เมื่อวานนี้ (28 เมษายน 2025) ลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และแคนดิเดตผู้นำจากพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party: PAP) ออกโรงปราศรัยขอคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ชี้หากเลือก ‘ฝ่ายค้าน’ ประเทศจะอ่อนแอ เพราะรัฐบาลเข้มแข็งไม่มากพอ หลังพรรคแรงงาน (Workers’ Party: WP) กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น สะท้อนจากภาพเหตุการณ์ที่ประชาชนแห่ชุมนุมในเวทีปราศรัยครั้งล่าสุด
หว่องขึ้นเวทีปราศรัยที่จัตุรัสฟูลเลอร์ตัน (Fullerton Square) สถานที่ประวัติศาสตร์ที่ ลี กวนยู (Lee Kuan Yew) อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เคยใช้หาเสียงตั้งแต่ทศวรรษ 1950-1980 โดยเผยความกังวลต่อสถานการณ์ล่าสุดว่า พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคแรงงานสิงคโปร์กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการบริหารประเทศในภายภาคหน้า เพราะทำให้พลังของพรรครัฐบาลกำลังถดถอย แม้จะมีโอกาสชนะเลือกตั้งมากกว่าก็ตาม
หว่องอธิบายว่า ถ้าพรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งในหลายเขต ถึงแม้พรรค PAP จะกลับมาเป็นรัฐบาลได้ แต่นั่นจะทำให้อำนาจรัฐบาลถดถอย เพราะเขาอาจสูญเสียรัฐมนตรีคนสำคัญราว 3-4 คน ซึ่งนำไปสู่ส่งผลกระทบห่วงโซ่ กล่าวคือเมื่อคณะรัฐมนตรีอ่อนแอ รัฐบาลย่อมอ่อนแอตาม เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์
“การลงคะแนนเสียงให้กับพรรคฝ่ายค้าน ไม่ใช่การเลือกอย่างอิสระเพื่อให้รัฐสภามีทางเลือกใหม่ๆ แต่เป็นการโหวตเพื่อบ่อนทำลายพรรค PAP ให้อ่อนแอลง ซึ่งเป็นทีมบริหารประเทศที่ทำงานเพื่อพวกคุณจริงๆ”
นายกฯ สิงคโปร์ย้ำว่า ขอให้ประชาชนคิดดีๆ ในวันเลือกตั้ง เพราะคะแนนเสียงของทุกคนมีความหมายต่อประเทศ เพราะเขาต้องการ ‘ทีม’ ที่ไม่ใช่แค่จัดตั้งรัฐบาลในอนาคต แต่ยังต้องบริหารสิงคโปร์ในอนาคตนับจากนี้ อีกทั้งยังโต้แย้งว่า ที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้านไม่เคยหยิบยกประเด็นทางการเมืองและอนาคตของสิงคโปร์มาพูดคุย เพราะพรรคแรงงานแค่ต้องการคะแนนเสียงในสภาเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้อยากแก้ไขปัญหาหรือรับผิดชอบอะไร เท่ากับว่า ภาระทั้งหมดตกอยู่ที่พรรค PAP เพียงพรรคเดียว
ขณะที่สำนักข่าว Channel News Asia รายงานถึงการชุมนุมหาเสียงของพรรคแรงงานที่ Yusof Ishak Secondary School ในช่วงเย็นวานนี้ว่า เนืองแน่นไปด้วยผู้คนจำนวนมากจนทำให้ต้องปิดประตูในเวลา 19.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยตรวจตราความเรียบร้อย
ด้าน ปรีตัม ซิงห์ (Pritam Singh) ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคแรงงาน ออกโรงปราศรัยและตั้งคำถามต่อการทำงานของนายกฯ สิงคโปร์ ว่า ไม่มีใครในคณะรัฐมนตรีเข้าเจรจาวิกฤตสงครามภาษีกับสหรัฐอเมริกาได้เลย พร้อมกับย้ำว่า ชัยชนะของพรรคแรงงานในเขตปงโกล ซึ่งเป็นเขตที่มีคะแนนผันผวนและแบ่งเขตเลือกตั้งโดยพรรค PAP อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศและคนรุ่นหลังได้
ในช่วงที่ผ่านมานักวิเคราะห์การเมืองให้ความคิดเห็นว่า ศึกเลือกตั้งสิงคโปร์ในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับพรรค PAP เพราะกลุ่ม New Voter อย่างคน Gen Z กำลังขึ้นมามีบทบาทในภาคการเมือง และมองหาตัวเลือกใหม่ที่ไม่ใช่พรรค PAP โดยต้องการให้ฝ่ายค้านมีพลังเข้มแข็งตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลมากขึ้น
ในการเลือกตั้งปี 2020 พรรค PAP ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 61.23% หรือคิดเป็น 83 ที่นั่ง ขณะที่พรรคแรงงานในฐานะฝ่ายค้าน สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ หลังครองคะแนนเสียง 10 ที่นั่งจาก 93 ที่นั่ง ซึ่งมากขึ้นกว่าการเลือกตั้งในอดีตถึง 4 ที่นั่ง