ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับการเปิดตัวโครงการ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการได้อย่าง ‘ไร้รอยต่อ’ โดยเริ่มจากระบบปฐมภูมิ
แน่นอนว่า 30 บาทรักษาทุกที่ถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เป็นการสานต่อแบรนด์ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 23 ปีก่อน และกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ ‘ทักษิณ’ ที่ทำให้ได้คะแนนเสียงต่อเนื่องและยาวนาน
อย่างไรก็ตามแม้จะเริ่มหลายจังหวัดแล้ว 30 บาทรักษาทุกที่ยังคง ‘เงียบ’ กว่าที่คิด ทั้งที่มีระบบ ‘รับยาที่ร้านยา’ มี ‘คลินิกนวัตกรรม’ เป็นพื้นที่ด่านหน้า ก่อนที่คนไข้จะรับบริการในโรงพยาบาล รวมถึงยังมีระบบเทเลเมดิซีน ปรึกษากับแพทย์ผ่านช่องทางต่างๆ สำทับด้วยปัญหาการให้บริการจุกจิก เช่น ข้อขัดแย้งระหว่างสภาเภสัชกรรมกับแพทยสภา เรื่องการรับยาที่ร้านยาหรือเรื่องปัญหาคนไข้ ‘ช็อปยา’ นำยาจากระบบ 30 บาทฯ ไปตระเวนขายต่อ
สบโอกาสคุยกับ หมอเลี้ยบ-นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคว่า ถึงวันนี้ภาพฝันของโครงการนี้เป็นไปตามที่หวังหรือไม่
“สำหรับผม 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นก้าวแรกที่ทำให้มีความครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สามารถรับบริการในคลินิกนวัตกรรม ในโรงพยาบาล โดยที่มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลทั้งระบบ ทำให้เข้าถึงข้อมูลสุขภาพของประชาชนทั้งระบบ เป็นประโยชน์สำหรับการรักษาสำหรับแพทย์ในระบบ”
แต่ยังมีอีกหลายก้าวให้เดินต่อ หมอเลี้ยบยกตัวอย่าง เช่น การพัฒนาโรงพยาบาลระดับ ‘ทุติยภูมิ’ 50 เขต 50 โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผ่านสถานชีวาภิบาล (Hospice) ที่ต้องดำเนินการอย่างหนักแน่นขึ้น เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
ขณะเดียวกันนอกจากการรักษาโรคแล้ว จุดสำคัญที่ยังต้องเติมเต็มก็คือการ ‘ป้องกันโรค’ โดยเพิ่มระบบตรวจคัดกรอง ให้ประชาชนเข้าถึงทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเสี่ยง ตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับ รวมถึงหากพบว่า กลุ่มเสี่ยงคนใดยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV อันเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดมะเร็งปากมดลูก ระบบหลักประกันสุขภาพก็จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวเพิ่มขึ้น
เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลยังเตรียมส่งเสริมเรื่อง Mindfulness หรือการส่งเสริมเรื่องการ ‘ฝึกสติ’ เพื่อทำให้คนไทยใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้คนไทยสามารถปรึกษาเรื่อง‘สุขภาพจิต’ ได้
คำถามสำคัญก็คือแล้ว ’30 บาทรักษาทุกที่’ ถือเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ ของระบบสุขภาพอย่างไร – นายแพทย์สุรพงษ์ระบุว่า เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ แน่ๆ เพราะสามารถเชื่อมระบบข้อมูลสถานพยาบาลทั่วประเทศ สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และหากสามารถเดินไปได้อย่างสมบูรณ์ 100% ก็จะสามารถลดความแออัดให้กับระบบการรักษาพยาบาล ลดภาระของบุคลากรสาธารณสุขได้
“จากที่เราเปลี่ยนระบบงบประมาณไปแล้ว ครั้งนี้เราเปลี่ยนระบบข้อมูล เรื่องการเชื่อมต่อระบบบริการต่างๆ ทำให้ภาคเอกชนที่อยู่นอกระบบ 30 บาทฯ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยา ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยบริการที่ใกล้ชิดประชาชนมาก มีเภสัชกรที่มีความรู้ความสามารถ ก็จะสามารถให้บริการกับประชาชนได้มากขึ้น
“นับจากนี้ การเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล ไม่ต้องรอคิวที่โรงพยาบาล สามารถไปรับบริการที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้ อีกทั้งยังได้ข้อมูล ได้ความรู้ด้านสุขภาพจากเภสัชกร
ขณะเดียวกันนอกเหนือจากเรื่องดังกล่าว ก็จะมีการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการทำนโยบายเรื่องระบบสุขภาพคนไทย การจัดการฐานข้อมูลเพื่อรักษาสุขภาพ เพื่อกำหนดทิศทางในการดูแลประชาชนให้ดียิ่งขึ้น”
ส่วน ‘จุดอ่อน’ บางอย่าง หมอเลี้ยบเห็นว่า ยังมีความท้าทายเรื่อง ‘การเชื่อมระบบข้อมูล’ ให้ชัดเจนกว่านี้ และยังต้องใช้ระบบ AI ให้เป็นประโยชน์มากกว่านี้ ความท้าทายสำคัญนับจากนี้จึงหนีไม่พ้นการจัดการพื้นที่อย่างกรุงเทพฯ ที่ต้องเดินหน้าสร้างโรงพยาบาลระบบทุติยภูมิไม่ให้คนไข้ ‘กระจุกตัว’ อยู่ในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว ซึ่งโครงการ 50 เขต 50 โรงพยาบาล จะต้องเร่งเครื่องมากกว่านี้ เพื่อแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ
และอีกส่วนหนึ่งที่หมอเลี้ยบบอกว่ากำลังเร่งจัดการคือระบบ ‘จองเตียง’ ซึ่งอีกไม่นาน จะมีระบบที่ทำให้มองเห็นภาพรวมว่ามีโรงพยาบาลใดที่มีเตียงว่าง ยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้บ้าง ไม่ต้องเดินสุ่มหาโรงพยาบาลที่เตียงว่างอีกต่อไป
ขณะที่ปัญหาการ ‘ช็อปปิงยา’ อย่างการตระเวน ‘ช็อปยา’ เพื่อนำมาขายต่อผ่านระบบออนไลน์ หมอเลี้ยบบอกว่า จากการตรวจสอบทั้งระบบมีผู้ที่ทำเรื่องนี้เพียง 3 คน และมีระบบตรวจสอบอยู่แล้วว่า มีการเบิกยาบางตัวเกินความจำเป็นหรือไม่ หากแต่หมอที่เป็นผู้รักษาพยาบาลอาจไม่ได้มีเวลาดูข้อมูลทั้งหมดในภาพรวม จึงมีเรื่องการช็อปยารั่วไหลออกไป ส่วนเรื่องระบบข้อมูลมีอยู่แล้ว แต่หมอที่เป็นผู้รักษาอาจไม่ได้มีเวลาดูข้อมูลทั้งหมดได้ จึงมีปัญหาเรื่องการรั่วไหล ซึ่งทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบแจ้งเตือนว่าจุดไหนช็อปปิงเกินระบบปกติ แพทย์จะเห็นทั้งหมด
ส่วนปัญหาระหว่างแพทยสภากับสภาเภสัชกรรม กรณี ‘จ่ายยา’ ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในระบบ 30 บาทรักษาทุกที่นั้น นายแพทย์สุรพงษ์บอกว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องเปลี่ยนกรอบวิธีคิด ครั้งใหญ่ แต่หากค่อยๆ จูนเข้าหากัน ทุกฝ่ายจะเห็นประชาชนเป็นหลักในที่สุด
ทั้งนี้ หากมองตั้งแต่ต้นทางจนถึงวันนี้ในสายตาของคนที่ร่วม ‘ตั้งไข่’ หมอเลี้ยบบอกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใกล้ถึง ‘อุดมคติ’ ที่ตั้งไว้แล้ว
“ก่อนหน้านี้ ถ้าเต็ม 100 เราอาจจะอยู่ที่ 50 แต่เมื่อพัฒนาระบบเชื่อมข้อมูล เราจะได้ประมาณ 75 ถ้าเต็ม 100 เราเหลืออีก 25% ก็จะเต็มร้อย
“ตอนแรกผมไม่แน่ใจว่าจะพูดได้หรือเปล่าว่าประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่ดีที่สุด ผมเลยถามผู้เกี่ยวข้องว่าเรามีประเทศไหนให้ถอดบทเรียนได้บ้าง ปรากฏว่าไม่มีประเทศไหนให้เราได้เรียนรู้ ตอนนี้ผมกล้าพูดเต็มปากเต็มคำเรากำลังเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบสุขภาพในระดับโลก”
Tags: สาธารณสุข, สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, หมอเลี๊ยบ, สปสช., 30 บาท, 30 บาทรักษาทุกที่