หากพูดถึงชื่อของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) หลายคนคงรู้จักมักจี่เขาเป็นอย่างดี ผ่านตัวอักษรที่ถ่ายทอดเรื่องราวและบรรยากาศอันเป็นเอกลักษณ์ ความโดดเด่นอันเป็นส่วนตัวถึงการเล่าสิ่งที่คำนึงนึกคิด สอดคล้องไปกับบรรยากาศอันแปลกแยกและโดดเดี่ยว ดูเหมือนจะเป็นลายเซ็นสำคัญของตัวเขาที่หลายคนคุ้นตา
แล้วกับตัวมูราคามิจริงๆ ล่ะ เรารู้จักเขากันขนาดไหน แน่นอนว่าด้วยผลงานที่ค้ำคออยู่นั้น ตัวเขาเองเป็นนักเขียนคนสำคัญของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่อีกแง่มุมหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบนั้น คือการที่เขาเป็น มาราธอนเนอร์ (Marathoner) นักวิ่งระยะไกลและเป็นนักแข่งไตรกีฬาด้วย
คำว่า ‘เป็นนัก’ นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะครั้งหนึ่งเคยวิ่งมาราธอนหรือแข่งขันไตรกีฬา แต่เขาถือเป็น นักกีฬาสมัครเล่น ที่ซุ่มซ้อมการวิ่งเพื่อความเป็นเลิศจนเป็นกิจวัตร ดังนั้นด้วยการซ้อมระดับหลายร้อยกิโลเมตรต่อเดือน และผลการวิ่งมาราธอนเวลา 3.30 ชั่วโมงนั้น มูราคามิถือว่าเป็นนักกีฬาที่ไม่ใช่มือสมัครเล่นในแวดวงการวิ่ง
จากหยาดเหงื่อและกรดแล็กติกในกล้ามเนื้อรอบขา ที่เขาใช้แลกกับเวลาการแข่งขันอันยอดเยี่ยม อีกสิ่งที่เขาได้กลับมาเช่นกันคือ What I Talk About When I Talk About Running เรียงความกึ่งบันทึกการวิ่งของเขาช่วงปี 2007 ตั้งแต่การเริ่มวิ่งในช่วงแรก สิ่งที่เกิดขึ้นในมาราธอน ไปจนถึงการวิ่ง 100 กิโลเมตรครั้งแรกของเขา
สิ่งที่น่าสนใจจนทำให้เป็นหนังสือวิ่งที่แตกต่าง คือการที่มูราคามิเข้าไปสำรวจจิตใจของนักวิ่ง ทั้งในขณะและนอกขณะวิ่งของเขา และด้วยลวดลายและสไตล์การดำเนินเรื่องราวตามฉบับของนักเขียนเจ้าของฉายา ‘แกะดำในโลกวรรณกรรมญี่ปุ่น’ (ที่มีน้ำเสียงเป็นสากล ไม่ยึดติดกับความเป็นนักเขียนญี่ปุ่น) ทำให้หนังสือเล่มนี้เข้าใจหัวอกของนักกีฬาวิ่งได้ดีกว่าเล่มไหนๆ ตามความคิดของผู้เขียนที่เป็นหนึ่งในนักวิ่งสมัครเล่นเช่นกัน
1
กล่าวโดยสรุปสำหรับ What I Talk About When I Talk About Running เบื้องหน้าคือการบันทึกประสบการณ์วิ่งของมูราคามิ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นทั้งว่าทำไมการวิ่งจึงเข้ามาอยู่ในชีวิตของเขา เขามีมุมมองต่อการวิ่งรูปแบบไหน รวมถึงเป้าหมาย และวิธีการพิชิตเป้าหมายวิ่งเป็นอย่างไรบ้าง
มองให้ลึกไปอีกขั้น ในมุมของผู้อ่านที่เป็นแฟนคลับของเขา สิ่งที่น่าสนใจคือการพาไปสำรวจชิวิตนอกโต๊ะทำงาน ผ่านตัวอักษรภายในเล่มที่ร้อยเรื่องและบอกเล่าว่า ชายคนนี้มองการวิ่งเป็นทั้งกิจกรรมผ่อนคลาย งานอดิเรก รวมถึงหน้าที่อีกอย่างของเขาไปพร้อมกันได้อย่างไร
แม้การวิ่งเป็นกิจวัตรที่ก้าวขาไปเรื่อยๆ ก็นับว่าได้อออกวิ่งเป็นที่เรียบร้อย แต่การจะพัฒนาให้การวิ่งมีประสิทธิภาพขึ้นได้นั้น ต้องผ่านการฝึกซ้อมที่ต้องเคี่ยวกรำอย่างหนัก จนกลายเป็นงานอดิเรกที่ฝืนความสะดวกสบายของทั้งร่างกายและจิตใจโดยสิ้นเชิง
จึงนำมาสู่ปัญหาของนักวิ่งหลายคนว่า จิตใจของพวกเขาจะอดทนได้ขนาดไหน และยิ่งเฉพาะนักวิ่งสมัครเล่นที่การวิ่งไม่นำพาซึ่งรายได้ หนำซ้ำในบางกรณียังทำลายซึ่งสุขภาพกายด้วยซ้ำ หลายครั้งจึงอดคิดไม่ได้ว่า คนเหล่านี้ทำกันไปเพื่ออะไร
ซึ่งนักเขียนผู้นี้พยายามหาชุดคำตอบ มาอธิบายผ่านตัวอักษร และอธิบายภายในเล่ม
2
‘สุญญากาศทางความคิด’ คือสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกซ้อม เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาไม่น้อยสำหรับนักวิ่งจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะมือใหม่ เพราะในห้วงเวลาการจดจ่ออยู่กับเสียงหายใจที่ดังจากทรวงอก และความเจ็บปวดที่ลามขึ้นกล้ามเนื้อต้นขา ไม่มีสิ่งใดที่นักวิ่งจะยึดเหนี่ยวสติให้จดจ่อกับการวิ่งต่อไปได้
จะมีก็เพียงแต่ความเจ็บปวดเองนั่นแหละที่เป็นเหมือน ‘ศาสนา’ เดียวให้ยึดถือขณะวิ่ง
มูราคามิพยายามสื่อสารเรื่องราวตรงนี้ให้ชัดแจ้ง เพราะไม่ว่าตัวเขาจะฝึกซ้อมได้อย่างดีเยี่ยมแค่ไหน สิ่งที่ยังเกิดขึ้นคือ ความไม่สบายที่มักโจมตีร่างกายและความคิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอยู่เสมอ ทั้งอากาศที่ร้อนชื้น แสงแดดที่อบอ้าว ตะคริวที่น่องข้างซ้าย ทั้งหมดล้วนเป็น ธรรมชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งถูกตีตราว่าเป็นความเลวร้ายของการวิ่งมาโดยตลอด
แม้เนื้อความถูกแปลไปในทางที่ต้องยอมสิโรราบ แต่มูราคามิมองว่า มันคือการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันให้ได้มากกว่า โดยที่สำคัญคือต้องเชื่อมั่น Trust The Process ว่า ผลลัพธ์หลังจากนี้จะต้องออกมาดี เป็นไปดั่งใจหวัง
นั่นเป็นสิ่งที่เขาเชื่อแบบนั้น
3
ทว่ากว่า 70% บันทึกความล้มเหลวในการวิ่งของมูราคามิ
ได้เวลาไม่ตามเป้า ร่างกายบาดเจ็บหลังวิ่งจบ หรือเกิดภาวะซึมเศร้าไร้จุดหมายเมื่อพิชิตการวิ่งได้ (The Post-marathon Blues) เหล่านี้คือเรื่องราวปลายทางในการวิ่งครั้งต่างๆ ของมูราคามิที่เขาบันทึกไว้ว่า แม้การวิ่งบรรลุได้ตามเป้า แต่ก็มักจะมีบางอย่างเกิดขึ้นเป็นข้อผิดพลาดอยู่เสมอ
“มีเหตุผล 3 ข้อที่ผมจะใช้อธิบายเรื่องนี้คือ ฝึกไม่เพียงพอ ฝึกไม่เพียงพอ ฝึกไม่เพียงพอ” นักเขียนเจ้าของเรื่องเลือกบทสรุปเอาไว้แบบนั้น แต่สิ่งที่เพิ่มเติมต่อคือการบอกเล่าว่า ความผิดหวังไม่ได้ทำให้เขาอยากผละตัวออกจากกิจกรรมนี้ กลับกันมันคือแรงผลักดันชั้นดีมากกว่า ในการจะมองหาความท้าทายใหม่ๆ ที่ยากขึ้น เจ็บปวดขึ้น กว่าเดิม
ในมุมหนึ่งหากจะมองว่า มูราคามิและเหล่านักวิ่งเป็นพวกซาดิสม์ชอบความเจ็บปวดก็ย่อมได้ แต่อีกมุมหนึ่งผู้เขียนเชื่อว่า สิ่งที่อยู่เบื้องลึกของเขา คือความเชื่อมั่นในตัวเองว่าจะทำสิ่งที่ยากกว่าได้สำเร็จในอนาคต ซึ่งแนวคิดเช่นนี้มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการคลุกคลีกับการวิ่งทุกรูปแบบ ตั้งแต่เบาๆ ระดับวิ่งจ๊อกกิ้งเลียบคลอง ไปจนถึงระดับฮาร์ดคอร์กับการวิ่งระดับร้อยกิโลเมตร
4
สุดท้ายแล้วสำหรับผู้เขียน แม้หนังสือเล่มนี้เหมาะกับนักวิ่งระดับสมัครเล่น ตั้งเป้าหมายเพื่อความเป็นเลิศเป็นอย่างมาก เพราะคนกลุ่มนี้จะรู้สึกร่วม และได้รับคำตอบกับคำถามที่ว่า นี่เรากำลังทำอะไรกันอยู่ ในวันที่การวิ่งเป็นเรื่องที่เหนื่อยและล้าสำหรับพวกเขา
แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังเหมาะกับนักวิ่งผู้เริ่มต้น รวมถึงคนที่สนใจการวิ่ง ในฐานะคู่มือจากรุ่นพี่ว่า ทำไมเขาถึงวิ่งกันเป็นบ้าเป็นหลัง พวกเขาได้ผลลัพธ์หรือเห็นประโยชน์อะไรจากกิจกรรมเช่นนี้
หรืออย่างน้อยที่สุดหนังสือเล่มนี้ก็เป็นบันทึกชั้นดีของมูราคามิที่นักอ่านจะได้เห็นว่า เขามีความเฉียบแหลมในการสำรวจความคิดและจิตใจของตัวเองขนาดไหน กระทั่งในขณะที่ต้องใช้สติเกือบทั้งหมดในการกำหนดลมหายใจขณะวิ่ง
Fact Box
- What I Talk About When I Talk About Running, ผู้เขียน ฮารูกิ มูราคามิ, นพดล เวชสวัสดิ์ แปล, สำนักพิมพ์กำมะหยี่, จำนวน 183 หน้า, ราคา 250 บาท