ประวัติศาสตร์อาจเป็นเรื่องน่าเบื่อชวนง่วงนอนสำหรับใครหลายคน แต่ไม่ใช่กับคลาสเรียนของ บูม-ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการศึกษาไทย ด้วยการแต่งชุดคอสเพลย์ทหารมาสอนนิสิต พร้อมกับลูกเล่นสุดทึ่งอย่างของสะสมมากมาย ราวกับหลุดออกมาจากกระเป๋า 4 มิติของโดราเอมอน
แตกต่าง แหวกขนบ ไม่เหมือนใคร คือจุดเด่นที่สังคมมักจดจำสิทธารถจากภายนอก แต่หากมองตัวตนของเขาให้ลึกลงไป อาจารย์คนนี้ก็เหมือนกับเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่นๆ โดยเฉพาะหัวจิตหัวใจที่มุ่งมั่นในการถ่ายทอดความรู้ และทักษะการวิพากษ์ให้กับผู้เรียน โดยใช้ความชอบส่วนตัวอย่างการคอสเพลย์และของสะสมโบราณ ผสมผสานการเรียนการสอนให้ทุกคนเข้าถึงอดีตผ่าน ‘ความรู้สึก’ สิ่งที่ขาดหายในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
“ความรู้สึกเป็นเรื่องเข้าถึงยากเหมือนกันนะ โดยเฉพาะเด็กทุกวันนี้โตมาในแง่ที่ว่า โลกทัศน์ สังคมที่เขาอยู่ หรือวิธีคิดที่เขาต้องเผชิญเป็นอีกแบบ ผมจึงพยายามดึงกลับมาให้เขามองอดีตที่คนในอดีตมอง แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าคุณเข้าใจสักนิด คุณจะเข้าใจประวัติศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น”
เหล่านี้คือความเชื่อของสิทธารถหรือ ‘อาจารย์พี่บูม’ ของเหล่านิสิตตลอดการพูดคุยกับ The Momentum ราว 2 ชั่วโมงที่สะท้อนว่า สำหรับเขา ประวัติศาสตร์เป็นมากกว่าอาชีพ แต่เป็นส่วนหนึ่งในทุกอนูของการใช้ชีวิต ตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ส่วนตัว จนถึงความชอบอย่างภาพยนตร์โปรด คือ Star Wars ที่สอดแทรกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เป็นดังบทเรียนสอนใจมนุษยชาติ
1
โชคชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในฐานะครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ
ขุมทรัพย์ที่ นาธาน เดรก (Nathan Drake) ตัวเอกนักล่าสมบัติจาก Uncharted กำลังตามหา
คือ First Impression ของเรา ทันทีที่ได้เข้าไปเยือนในห้องทำงานของสิทธารถ โดยมีกองหนังสือ ของสะสม รูปปั้น และฟิกเกอร์มากมาย เป็นสักขีพยานต้อนรับการมาเยือนของทีมงาน The Momentum ขณะที่อาจารย์ผู้สอนประวัติศาสตร์ปรากฏตัวในชุดทหารเรือญี่ปุ่น (Imperial Japanese Navy: IJN) ประเภทไทป์หนึ่ง ที่มักสวมใส่ในการเข้าเฝ้าองค์จักรพรรดิหรืองานพิธีทางการ โดยให้เหตุผลว่า เขาเลือกชุดนี้มา เพราะแต่งชุดทหารบกบ่อยแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ และก่อนจะเริ่มบทสนทนาถึงเส้นทางการเป็นอาจารย์
“ผมมักจะพูดเล่นๆ เสมอว่า การเป็นครูไม่ใช่โรคติดต่อ พ่อเป็น แม่เป็น อาเป็น ปู่เป็น แล้วลูกก็ต้องเป็นหรือ ผมแค่มองว่า การเติบโตมากับครอบครัวที่พ่อแม่เป็นครู อย่างน้อยมีส่วนทำให้เรามีจิตวิญญาณของผู้ถ่ายทอดความรู้ไปโดยไม่รู้ตัว”
เส้นทางการเป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องบังเอิญสำหรับสิทธารถ นอกจากความคลั่งไคล้ อินเดียนา โจนส์ (Indiana Jones) ตัวละครเอกนักโบราณคดีสุดไอคอนิก ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กชายวัย 11 ปี เริ่มสนใจประวัติศาสตร์ วิชาเรียนนอกสายตาของเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน จนทำให้เลือกศึกษาต่อที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในชั้นปริญญาตรีอย่างไม่ลังเล
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ‘DNA ความเป็นครู’ ที่ฝังรากลึกในครอบครัวถึง 3 รุ่น บ่มเพาะตัวตนให้มีทักษะถ่ายทอดความรู้ได้ดีกว่าคนอื่นๆ หลังศักยภาพของเขาฉายแววในฐานะติวเตอร์ให้กับเพื่อนพ้อง จนถูกทักในสมัยเรียนมหาวิทยาลัยจาก ภมรี สุรเกียรติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ปัจจุบันสอนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจารย์ผู้สอนที่สังเกตเห็นหน่วยก้านที่เข้าตา จนเอ่ยปากแนะนำว่า เขาควรจะมาเป็นอาจารย์ เพราะมีความสามารถเล่าเรื่องราวได้ดีและเข้าใจง่าย
แม้สิทธารถจะลังเลอยู่ไม่น้อย และตัดสินใจเรียนต่อชั้นปริญญาโทที่คณะโบราณคดี สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเติมเต็มสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ขาดหาย คือ ทักษะการตีความวัตถุทางประวัติศาสตร์ จนมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในกรมศิลปากร และดำดิ่งสู่โลกแห่งการผจญภัย ในฐานะนักวิชาการวัฒนธรรมเป็นระยะเวลา 3 ปีถ้วน โดยมีผลงานประจักษ์ คือ การเขียนรายงานสำรวจเบื้องต้น เพื่อเตรียมขึ้นทะเบียนโบราณสถานน้องใหม่ ทั้งวัดซานตาครู้ส, วัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์, วชิราวุธวิทยาลัย และสถานีรถไฟหัวลำโพง
แต่แล้วโชคชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นำพาเขากลับมาในสถานที่ที่คุ้นเคย หลังสอบบรรจุเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นทั้งบ้านที่คุ้นเคยและงานที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของเขาคือ การได้พบปะผู้คนและพูดคุยถ่ายทอดในสิ่งที่สนใจ ทำให้สิทธารถตัดสินใจลาออกจากงานด้านโบราณคดี แม้จะรู้สึกผูกพันก็ตาม แต่เขาเชื่อว่า ตนในฐานะ ‘คลื่นลูกเก่า’ ควรเปิดทางให้กับ ‘คลื่นลูกใหม่’ ที่มีศักยภาพ และสมควรได้รับโอกาสให้เข้ามาทำงานดังที่เขาเคยได้รับ หลังต้นสังกัดทาบทามให้เขาทำงานต่อแค่ช่วงวันหยุดก็ตาม
ขึ้นชื่อว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แม้จะเป็นตำแหน่งที่มาพร้อมกับภาพจำสุดเคร่งขรึม แต่สิทธารถเลือกที่จะเป็นตัวของตนเองภายใต้ความเชื่อว่า เขาไม่จำเป็นต้องทิ้งตัวตนและความชอบที่หวงแหน นั่นคือความรักในการคอสเพลย์และเครื่องแต่งกายยุค 1920-1930 ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนของเขา ที่สร้างความประทับใจไปพร้อมกับทักษะการวิพากษ์องค์ความรู้ให้กับนิสิต สิ่งที่ขาดหายในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาของประเทศไทย
“การที่เราใช้สิ่งนี้ในการสอนที่มากกว่าเรื่องความรู้คือ เรื่องความประทับใจ ความรู้เป็นส่วนหนึ่งก็จริง แต่ทุกวันนี้นิสิตไม่จำเป็นต้องรับจากผม เขามีหนังสือเต็มห้องสมุด อยากรู้อะไรหยิบมือถือขึ้นมาเสิร์ช กลายเป็นว่าที่เด็กจะหาความรู้ เราให้ความรู้เขาได้แค่ส่วนหนึ่ง แต่มันไม่ได้อยู่ที่ผมเป็นส่วนใหญ่
“สิ่งที่ผมจะให้คือ ความคิดหรือปัญญา (Wisdom) เพราะคนบางคนมีความรู้ แต่ไม่มีความคิด คุณหาความรู้ได้จากนอกห้องเรียน โดยเฉพาะการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย มันไม่จบแค่ในห้องบรรยาย แต่ในฐานคิด มันต้องประกอบด้วยสิ่งที่เรียกว่า Wisdom หรือฐานคิดในการวิพากษ์ วิเคราะห์ลึกขึ้นกว่าในระดับที่คุณเรียนมา
“ผมสอนวิธีการเข้าถึงองค์ความรู้ให้เด็ก รวมถึงวิธีการประเมินคุณค่าด้วย เช่น เว็บนี้ควรเชื่อไหม คนนี้พูดควรเชื่อไหม วิธีการศึกษาของเขาเหล่านั้นคืออะไร นั่นคือสิ่งที่ผมจะให้คุณในห้องเรียน”
วิธีการสอนในแบบฉบับอาจารย์สิทธารถคือ การให้พื้นที่กับนิสิตในห้องเรียน เปิดกว้างให้มีการถกเถียง และแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างฉันมิตร โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขเข้มงวดอย่างการเช็กชื่อเข้าห้องเรียน หรือคำนึงถึงระบบอาวุโส ขอเพียงแค่ผู้เรียนแต่ละคนอยากแลกเปลี่ยน และหาคำตอบร่วมกันว่า ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถอยู่ในสังคมที่ไร้ซึ่งความสมบูรณ์แบบนี้ได้อย่างมีความสุข
ความสำเร็จในการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนใคร ประจักษ์จากเหตุการณ์หนึ่งในห้องเรียน หลังอาจารย์บูมนำ ‘เครื่องเล่นแผ่นเสียง’ ของสะสมสุดคลาสสิก มาประกอบการสอนในคลาสเรียนประวัติศาสตร์ของนิสิตชั้นปี 1 เรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้นิสิตได้ย้อนกลับไปสัมผัส ‘ความรู้สึก’ ในอดีต ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการอ่านในหน้าตำราเรียน หรือแม้แต่การเสิร์ชบนโลกอินเทอร์เน็ต
“สิ่งที่นิสิตถามคำหนึ่งว่า อาจารย์ขา มันไม่ต้องเสียบปลั๊กเหรอ ผมตอบว่า ใช่ นี่เป็นการบันทึกเสียงยุคแอนะล็อก ไม่มีไฟฟ้าทั้งระบบ มันทำให้เขาทึ่งว่า เสียงออกมาได้อย่างไร และคำถามพีคที่สุด คือนิสิตคนเดิมถามต่อว่า อาจารย์ แล้วคนสมัยก่อน เขาเห็นเครื่องนี้แล้วเขาจะรู้สึกยังไง?
“นี่เป็นคำถามที่ดี คำตอบของคำถามนี้ยากที่หนังสือจะให้ได้ ผมบอกนิสิตว่า คุณจำความรู้สึกนี้ไว้นะ ลองจินตนาการว่า คุณเป็นไพร่คนหนึ่งในบ้านท่านเจ้าคุณ ที่ใช้สินค้าฝรั่งอย่างเครื่องเล่นแผ่นเสียง คุณสามารถสวมความรู้สึกไพร่ได้ว่า เขารู้สึกเหมือนคุณ เสียงออกมาได้อย่างไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
“สิ่งนี้คือวิทยาศาสตร์ แต่คนยุคนั้นมองว่าเป็นอำนาจเวทมนตร์ มันนำไปสู่วิธีคิดต่อว่า เครื่องเล่นแผ่นเสียงนี้มาจากชนชาติฝรั่งหรือชาวตะวันตก ทำให้เกิดความรู้สึกว่าคนพวกนี้เหมือนเป็นเทวดา มันจึงเป็นการสร้างอำนาจสยบยอมต่อการคุกคามของโลกตะวันตกได้อย่างมีนัยสำคัญผ่านสิ่งของที่ช่วยตอกย้ำว่า ตะวันตกเหนือกว่าตะวันออก
“คุณสามารถอ่านเอาได้ว่า ลัทธิจักรวรรดินิยมคุกคามโลกตะวันออกอย่างไร แต่ไม่ใช่กับความรู้สึกของคนสมัยนั้น เมื่อเห็นของเหล่านี้จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลกตะวันตกที่มาถึงเอเชีย มันเป็น Culture Shock
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนเอเชียรู้สึกว่า เราด้อยศักยภาพกว่าชาวตะวันตก และการยึดครองของเขาไม่เกินความเป็นจริง และเมื่อประกอบกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หลายเรื่อง อย่างการพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของจีนที่มีต่อโลกตะวันตก เช่น สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 และ 2 มันทำให้เอเชียรู้สึกว่า ขนาดจีนเป็นพี่ใหญ่สุดแล้วยังไม่รอดเลย คุณเข้าใจความเครียดของชนชั้นนำไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือยัง”
สิทธารถย้ำว่า สิ่งที่เขาต้องการให้นิสิตได้มากที่สุด คือ ความคิดและความรู้สึก ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากท่ามกลางสังคมยุคปัจจุบันที่มีวิธีคิดอีกแบบ โดยนิสิตสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปต่อยอดผสมผสานกับความรู้ที่เขาถ่ายทอดให้ เพื่อเพิ่มพูนให้มีฐานคิดในการวิพากษ์ ขณะที่ความประทับใจที่ติดอยู่ในใจนิสิตจากการเรียนการสอน จะนำไปสู่การสร้าง ‘แรงบันดาลใจ’ ต้นตอของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
2
คอสเพลย์: ไทม์แมชชีนเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบัน
สำหรับสิทธารถ โลกของการคอสเพลย์เป็นมากกว่าการแต่งตัว แต่เปรียบเสมือน ‘ไทม์แมชชีน’ ที่เชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ผ่านการย้อนกลับไปเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ ด้วยการแต่งตัว กิน ขับรถ หรือมีข้าวของเครื่องใช้เหมือนคนในสมัยก่อน โดยที่เรื่องราวมีมากกว่ามุมของทหารและความมั่นคงดังที่ใครหลายคนเข้าใจ
“เมื่อพูดถึงการคอสเพลย์ หลายคนชอบนึกถึงธีมทหารเท่านั้น แน่นอนว่า การคอสเพลย์ส่วนหนึ่งก็คงเริ่มมาจากสายทหาร แต่จริงๆ แล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มคนแต่งตัวยุค 1920-1930s ไปเต้นทวิสต์ที่พระปฐมเจดีย์ รวมถึงกลุ่มคาวบอย สมมติไปขี่ม้าที่ต่างประเทศ เขาจะเก็บมือถือและขี่ม้าไปเลย 3 วัน ไม่ติดต่อใคร คือเขาจะกลับไปใช้ชีวิตเหมือนคนในแอริโซนาปี 1874 โดยไม่มีเทคโนโลยีอะไร ไปขี่ม้า ก่อไฟ ใช้ชีวิตแบบคาวบอย นั่นคือความสุขของเขา
“หรือแม้แต่กลุ่ม SCA (Society for Creative Anachronism) เขาก็หลงใหลชีวิตในยุโรปยุคกลาง แต่งตัวเป็นอัศวิน เป็นทหาร หรือเป็นแม่บ้าน ทำอาหารในยุคนั้น เหมือนเขาหลุดออกจากโลกของความเป็นจริง ไปอยู่ในโลกที่เขาชอบ เหมือนที่ผมเคยบอกไปว่า ผมชอบในยุค 1920-1930s ผมจะชอบมากเวลาผมเดินไปในย่านเมืองเก่า มันมีตึกรุ่นนั้น ผมรู้สึกตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของมัน ฉะนั้น แก่นสารหนึ่งของการคอสเพลย์ คือการที่คนจำนวนหนึ่งเข้าถึงข้อมูลในทางประวัติศาสตร์ แล้วมีความประทับใจมากจนอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของมัน”
แต่แน่นอนว่า ความชอบข้างต้นย่อมมากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนภายนอกไม่น้อย โดยเฉพาะชุดทหารที่ผู้สวมใส่มักถูกตีตราว่า เป็น ‘พวกบ้าสงคราม’ หรือ ‘เชิดชูอาชญากร’ ซึ่งสิทธารถเข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี และพยายามแสดงความตั้งใจ เพื่อส่งสารถึงคนภายนอกว่า เขากำลังทำอะไรอยู่ แม้จะห้ามความคิดใครไม่ได้ก็ตาม
“มันเป็นเรื่องอยุติธรรม ถ้าเราจะตัดสินใครจากภายนอก แต่โลกมันอยุติธรรมอยู่แล้ว ดังนั้น ความอยุติธรรมจึงกลายเป็นความชอบธรรมไป คนเรามีหลายเหตุผลที่จะแต่งชุดทหาร โดยที่ผมไม่ได้ชื่นชอบสิ่งเหล่านั้น (ความโหดร้าย) แต่ผู้คนจะตีตราว่า ถ้าแกแต่งตัวแบบนี้ แกเชิดชูสงคราม ความรุนแรง หรือนิสัยเสีย
“ถ้าเราอธิบายตัวเองได้ว่าเราทำอะไรอยู่ เท่านั้นก็น่าจะพอ เพราะเราห้ามความคิดคนอื่นไม่ได้ แม้เราจะแต่งชุดที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองเลยก็ตาม แต่คนที่มีอคติก็ยังจะคิดว่า แกต้องสนับสนุนคนนู้นคนนี้ฝ่ายนู้นฝ่ายนี้อยู่ดี
“ถ้าเรามั่นใจว่า เราอธิบายได้ว่าเราทำอะไรอยู่ ผมก็ทำต่อไป จนสุดท้าย ผู้หลักผู้ใหญ่เขาก็เห็นและเราก็ได้รางวัลกลับมา เพราะเขาเห็นว่า สิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า และมีวิธีการบอกเล่าของมัน ที่ไม่ใช่แค่ในมุมของความโหดร้ายอย่างเดียว
“จริงๆ ความโหดร้าย (ในสงคราม) ก็ลืมไม่ได้นะ เราต้องเล่าเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะเชิดชู แต่เล่าเพื่อให้เห็นว่า มนุษย์เราเคยไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร และเราจะป้องกันมันอย่างไร นั่นคือสิ่งที่ผมใช้ของสะสมมาช่วยเล่า และท้ายที่สุดประวัติศาสตร์ก็เป็นบทเรียนที่สอนพวกเรามาตลอด”
ในฐานะอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์เขาเชื่อว่า ความมี ‘วุฒิภาวะ’ ของคนที่สวมใส่ ก็เป็นสิ่งสำคัญในการแต่งคอสเพลย์ชุดทหาร โดยต้องมาพร้อมกับการให้เกียรติและรู้จักกาลเทศะ ซึ่งมีผลอย่างมากต่อมุมมองและการถูกตัดสินจากคนภายนอก
3
เรียนรู้ประวัติศาสตร์โลกผ่าน Star Wars
นอกจากกองหนังสือและคอลเลกชันของสะสมในห้องทำงานของสิทธารถ สิ่งที่ดึงดูดสายตาของเราอีกอย่างหนึ่งคือ ฟิกเกอร์สารพัดตัวละครจากภาพยนตร์ Star Wars ทั้ง ดาร์ธ เวเดอร์ (Darth Vader), โคลนทรูปเปอร์ (Clone Trooper), สตอร์มทรูปเปอร์ (Stormtrooper), กัปตันฟาสมา (Captain Phasma) และนายพลกรีวัส (General Grievous)
แม้จะดูแปลกตาไม่น้อย เมื่อฟิกเกอร์เหล่านี้ตั้งท่ามกลางพระพุทธรูปมากมาย แต่ก็ถือว่าเป็นความลงตัวที่ผสมผสานความเก่าแก่กับความทันสมัยในอีกรูปแบบหนึ่ง เราจึงตัดสินใจเอ่ยถามด้วยความสงสัย ก่อนจะพบว่า อาจารย์เป็นสาวกของ Star Wars ตัวยง ไม่แพ้การเป็นเนิร์ดประวัติศาสตร์และการคอสเพลย์เลยทีเดียว
“ผมชอบ Star Wars เพราะมีวิธีคิดที่หลากหลาย ทั้งในเชิงคติและมุมมองในเรื่องความดีชั่ว โครงสร้างอำนาจทางการเมือง การแบ่งชนชั้น แน่นอนมันเป็นเรื่องแต่ง แต่เขานำเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์มาสอดแทรกในโครงเรื่อง”
สิทธารถเปรียบเทียบว่า เนื้อหาหลักของ Star Wars ส่วนหนึ่ง คือช่วงที่สาธารณรัฐกาแล็กติก (Galatic Republic) เปลี่ยนผ่านไปสู่จักรวรรดิซิธ (Sith Empire) หลังสภาโหวตมอบอำนาจให้กับสมุหนายก (Chancellor) คือ พัลพาทีน (Palpatine) ให้มีอำนาจสูงสุดในการทำสงครามกลางเมือง มีเค้าโครงจากเหตุการณ์จริงในหน้าประวัติศาสตร์คือ ช่วงสาธารณรัฐโรมันเปลี่ยนผ่านสู่จักรวรรดิโรมัน ขณะที่พล็อตการต่อสู้ของกลุ่มหุ่นยนต์ ที่เข้าร่วมขบวนการกบฏของ เคานต์ ดูกู (Count Dooku) เพื่อต่อต้านฝ่ายสาธารณรัฐ ก็สะท้อนถึงประวัติศาสตร์โลกในยุคแห่งการเรียกร้องจากกลุ่มฝักใฝ่ระบอบสังคมนิยม
“ผมไม่ชอบเจได
“มีเด็กชอบถามผมว่า เฮ้ย อาจารย์ชอบฝั่งผู้ร้าย ผมมักตอบกลับไปเสมอว่า คุณรู้ได้ยังไงว่า ใครเป็นผู้ร้ายใครเป็นคนดี”
อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์เฉลยว่า เขาชอบตัวละครฝ่ายจักรวรรดิมากกว่าตัวละครที่ถูกมองว่าเป็น ‘วีรบุรุษ’ ด้วยซ้ำ เพราะจริงๆ แล้ว เจไดคือ ‘อำนาจนอกระบบ’ เพราะใช้สภาเจไดชี้ ‘ดี-ชั่ว’ ตัดสินทุกอย่าง แทนที่จะใช้โครงสร้างทางการเมืองของสาธารณรัฐใหม่ให้เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหา ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลกไม่ต่างกัน
“พวกเจไดถือว่า สาธารณรัฐใหม่เกิดขึ้นมาได้เพราะพวกเขา หลังจากพวกซิธทำลายสาธารณรัฐเก่าไป เจไดก็ถือว่าตัวเองมีบุญคุณ เขาอ้างว่าเป็นผู้พิทักษ์สาธารณรัฐ แม้ว่าโครงสร้างทางการเมืองดั้งเดิมที่ยึดโยงกับประชาชนผ่านสภาเซเนตจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาก็ตาม
“แต่ขณะเดียวกัน ก็มีสภาเงาที่คอยชี้ดีชี้ชั่วของพวกเจไดอยู่เบื้องหลัง การปกครองใดๆของสาธารณรัฐ ต้องอยู่ในหูตาของสภาเจได และหลายครั้งที่เจไดเอาตัวเข้าไปแทรกแซงทางการเมือง หรือขับไล่ผู้อื่นให้ออกไปเป็นซิธเพียงเพราะแค่เห็นต่าง เฮ้ย คุณเห็นต่างก็ไม่ได้เหรอ ดังนั้นจึงกลายเป็นว่า สิ่งที่สะท้อนออกมาคือ ทำให้คนมองว่า พวกซิธหรือฝ่ายจักรวรรดิ เป็นตัวร้าย ตัวไม่ดี พวกแกนี่ชั่วร้าย
“การที่เจไดขึ้นมามีอำนาจ (นอกระบบ) แล้วแทรกแซงคนอื่นเป็นพันปี เหล่านี้มันสร้างความไม่พอใจให้กับดวงดาวและเผ่าพันธุ์ต่างๆ หรือแม้แต่หุ่นยนต์ มันสะท้อนออกมาในวันที่เจไดบุกเข้ามาจะฆ่าพัลพาทีน
“มันมีประโยคหนึ่งที่อนาคิน (Anakin Skywalker) พูดว่า จะมาใช้อำนาจนอกระบบแบบนี้ไม่ได้ ต้องจับเขาขึ้นศาลสิ แต่วินดู (Mace Windu) บอกว่า ขึ้นศาลไปก็เท่านั้น เพราะพัลพาทีนคุมทั้งศาลและสภา ซึ่งจริงๆ ในประวัติศาสตร์โลกก็เคยมีคนพูดแบบนี้เหมือนกัน”
สิทธารถเปรียบเปรยเหตุการณ์ดังกล่าวกับประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัยคือ ช่วงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรพยายามจัดการกับอาชญากรสงครามนาซีเยอรมันจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีบางส่วนแสดงความคิดเห็นว่า จะเอากลุ่มนาซีไปขึ้นศาลทำไม เหตุใดจึงไม่ใช้ ‘ปืน’ เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา แทนที่จะมาเสียเวลาเบิกความในศาลพิสูจน์ความถูกต้องชั่วดี ทว่า แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาขณะนั้น เชื่อว่า หากใช้วิธีการชั่วร้ายแบบที่นาซีใช้ ฝ่ายสัมพันธมิตรจะดีกว่าศัตรูตรงไหน ท้ายที่สุดจึงนำมาสู่การพิจารณาคดีที่นูเรมเบิร์ก ที่ใช้กระบวนการทางกฎหมายตัดสินความผิดของกลุ่มนาซี
แต่นั่นไม่ใช่กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน Star Wars ที่เจไดใช้อำนาจนอกระบบทำผิดพลาดอย่างมหันต์
“สุดท้ายกลายเป็นว่า เจไดไม่เล่นตามเกมส์ และพัลพาทีนไม่ตาย เขารอดไปบอกสภาผู้แทนฯ ว่า เจไดพวกนี้มาลอบสังหารตน ปฏิเสธระบบรัฐสภาและสาธารณรัฐ กลายเป็นว่า สส.ทุกคนในสภาที่รู้สึกกดดันมานานว่า ไอ้เจไดพวกนี้ใช้อำนาจนอกระบบมาเป็นพันปี ต่อให้ไม่พอใจ แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะเจไดมีพลังจิตและเพลงดาบที่ยากจะมีใครพิชิตได้
“นี่คือเหตุการณ์ที่สร้าง Reign of Fear หรือการที่เจไดสร้างยุคแห่งความกลัวและเมื่อพัลพาทีนสั่งให้กวาดล้างเจไดกลางสภา ก็นำมาซึ่งเสียงปรบมือกึกก้องของที่ประชุม ที่แพดเม่ (Padmé Amidala) กล่าวว่า ประชาธิปไตยสิ้นสุดลงแบบนี้เอง พร้อมด้วยเสียงปรบมือของสภาที่เชิญให้เผด็จการขึ้น เพราะเขาไม่ทนกับการใช้อำนาจนอกระบบ และเจไดเป็นองค์กรที่ชี้ดีชี้ชั่ว อ้างว่าตัวเองดี อ้างว่าถูกต้อง อะไรที่ไม่ตรง ไม่สอดคล้องกับที่ตนคิด เท่ากับไม่ถูกต้อง”
อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ยังทิ้งท้ายว่า นอกจากความชอบของเขาต่อ Star Wars ในด้านดีไซน์และเครื่องแต่งกายของนักแสดง ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นดังบทเรียนประวัติศาสตร์ให้กับมนุษยชาติ โดยเฉพาะการให้คติสอนใจว่า บางครั้งคนที่ชั่วร้ายที่สุดก็คือ ‘คนดี’ ที่เที่ยวไล่ตราหน้าว่าคนอื่นว่า ชั่วร้ายและถือตัววางอำนาจเป็นผู้ผูกขาด ตีความความดีความชั่วไว้ในกำมือของตนเองแต่เพียงผู้เดียว
Fact Box
- สิทธารถจบการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาโทที่คณะโบราณคดี สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ผลงานของสิทธารถล่าสุดคือ หนังสือแปลเรื่อง Napoleon : ราชา เหนือ ราชัน ผู้ (เกือบ) ครองแผ่นดินยุโรป จากสำนักพิมพ์ยิปซี
- สิทธารถเล่าว่า เขาไม่สามารถจัดอันดับเครื่องแต่งกายทางทหารที่ชอบได้มากที่สุด เพราะรักทุกชุดอย่างเท่าเทียมกัน
- ส่วนใหญ่สิทธารถมักซื้อของสะสมโบราณที่ตึกแดงวินเทจ จตุจักร และร้านค้าทางช่องทางออนไลน์