มากกว่าสองปีแล้ว ที่เพจน้องงโผล่ขึ้นมาสร้างความบันเทิง ปั่นป่วน หัวร้อน ฯลฯ บนโลกอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ หลายคนอาจหันหน้าไปสู่เพจอื่นกันบ้าง อินกับเรื่องอื่นๆ ไปแล้วบ้าง แต่สำหรับน้องเงี่ยน (ลูกเพจน้อง) พวกเขากลับยิ่งเกาะกลุ่มเหนียวแน่น เกิดเป็นซับคัลเจอร์ขนาดย่อมๆ ที่หนึ่งในนั้นก็มีตัวละครคาแรกเตอร์จัด อย่าง ลูกน้ำ—วารุณี วีระศักดิ์ หรือที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า Warunee Weerasak ผู้ถูกขนานนามเป็น กีของเพจ (หรือบางกรณีก็ใช้ ห หีบ แทนที่ ก ไก่) ขณะที่นอกเพจ เธอก็กระโจนลงสู่สงครามทางความคิดเห็นอยู่บ่อยครั้ง

หลายครั้งที่เห็นคอมเมนต์ของวารุณีสร้างเสียงหัวเราะ และพลอยทำให้ความคิดเห็นของเธอถูกรับเข้าไปในใจคนอ่านหลายคนไปโดยปริยาย หรือไม่ก็เกลียดเธอไปเลย เราในฐานะคนที่เหนื่อยเกินกว่าจะแสดงความคิดเห็นต่อทุกประเด็นดราม่า พบว่าน่าชวนคุยถึงวิธีดีลกับโลกอินเทอร์เน็ตของวารุณี ว่าอะไรที่ทำให้เธอกระโดดลงไปยุ่งเกี่ยวกับดราม่าได้ไม่ว่างเว้น โดนไซเบอร์บุลลี่กลับมาก็ไม่น้อย แต่ยังคงยืนหยัดที่จะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ อย่างดุเดือด ด้วยชื่อจริง นามสกุลจริง และใบหน้าจริงของตัวเอง

“รู้สึกว่าถ้าคุณกล้าที่จะออกความคิดเห็น คุณก็ต้องกล้าที่จะเปิดเผยสิว่า นี่คือความคิดเห็นของคุณเอง ไม่ใช่ว่ามาซ่อนตัวตนแล้วจะพิมพ์อะไรออกมาก็ได้ นั่นไม่ใช่วิธีของเรา เราเปิดเผยหมด ไม่ได้ปิดบังอะไร” เธอเล่าอย่างนั้น ปัจจุบันวารุณีอายุ 26 ปี เรียนจบแพทย์แผนไทยประยุกต์และกำลังวางแผนจะเรียนต่อ เธอแนะนำตัวเองสำหรับในชีวิตจริงอย่างนั้น ขณะที่เมื่อถามว่า เธอมองตัวเองเป็นชาวเน็ตแบบไหน คำตอบที่ได้คือ ‘ชาวเน็ตมืออาชีพ’

 

ก่อนหน้านี้สักสองเดือน วารุณีเพิ่งมีผลงานการด่าบริการอินเทอร์เน็ตของค่ายโทรศัพท์มือถือด้วยการสวมบทบาทตัวละครจาก ดอกส้มสีทอง อย่างสนุกสนานออกรส จนถูกแชร์ไปในทวิตเตอร์กว่า 70,000 แชร์ ล่าสุด วารุณีเพิ่งมีสงครามย่อมๆ บนไทม์ไลน์เฟซบุ๊กของตัวเอง เมื่อเธอแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ทำให้รูปถ่ายและชื่อของเธอถูกนำไปละเลงในหมู่ผู้เห็นต่างกันอย่างเมามัน ไม่ใช่จากใครอื่น จากผู้หญิงด้วยกันเองเป็นส่วนใหญ่

“จากหลายข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ส่วนตัวมองว่า ผู้หญิงควรตระหนักเรื่อง safe sex ให้มาก เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถามว่าจำเป็นไหมที่จะต้องพูดคุยกันให้มากกว่านี้ คิดว่าจำเป็นมากค่ะ ทั้งในครอบครัว ในกลุ่มเพื่อน รวมถึงการ educate จากสถานศึกษา เพราะคิดว่าการป้องกัน ดีกว่าการแก้ปัญหา ทีนี้ถามต่อว่า ถ้าพลาดแล้วจะทำยังไงล่ะ ในเมื่อยังไม่พร้อมจะเลี้ยงดูอีกชีวิตหนึ่งจริงๆ นั่นก็เลยเป็นที่มาที่เราสนับสนุนให้มีการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายในไทย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับคนท้อง และส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ ซึ่งถึงอย่างไรก็ตาม เรามองว่าการป้องกันก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอยู่ดีค่ะ”

ความคิดเห็นของเธอเป็นเช่นที่หลายคนพยายามชี้ให้เห็นกันมายาวนาน แต่เมื่อข้อความของเธอถูกแชร์ออกไป ผลตอบรับของชาวเน็ตเมืองไทยกลับยังเอนเอียงไปกับคำว่า ‘ศีลธรรม’ รวมถึงความเชื่อทางศาสนา ที่ท้ายที่สุดกลายเป็นการมองข้ามวิธีแก้ปัญหาในเชิงสังคม ซึ่งวารุณีมองว่า

“เอาเท่าที่เห็นนะคะ เปอร์เซ็นของคนที่คิดเรื่องนี้แบบเป็นเหตุเป็นผลจริงๆ ถือว่ายังมีน้อย เราเลยคิดว่าเรื่องนี้ต้องคุยกันให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ เราควรเอา Fact มาคุยกันให้เห็นข้อดีข้อเสียของการทำแท้งถูกกฎหมายและการไม่ให้มีการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐต้องเข้ามาจัดการ”

ดราม่าย่อมๆ นี้จบลงที่ต่างฝ่ายต่างก็ยังยึดแนวคิดเดิมของตัวเอง แต่อย่างน้อยแล้วเราเห็นหลายความคิดเห็นที่ได้กระชับจุดยืนทางความคิดของตัวเองให้แน่นขึ้นผ่านการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ และวารุณีก็น่าจะกำลังเริ่มอินกับการถกเถียงเรื่องอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเมื่อได้พูดคุย เราจึงแอบถามเธอถึงการเป็นชาวเน็ตมืออาชีพในความหมายของเธอ ว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง

“อย่างแรกเราควรประเมินได้ว่าดราม่านั้นๆ เราควรยุ่งมั้ย ดราม่าไหนเจ็บตัวมาก เราจะไม่ยุ่ง เช่นเรื่อง 112 – 44 อะไรแบบนี้ มันเสียเลือดเสียเนื้อแน่ๆ เราก็ตามดูห่างๆ แล้วกันว่าเรื่องมันไปทิศทางไหน ทีนี้พอเป็นประเด็นทั่วไปในสังคมที่มีความคิดเห็นต่างๆ ปะทะกันอยู่ หลายครั้งเราพบว่ายังมีหลายความคิดเห็นที่เรามองว่า ไม่ใช่สิ ทำไมตรรกะเป็นแบบนี้ เราอดไม่ได้ที่จะพิมพ์ลงไป เราอยากแสดงความคิดเห็นของเราในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเราว่ามันก็ไม่ได้ผิดอะไร”

“เราต้องรู้จักกฎหมาย คือถ้ากฎหมายข้อที่พอจะสู้กันได้ อย่างเรื่องหมิ่นประมาท เราสู้อยู่ แต่มันก็จะมีบางกฎหมายที่เราสู้ยังไงก็ไม่ได้หรอก (หัวเราะ)” ดาร์ลิ้ง—หนึ่งในแอดมินเพจน้องที่มาร่วมวงสนทนาเสริม  

และเมื่อมีดราม่า ขณะที่หลายคนพยายามยกแนวคิดเชิงวิชาการมาถกเถียง หลายคนใช้อารมณ์เป็นหลัก วิธีการของวารุณีโดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้อารมณ์ขันและความไม่อินเป็นที่ตั้ง

“ทันทีที่เราอิน เราใช้อารมณ์ เราแพ้เลย มีครั้งหนึ่งที่เราไปวอร์ในเพจๆ หนึ่งเพียงคนเดียว โดนรุมด่าเป็นยี่สิบคน ถามว่ากระทบเรามั้ย มันทำให้เรามีอารมณ์นิดๆ แต่ไม่ได้ถึงขั้นรู้สึกใจสั่น มือสั่น เพราะเรารู้ว่าถ้าเราตามเกม เราแพ้ เขาอาจจะยิ่งขนคำอะไรก็ได้ที่แย่ที่สุด ร้ายที่สุด หยาบที่สุด เพื่อที่จะมาทำร้ายเรา ซึ่งแล้วไงล่ะ ถ้าอิน ป่านนี้คงฆ่าตัวตายไปแล้ว เราโดนด่าเยอะมาก แล้วต่อให้ฝ่ายตรงข้ามด่าเราแรงแค่ไหน ถ้าทำให้มันตลก มันก็พอจะทำให้คนคล้อยตามได้บ้างนะ จากที่ทุกอย่างจะซีเรียสไปหมด กลายเป็นว่ามีคนแชร์ไปแล้วหัวเราะ ซึ่งอันนั้นเราดีใจ”

“แล้วเราก็ไม่อยากมานั่งเถียงอะไรที่เป็นวิชาการ ปวดหัว คือเราว่าทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเองแหละ เช่นเรื่องการประหาร บางคนมองเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน บางคนมองเป็นอีกเรื่อง เราก็มองในแบบของเรา ง่ายๆ เลยแค่ว่ามันส่งผลยังไงกับสังคมล่ะ หรือมันกระทบกับเรายังไงล่ะ หรืออย่างเช่นเวลามีดราม่าแล้วมีฝ่ายที่ถูกโจมตีมากเกินไป เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ละ เราก็อยากจะไปช่วยดีเฟนด์ให้เขา”

ด้วยเหตุนั้นเธอจึงแสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อนในกรณีต่างๆ เสมอ หลายครั้งมันส่งผลตีกลับ วารุณีเคยถูกวิจารณ์หยาบๆ แรงๆ หรือกระทั่งถูกนำรูปไปใช้บนเว็บไซต์ขายตัว

“อันนั้นแย่มาก ไม่ควรเลย เราไม่ได้รู้สึกว่าการมีรูปไปอยู่บนเว็บฯ ขายตัวมันเป็นอะไรที่เอนจอย สมมติว่าถ้ามีคนรู้จักเราไปเจอ แล้วส่งไปให้พ่อเราดู มันจะเกิดอะไรขึ้น หรือถ้าเจอคนที่เข้ามาคุกคามเราล่ะ แต่สุดท้าย คนที่ทำเขาก็มาขอโทษนะ เป็นเพจที่เขาปิดตัวไปแล้ว อุ๊บส์” —เธอไม่ได้เล่าต่อว่าคือเพจไหน

“ไซเบอร์บุลลี่นี่เราเคยโดนเยอะมาก ซึ่งมันไม่ใช่อะไรที่แฟร์เลย อย่างเช่น อยู่ๆ ไปเอาประวัติที่บ้านเขา พ่อแม่พี่น้องเขามาเปิดเผย เพื่อทำให้เขาเจ็บหรือ insecure มากๆ เราว่ามันเป็นวิธีที่ไม่มีกึ๋น จริงๆ แบบนี้ใครๆ ก็ทำได้นะ แต่คนที่เลือกทำอะ เราก็ได้รู้เหมือนกันว่าเขาเป็นคนแบบไหน และท้ายที่สุดแล้วเราพบว่ามันก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นมาในชีวิตจริง หรืออาจจะแค่ยังก็ได้ (หัวเราะ) ก็ภาวนาไม่ให้มันเกิดขึ้นแล้วกัน”

“บางคนเข้ากูเกิ้ลสตรีทวิวแล้วก็แคปภาพหน้าบ้านเรามาบอกว่า กูรู้ที่อยู่มึงแล้ว มึงเจอแน่ เดี๋ยวกูจะไปจัดการมึง เราก็รออยู่นะ แต่ก็ไม่มาว่ะ เพราะมันเป็นเรื่องเล็กด้วยไง แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ มันก็น่ากลัวแหละ เขาก็คงล่ากันจริงๆ” ดาร์ลิ้งเสริม

ชาวเพจน้องที่ทยอยเข้ามานั่งด้วยกันยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า วารุณีเคยโดนฟ้องร้อง เพราะมีเพจหนึ่งนำชื่อของเธอไปใส่ไว้ว่าเป็นผู้จัดทำ ทำให้คนที่โดนเพจเพจนั้นล่าแม่มดฟ้องร้องวารุณี เพราะคิดว่าเธอเป็นแอดมินของเพจ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น และพิสูจน์ได้ว่าเธอไม่ได้เป็นแอดมินของเพจดังกล่าว และนั่นก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรื่องขัดแย้งบนอินเทอร์เน็ตพยายามจะก้าวก่ายมาถึงชีวิตจริงของเหล่านักวอร์

“อีกกรณีก็มีคนที่แคปฯ คอมเมนต์จากในเพจน้องไปฟ้องที่บริษัท ตอนนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เขาก็แคปฯ ข้อความที่เราพิมพ์เล่นกันแล้วส่งไปที่ HR ของบริษัท คือเราได้เล่นตลกเกี่ยวกับคำคำหนึ่งที่เกี่ยวกับศาสนา นั่นก็เป็นอีกครั้งที่คนพยายามหลุดออกจากโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อมาทำร้ายคนที่เห็นต่าง อันนี้เราถือว่าไม่แฟร์ คุณจะเถียงกับเราแรงแค่ไหน มันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตรงนั้นบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งถ้าจะทำให้เกิดขึ้นบนโลกจริงก็ว่ากันไปตามกฎหมายจะดีกว่า”

มาถึงตรงนี้ ‘เบน’ อีกหนึ่งบุคคลที่ปรากฏตัวบ่อยครั้งในเพจน้องก็เสริมว่า

“เรารู้สึกว่ามันมีความลักลั่นอยู่สูงในหลายกรณี คนพยายามจะทำให้ตัวเองมีความยุติธรรมและตัดสินว่าเรื่องนี้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันวิธีที่เขาโต้ตอบเรามา เขาไม่ได้เคารพกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเลย มันกลายเป็นว่า เขาเอาตัวตนที่จำลองบนโลกออนไลน์ เข้าไปคุกคามใครก็ตามที่เขามองว่าไม่ถูกต้อง หรือใครก็ตามที่ขัดขาเขา เพราะเขามีเครือข่ายกันในเพจใหญ่ๆ บางเพจ เขาปั่นกันอยู่ในนั้น การดิสเครดิตหรือการล่าแม่มด บางทีมันก็เกิดขึ้นจากตรงนั้น แล้วมันทำให้คนที่ขาดวิจารณญาณคล้อยตามได้ง่าย เพราะก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยให้การศึกษาในเรื่องตรรกะศาสตร์น้อยมาก”

“พูดถึงคนนั้นน่ะเหรอ” มติพรอีกหนึ่งแอดมินเพจถาม

“บ้าเหรอ คิดไปเอง” เบนตอบ

นับว่าเป็นความรู้ใหม่สำหรับเราว่าในอินเทอร์เน็ตนั้นมีวงการของเพจต่างๆ เป็นกลุ่มก้อนโยงใยขนาดนั้นด้วย ซึ่งคำตอบที่ได้คือ “มันเป็นการเมืองในแบบหนึ่ง ที่มีขั้วอำนาจต่างๆ นั่นแหละ”

“เราก็อยู่ในคอมมิวนิตี้นี้แหละ คอมมิวนิตี้ของน้องเงี่ยน ถ้ามีฝั่งไหนที่เป็นรัฐบาล เราก็คงเป็นสภาโจ๊ก” วารุณีทิ้งท้าย

จบการสนทนาแล้วบรรดาลูกเพจน้องที่รู้จักและคลิกกันจากในเพจ ก็นัดกันสังสรรค์ต่อ พวกเขายังคงพูดคุยถึงประเด็นสังคมที่เกิดขึ้นกันอีกหลายเรื่อง นับเป็นบทสนทนาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันและขับเคลื่อนความคิดอยู่ไม่น้อย โดยไม่ต้องมีนักวิชาการมาคอยคอนเฟิร์มว่าเรื่องนี้จะถูกต้องหรือไม่ อย่างน้อยพวกเขาก็ได้แลกเปลี่ยนกันในแบบที่กลมเท่าที่จะกลมได้ กลายเป็นอีกหนึ่งซับคัลเจอร์ที่เลือกรับเอาด้านสนุกๆ มาอยู่ในชีวิตจริง และทิ้งอีกด้านไว้ให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เพียงแค่ในโลกออนไลน์ และวารุณีก็ตั้งใจให้ ‘ชาวเน็ตมืออาชีพ’ ในแบบของเธอ มีความหมายอย่างนั้นเอง

Tags: , , , ,