เมื่อนึกถึงวัดในเขตพระนคร ชื่อแรกๆ ที่ขึ้นมาในความคิดก็คงหนีไม่พ้น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ สถานที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมโบราณ ผสมผสานศิลปะไทย จีน และตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างลงตัว แต่นอกเหนือจากความสวยงามตระการตาที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยี่ยมชม สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าสร้างความประทับใจไม่น้อย ก็คงเป็นสัตว์สี่ขาตัวจิ๋วที่วิ่งวุ่นไปมาทั่ววัดอย่าง ‘แมว’
ปัจจุบันวัดโพธิ์มีแมวอาศัยอยู่ถึง 200 ตัว มีตั้งแต่แมวจรที่เดินหลงเข้ามาหาที่พึ่ง แมวที่ถูกนำมาปล่อยทิ้งไว้ ไปจนถึงแมวที่เกิดและเติบโตภายในวัด แต่ไม่ว่าแมวเหล่านั้นจะมีต้นกำเนิดมาจากที่ไหนก็ตาม เมื่อพวกมันได้อาศัยอยู่ภายในรั้ววัดแห่งนี้ สิ่งที่พวกมันจะได้รับเหมือนกันทุกตัวก็คือ การดูแลอย่างดีจาก พระมหานรินทร์ อภิฉนฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร และผู้ริเริ่มไอเดีย ‘ห้องน้ำแมว’
เชื่อเหลือเกินว่าใครหลายคนที่เคยมาเยี่ยมชมวัดโพธิ์ คงดูไม่ออกว่าห้องน้ำแมวกว่า 60 ห้องตั้งอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ว่าเพราะมีขนาดเล็กจนมองไม่เห็น หรือตั้งหลบสายตาผู้ที่เดินผ่านไปมาอย่างมิดชิด แต่เพราะรูปลักษณ์ที่ถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันต่างหาก ที่ทำให้ห้องน้ำแมวที่ออกแบบและเริ่มนำมาใช้เมื่อประมาณ 1 ปีก่อน กลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมของพระอารามหลวงแห่งนี้
จุดเริ่มต้นของห้องน้ำแมววัดโพธิ์ เกิดจากความต้องการแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์ ที่เกิดจากการขับถ่ายของเหล่าแมวเหมียวภายในวัด เนื่องจากก่อนหน้านี้แหล่งปลดทุกข์ของน้องแมวมีเพียงแค่กระบะทรายธรรมดา ไร้หลังคาคลุม ที่นอกจากจะไม่เก็บกลิ่นแล้ว ยังขัดกับภูมิทัศน์ของวัดโพธิ์
พระมหานรินทร์จึงร่วมออกแบบห้องน้ำแมวกับช่างก่อสร้างภายในวัด ก่อนกลายเป็นห้องน้ำแมวรุ่นที่ 1 จำนวน 40 หลัง โดยใช้ไม้เนื้ออ่อนเป็นวัสดุหลัก แต่เมื่อนำมาใช้งานจริงก็พบว่า ห้องน้ำแมวรุ่นนี้อาจไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศของบ้านเราที่ฝนตกบ่อย และมีแดดเปรี้ยงสาดส่องตลอดทั้งปี ทำให้ห้องน้ำแมวจากไม้นี้เริ่มผุพังลงตามธรรมชาติ
แม้ว่าห้องน้ำรุ่นแรกจะไม่สมบูรณ์แบบ 100% แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจของพระมหานรินทร์น้อยลงไป ท่านจึงตั้งโจทย์ในการออกแบบใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้ให้ช่างปั้นเก้าอี้หินของวัดเป็นผู้ออกแบบห้องน้ำแมวที่ดูแล้วไม่สะดุดตา ทนฝน ทนแดด และกลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมของวัดอารามหลวงแห่งนี้ จนได้เป็นห้องน้ำแมวรุ่นที่ 2 ที่ใช้ปูนเป็นวัสดุหลักในการสร้างจำนวน 20 หลัง
แต่ห้องน้ำรุ่นนี้ก็ยังคงมีปัญหาอยู่เล็กน้อยตรงที่มีขนาดใหญ่เกินไป จึงนำกลับไปปรับปรุงอีกครั้งจนกลายเป็นห้องน้ำแมวทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส สีขาวขุ่นอมเทา พร้อมหลังคากันฝน ทนแดด และมีช่องให้น้องแมวขับของเสีย ซึ่งทำเป็นลิ้นชักให้เจ้าหน้าที่และจิตอาสาของวัดสามารถดึงออกมาทำความสะอาดในเวลา 7 โมงเช้าของทุกวัน
โดยปกติแม้เจ้าของจะเตรียมห้องน้ำแมวพร้อมใช้ไว้ให้ แต่สำหรับคนเลี้ยงแมวย่อมรู้ดีว่า การฝึกให้แมวเข้าห้องน้ำเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควรในช่วงเริ่มต้น อาจเพราะความไม่ชินและสัญชาตญาณของมันที่เข้าใจว่า เมื่ออยากขับถ่ายก็สามารถทำได้เลย โดยไม่คำนึงว่าต้องเข้าให้ถูกที่ถูกทาง แต่แมวที่นี่ต่างออกไปตรงที่พวกมันไม่เคยได้รับการฝึกให้เข้าห้องน้ำเลย เพราะแค่นำห้องน้ำแมวไปตั้งไว้ พวกมันก็รับบทเป็นนักสำรวจตัวน้อย เดินเข้าไปดูว่าภายในวัตถุแปลกหน้าที่ตั้งกระจายอยู่ทั่ววัดนั้นมีอะไรอยู่ข้างใน ก่อนจะเรียนรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งนั้นคือห้องน้ำแมวที่เปิดให้พวกมันเข้าใช้บริการได้เต็มที่
อย่างไรก็ตามแทบทุกสิ่งในโลกล้วนมีค่าใช้จ่ายในการสร้างขึ้นทั้งนั้น ซึ่งห้องน้ำแมวในรั้ววัดโพธิ์ก็เช่นกัน พระมหานรินทร์เล่าว่า เงินที่ใช้ในการสร้างห้องน้ำแมวเกือบทุกหลัง มาจากปัจจัยที่ญาติโยมถวายให้ท่านเป็นการส่วนตัว (บางหลังช่างที่รับทำไม่คิดค่าใช้จ่าย) ไม่ใช่ปัจจัยที่ญาติโยมมอบให้วัด เพราะท่านมองว่าเงินส่วนที่ให้วัด ญาติโยมก็คงคาดหวังให้นำไปบูรณปฏิสังขรณ์วัดให้ดีขึ้น หากถูกนำมาใช้ในการดูแลความเป็นอยู่ของแมวก็อาจผิดจุดประสงค์ของเงินเหล่านั้น
เมื่อได้รู้เช่นนั้นก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วเพราะอะไร พระมหานรินทร์ถึงนำปัจจัยส่วนตัวมากมายมาใช้เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของแมว แต่ยังไม่ทันที่จะได้ถาม ท่านก็อธิบายให้ฟังต่อว่า ก่อนหน้านี้ทางวัดยังไม่มีการจัดการเรื่องของเสียแมวอย่างจริงจัง แมวจึงกลายเป็นตัวสร้างความไม่เรียบร้อยให้พื้นที่ต่างๆ ภายในวัด ทำให้ทางกรุงเทพมหานครพยายามไล่จับแมวไปหลายครั้ง ซึ่งท่านมองว่าไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ควรทำ
“ถือว่าเป็นการทำบุญและทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม เพราะถ้าต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างไม่สนใจ ปัญหาก็ตามมา ทำแล้วก็สบายใจ มีความสุข ใครมาเห็นก็ชื่นชมยินดีว่า วัดสะอาด อาจารย์ได้ยินแล้วก็สบายใจ แมวก็ปลอดภัยด้วย ไม่ต้องถูกขนย้ายเคลื่อนย้ายไปที่ไหน” พระมหานรินทร์กล่าว
หลังจากได้ฟังเหตุผลและความตั้งใจของพระมหานรินทร์ในการสร้างห้องน้ำแมว ก็ทำให้อยากรู้ต่อไปอีกว่า แล้วมีอะไรที่ท่านกำลังจะทำเพื่อน้องแมวอีกบ้าง จึงพบว่า เมื่อไม่นานมานี้ท่านเพิ่งสั่งทำบ้านแมวขนาดพิเศษที่แบ่งเป็นกรงละ 3-4 ตัว และสามารถใส่แมวได้ประมาณ 40 ตัว
จุดประสงค์หลักของบ้านแมวหลังที่กำลังผลิตอยู่นั้น ก็เพื่อให้แมวและคนซึ่งล้วนเป็นผู้ใช้สถานที่แห่งนี้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่รบกวนซึ่งกันและกัน เนื่องจากวัดโพธิ์เป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีสำคัญอยู่บ่อยครั้ง หลายหนจึงจำเป็นต้องเก็บเหล่าแมวเหมียวให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้รบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเมื่อพระราชพิธีจบลงเหล่าตัวจิ๋วก็จะได้กลับไปวิ่งในวัดอีกครั้ง ซึ่งเป็นเสมือนสนามเล่นขนาดใหญ่ที่พวกมันรักและคฤหาสน์หลังโตที่พวกมันผูกพัน
แม้จะต้องใช้ปัจจัยส่วนตัวในการดูแลสุขอนามัยและทุ่มเวลาถึง 10 ปีในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เหล่าสัตว์ขนปุย แต่เมื่อถามว่า พวกมันเป็นภาระแก่พระมหานรินทร์หรือไม่ ท่านไม่ลังเลและตอบอย่างมั่นใจว่า พวกมันไม่ใช่ภาระเลยแม้แต่น้อย เพราะการได้ช่วยเหลือพวกมัน นอกจากจะได้ความสบายใจ ยังเป็นการสร้างบุญบารมีให้ตัวท่านเอง และที่สำคัญก็เป็นการแสดงธรรมในเรื่องความเมตตาได้ชัดเจนที่สุด
“มันก็เป็นหลักทั่วไปของศาสนาอยู่แล้ว เราก็ถูกสอนมาอยู่แล้วว่าให้มีเมตตาต่อผู้คน ต่อสัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าจะไปกำจัดเขาอย่างเดียว ยิ่งเป็นวัด เป็นสถานที่ทางศาสนา ยิ่งไม่ควร แมวเขาก็เหมือนเรานั่นแหละ ต้องการชีวิต ต้องการความสุข ความรัก ความอบอุ่น เขารู้เรื่องนะ คนไหนจิตใจดีหรือคนไหนมีจิตใจจะทำร้ายเขา” พระมหานรินทร์กล่าวทิ้งท้าย
Tags: Feature, แมว, วัดโพธิ์, ลูกแมว