*บทความนี้อาจมีสปอยล์เนื้อหาบางส่วนของ Wicked: Part One*
หากถามว่าปลายปีนี้หนังเรื่องไหนมาแรงที่สุด คำตอบคงไม่พ้น Wicked: Part One หนังมิวสิคัลแฟนตาซีที่ดัดแปลงจากนิยายและละครบรอดเวย์ในชื่อเดียวกัน ปัจจุบัน Wicked กวาดรายได้ทั่วโลกไปมากกว่า 534.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้กลายเป็นหนังจากบรอดเวย์ที่มีรายได้สูงสุดเป็นอันดับสอง รองแค่ Mamma Mia (611.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เท่านั้น
นอกจากโปรดักชันสุดอลังการ เพลงไพเราะติดหู และนักแสดงแม่เหล็ก อีกหนึ่งจุดเด่นของหนังก็คือความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวละครหลัก ‘เอลฟาบา’ แม่มดร้ายฝั่งตะวันตก และ ‘กลินดา’ แม่มดดีฝั่งใต้
อันที่จริงไดนามิกซับซ้อนของทั้งคู่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวมาตั้งแต่สมัย Wicked ยังอยู่ในรูปแบบนิยายกับละครบรอดเวย์แล้ว พวกเธอเป็นทั้งศัตรู รูมเมต และเพื่อนซี้ เป็นผู้หญิง 2 คนที่เลือกทางเดินคนละทาง แต่ก็รักและเข้าใจกันที่สุด
ความรักอันลึกซึ้งนี้เองก่อให้เกิดข้อถกเถียง คนดูกลุ่มหนึ่งตีความว่า นี่เป็นรักแบบเพื่อนเท่านั้น แต่อีกกลุ่มก็แย้งว่า มวลโรแมนติกระหว่างเอลฟาบากับกลินดามีมากจนน่าสงสัย บางทีอาจไม่ใช่เพียงมิตรภาพธรรมดา
คนดูกลุ่มแรกหลายคนคงจะมองว่ากลุ่มหลังเพ้อเจ้อ แต่ทั้งนี้เราต้องพิจารณาด้วยว่า Wicked เป็นสปินออฟจาก The Wizard of Oz ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหนังไอคอนิกของชาว LGBTQIA+ แม้กระทั่งสแลง “เพื่อนของโดโรธี (friends of Dorothy)” ที่ใช้เรียกเกย์ในภาษาอังกฤษ ก็มาจากโดโรธี เกล ตัวเอกของ The Wizard of Oz
พูดง่ายๆ คือ Wicked มีความเควียร์แฝงอยู่ตั้งแต่จุดกำเนิดของมันแล้ว
เกรกอรี แมกไกวร์ (Gregory Maguire) ผู้เขียนนิยาย Wicked เองก็เป็นเกย์คนหนึ่ง โดยเขาเผยว่า เขาอยากเขียนให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันเป็นกลุ่มที่มีอยู่จริงในดินแดนออซ
ยิ่งไปกว่านั้นแมกไกวร์ยืนยันว่า มวลโรแมนติกระหว่างเอลฟาบากับกลินดาไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือจินตนาการบรรเจิดของสาววาย แต่เขา ‘ตั้งใจ’ เขียนให้เป็นเช่นนั้น ในนิยายต้นฉบับ ก่อนเอลฟาบาจะแยกกับกลินดาไปตามทางของตัวเอง เธอโน้มใบหน้าลงไปจูบกลินดาถึง 2 ครั้ง
ถึงแม้ฉากนี้จะถูกตัดออกจากเวอร์ชันคนแสดง แต่ทั้งละครเวทีและหนังก็ยังพยายามแฝงนัยความเควียร์เอาไว้ในรูปแบบอื่น ยกตัวอย่างเช่น เพลง What is This Feeling? ซึ่งพูดถึงความรู้สึก ‘เกลียดชัง’ ที่สองสาวมีต่อกัน
What is this feeling, so sudden and new?
ความรู้สึกนี้คืออะไร กะทันหันและใหม่มาก
I felt the moment I laid eyes on you
ฉันรู้สึกตั้งแต่ตอนที่มองเห็นเธอ
My pulse is rushing, my head is reeling
หัวใจฉันเต้นเร็ว หัวฉันหมุน
Yeah, well, my face is flushing
ใช่แล้ว หน้าฉันแดงไปหมด
ทั้งใจเต้นแรง ทั้งหน้าแดง
บางทีอาจจะจริงที่ว่า รักกับเกลียดมีเพียงเส้นบางๆ กั้น หากท่อนฮุกไม่เฉลยว่าตัวละครกำลังพูดถึงความเกลียดชัง เพลงนี้ก็คงเนียนเป็นเพลงรักได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ไหนจะฉากในหนังที่เอลฟาบาเตรียมขึ้นรถไฟไปพบกับจอมพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่แห่งออซ จอมพ่อมดเชิญเอลฟาบาแค่คนเดียว แต่เมื่อรถไฟกำลังจะออก เอลฟาบาอ่านข้อความอวยพรจากกลินดาว่า “ขอให้ได้ดั่งใจปรารถนา” แล้วก็ตัดสินใจชั่ววูบ เรียกให้กลินดาขึ้นรถมาด้วย
ราวกับหนังต้องการบอกผู้ชมอ้อมๆ ว่า ใจของเอลฟาบาปรารถนากลินดาอย่างไรอย่างนั้น
หรือฉากที่กลินดาได้รับหมวกมาจากยายของตน แต่เธอส่งต่อมันให้เอลฟาบา ไม่กล้าใส่เองเพราะเพื่อนๆ บอกว่าหมวกนั้นดูขี้เหร่ และกลินดาแคร์สายตาคนอื่นยิ่งกว่าอะไร
หากมองให้ลึกลงไปหน่อย หมวกในฉากนี้อาจเป็นสัญญะที่สื่อถึงความเควียร์ เอลฟาบากล้าใส่หมวกอย่างภาคภูมิ เพราะเธอกล้าที่จะแตกต่างจากมาตรฐานสังคม ไม่ว่าจะเป็นในแง่สีผิว อุดมการณ์ หรือรสนิยมทางเพศ ส่วนกลินดายังไม่กล้าเท่า เหมือนอย่างที่ อารีอานา กรานเด (Ariana Grande) นักแสดงบทกลินดากล่าวว่า “กลินดาอยู่ในตู้เสื้อผ้านิดๆ” โดยสำนวน ‘อยู่ในตู้เสื้อผ้า (in a closet)’ หมายถึงคนรักเพศเดียวกันที่ไม่กล้าเปิดเผยรสนิยมของตัวเอง
ในสัมภาษณ์ล่าสุดและน่าจะเป็นสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของแมกไกวร์เกี่ยวกับ Wicked เขายังทิ้งระเบิดใส่แฟนๆ ไว้อีกด้วยว่า “บางทีอาจเพราะนักเขียนไม่สามารถเขียนทุกฉากลงไปในนิยายได้ บางทีตอนที่ปิดไฟมืด แล้วนักเขียนหลบไปสูบบุหรี่ในซอยด้านหลัง เอลฟาบากับกลินดาอาจจะมีเซ็กซ์กันระหว่างทางไปเมืองมรกต”
แน่นอน นี่ทำให้เหล่าชิปเปอร์เอลฟาบา-กลินดาบ้าคลั่งกันไปเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่กล่าวถึงความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกระหว่างเอลฟาบากับกลินดา แมกไกวร์กำชับเสมอว่า มันเป็นเพียง ‘ความเป็นไปได้’ ที่เขาอยากชวนให้ลองขบคิดดู ไม่ใช่กฎเหล็ก แม้ตัวเขาเองจะเชื่อแบบหนึ่ง แต่ก็ให้อิสระแฟนๆ ในการตีความแบบอื่น
สุดท้ายไม่ว่าคุณจะมองเอลฟาบากับกลินดาเป็นเพื่อนหรือมากกว่านั้น หนึ่งในข้อคิดหลักของ Wicked ก็คือการโอบรับความแตกต่าง ไม่ด่วนตัดสินคนจากคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแล้วแก้ไม่ได้ นับเป็นประเด็นที่ชาว LGBTQIA+ ส่วนใหญ่รีเลต
และนอกจากนักเขียนนิยายต้นฉบับจะเป็นเกย์แล้ว แคสต์หลักอย่างซินเทีย เอริโว (Cynthia Erivo) ที่แสดงเป็นเอลฟาบา, โจนาทาน เบลีย์ (Jonathan Bailey) ที่เป็นฟิเยโร, มาริสซา โบดี (Marissa Bode) ที่เป็นเนสซาโรส ก็ล้วนอยู่ในคอมมูนิตี้ LGBTQIA+ เช่นกัน
อาจกล่าวได้ว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังเควียร์ทำ เควียร์ใช้ เควียร์เจริญอย่างแท้จริง
อ้างอิง
https://www.billboard.com/lists/broadway-musical-films-biggest-box-office-wicked/mamma-mia/
https://www.huffpost.com/entry/friends-of-dorothy-how-ga_b_1067585
https://screenrant.com/wicked-movie-elphaba-glinda-romance-cynthia-erivo-ariana-grande-response/
https://www.them.us/story/wicked-gregory-maguire-elphaba-glinda-lesbian-intersex
Tags: Glinda, Gelphie, Gender, เควียร์, แซฟฟิก, Wicked, Elphaba