เข้าสู่ช่วงเกณฑ์ทหารประจำปี 2568 อย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นหน้าที่ของชายไทยที่มีอายุ 21 ปี รวมถึง 22-29 ปีที่ยังไม่เคยเข้ารับการเกณฑ์ทหารทั่วประเทศ ต้องมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ที่หน่วยคัดเลือกทหารกองประจำการในจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง
อันที่จริงไม่ใช่ชายไทยทุกคนที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เพราะยังมีเงื่อนไขบางประการที่ทำให้ไม่ต้องจับใบดำ-แดง เสี่ยงโชคเข้าไปเป็นทหารกองประจำการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกวิชาทหารครบ 3 ปี, ผู้มีอาชีพครูและแพทย์, บุตรชายของทหารที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่, นักโทษที่อยู่ระหว่างจำคุก และกลุ่มที่มีความไม่พร้อมทางสุขภาพ
อย่างไรก็ตามด้วยเงื่อนไขด้านสุขภาพ ที่ต้องผ่านการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาล และแพทย์ในหน่วยเกณฑ์ทหาร ซึ่งต้องพิจารณาร่างกายของผู้เข้ารับการเกณฑ์อย่างถี่ถ้วนว่า มีความบกพร่องหรือเป็นอุปสรรคต่อการเป็นทหารหรือไม่
ในบางครั้งกระบวนการที่ว่านี้จึงกลายเป็นช่องทางหาประโยชน์ของใครหลายคนได้เช่นเดียวกัน
ในวาระที่ฤดูกาลเกณฑ์ทหารวนกลับมาอีกครั้งในปีนี้ The Momentum เปิดข้อวินิจฉัยร่างกายต่างๆ ที่ทำให้ไม่ต้องเข้ารับการจับใบดำ-แดง และเผยเบื้องหลังของการหาผลประโยชน์ในระหว่างการเกณฑ์ทหาร
ร่างกายกับการ ‘อนุโลม’ ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร
การตรวจร่างกายว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ เป็นหนึ่งในขั้นตอนการตรวจเลือกทหารเข้ากองประจำการ โดยผู้ตรวจคือกรรมการแพทย์ ซึ่งจะแบ่งผู้เข้ารับการเกณฑ์เป็น 4 จำพวกตามผลการตรวจร่างกาย ได้แก่
– จำพวก 1 ร่างกายสมบูรณ์ดี
– จำพวก 2 ร่างกายไม่สมบูรณ์ดีเหมือนคนจำพวก 1 แต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ
– จำพวก 3 ร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับราชการทหารในขณะนั้นได้ เพราะป่วย ซึ่งจะบำบัดให้หายภายใน 30 วันไม่ได้
– จำพวก 4 ร่างกายพิการทุพพลภาพ ซึ่งมีโรคหรือสภาพร่างกายหรือสภาพจิตใจที่ไม่สามารถจะรับราชการทหารได้
ทั้งนี้มีการกำหนดโรคต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเอาไว้ดังนี้
– โรคหรือความผิดปกติของตา
– โรคหรือความผิดปกติของหู
– โรคหัวใจและหลอดเลือด
– โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด
– โรคของระบบหายใจ
– โรคของระบบปัสสาวะ
– โรคหรือความผิดปกติของกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ
– โรคของต่อมไร้ท่อและภาวะผิดปกติของเมตาบอลิซึม
– โรคติดเชื้อ
– โรคทางประสาทวิทยา
– โรคทางจิตเวช
– โรคอื่นๆ เช่น กะเทย (Hermaphrodism), มะเร็ง, ตับอักเสบเรื้อรัง, ตับแข็ง, คนเผือก, โรคลูปัสอิธิมาโตซัส, กายแข็งทั่วร่างกาย (Systemic Sclerosis), รูปวิปริตต่างๆ และโรคผิวหนังลอกหลุด
– ตุ่มน้ำพอง
– โรคลำไส้พองแต่กำเนิด
– โรคพร่องเอนไซม์ G6PD
สิ่งที่ต้องนำมายืนยันว่า ผู้เข้ารับการตรวจเลือกมีคุณสมบัติร่างกายตรงตามเงื่อนไขที่อนุโลมไม่ต้องตรวจเลือกคือ ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลในสังกัดของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศทั่วประเทศ และต้องเดินทางไปตรวจวินิจฉัยโรคในเวลาที่กำหนด
ทว่าหากไปรับการตรวจในโรงพยาบาลของกองทัพไม่ทันกำหนด ผู้เข้ารับการเกณฑ์สามารถนำเอาใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลทหารไปแสดงต่อคณะกรรมการในวันตรวจเพื่อคัดเลือก เพื่อใช้วินิจฉัยอีกครั้งว่าจะต้องจับหรือไม่จับไม่ดำ-แดง
สิ่งนี้กำลังเป็น ‘ช่องทาง’ หาผลประโยชน์ของคนในกองทัพอย่างไร
การเกณฑ์ทหารที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีเหตุผลมาจากการล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตกที่เข้าใกล้มากขึ้นเรื่อยๆ กระนั้นปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ตกอยู่ในภาวะสงครามแบบสมัยก่อน การเกณฑ์ทหารจึงถูกตั้งคำถามกับความจำเป็น ประกอบกับข่าวเชิงลบที่แพร่กระจายออกจากค่ายทหารสม่ำเสมอ ยิ่งส่งผลให้ความต้องการเป็นทหารลดลงเรื่อยๆ
แม้ผู้มีสุขภาพร่างกายไม่พร้อมรับราชการทหาร ก็สามารถหลุดพ้นจากการตรวจเลือกได้โดยง่าย ทว่าสำหรับผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์พร้อม แต่ไม่ต้องการที่จะเป็นทหาร ไม่ต้องการจะไปใช้ชีวิตในกองทัพ พวกเขาจะทำอย่างไร
“ส่วนใหญ่ทหารบางคนรู้อยู่แล้วว่า พ่อแม่ของคนที่จะเกณฑ์ทหารเขาทำอาชีพอะไร เขาจะตีเนียนเรียกเราออกไปคุยแล้วเสนอเงินให้” ปอนด์ เล่าประสบการณ์ในช่วงเกณฑ์ทหาร หลังสัสดีเสนอราคาให้กับเพื่อนของตนในราคา 4 หมื่นบาท เพื่อให้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจเลือก
The Momentum ได้รับข้อมูลจากบุคคลที่เคยเข้ารับการเกณฑ์ทหารหรือมีบุคคลใกล้ชิดเคยเข้ารับการเกณฑ์จำนวน 18 คน พบว่า วิธีการหลบหลีกการเป็นทหารกองประจำการที่แพร่หลายคือ การจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแลผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารในแต่ละหน่วย
ข้อมูลจากแหล่งข่าวชี้ว่า ในช่วงก่อนถึงวันตรวจเลือกจะได้รับการติดต่อจากสัสดีหรือข้าราชการที่มีอำนาจในการตัดสินใจ โดยมีความพยายามเสนอวิธีการ ‘จ่ายเงิน’ ให้กับผู้ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจเลือกเป็นทหาร ทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน
อ้น ที่เข้ารับการตรวจเลือกในปี 2567 เล่าว่า ช่วงก่อนหน้าการตรวจเลือกมีผู้ใหญ่บ้านเดินทางมาทำธุระที่บ้านของตน ในระหว่างที่พูดคุยกันผู้ใหญ่บ้านคนดังกล่าวถามว่า ต้องการเป็นทหารหรือไม่ ก่อนจะเสนอราคาให้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 3 หมื่นบาท แลกกับการไม่ต้องเกณฑ์ทหาร
หรือในกรณีที่ไม่สามารถเข้าถึงบุคคลที่กำลังจะเข้ารับการตรวจเลือกได้โดยตรง ก็ยังพบว่ามีความพยายามติดต่อผ่านครอบครัว เช่น กรณีของ บอส และอันนาที่เล่าว่า สัสดีพยายามติดต่อผ่านคนในครอบครัว เพื่อเสนอวิธีการหลบหลีกการตรวจเลือก
ผู้ให้ข้อมูลแต่ละคนที่ได้รับการเสนอวิธีการหลุดจากการจับใบดำ-แดง ส่วนใหญ่ไม่ได้รับรายละเอียดจากผู้เสนอว่า จะทำให้หลุดพ้นได้ด้วยวิธีการใด แต่เป็นข้อสังเกตของผู้จะเข้ารับการตรวจเลือกที่พบว่า หลังการตรวจร่างกายมักได้รับการตรวจวินิจฉัยให้เป็นผู้มีร่างกายบกพร่อง ไม่สามารถรับราชการทหารได้
แล้ว ‘ผู้มีอำนาจ’ รับสินบนเพื่อให้ผู้เข้ารับการตรวจเลือกหลุดพ้นด้วยวิธีใด
ในวันตรวจเลือกแบ่งออกขั้นตอนออกเป็น 3 จุดหลัก ได้แก่
จุดที่ 1 คือการตรวจสอบหลักฐานบุคคล
จุดที่ 2 คือการตรวจร่างกายและจัดจำพวก
จุดที่ 3 คือการวัดขนาด
ในจุดนี้แหล่งข่าวแต่ละคนระบุว่า ตนหรือบุคคลใกล้ชิดที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารและจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ไปแล้ว มักได้รับคำวินิจฉัยร่างกายให้เป็นผู้มีความบกพร่องในระดับที่ไม่สามารถเข้ารับการเกณฑ์ทหารได้ เช่น นิ้วงอหรือนิ้วไม่เท่ากัน อ้วนหรือผอมเกินเกณฑ์ น้ำหนักน้อยหรือมากกว่าเกณฑ์ โรคหอบ หรือเป็นโรคทางประสาทวิทยา
“แฟนของเราเกณฑ์ทหารปีนี้ และได้มีการคุยกับทางทหารยศพลตรีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เขาเสนอราคา 6 หมื่นบาท เพราะเราไปรับใบ สด.มาแล้ว มีชื่ออยู่ในที่เกณฑ์ทหารแล้ว เลยต้องไปทำกระบวนการหน้างาน พลตรีคนนั้นบอกว่า จะช่วยโดยการยัดให้แฟนเราเป็นคนจำพวก 4 นิ้วไม่เท่ากันหรืออื่นๆ” ตรีนุช เล่าประสบการณ์ที่ชี้ให้เห็นวิธีการของเจ้าหน้าที่ ในการทำให้ผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารไม่ต้องจับใบดำ-แดง โดยการวินิจฉัยจากการตรวจร่างกาย ณ หน่วยตรวจเลือก โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจเลือกเป็นคนจำพวก 4 หรือมีความพิการ
ทั้งนี้หากเข้าไปถึงจุดที่ 3 เพื่อวัดขนาด ยังมีบางส่วนได้รับคำวินิจฉัยว่า ‘ร่างกายไม่ได้ขนาด’ กล่าวคือมีขนาดรอบตัวน้อยกว่า 76 เซนติเมตรในเวลาหายใจออก หรือมีความสูงต่ำกว่า 160 เซนติเมตร ซึ่งมีแนวโน้มเป็นข้อมูลเท็จสำหรับผู้ที่จ่ายเงินให้กับสัสดีไปก่อนหน้านี้
“ตอนนั้นเราเกณฑ์ทหารที่จังหวัดลำพูน เห็นชัดๆ เลยว่า มีการลักไก่ซึ่งๆ หน้า มีคนหนึ่งที่มาเกณฑ์ เขาตัวสูงกว่าเรามาก น่าจะประมาณ 180 เซนติเมตรขึ้นไป แต่ทหารที่หน่วยบอกว่า ร่างกายไม่ได้ขนาด” ปอนด์ระบุ ซึ่งสอดคล้องกับบอลที่ให้ข้อมูลว่า ความสูงและน้ำหนักที่เกินเกณฑ์มักจะเป็นส่วนที่ทำให้ผู้เข้ารับการเกณฑ์ที่จ่ายเงินกับสัสดี ไม่ผ่านเข้าไปในรอบของการจับใบดำ-แดง
ทั้งนี้แต่ละคนระบุว่า วิธีการของสัสดีที่นำเสนอมานั้น ไม่มีการรับประกันว่าจะสำเร็จและสามารถทำให้ผู้จ่ายหลุดพ้นจากการเป็นทหารกองประจำการได้จริงๆ หลายคนพบว่า สัสดีได้ขอคืนเงิน เนื่องจากไม่สามารถ ‘ดีล’ กับคนอื่นๆ ที่อยู่ในกระบวนการของการตรวจเลือกได้ และให้ผู้จ่ายต้องเข้าสู่กระบวนการจับใบดำ-แดงเช่นเดิม
วิธีการนี้นับเป็นช่องทางผิดกฎหมายของสัสดี ที่หากินกับความหวาดกลัวทหารของผู้เข้ารับการตรวจเลือกในแต่ละปี เห็นได้จากประสบการณ์หลายรูปแบบของผู้ที่ให้สัมภาษณ์เหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงในการตรวจเลือกปี 2568 ด้วยเช่นกัน
ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ทางออกของเรื่องนี้?
เมื่อการเป็นทหารเกณฑ์ไม่ได้เป็นความต้องการของทุกคนในประเทศ หลายคนจึงมีความพยายามที่จะหาวิธีหลีกเลี่ยงเข้ารับการตรวจเลือก ความต้องการนี้จึงกลายเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ของข้าราชการในกองทัพ หากินกับความเกรงกลัวชีวิตในค่ายทหารโดยการแสดงตนเข้าช่วยเหลือ แลกกับเงินก้อนใหญ่ที่ผู้ตอบรับข้อเสนอจะต้องจ่าย เพื่อเข้าสู่กระบวนการดำมืดต่อไป
แต่หากยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนจากการ ‘บังคับ’ ให้ต้องเข้ารับการตรวจเลือกกลายเป็น ‘สมัครใจ’ ไม่แน่ว่า การแสวงหาประโยชน์ด้วยการรับสินบนอาจเบาบางลงบ้าง อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐในการกำกับดูแลกองทัพให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม และลงโทษผู้กระทำผิดในกองทัพอย่างจริงจัง เพราะหากยกเลิกเกณฑ์ทหารแล้วเปลี่ยนเป็นสมัครใจ สุดท้ายสัสดีหรือข้าราชการทั้งหน้าเดิมและหน้าใหม่ ก็อาจจะพยายามมองหาช่องทางรับประโยชน์อื่นๆ ได้อีกในอนาคต
อย่างไรก็ตามขั้นแรกที่เราพูดถึงอย่างการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ในวันนี้ยังไม่สามารถเป็นไปได้ แม้ว่าในปี 2566 ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองจะหยิบยกมาเป็นนโยบายเรือธง เพื่อปรับโครงสร้างและลดขนาดของกองทัพก็ตาม
อ้างอิง
– https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1120457
– https://www.thaipbs.or.th/news/content/338284
Tags: เกณฑ์ทหาร, กองทัพ, ยกเลิกเกณฑ์ทหาร, ติดสินบน, ยัดเงินเกณฑ์ทหาร, ใบดำ, ใบแดง