‘รักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ให้เพื่อลูกหลานไทย’
คือถ้อยแถลงส่วนหนึ่งจากป้ายให้ข้อมูลที่ 340 Skywalk หรือเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘สกายวอล์ก 2 แผ่นดิน’ ระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา แลนด์มาร์กท่องเที่ยวแห่งใหม่ และพื้นที่ป้องกันชายแดน ที่ตั้งอยู่ฐานปฏิบัติการเสกสรรค์ บ้านแม่โกนเกน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ในอดีตหน่วยเฉพาะกิจราชมนูสร้างพื้นที่นี้ร่วมกับราชการ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยมีจุดประสงค์ใช้ในการเฝ้าตรวจและป้องกันพื้นที่ชายแดน สืบเนื่องจากกรณี ‘ข้อพิพาท 340 ไร่’ ที่ถูกตัดขาดในปี 2537 เพราะเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้แม่น้ำเมยเปลี่ยนทางเดินน้ำ จนตัดขาดพื้นที่แผ่นดินไทย 340 ไร่เข้าไปในเมียนมา เป็นเหตุให้กองกำลังนเรศวรเข้าควบคุมพื้นที่เพื่อแสดง ‘ความเป็นแผ่นดินไทย’
ตามคำบอกเล่าในป้ายให้ข้อมูลและคนในพื้นที่ วิธีการแสดงความเป็นเจ้าของดินแดนของทางการไทยคือ การนำชาวบ้านจำนวนหนึ่งไปทำการเกษตรในพื้นที่พิพาท ขณะที่กองกำลังทหารยังคงทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกประชาชนในการข้ามแม่น้ำเมยจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน 340 Skywalk ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมตามปกติ จากการลงพื้นที่ของทีมข่าว The Momentum ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาพบว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างสงบ มีทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างแวะเวียนสัญจรไปมาเพื่อมาชมวิวทัศน์ โดยเฉพาะไฮไลต์ในช่วงเย็นคือ วิวพระอาทิตย์ตกจากฝั่งชายแดนเพื่อนบ้าน
เอ (นามสมมติ) ชาวบ้านที่อาศัยในบริเวณนั้นเล่าให้ The Momentum ฟังว่า สกายวอล์กแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2567 โดยสถานการณ์บริเวณรอบปกติ สงบเรียบร้อย และไม่มีความขัดแย้งใดๆ เนื่องจากเป็นดินแดนฝั่งไทยที่มีฐานปฏิบัติการของทหาร และอยู่ภายใต้สิทธิทำกินในเขตป่าสงวน (สทก.)
“ไม่มี (ความขัดแย้ง) เลยนะ ตรงนั้นคือฐานทหาร” เอระบุว่า บริเวณสกายวอล์กเป็นฐานกำลังของทหารไทย ที่สร้างขึ้นไว้เพื่อสอดส่องและป้องกันการรุกล้ำข้ามพรมแดนจากพื้นที่ตัดขาด ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตามเมื่อมองจากสกายวอล์กไปยังชายแดนเมียนมา ทีมข่าว The Momentum พบเห็น ‘สิ่งก่อสร้าง’ ที่คล้ายชุมชนขนาดย่อม ปรากฏอาคารขนาดใหญ่หลายหลังที่มีกำแพงสูงรอบล้อม โดยในช่วงเย็นมีไฟฟ้าสว่างท่ามกลางป่าเขาอย่างผิดหูผิดตา
แม้แหล่งข่าวจากทั้ง 2 แห่งที่ใกล้ชิดกับพื้นที่บริเวณดังกล่าว เปิดเผยตรงกันว่า พื้นที่ส่วนนั้นไม่มีใครเข้าถึงได้ จึงไม่มีทางรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่หากอ้างอิงจากสำนักข่าว The Reporters และสื่อต่างประเทศหลายแห่งจะพบว่า ชุมชนดังกล่าวอยู่ในบ้านผาลู ภายใต้กองทัพกะเหรี่ยง Democratic Karen Buddhist Army (DKBA) ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ฐานสแกมเมอร์’ ของทุนจีนสีเทา
นอกเหนือจากการปกป้องผืนแผ่นดินที่ถูกตัดขาดจากอุทกภัยตามธรรมชาติ นี่จึงอาจเป็นคำถามสำคัญที่ทางการไทยและหน่วยงานราชการต้องตอบและสร้างความกระจ่างให้กับสาธารณชนร่วมกัน
Tags: พม่า, เมียนมา, แม่สอด, ชายแดน, ชายแดนแม่สอด