นักวิจัยเผยว่า เทรนด์ค่านิยมในองค์กรกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางที่เห็นอกเห็นใจฝ่ายผู้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น แต่เข้าอกเข้าใจเหยื่อผู้ถูกกระทำน้อยลง อีกทั้งบางครั้ง คนในองค์กรยังรู้สึกไม่พอใจเหยื่ออยู่ลึกๆ ที่เหยื่อออกมาเรียกร้อง ทำให้เกิดความร้าวฉานขึ้นในองค์กร

เนื่องจากเมื่ออ้างอิงกรณีล่วงละเมิดที่มีตัวเลขบันทึกไว้ ฝ่ายผู้กระทำมักเป็นผู้ชาย จึงเกิดการผสมคำขึ้นใหม่ เพื่อใช้เรียกปรากฏการณ์ที่มีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้น แต่ฝ่ายที่ลงมือก่อความรุนแรงกลับได้รับความเห็นใจก่อนเหยื่อ โดยแผลงคำว่า Sympathy (ความเห็นใจ) มาเป็น Himpathy เล่นกับคำว่า Him ซึ่งเป็นสรรพนามเพศชาย เคต แมนน์ (Kate Manne) เป็นนักปรัชญาคนแรกที่นำคำนี้มาใช้ในผลงานหนังสือของเธอในปี 2018 เรื่อง Down Girl: The Logic of Misogyny

ต่อมาคณะวิจัยที่เผยแพร่บทความในวารสาร Organization Science ได้ศึกษาคดีล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ เพื่อหาสาเหตุว่า ทำไมองค์กรมากมายจึงเห็นใจผู้ก่อเหตุ และมักจะยังคงมอบโอกาสแก้ตัว รวมถึงโอกาสทางหน้าที่การงานให้กับคนเหล่านี้ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ Himpathy ขึ้นมา

“ปรากฏว่าบุคคลที่ 3 อย่างเราๆ นี่ แม้จะเคยเห็นมาแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับขบวนการ #MeToo บ้าง แต่กลับยังคงประเมินความน่าเชื่อถือของผู้กระทำและของเหยื่อด้วยค่านิยมทางศีลธรรมส่วนบุคคลอยู่ ค่านิยมทางศีลธรรมเหล่านี้จะก่อเกิดเป็นอคติและอารมณ์ร่วม ซึ่งนำไปสู่กระบวนการประเมินความน่าเชื่อถือ รวมถึงแรงจูงใจที่จะผดุงความยุติธรรมด้วยการเลือกว่า จะอยู่ข้างผู้กระทำหรืออยู่ข้างเหยื่อเพียงข้างใดข้างหนึ่ง 

“ยกตัวอย่างเช่น คนที่ยึดถือค่านิยมความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้มีอำนาจ ความจงรักภักดีภายในพรรคพวกของตนเอง รวมถึงค่านิยมการถือพรหมจารี มักเข้าข้างผู้กระทำมากกว่าที่จะเข้าข้างเหยื่อเรเชล กู๊ดวิน (Rachael Goodwin) ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะบริหาร Martin J. Whitman School of Management at Syracuse University กล่าว

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลสำคัญต่อปฏิกิริยาของคนในองค์กร หนีไม่พ้นแนวโน้มที่คนเราจะมองหา ‘เหยื่อผู้ไร้ที่ติ’ (Perfect Victim) อยู่เสมอ ทำให้พวกเขามักหันหลังให้กับเหยื่อเมื่อพบว่า เจ้าตัวประพฤติตนผิดแผกไปจากที่สังคมนิยามว่าดีงาม เช่น 

– มีคู่นอนหลายคน 

– เคยมีประวัติเป็นชู้ 

– กินเหล้าเมายา

– เคยรับเงินจากผู้กระทำ

– ไม่แจ้งความทันทีที่เกิดเหตุ

– ไม่มีอาการบาดเจ็บ หรือบาดเจ็บน้อยเกินไปจนดูเหมือนไม่ขัดขืน

– ไม่ยอมเล่าเรื่องให้หมด หรือเรียงลำดับเรื่องได้ไม่ชัดเจน

– หลังเกิดเหตุมีคนพบเห็นว่า ยังดูใจเย็นหรือยังยิ้มได้ ไม่ตระหนกหรือซึมเศร้า

ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้เหยื่อที่ตามสถิติมักเป็นหญิง โดยเฉพาะเหยื่อที่เข้าข่ายคุณสมบัติเหล่านี้ จึงมักต้องเผชิญหน้ากับการโต้กลับของบุคคลที่ 3 หรือบางครั้งก็จากตัวแทนที่มีอำนาจพูดแทนบริษัทด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ยอมความ (หลายกรณีอาจมีการพยายามเสนอเงินชดเชยในขั้นตอนนี้) การตัดขาดหรือบีบให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมในที่ทำงาน การประเมินผลการทำงานต่ำกว่าความเป็นจริง ไปจนถึงการเชิญออกจากงาน ซึ่งมักส่งผลร้ายแรงต่อสวัสดิภาพและความมั่นคงของพวกเขา 

ในทางกลับกัน ผู้กระทำซึ่งมักเป็นชายมีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้น้อยกว่าเหยื่อ หรือหากมีขั้นตอนการลงโทษเกิดขึ้น ก็มักเป็นโทษค่อนข้างเบาเมื่อเทียบกับความผิด เช่น การให้ใบเตือน การสั่งย้ายแผนก-สาขา และการพักงาน โดยมากแล้วการเชิญให้ผู้ก่อความรุนแรงทางเพศออกจากงานจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีหลักฐานมัดตัวแน่นหนา หรือมีข่าวแพร่ออกไปภายนอกที่อาจก่อความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัท

หลายครั้งเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะจนคนในองค์กรก็จะเริ่มลืมว่า เคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ผู้ก่อความรุนแรงที่ได้รับบทลงโทษสถานเบาเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีสัมพันธ์อันดีกับผู้มีอำนาจในองค์กร มักสามารถกลับมามีหน้ามีตาในองค์กรอีกครั้ง หรือกระทั่งขึ้นสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจมากขึ้น

แม้เหยื่อบางรายสามารถก้าวข้ามเสียงนินทาหรืออคติมาได้ แต่ในท้ายที่สุดหากต้องจำใจทำงานร่วมกับผู้ที่ก่อความรุนแรงกับตนต่อไป พวกเขามักลงเอยด้วยการโดดเดี่ยวตนเองจากกลุ่มคนในองค์กรที่แสดงไมตรีต่อผู้กระทำ หรือไม่ก็ต้องค่อยๆ หาทางพาตัวเองออกไปจากองค์กรในที่สุด

ทั้งนี้ปรากฏการณ์ Himpathy ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในชีวิตการทำงานเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้ภายใต้บริบทที่หลากหลาย ไม่ว่าจะแง่มุมใดของชีวิตประจำวัน เช่น 

– เยาวชนถูกคนในครอบครัวล่วงละเมิดทางเพศ แต่สมาชิกคนอื่นๆ กลับพยายามปิดปากเหยื่อ และหาข้ออ้างให้กับผู้กระทำ เพื่อป้องกันไม่ให้สัมพันธ์ในครอบครัวร้าวฉาน

– มีการออกมาแฉพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศของคนดังในสื่อโซเชียลฯ แต่สาธารณชนกลับแสดงความเชื่อใจ หรือกระทั่งเห็นใจคนดังที่เผชิญปัญหาจากข้อกล่าวหา ก่อนที่จะคำนึงถึงความรู้สึกของเหยื่อ

– ผู้พิพากษาตัดสินโทษสถานเบาให้กับจำเลยในคดีคุกคามทางเพศ เพราะเป็นชายหนุ่มที่ยังมี ‘อนาคตไกล’ อีกทั้งยังแสดงตัวให้เห็นว่า ‘สำนึกผิดแล้ว’

อ้างอิง

https://www.hbs.edu/faculty/Pages/item.aspx?num=61016 

https://news.syr.edu/blog/2023/03/20/new-research-shows-himpathy-towards-perpetrators-of-workplace-sexual-harassment/ 

https://www.buffalo.edu/community-health-equity-institute/news.host.html/content/shared/university/news/news-center-releases/2018/10/045.detail.html 

Tags: , , , , , , ,