เมื่อวานนี้ (3 เมษายน 2025) Justice For Myanmar กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในเมียนมา ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลไทย กรณีอนุญาตให้ พลเอก อาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าประเทศ เพื่อร่วมประชุมความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ชี้ประเทศสมาชิกมีส่วนรู้เห็น ‘ก่ออาชญากรรม’ ต่อชาวเมียนมา ขณะที่นานาชาติและชาวไทยบางส่วนแสดงเสียงต่อต้าน ย้ำเป็นการดูหมิ่นประเทศในอาเซียน
ทั้งนี้ แถลงการณ์ในนามของ Justice For Myanmar ประกาศประณามรัฐบาลไทยและประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้แก่ อินเดีย, เนปาล, ศรีลังกา, บังกลาเทศ และภูฏาน ที่อนุญาตให้ มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ถือว่ามีส่วนรู้เห็นสนับสนุนผู้นำเผด็จการ พร้อมย้ำว่า ไทย, อินเดีย และศรีลังกา กำลังส่งมอบอาวุธและเงินทุนให้กองทัพเมียนมา ก่ออาชญากรรมต่อประชาชนในประเทศ
Justice For Myanmar ย้ำว่า มิน อ่อง หลาย มีความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ และกำลังอยู่ในการสอบสวนภายใต้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) โดยทำความผิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ก่อสงครามกลางเมือง และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติภายในประเทศ ทว่า BIMSTEC กลับรู้เห็นเป็นใจและฟอกขาวสนับสนุนอาชญากรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้นำเผด็จการลงนามในกฎบัตร BIMSTEC ปี 2022 เพื่อให้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในศรีลังกา การเข้าถึงข้อมูลข่าวกรองด้านความมั่นคง หรือแม้แต่อนุญาตให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพประชุมทางด้านความมั่นคงในปี 2024 ทั้งที่กองทัพเมียนมาคือกลุ่มก่อการร้ายตามกฎหมายระหว่างประเทศ
“ประเทศไทยคือแหล่งสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ให้รัฐบาลทหาร และรับเงินทุนจากความโหดร้ายครั้งนี้” แถลงการณ์ย้ำ โดยอ้างอิงข้อมูลจากผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติว่า บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4.1 พันล้านบาท) ไปยังเมียนมาในปี 2023
ด้าน ยาดานาร์ หม่อง (Yadanar Maung) โฆษก Justice For Myanmar กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลไทย และ BIMSTEC กำลังสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหาร ที่ประชาชนชาวเมียนมายืนหยัดต่อต้านเป็นระยะเวลา 4 ปีเต็ม พร้อมเรียกร้องให้ไทย อินเดีย และศรีลังกา ตัดความช่วยเหลือแก่รัฐบาลเมียนมาทั้งหมด เพื่อช่วยลดการเข่นฆ่าพลเมืองและทำลายประเทศชาติ
ขณะที่สำนักข่าว New York Times เปิดเผยว่า กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไทยออกมาต่อต้านท่าทีของรัฐบาลไทย โดยย้ำว่า เป็นการ ‘ดูหมิ่น’ อาเซียน เช่นเดียวกับ เอเลน เพียร์สัน (Elaine Pearson) ผู้อำนวยการ Human Rights Watch เอเชีย ออกแถลงการณ์ประณามว่า การที่ มิน อ่อง หลาย มายืนอยู่ในกรุงเทพฯ พร้อมผู้นำหลายคน แม้จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวร้ายแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเพราะว่าเขาไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของประชาชน แต่สนใจแค่การสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง
อ้างอิง
-https://www.nytimes.com/2025/04/03/world/asia/myanmar-general-earthquake.html
Tags: BIMSTEC, บิมสเทค, เมียนมา, รัฐบาลไทย, มิน อ่อง หล่าย, ASEAN, พม่า, อินเดีย, อาเซียน, บังกลาเทศ