‘เหล็ก’ ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ที่ทั้งหมดล้วนทำให้เห็นความไม่ชอบมาพากลของการสร้างอาคารแห่งนี้เต็มไปหมด

แม้แตะต้องตรงไหนก็มีปัญหา ทว่าทั้งหมด สตง.ยังคงยืนยันว่า การทำงานทั้งหมดในฐานะ ‘ผู้ว่าจ้าง’ เป็นตามกฎหมาย ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

5. แล้วสุดท้าย เรื่องทั้งหมดจะถูก ‘ตัดตอน’ หรือไม่

วันนี้ (2 พฤษภาคม 2568) ดำรง พุฒตาล และนารากร ติยายน สองพิธีกรชื่อดังเดินทางไปยังสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เพื่อแจ้งความเอาผิดกับผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน และประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นจำนวนมาก และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยทั้งคู่เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐสอบสวนเพียงบริษัทก่อสร้างและวิศวกร แต่ไม่เคยเรียกสอบผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งที่หากตรวจสอบความผิดปกติ อาจโยงไปยังหน่วยงานผู้ว่าจ้างอย่าง สตง.ได้ทั้งหมด

คำถามสำคัญก็คือ แล้วเรื่องนี้จะถูก ‘ตัดตอน’ หรือไม่ ถึงที่สุดคนไทยจะได้รับรู้หรือไม่ว่า มีการคอร์รัปชันในส่วนไหนบ้าง เส้นทางเงินวิ่งเข้ากระเป๋าใคร และเพราะเหตุใดการก่อสร้างในหน่วยงานที่ควรจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นที่สุด กลับกลายเป็นหละหลวมที่สุด เป็นตราบาปให้กับประเทศไทยได้ถึงเพียงนี้

1 เดือนผ่านไป แม้ข้อเท็จจริงหลายอย่างกระจ่างชัดขึ้น ความผิดปกติถูกนำออกมายังที่แจ้งมากขึ้น ทว่าคำถามทั้งหมดยังคงสถานะเป็นคำถามเหมือนเดิม ยิ่งเวลาผ่านไปรัฐบาลก็ดูจะให้ความสนใจกับเรื่องนี้น้อยลงทุกวัน

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากสุดท้ายประเทศนี้จะไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า ใครเป็นผู้พา ‘ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10’ ตระเวนประมูลงานรัฐจนสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากสุดท้ายคนไทยจะไม่รู้ว่า เพราะเหตุใดแบบอาคาร สตง.ถึงถูกแก้ให้ต่ำกว่ามาตรฐาน แล้วบรรดาเส้นสายโยงใยทั้งหมดจะมีใครอยู่ ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่ หรือท้ายที่สุดแล้วจะจับได้แต่เพียงคนเล็กคนน้อย

เรื่องนี้ต้องโยงกลับไปยังคำพูดของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ในเบื้องแรกว่า “หากไม่มีคำตอบ ประเทศไทยจะอยู่ยาก” 

แน่นอนว่า หากยังปล่อยให้ทุกอย่างคลุมเครือเช่นนี้ต่อไป ทั้งระบบราชการ กระบวนการยุติธรรม กระทั่งระบบการเมือง จะไม่สามารถทำงานได้อีก 

เป็นภาวะที่รัฐเข้าสู่สภาพ ‘ล้มเหลว’ เต็มตัว ปราศจากความเชื่อมั่น ไม่มีใครเชื่อถือได้อีกต่อไปโดยสิ้นเชิง

Tags: , , , , ,