‘ข่าว’ เป็นการรายงานเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันและแทบจะทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันนักขัตฤกษ์

‘เพราะข่าวไม่เคยมีวันหยุด’ 

ท่ามกลางข่าวคราวมากมายในหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมืองและสังคมที่ร้อนแรง แต่รวมไปถึงเรื่องปากท้องของคนทำข่าว ทั้งการ ‘เลย์ออฟ’ ปลดพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ที่ถูก ‘Disrupt’ และสื่อออนไลน์ที่ต้องกระโดดงับกระแสข่าวไม่เว้นช่วงวัน

รวมไปถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านจรรยาบรรณและคุณภาพของ ‘ข่าว’ ทั้งจากคนในแวดวงและผู้รับสาร ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่เน้นดราม่า ชิงความไวจนหลายครั้งไร้การตรวจสอบ ขณะที่ประเด็นขุดคุ้ยตามหน้าที่และสัญชาตญาณนักข่าวกลับลดน้อยถอยลง

The Momentum มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ กิตติ สิงหาปัด นักข่าวและผู้ประกาศข่าวอาวุโส ผู้มีประสบการณ์การทำข่าวกว่า 35 ปี และการย่างเข้าสู่ขวบปีที่ 17 ของข่าว 3 มิติว่า การทำข่าวแบบดั้งเดิมจะยังมีพื้นที่ในสังคมไทยอยู่หรือไม่เมื่อไร้คนดู อย่างที่กิตติเคยให้คำมั่นในวันครบรอบ 16 ปีว่า จะยืนหยัดทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนที่ดี รักษาคุณภาพ เดินหน้าทำข่าวที่มีประโยชน์ และเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนต่อไป แถมยังกล่าวกับผู้เขียนว่า 

“ข่าวพวกนี้แม้ไม่ได้สร้างเรตติงก็ต้องทำ เพราะเมื่อเราเป็นนักข่าว เป็นสื่อมวลชนอาชีพ และอาชีพเราคือต้องไปทำข่าว” 

นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ 35 ปี ในอาชีพนักข่าว เคยตอบตัวเองไหมว่า ทำไมคุณถึงทำอาชีพนักข่าวได้นานขนาดนี้ 

มันเป็นอาชีพที่ชอบผมเคยพูดตั้งแต่ตอนเข้ามาทำอาชีพนี้ใหม่ๆ ว่า สงสัยต้องทําอาชีพนักข่าวในการหาเลี้ยงชีพไปจนเกษียณ ทําอาชีพนี้เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียไป เป็นสิ่งที่เราน่าจะยึดเป็นอาชีพไปได้ตลอดเพราะเราชอบ แต่ตอนเป็นนักข่าวใหม่ๆ ก็มีความไขว้เขวนะว่า เราจะไหวหรือเปล่า เราจะเอาดีตรงนี้ได้แค่ไหน จะทนอยู่ได้นานขนาดไหน ก็มีความคิดว่าจะไปเรียนต่อปริญญาโท ไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือทำงานวิจัยอะไรก็ว่าไป 

แต่พอมาทำอาชีพนักข่าวแล้วก็ติดพันและเป็นงานที่ชอบ ในแง่ที่ว่า เราเป็นเด็กบ้านนอก ในส่วนของการเติบโตในหน้าที่การงาน เราก็ไม่ได้มีคอนเนกชัน ไม่มีคนรู้จัก นามสกุลไม่ใหญ่ ดังนั้นอาชีพหนึ่งซึ่งเราจะเติบโตได้ด้วยตัวเอง ก็น่าจะเป็นอาชีพนักข่าว เพราะไม่ต้องอาศัยนามสกุลใหญ่ ไม่ต้องมีใครมาเป็นแบ็ก หากเราเก่งก็น่าจะมีคนสนับสนุนเราไปเรื่อยๆ ซึ่งผมก็คิดว่าเลือกไม่ผิด เราที่เป็นเด็กบ้านนอกมาจากจังหวัดขอนแก่น แต่สามารถที่จะสร้างตัวขึ้นมา เอาผลงานเป็นที่พิสูจน์แล้ว ก็อยู่ได้และเป็นงานที่มีความหมาย

ได้ยินมาว่าก่อนจะมาเป็นนักข่าว คุณเคยทำงานบริษัท Pfizer มาก่อน

 ผมไม่ได้เรียนทางนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ ผมเรียนสัตวบาล พอตอนเรียนจบใหม่ๆ ผมก็ไปทํางานบริษัท Pfizer เป็นบริษัทที่ใฝ่ฝันอยากจะทํา ซึ่งรุ่นพี่ส่วนใหญ่เรียนจบแล้วถ้าไม่เข้าไปทำงานที่ซีพี ที่เบทาโกร ส่วนเราก็ทำงานบริษัทยาสัตว์ เป็นผู้แทนฝ่ายขายยาสัตว์ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นงานที่เงินดี แต่ก็ไม่ถูกกับจริตเราเท่าไรนัก แม้ว่าจะได้ทำงานบริษัทฝรั่งข้ามชาติ มีเจ้านายเป็นฝรั่ง ได้ใช้ภาษาอังกฤษถือเป็นงานในฝันเลย แต่พอทำไปได้สักปี งานที่ทำไม่ใช่จริต เพราะคุณต้องออกไปหาลูกค้าเซอร์วิสลูกค้าเอาใจลูกค้า 

เราเกิดมาไม่ได้อยู่ในครอบครัวค้าขาย เราทำไม่เป็น ถือเป็นเรื่องเครียดที่ต้องมาแบกยอดขายให้ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์เราให้หมด แม้ว่าไม่ใช่การขายแบบเคาะบ้านแบบทุกวันนี้ แต่ฟาร์มไหนที่เป็นลูกค้าเราอยู่แล้ว เราก็มีหน้าที่ไปเซอร์วิสวิชาการ บางทีหมูป่วย ไก่ป่วย ก็ต้องไปดูให้เขา เขาก็จะซื้อยาจากบริษัทเรา ทำไปก็เครียดไปทุกวัน มีความสุขเฉพาะวันรับเงิน เข้ากรุงเทพฯ รับเงินคอมมิสชัน เข้ามาบริษัทประชุม 2-3 วัน แต่ออกฟิลด์เมื่อไรก็เครียดทุกที (หัวเราะ) 

เราก็รอว่าเมื่อไรจะสิ้นเดือน ใจก็อยากเป็นนักข่าว ถูกจริต อยู่มาวันหนึ่งก็นั่งดูข่าวเหมือนทุกวัน แต่วันนั้นผมตัดสินใจลาออกและมาเริ่มงานที่ใหม่เป็นนักข่าว คือผมไม่ได้มีวันพักร้อนก่อนเปลี่ยนงาน เพราะที่เก่าผมใช้ลาพักร้อน 15 วัน และมาเริ่มงานบริษัทใหม่ 15 วันเลย เดือนนั้นจึงรับเงินเดือน 2 ที่ 

จากบริษัทขายยาสู่อาชีพนักข่าวเป็นอย่างไรบ้าง

จากวันแรกที่เปลี่ยนงานมา งานเป็นคนละแบบ จากงานที่เราต้องไปง้อคน พอมาทำนักข่าวเรามีอิสระ เราได้ช่วยคน เผลอๆ มีแต่คนเดือดร้อน อยากออกข่าวมาง้อเราด้วยซ้ำ แต่หลักๆ คือเป็นงานที่ชีวิตไม่ได้อยู่กับเงิน ไม่ได้ผูกกับเงิน

ไม่ได้แปลว่าเงินไม่ดีนะครับ หมายความว่าไม่ใช่งานที่วัดกันว่าคุณขายเก่ง ทำงานนี้สำเร็จได้เงินเพิ่ม แต่งานข่าวเป็นเงินเดือนประจำ งานแบบนี้ถูกจริต แบบเห็นการเปรียบเทียบชัดเจนจากงานที่เราเครียดมาสู่งานที่เรารัก พอทำงานก็มีความสุข 

ตอนทำงานก็เหมือนเรายังอยู่ในค่ายมหาวิทยาลัย กินนอนที่ออฟฟิศ บางทีตัดต่อดึกดื่นก็อยู่ตรงนั้น อาบน้ำที่ออฟฟิศ คือเหมือนทำกิจกรรมมหาวิทยาลัยไม่ได้เหมือนมาทำงาน ทำงานแล้วไม่มีวันเสาร์-อาทิตย์ หากวันเสาร์-อาทิตย์มีงานมาทำก็ทำ ไม่เคยรู้สึกว่า วันนี้วันจันทร์อีกแล้ว ขี้เกียจทำงานจัง

ตลอด 35 ปี ของการทำงานคุณไม่เคยขี้เกียจเลยแม้แต่วันเดียว

ไม่มีวันขี้เกียจ ผมพูดไปหลายสิบปีแล้ว วัดตัวเองมาทุกปี จนถึงวันนี้เป็นนักข่าวมากกว่า 30 ปีก็ไม่มีความรู้สึกว่า วันนี้ไม่อยากทำงาน วันนี้วันจันทร์อีกแล้วเหรอ เพราะข่าวมีทุกวันเลยไม่เคยเจอปัญหานี้ มันก็ช่วยตอบคำถามว่า ทำไมเราถึงทำอาชีพนี้ได้นาน เพราะผมเชื่อว่าอะไรที่เป็นงานที่เราชอบ มันใช่กับชีวิต เราก็จะมีพลังของการคิดสร้างสรรค์ในทุกวัน 

การทำงานของกิตติในวันนั้นกับวันนี้ต่างกันไหม

ไม่ต่างครับ ถ้าเกิดว่าเราทำข่าวโทรทัศน์ มันเป็นข่าวที่เราต้องไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว หมายถึงตั้งแต่ลงไปทำข่าวในพื้นที่เพื่อเขียนข่าว บางทีถ้าเข้าออฟฟิศทันก็มาตัดเป็นเทป บางครั้งผมตัดต่อข่าวด้วยตัวเองด้วยซ้ำไป เพราะบางครั้งคนตัดต่อไม่พอ แต่เทปต้องออกพรุ่งนี้และเป็นข่าวที่ไม่รายงานก็ไม่ได้ 

แต่ถ้าในมุมของบรรณาธิการข่าว โปรดิวเซอร์ข่าว หรือบางรายการ เราเป็นผู้ดำเนินรายการเอง ผมก็ทำทุกอย่างมาตั้งแต่ต้น มีแค่ช่วงหลังตอนผมแก่ ก็ไม่ได้ทำงานที่ต้องมานั่งตัดด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นงานโทรทัศน์เป็นงานที่ทำมาทุกขั้นตอน ส่วนวิธีคิดในการทำข่าวไม่ต่างกันเลย ทุกวันนี้ก็ต้องมาคิดว่าพรุ่งนี้จะเอาข่าวอะไรดี พรุ่งนี้นักข่าวจะไปทำประเด็นอะไร ก็ยังช่วยคิดอยู่ตลอด

ในแต่ละวันข่าวมีเยอะมาก คุณกิตติในฐานะบรรณาธิการข่าวเลือกประเด็นข่าวมานำเสนออย่างไร

ผมค่อนข้างเป็นกลุ่มที่อยู่ในสายเลือกประเด็นที่อาจจะเรียกในเชิงทฤษฎีหน่อยว่า เป็นข่าวที่มีคุณค่าทางวารสารศาสตร์ คือคนที่เรียนวารสารศาสตร์มาทุกคนจะรู้ว่า ข่าวที่มีคุณค่าทางวารสารศาสตร์จะต้องเป็นข่าวที่เอา Public เป็นตัวตั้ง หมายถึงต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้ทำข่าวให้นาย ก.หรือนาย ข.ดูคนเดียว หรือเฉพาะกลุ่มแม่บ้านดู ข่าวที่สื่อหรือ Mass Media ต้องนำเสนอ ควรจะเป็นอะไรที่รับใช้ Public ถ้าให้นิยามง่ายๆ คือ อะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสาธารณะโดยสาธารณะและเป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก 

เราเป็นฐานันดรที่ 4 เป็นหมาเฝ้าบ้าน นี่คือหน้าที่ เพราะถ้าเราไม่ทำ ก็ไม่มีคนทำใช่ไหม คือพวกบล็อกเกอร์หรือยูทูบเบอร์ เขาจะทำอะไรก็ได้ เขาเสิร์ฟเฉพาะคนที่มาติดตาม คนที่กด Subscribe แต่เราเป็นสื่อ ‘สื่อมวลชน’ ผมเลยยึดเสมอว่าประเด็นที่เราจะนำเสนอต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น การทุจริตคอร์รัปชันมีคนทุจริตเงินหลวง เงินหลวงคือ Public คือเงินภาษี เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเจาะ ต้องกระชากประเด็นออกมา แต่ถ้ามีคนโกงกัน 2 คนอย่างนี้ เราไม่สนใจ 

แม้ข่าวช่องอื่นจะเล่นกันหนัก แต่ก็เป็นเงินส่วนตัวเขา หรือเจ้าบ่าวเทขันหมากเจ้าสาว นี่ไม่ใช่ข่าว 3 มิติ แต่คนอื่นบอกว่า โดนเทขันหมากนี่เรื่องใหญ่นะ แต่มันไม่ใช่ทัศนะของวารสารศาสตร์ มันก็โกงกันทั่วบ้านทั่วเมือง คุณก็ไปแจ้งตำรวจตำรวจ ไล่จับก็จบ

ดังนั้นประเด็นที่ข่าว 3 มิติเลือกจึงไม่ใช่ข่าวกระแสและข่าวดราม่า

คือการเลือกประเด็นข่าวของข่าว 3 มิติ เป็นทางที่เราตั้งไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มทำรายการแล้วว่า หลักของการคัดเลือกข่าว ไม่ว่าผมจะทำงานอยู่ที่ไหนก็จะเลือกคล้ายเดิม แต่พอมาอยู่ข่าว 3 มิติถูกบีบด้วยเงื่อนไขคือ 

รายการประมาณครึ่งชั่วโมงและรายการเราดึก เพราะฉะนั้นรายการข่าว 3 มิติจะถูกบีบว่าข่าวคุณมาทีหลัง แต่จะทำอย่างไรให้คนที่มาดูข่าวเราตอน 4 ทุ่มหรือตอน 4 ทุ่มครึ่ง (บางช่วงออนแอร์เวลา 4 ทุ่มครึ่ง) เราจะทำอย่างไรเพราะเขาดูข่าวทุกอย่างมาตั้งแต่เช้า เที่ยง เย็น หากมาเจอข่าว 3 มิติ แล้วยังเป็นข่าวเดิมๆ อยู่ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ยึดหลักว่า ข่าวอะไรที่ต้องคืบหน้าก็ต้องคืบหน้ากว่าข่าว 1 ทุ่ม เพราะระหว่าง 1-4 ทุ่มก็ต้องมีพัฒนาการอะไรใช่ไหม

ข่าวที่ไม่ใช่ประเด็นกระแสต้องมีข่าวเชิงลึกที่เราลงไปทำเอง แม้จะเป็นข่าวเดียวกันแต่การรายงานข่าวเราจะไม่เหมือนกัน เราคิดว่าข่าวของเรามาในลักษณะแบบนี้ ยิ่งช่วงหลังการต่อสู้เข้มข้นกับโซเชียลมีเดีย แต่เราก็ต้องยืนหยัดในจุดของเรา เอาจุดแข็งไปสู้ให้อยู่ได้ คือถ้าข่าวเราไปเหมือนทุกคนหมด ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะดูรายการข่าว 3 มิติ

เพราะฉะนั้นเราคิดว่าทีมงานเราแข็งมาตั้งแต่ต้น การทำข่าวสืบสวน ข่าวเชิงลึก นักข่าวต้องลงพื้นที่เอง ดังนั้นประเด็นก็จะล้อกันตามมา บางประเด็นที่เราสามารถขยายได้ก็ทำ บางเรื่องที่จบไปแล้วขยายไม่ได้ เราก็ย่อยให้กระชับสั้นลงแค่ 30 วินาที ขณะที่บางเรื่องบางประเด็นช่องอื่นเขาพูดกัน 10-15 นาที วนไปวนมา 

แต่ข่าว 3 มิติก็จะเลือกประเด็นประมาณนี้ เช่น ประเด็นที่ผู้ด้อยโอกาสถูกกระทํา ซึ่งเขาไม่สามารถมีพลังที่จะออกมาพูดเรียกร้องได้ถูกไหม หรือปัญหาความไม่ยุติธรรมเรื่องตากใบ เราคิดว่าเป็นประเด็นที่สื่อต้องให้ความสําคัญ ซึ่งข่าวพวกนี้ไม่ได้สร้างเรตติง แต่ว่าเป็นข่าวซึ่งเราเป็นนักข่าว เป็นสื่อมวลชนอาชีพ และอาชีพเราคือต้องไปทำ

บางข่าวทั้งลงแรง ลงใจ แต่กลับไม่มีคนอ่าน คนดู เมื่อเทียบกับข่าวดราม่าตามกระแส คุณรับมือสิ่งนี้อย่างไร

คือเราทำข่าวในยุคที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ AI อิทธิพลของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม เขาสร้างให้เราทำแบบนี้ แต่จริงๆ ไม่ใช่ความผิดของผู้ชมในประเทศไทย พอผมโตขึ้นก็มีเพื่อนเป็นนักธุรกิจจำนวนมาก พอได้เจอก็จะพูดกับพวกเขาว่า ‘มึงมีเงินเวลาซื้อโฆษณา อย่าไปดูเฉพาะแค่ยอดวิว ยอดไลก์’ คือคุณต้องดูว่าเด็กสมัยนี้บางทีไถมือถือไม่ได้กดอ่านด้วยซ้ำ แต่กดไปเรื่อย แล้วถามว่าคนที่กดไลก์กดดู ใช่ลูกค้าคุณไหม อย่าไปคิดว่าเพจข่าวนี้คนดูเยอะ งั้นลงโฆษณาสนับสนุนเจ้านี้ ดังนั้นจึงส่งผลถึงกันหมด รวมไปถึงคนทำเพราะคิดว่าตัวเองทำถูก เนื่องจากมีคนมากดไลก์มาดูเยอะ 

สิ่งที่ผมพยายามชักชวนคนในวงการอย่างพวกเรา หรือคนข้างนอกที่มีหน้าที่สนับสนุนสื่อ พวกคุณต้องดูมุมนี้ ไม่ใช่ว่าคุณจะเอายอดเอาวิวอย่างเดียว มันจะมีปัญหา จริงๆ ไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่พูด เวลาผมเจอนักข่าวเด็กรุ่นน้องจำนวนมาก เขาก็บอกว่าบางงานใช้คำว่า ‘ตีน’ แบบหนูเอาตีนเขี่ย แต่คนดูมหาศาล แต่บางงานใช้เวลารีเสิร์ชเป็นสัปดาห์ กลับไม่มีคนมากดไลก์ หัวหน้าเห็นก็บอกว่า ไม่ต้องไปเขียนแบบนี้ เลยกลายเป็นว่า สังคมก็จะได้เสพแต่คอนเทนต์แบบนี้ที่ได้ยอด 

ซึ่งพอเป็นแบบนี้มากขึ้น ก็จะทำให้เด็กรุ่นใหม่หรือคนที่ทำงานรีเสิร์ชมาสักพักจะเปลี่ยนแนว คนก็ถามผมเยอะว่า พี่ไม่เสียดายคนดูเหรอ บางประเด็นไม่เล่น ถ้าพี่ลงข่าวเล่นข่าวก็จะได้คนดูที่เขาชอบประเด็นนี้มานะ เราก็ตอบว่าก็จริง แต่เราก็ต้องยอมเสียบางส่วนไป

ถ้าให้พูดให้ดูดีหน่อยมันเป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรมของเรานะ ซึ่งผมคิดอย่างนั้นจริงๆ หมายถึงว่าผมเป็นผู้สื่อข่าวอาวุโส อาวุโสในแง่อายุคือ 60 ปี เราต้องมีจุดที่สร้างตัวเองมาระดับหนึ่ง ซึ่งเอามาแลกกับสิ่งพวกนี้ได้ ก็ถือเป็นความรับผิดชอบทางมโนธรรมสำนึกของเรา อีกมุมหนึ่งคือการปล่อยให้เด็กได้สร้างตัวตนให้คนมาติดตามเขาเยอะๆ เพราะถ้าเขามาทำแบบผม มันช้า กว่าคนจะมานั่งดูประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นโลกร้อน เราอายุมากแล้ว และมีคนดูเราระดับหนึ่ง ก็มาทําประเด็นพวกนี้ได้ให้เป็นประโยชน์ โดยที่เราอาจไม่ต้องไปไล่หายอดวิว ยอดแชร์ ยอดอะไรจากข่าวอย่างนั้น 

ส่วนตัวแล้วคุณมีความเห็นอย่างไรต่อข่าวกระแสและข่าวดราม่า

ผมขอยกตัวอย่างข่าวลุงพล ซึ่งเป็นข่าวที่จบในตัว เมื่อตำรวจหาข้อมูลได้ระดับหนึ่งแล้วส่งฟ้องก็จบ ไม่ใช่ว่าคุณจะเอาลุงพลมาสร้างข่าว 2 ปี ทำได้อย่างไร ไม่มีประเด็นทางวารสารศาสตร์ ไม่มีประเด็นข่าวอยู่แล้ว คือคิดด้วยทฤษฎีไหนก็ไม่ใช่ จริงๆ นักข่าวข่าว 3 มิติเป็นคนแรกๆ ที่ลงพื้นที่ มนตรี อุดมพงษ์ ผมส่งไปเดินเขาตั้งแต่วันแรกๆ เดินไป 2-3 วัน เราก็หยุดเพราะตำรวจกำลังหาหลักฐาน ตำรวจก็หาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อะไรก็ว่าไป คดีก็ค่อยๆ ขยับทีละน้อย แล้วถ้าส่งฟ้องคดีขึ้นสู่ศาลก็จบ ผู้ต้องหารอสู้คดี 

แต่ไม่ใช่ว่าคุณจะไปหาทางเลี้ยงกระแสไปเรื่อย นี่ไม่ใช่ข่าวแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องดราม่าอื่นๆ ที่ไม่มีประโยชน์ต่อผู้ชมในท้ายที่สุด

ด้วยทิศทางเหล่านี้ จะส่งผลต่อการทำงานข่าวเชิงลึกหรือข่าวสืบสวนด้วยไหม เพราะทำไปก็ไร้คนอ่าน มาทำข่าวดราม่าดีกว่า

ไม่หาย แต่จะลดลง จริงๆ ไม่ได้เพิ่งมาลดลง ส่วนตัวผมมองว่าช่วงเบ่งบานของข่าวแบบเชิงลึกคือช่วงปี 2535 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับหรือสื่อยกตัวอย่างบางกอกโพสต์และเนชั่น ก็จะมีส่วนที่จุดประกายลงเรื่องพวกนี้อย่างละเอียดเชิงลึกมาก จนมาถึงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 หนังสือพิมพ์พวกนี้ก็ลดถอยลง ในยุคที่เศรษฐกิจมีปัญหา นักข่าวสายเชิงลึก นักข่าวสืบสวนสอบสวนก็จะถูกลดจำนวนหน้าลงไป 

พองานเขียนน้อย กลุ่มนี้ก็จะถูกเลย์ออฟก่อนเพื่อน มันก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็จัดเวทีอภิปรายเสวนากันเรื่อยมา และตั้งคำถามว่า ทําไมข่าวแบบนี้ถึงลดลงไป สมาคมนักข่าวฯ หรือประชาคมนักข่าวเองก็ไม่อยากให้หายไป จึงพยายามเลี้ยงอุดมการณ์ก็สื่อสารกันไปว่า ข่าวเชิงลึกต้องมีนะ จึงมีงานประกวดประจําปีมอบรางวัลข่าวดีเด่นแบบนี้อยู่เสมอ อย่างน้อยให้รู้ว่าข่าวพวกนี้เป็นความรับผิดชอบที่แต่ละสํานักต้องทํา มันลดลงไปเพราะว่าทํายาก เสียเวลาใช้เงินทุนงบประมาณลงพื้นที่ก็เยอะ

ทั้งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ข่าวเลย์ออฟ และสื่อหลายหัวทยอยปิดตัวลง คุณคิดว่านักข่าวหรือสื่อมวลชนอาชีพ ยังเป็นอาชีพที่มั่นคงไหม

มั่นคง คือผมมองว่าอาชีพของพวกเราถูกยกย่องเป็นฐานันดรที่ 4 และเป็นอาชีพที่ต้องคงอยู่กับสังคม เป็นไปไม่ได้ที่สังคมใดสังคมหนึ่งจะไม่มีสื่อมวลชนอาชีพ เพราะต้องมีคนมาบอกกล่าว มาเล่าประเด็นต่างๆ ซึ่งก็คือสื่อมวลชนนี่แหละ จะไม่หายไปจากโลก แต่คนทําอาชีพนี้ก็มีวิวัฒนาการของมัน เราไม่ใช่ทหารที่ไม่ค่อยปรับเปลี่ยน คือฝึกจับปืนป้องกันประเทศกันแบบไหนก็ทำแบบนั้น แต่อาชีพเราอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เทคโนโลยี ทั้งแพลตฟอร์มในอนาคต ซึ่งไม่รู้จะมีหน้าตาเป็นแบบไหน

ในช่วง 15 ปีมานี้ ผมรู้สึกว่าคนในวงการมัวไปพะวง หรือถกเถียงอะไรกับเรื่องมีเดียเกินสาระ มีสัมมนา เวิร์กช็อปจะทำอย่างไรให้คอนเทนต์เป็นไวรัล มียอดวิวเยอะๆ Engagement สูงๆ แต่พวกคุณไม่พูดกันเรื่องสาระว่าจะทำข่าวอย่างไรให้มีคุณภาพ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ดีกับวงการ เพราะอาชีพเราคือการทำงานให้มีคุณภาพ คุณต้องคิดว่าถ้าคุณทำงานดีไม่ว่าจะออกจากแพลตฟอร์มไหนเขาก็ดู

หน้าที่งานของเราคือการสื่อสารกับสังคม อะไรที่คิดว่าควรจะเป็นงานของนักข่าว คุณก็ไปทําให้ดี ไปเจาะ ไปค้น ไปทําให้มีคุณภาพ คุณจะไปนำเสนอช่องทางไหนก็เสนอไปเถอะถูกไหม เพราะฉะนั้นอย่าลืมสารัตถะของอาชีพสาระมีอะไรบ้าง คุณก็ต้องยึดอยู่กับมัน ต้องมีคุณธรรมจริยธรรมในวิชาชีพความเป็นมืออาชีพในสื่อมวลชน 

คือคุณต้องพึงนึกเสมอว่า เวลาเราไปประกอบอาชีพนี้ 100% ไม่ใช่อาชีพพาร์ตไทม์หรือฟรีแลนซ์ ยกตัวอย่างเวลาเราเดินทางเข้าประเทศไหน คุณต้องกรอกตรงอาชีพว่าเป็น Journalist หรือเป็น Media คุณต้องกรอกด้วยความรู้สึกว่าเป็นอาชีพนี้จริงๆ นี่คือสิ่งสำคัญ 

เหล่านี้ก็จะย้อนตอบคำถามคุณว่า ทำไมผมถึงอยู่ในอาชีพนี้ได้ยาวนาน สุดท้ายแล้วความสุขในอาชีพเราคนเดียวที่ตอบได้ ไม่ใช่คนอื่นมาวัด คือถ้าคุณไปทำงาน แล้วคุณไปรับเงินเขามา ผมหมายถึงทุกอาชีพนะ ไม่ใช่แค่นักข่าว ลึกๆ แล้วความภาคภูมิใจในอาชีพของคุณไม่มีหรอก

แปลว่าหากตั้งใจทำผลงาน ทำข่าวตามจรรยาบรรณก็จะมีที่มีทางเอง

การเปลี่ยนแปลงในอาชีพเช่นเลย์ออฟ อาชีพอื่นก็มี บางทีโรงงานปิดทั้งโรงงานก็เยอะแยะ ไม่ได้มีแค่อาชีพนักข่าวที่เลย์ออฟ แต่อาชีพนักข่าวมันดัง คนรู้จัก คนจับจ้อง ก็เลยกลายเป็นจุดสนใจ 

ปริมาณไม่สําคัญ ขอให้เรามีคุณภาพเขาก็จะจ้างคุณต่อไป หรือคุณออกจากที่นี่ ย้ายไปทำงานที่อื่น ก็คือการเปลี่ยนแปลงอันหนึ่ง คือผมก็ย้ายช่องมาหลายที่ การย้ายครั้งหนึ่งก็จะมีโอกาสใหม่เสมอ มีรายการ มีประตูบานใหม่เกิดขึ้น ผมก็คิดว่าก็จะมีบ้างไปโดยธรรมชาติของอาชีพที่ย้ายจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่ง ก็เหมือนย้ายจากหนังสือพิมพ์ไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่น แต่ไม่ได้แปลว่าโลกจะหมดอาชีพนี้ไป ถ้าทำตัวคุณมีคุณภาพและความสามารถก็จะอยู่ได้

ตลอด 35 ปีของการเป็นนักข่าว พอจะเล่าได้ไหม ข่าวไหนที่คุณประทับใจมากที่สุด

จริงๆ ทุกข่าวที่ทำจะมีมุมประทับใจอยู่มากน้อยต่างกันไป เพราะเป็นข่าวที่เราเลือกแล้วว่าจะทำ ถ้าเป็นช่วงหลังที่เริ่มทำข่าว 3 มิติ ก็เป็นข่าวที่บินไปติดตามการเลือกตั้งสหรัฐฯ 3-4 ครั้ง เป็นมุมที่เราได้ไปสัมผัสระบบการเมืองเขา ไปเจอคนเลือกตั้งที่เป็นชาวบ้านอเมริกันจริงๆ 

แต่ข่าวที่รู้สึกว่าชุบชีวิตการทำงาน หลังจากไม่ได้ลงไปทำข่าวเองมานาน เพราะต้องมานั่งเป็นผู้ดำเนินรายการ คือตอนเกิดภัยพิบัติสึนามิ ผมเป็นรายการแรกๆ ที่ลงไปในพื้นที่ ก็ทำงานในทุกมิติ นอกจากนี้ข่าวภัยพิบัติเป็นข่าวที่เกิดมาเพื่อข่าวทีวี เพราะเป็นข่าวสเกลใหญ่ มันเร็ว สด มีคุณภาพครบรส และผมสามารถระดมเงินบริจาคได้ 300-400 ล้านบาท เพื่อไปช่วยผู้ประสบภัย 

และอีกข่าวที่จะไม่ลืมคือการที่ผมวิ่งไปประชุม COP (Conference of the Parties) มา 7-10 ครั้ง ผมมีความสุขที่ทำให้คนไทยจำนวนมากรู้จักคำว่า การประชุมโลกร้อน และรู้จักคำว่า ‘Net Zero’

นอกจากข่าวที่ประทับใจก็มีข่าวที่ผมไม่ลืม หมายถึงข่าวอื่นบางทีก็ลืมไปแล้วว่า เคยทำข่าวอะไรไปบ้าง ซึ่งข่าวนี้เป็นข่าวเรื่องการศึกษา ผมไปทำตอนที่ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิตก็ประทับใจในแง่ที่ว่า ผมสามารถสะท้อนปัญหาการศึกษาซึ่งดำรงอยู่ในสังคมไทยได้ โดยผมไปหาเคสเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา จากความยากจนที่พ่อแม่ไม่มีเงินจะส่งเสียเรียน จึงอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งตรงกับพุ่มพวงที่เบื้องหลังความสำเร็จกลับถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลา เพราะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ การที่อาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล ให้ผมลงไปทำงานในวันนั้นก็ทำให้ผมได้ไปขยายสิ่งที่หมักหมมในสังคมไทย ให้โลกรู้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ ปัญหาเด็กยากจน พ่อแม่ยากจนหลุดออกจากการศึกษายังมีอยู่

จนกลายมาเป็นข่าวที่ผมนั่งดูแล้วมีความสุข ออกอากาศไปนั่งดูข่าวตัวเองไป มีคนชื่นชม ผ่านมา 10-20 ปี ก็ยังจำข่าวนี้ได้ไม่ลืม เพราะฉะนั้นเวลาที่ผมพูดกับน้องๆ ในทีม ผมจะบอกอยู่เสมอว่า เวลาเราเล่าข่าว 3 มิติ และได้รับรางวัลกลับมาจํานวนมาก นี่แหละคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงอาชีพนักข่าวของเรามาได้ 20-30 ปี เพราะข่าวที่เราทำมีประโยชน์ มีความหมายนอกจากตัวเราเอง แล้วยังมีความหมายกับคนอื่น

หมายความว่าข่าวที่ดี ไม่จำเป็นต้องถูกการันตีด้วยยอด แต่หมายถึงผลลัพธ์หลังการทำข่าวต่างหาก

ผมขอยกตัวอย่างข่าว 3 มิติ มีบางยุคผู้บริหารบางคนเขาจะสั่งให้พวกอธิบดี พวกปลัดฯ ว่า ดูข่าว 3 มิติทุกคืนนะ ให้ลูกน้องมอนิเตอร์ไว้ เพราะเขาอาจจะไปเจาะงานในกระทรวงเรา ถ้ามี พรุ่งนี้ต้องรีบแก้ เช่น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าหรือกากอุตสาหกรรม ไม่ใช่ทําข่าวแล้วหายไปในสายลม คือนักข่าวก็จะไม่มีกําลังใจไม่มีความหมาย 

แต่ถ้าเรารู้สึกว่า ข่าวเราออกอากาศแล้วมีการแก้ไขทันทีก็จะมีแรง อย่างเมื่อก่อนถ้าไปทำข่าวน้ำท่วม ผมลงไปจุดไหน พรุ่งนี้การช่วยเหลือเข้าไปทันที จนคนเขาบอกขำๆ ว่า เขาทำงานแก้ไขตามข่าว 3 มิติ แง่หนึ่งก็ทำให้เรารู้สึกว่างานที่เราทำมีความหมาย 

ตอนนี้เห็นคุณกิตติมีบทบาทใหม่ในรายการตุ้มโฮม ซึ่งวันนี้ก็ใส่เสื้อรายการมาด้วย เล่าได้ไหมว่าจุดเริ่มต้นรายการภาษาอีสานมาจากไหน

เมื่อวานน้องไปทำเสื้อใหม่มา ผมเลยใส่ (หัวเราะ)

คือที่มาที่ไปรายการนี้มาจากคุณประวิทย์ มาลีนนท์ ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารใหญ่ช่อง 3 เขามีอะไรที่ติดอยู่ในใจ ซึ่งอยากจะทํามาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ช่อง 3 ไปประมูลช่อง 33 มาได้ คืออยากจะทําข่าวภาษาอีสานตอนเย็น เหมือนกับว่าคนดูข่าวมาทั้งวัน แต่เราจะมาสรุปข่าวสักครึ่งชั่วโมงเป็นภาษาอีสานให้พี่น้องคนอีสานฟัง 

ซึ่งเราก็หลับตานึกภาพว่า เขากําลังกลับมาจากไร่นามาอยู่ที่บ้านแล้วกินข้าวเย็น หรือคนอีสานเข้ามาทํางานขายของอยู่ตามโรงงาน เย็นๆ เขาก็น่าจะมานั่งล้อมวงกินข้าว ดูพี่กิตติสรุปข่าวให้ฟังเป็นภาษาอีสานแบบบ้านเรา

ตอนแรกผมก็ไม่กล้านะ ทํารายการอีสานจะเฉพาะถิ่นไปไหม บางคนจะฟังออกหรือเปล่าอะไรแบบนี้ แต่คุณประวิทย์ก็บอกผมว่า จริงๆ ติดอยู่ในใจอยากทำ ในแง่หนึ่ง ถ้าวัดจากคอนเทนต์อีสานที่ทํามาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์ ณ ปัจจุบันนี้ก็ดี หรือหนังก็ดี หรือละครช่อง 3 ที่พระเอกนางเอกพูดอีสานก็ฮิตทุกเรื่อง เรตติงชนะคนอื่นทุกอัน ก็แปลว่าคนอีสานมีฐานคนดูจํานวนมหาศาลทั่วไทยและประเทศอื่น 

นอกจากนี้คนภาคอื่นเขาก็ฟังออกและชอบวิถีชีวิตอีสาน น่ารัก ม่วน สนุกสนาน แกก็อยากให้ทํา แต่ต้องไม่ใช่ข่าว เลยกลายมาเป็นตุ้มโฮม รายการสบายๆ เอาวิถีชีวิตของดีอีสานมานําเสนอ

 ส่วนคนทำรายการ คุณประวิทย์ก็บอกว่าต้องเป็นผม เพราะเป็นพิธีกรคนเดียวที่พูดภาษาอีสาน อีกแง่หนึ่งผมก็รู้สึกว่า เราอายุขนาดนี้แล้ว มาลองทําอะไรที่ไม่ใช่ข่าวแบบเครียดๆ บ้างดีกว่า แต่ต้องเป็นประโยชน์ 

คือดีเอ็นเอของผม หากทํารายการทีวีต้องเป็นประโยชน์ ไม่เอาม่วนอย่างเดียว ไม่เอาสนุกสนานเฮฮาอย่างเดียว เพราะเราเป็นนักข่าว เลยกลายเป็นความลงตัวเป็นรายการสบายๆ แต่ก็ได้สาระไม่เครียด เพราะคุณประวิทย์ก็ถามผมว่า ทําไหม ทําไหวหรือเปล่า เพราะผมเคยไม่สบายมาก่อน ก็ไม่อยากให้เครียดอีก แต่พอมาทำแล้วสนุก ได้เว้าอีสาน 

แล้วประเด็นที่เราเลือกมาก็สนุก กลายเป็นว่าตอนหลังไปต่างจังหวัด คนไม่เรียกคุณกิตติ 3 มิติแล้วนะ เรียกคุณกิตติ ตุ้มโฮม ก็เป็นอะไรที่หล่อเลี้ยงงานใหม่ของเราเหมือนกัน

พูดถึงเรื่องความเครียด จึงอยากถามคุณต่อว่า การที่ต้องอยู่กับประเด็นข่าวในทุกวัน แม้จะเป็นงานที่รัก คุณมีความเครียดบ้างไหม

ความเครียดมี 2 แบบ หนึ่งความเครียดง่ายๆ ที่เรารู้ตัวเอง รู้สาเหตุ เช่น เจ้านายไม่ดี ลูกน้องเพื่อนไม่ดี เรารู้สาเหตุจากสิ่งเหล่านี้ แต่ความเครียดอีกแบบหนึ่งแบบที่ผมเป็นคือเครียดแบบไม่รู้ตัว หมอสันนิษฐานว่าตอนที่ผมป่วย ความเครียดซ่อนอยู่ในใจ คือผมทำรายการสดมา 10-20 ปี การอ่านรายการสดมันพลาดไม่ได้ เช่น ผู้กํากับรายการบอกเข้ารายการ นับถอยหลัง 3 2 1 ผมก็ต้องสวัสดี หรือ “เบรกโฆษณาครับพี่ 3 2 1” หรือไม่เบรกโฆษณา เป็นแบบนี้มานาน 10-20 ปี

ขณะที่คนทำงานข่าวมีการแข่งขันสูง จะเอาอะไรไปสู้เขาในสนามนี้ ต้องใช้ประเด็นอะไร มันชนะกันนาทีต่อนาที ถึงแม้ผมจะมีความสุขในการคิดข่าวออกไป ซึ่งผมบอกหมอว่า ผมไม่เครียดนะ รักงาน รักอาชีพที่ทำมาก เจ้านายก็ดี ช่องก็ดี ลูกน้องก็ดีกับผมมากไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่หมอบอกว่าเป็นความเครียดแบบไม่รู้ตัว เป็นความเครียดสะสม

แล้วคุณจัดการรับมือความเครียดอย่างไร

ผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร คือผมไม่ใช่คนเครียด แต่หมอบอกว่าผมเครียด จริงๆ ผมมีข้อดีอย่างหนึ่งในชีวิต คือผมเป็นคนบาลานซ์ชีวิต ไม่ได้เครียดมาโดยธรรมชาติ ผมชอบเตะบอล วันนี้เตะกับเพื่อน อีกวันเล่นดนตรี อีกวันไปเที่ยวเล่น ผมเป็นคนที่มีชีวิตหลากหลาย เพราะฉะนั้นก็ดีในแง่ที่ว่าไม่ได้ทําให้เราหมกมุ่นอยู่กับอะไร

ผมไม่ใช่คนที่ดูข่าวอยู่ตลอดเวลา ถ้าผมลางานแล้วก็จะลาเลย ไม่ได้สนใจเช็กข่าว เช่น เวลาลางานไปดูฟุตบอลที่เมืองนอกก็จะลาไปเลย วันหนึ่งอาจจะเข้ามาดูข่าวเมืองไทยบ้างนิดๆ หน่อยๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่ว่ามากังวลว่า ลาตั้งหลายวัน วันนี้ข่าว 3 มิติ จะมีข่าวอะไรบ้าง ก็ปล่อยให้ลูกน้องจัดการ เราลาก็คือลา น้องในทีมก็มีความรับผิดชอบ ทุกคนเก่งอยู่แล้ว 

ผมก็เห็นคนที่มันห่วงทุกอย่างเกินไปเยอะนะ คือไม่ยอมตัดใจ ซึ่งสิ่งนี้อันตราย พอป่วยมาผมก็พยายามบอกทุกคนว่า เมื่อไรที่คุณยังไม่ป่วย คุณไม่รู้ว่าไม่มีอะไรจะมาแลกกับสุขภาพได้ ไม่มีอะไรที่ควรค่าแก่การแลกกับสุขภาพไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น 

ตอนนี้คุณอายุ 60 ปี ยังมีใจรัก มีไฟในการทำข่าว และมีความสุขกับงานในทุกวัน คุณคิดว่าอาชีพนักข่าวเป็นอาชีพที่สามารถรีไทร์ได้ไหม

จริงๆ ถ้าไม่อยากรีไทร์ก็ทําไปจนกระทั่งตาย แต่ในมุมผมรีไทร์ได้ ตอนนี้ผมก็ค่อยๆ รีไทร์ไม่ทำรายการใหม่ ซึ่งตุ้มโฮมถือว่าผิดหลัก ตอนนี้ก็เริ่มจะไม่ทำอะไรเพิ่มเติม มีคนชวนไปทำที่อื่น เป็นผู้บริหารข่าวนู่นนี่ผมไม่เอา เพราะผมไม่อยากเครียด ไม่อยากแข่งขัน ผมอายุเยอะแล้ว และเรียกได้ว่าเป็นสายสุขนิยมระดับหนึ่ง นี่คือการค่อยๆ รีไทร์ของผม 

แต่ถ้าถามว่าจะเลิกไปเลยไหม คิดว่าจะเป็นการตัดสินผ่านความสุขในช่วงเวลาหลังจากนี้ อย่างน้องในทีมก็ถามว่าพี่จะทำถึงช่วงไหน ถ้าพี่เลิกไปพวกผมจะอยู่กันอย่างไร ผมก็บอกว่าก็เรื่อยๆ ถ้าจะเลิกเดี๋ยวบอกเอง แต่ถ้าเป็นยุคสมัยก่อนนักข่าวที่เป็นผู้ประกาศข่าวแบบผม ผู้ประกาศคนเดียวไม่มีคู่ วันที่รีไทร์ก็จะมีการบอกลาคล้ายกับธรรมเนียม อย่างยุคสมัย Big Three (American Television) หลายคนก็ทำจนกระทั่ง “สวัสดีท่านผู้ชมครับ วันนี้เป็นวันสุดท้ายของผม” ลาผู้ชมในจอเลย แล้วก็เลิกและเกษียณไปเลย แล้วไม่ทำทีวีอีก ไม่ไปทําที่ช่องอื่นอีกก็คลาสสิกอยู่ จนกระทั่งสวัสดีผู้ชมในวันสุดท้ายของการทําอาชีพ

ผมก็คิดว่า ใจหนึ่งก็อยากทําอย่างนั้น คือทํางานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเลิก แต่เราจะไม่ใช่เลิกทำรายการข่าว 3 มิติ แล้วไปทำช่องอื่นอีก แต่หมายถึงยุติการทำงานเลย และกล่าวทิ้งท้ายว่า 

“ผู้ชมครับ วันนี้เป็นวันสุดท้ายในอาชีพผู้ประกาศข่าวของผม” ซึ่งผมก็อยากจะลาผู้ชมไปด้วยแบบนี้แหละ

Tags: , , , , , ,